ทำไมต้องรักษาศีล 8

วันที่ 12 มีค. พ.ศ.2558

ทำไมต้องรักษาศีล 8

     วัตถุประสงค์ของการรักษาศีลทั้ง 5 ข้อ เมื่อพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการให้เกิดความบริสุทธิ์ทางกาย วาจา เพื่อเป็นพื้นฐาน รองรับการปฏิบัติธรรมขั้นสูงต่อไป

     ศีลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นมีหลายระดับเพื่อความเหมาะสม และความพร้อมของแต่ละบุคคล การรักษาศีลในแต่ละระดับนั้นยิ่งรักษาในระดับที่สูงขึ้นย่อมทำให้เกิดความบริสุทธิ์มากยิ่งขึ้นตามไปด้วยเป็นการย่นย่อระยะทางสู่พระนิพพาน

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาจะชี้ทางลัดในการประพฤติธรรม เพื่อความหมดกิเลสเข้า พระนิพพานแก่สาวกของพระองค์ จึงทรงให้รักษาศีล 8 หรืออุโบสถศีล ในวันพระ ในระหว่างเข้าพรรษา ในโอกาสการอยู่ธุดงค์ หรือในโอกาสใดโอกาสหนึ่งที่กำหนดขึ้นตามความเหมาะสม

     การรักษาศีล 8 เป็นทางลัดสู่ความเป็นผู้หมดกิเลสได้อย่างไรก่อนอื่นต้องมาพิจารณาศีลข้อที่เพิ่มขึ้นจากศีล 5 ว่ามีความมุ่งหมายอย่างไรดังนี้

ข้อที่ 3 ในศีล 8 นี้จะเป็นการยกระดับของใจให้ประเสริฐยิ่งขึ้น ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ คือ เว้นจากการเสพเมถุน ซึ่งมีใจความว่า อะพรัหมะจะริยา เวรมะณี หมายถึง เจตนาเครื่องงดเว้นจากกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ อยู่เยี่ยงพรหมไม่เกี่ยวข้องเรื่องเพศเป็นการยกใจให้สูงขึ้น และให้สงบเต็มที่ เพื่อจะได้มีโอกาสศึกษา ปฏิบัติ และพิจารณาธรรมขั้นสูงยิ่งๆขึ้นไป ส่วนข้อ 6 ,7 ,8 เป็นการสนับสนุนให้การประพฤติพรหมจรรย์มีความบริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งขึ้น

ในศีลข้อ 6 คือ วิกาละโภชะนา เวระมะณี หมายถึง เจตนาเครื่องงดเว้นจากการบริโภคโภชนะในเวลาวิกาล คือ ตั้งแต่เที่ยงจนอรุณขึ้นมาใหม่

     ในทัศนะทางพระพุทธศาสนาพิจารณาเห็นว่าอาหารมื้อเช้าใช้ประโยชน์ในการซ่อมแซมร่างกายที่สึกหรอ อาหารกลางวันใช้ประโยชน์ในการสร้างกำลังกายและการเจริญเติบโตส่วนอาหารมื้อเย็นจะกลายเป็นส่วนเกินไป และส่งผลให้เกิดกามกำเริบโดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้ทำงานหนักในเรื่องรสของอาหารคนทั่วไปมักติดในรสชาติจึงแสวงหาความอร่อยโดยเฉพาะอาหารมื้อเย็นที่เป็นส่วนเกินการแสวงหานี้เกิดจากอำนาจความอยากในรส ทางพระพุทธศาสนาเรียกกิเลสตัวนี้ว่า รสตัณหา ชื่อว่า ตัณหา คือความอยาก ย่อมไม่รู้จักคำว่าอิ่ม แม้ร่างกายไม่ต้องการแต่ใจมันอยากจึงขวนขวายแสวงหาไม่สิ้นสุดทำให้เกิดทุกข์โทษภัยต่างๆจากการแสวงหาที่ผิดศีลที่ไปเบียดเบียนสัตว์อื่ จากอาหารที่เป็นส่วนเกินหรือพิษภัยจากอาหารที่อร่อย

     ดังนั้นการรักษาศีลข้อนี้จึงเป็นพุทธวิธีที่สำคัญในการกำจัด รสตัณหา ให้เบาบางลงไปได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อร่างกายจากการตัดอาหารส่วนเกินออกไป โอกาสเกิดโรคภัยต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจอุดตันก็จะลดน้อยลง และยังส่งผลต่อการปฏิบัติสมาธิภาวนาให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ดังที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ภัททาลิสูตรว่า

     “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารหนเดียว เมื่อเราฉันอาหารหนเดียวอยู่แลรู้สึกว่ามีอาพาธน้อยลำบากกายน้อยเบากายมีกำลัง และอยู่อย่างผาสุก

     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอก็จงฉันอาหารหนเดียวเถิด แม้พวกเธอฉันอาหารหนเดียวก็จะรู้สึกว่ามีอาพาธน้อยลำบากกายน้อยเบากายมีกำลังและอยู่อย่างผาสุกŽ”

ศีลข้อ 7 คือ นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนะ มาลาคันธะ วิเลปะนะ ธาระณะ มัณฑะนะ วิภูสะนัฏฐานา เวระมะณี หมายถึง เจตนางดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ดูการละเล่นต่างๆ อันเป็นข้าศึกแก่กุศล ตลอดจนการลูบไล้ทัดทรงประดับตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อม เครื่องทา

สำหรับการรักษาศีลข้อนี้ เป็นพุทธวิธีในการกำจัดตัณหา โดยมุ่งไปที่ สัททตัณหา และคันธตัณหา เป็นสำคัญ อีกทั้งรูปตัณหาด้วย

สัททตัณหา คือ ความอยากในเสียง หมายความว่า การขับร้อง การประโคมดนตรี เพื่อต้องการ ฟังเสียงอันไพเราะอันเป็นที่รักที่เจริญใจ ใจจึงไปติดในเสียงนั้นทำให้สัททตัณหาเจริญขึ้นเพราะมีเสียงเป็นอารมณ์

คันธตัณหา คือ ความอยากในกลิ่น หมายความว่า การทาด้วยของหอม การลูบไล้ด้วยของหอม การประดับตกแต่งด้วยของหอม อันเป็นที่รักที่เจริญใจ ใจจึงไปติดในกลิ่นนั้น ทำให้คันธตัณหาเจริญขึ้น เพราะมีกลิ่นเป็นอารมณ์

รูปตัณหา คือ ความอยากในรูป หมายความว่า การดูการละเล่นต่างๆอันเป็นข้าศึกแก่กุศลทำให้รูปตัณหาเจริญ เพราะสุดท้ายการละเล่นต่างๆ เมื่อต้องการดึงดูดให้มีลูกค้าจำนวน มากๆ เพื่อธุรกิจตน มักจะนำเอารูปสวยๆ งามๆ อันเป็นที่รักที่เจริญใจมาเป็นจุดขาย ทำให้คนดูเกิดความติดอกติดใจ ความอยากก็เกิดขึ้น ใจจึงไปติดกับรูปนั้น รูปตัณหาก็เจริญขึ้น เพราะมีรูปเป็นอารมณ์

ศีลข้อ 8 คือ อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา เวระมะณี หมายถึง เจตนาเครื่องงดเว้นจากการ นอนที่นอนอันสูงใหญ่ ภายในยัดด้วยนุ่น และสำลี การนอนที่นอนนุ่มๆทำให้เกิดความเกียจคร้านไม่อยากตื่น เพราะติดอยู่ในสัมผัสที่อ่อนนุ่ม ซึ่งเป็นตัณหาอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า โผฏฐัพพตัณหา คือ ความอยากใน สัมผัส ในที่สุดกามก็จะกำเริบอีกเช่นกัน

    การรักษาศีล 8 มุ่งเน้นในเรื่องที่สำคัญ คือ การประพฤติพรหมจรรย์ให้มีความบริสุทธิ์ บริบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยข้อปฏิบัติของศีลที่เพิ่มขึ้นมาล้วนสนับสนุนไม่ให้กามกำเริบ ซึ่งเป็นบทฝึก เพื่อให้ลดละตัณหาหรือความอยาก ตามลำดับขั้นของการพัฒนาระดับจิตใจ ซึ่งได้พัฒนามาจากการรักษาศีล 5 มามากพอสมควร จนเกิดความเคยชินเป็นปกติวิสัยแล้ว พร้อมที่จะยกระดับการรักษาศีลให้สูงขึ้น

     ดังนั้นการรักษาศีล 8 จึงเป็นตัวช่วยปรับใจให้ละเอียดประณีตสูงขึ้น เพื่อน้อมนำใจสู่การประพฤติ พรหมจรรย์ไม่ให้ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศ ซึ่งถือว่าเป็นจริยธรรมที่อยู่เหนือกว่าแนวทางการปฏิบัติ โดยทั่วไปของมนุษย์ทั้งหลาย คือ มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องเยี่ยงพรหมซึ่งอยู่ในภพภูมิที่ใกล้ความหมดกิเลส ใกล้พระนิพพานยิ่งขึ้น

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010141015052795 Mins