คำที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าภาวนา

วันที่ 14 มีค. พ.ศ.2558

คำที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าภาวนา

กรรมฐาน

     กรรมฐาน หรือเขียนได้อีกอย่างหนึ่งว่า กัมมัฏฐาน มาจาก 2 บท คือ กมฺม (การงาน) + ฐาน (ที่ ตั้ง) เมื่อรวมกันแล้วแปลว่า ที่ตั้งแห่งการงาน,อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ,อุบายทางใจ,วิธีฝึกอบรมจิตมีอรรถาธิบายแสดงไว้ว่า การเจริญภาวนาทั้ง 2 คือ สมถะและวิปัสสนา เป็นเหตุแห่งการ ได้บรรลุฌาน มรรค ผล นิพพาน ชื่อว่า กัมมัฏฐาน  

     กรรมฐาน มี 2 อย่าง คือ

     1. สมถกรรมฐาน คือ อุบายสงบใจ มี 40 วิธี ได้แก่ กสิณ 10 อสุภะ 10 อนุสสติ 10 พรหมวิหาร 4 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุววัตถาน 1 และ อรูป 4

กสิณ หมายถึง วัตถุอันจูงใจให้เข้าไปผูกอยู่ ทำให้คุมใจได้มั่น จิตใจไม่ฟุ้งซ่านหรือซัดส่าย เช่น ปฐวีกสิณ ใช้ดินเป็นวัตถุในการผูกใจให้มั่น

อสุภะ หมายถึง ความไม่สวยงาม มุ่งหมายถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกายของคนที่ตายไปแล้ว การเจริญอสุภ

กรรมฐาน คือ การพิจารณาซากศพในลักษณะต่างๆ กัน ให้เห็นความน่าเกลียด ไม่สวยงาม

อนุสสติ หมายถึง การระลึกถึงอยู่เนืองๆ เสมอๆ ความมีสติระลึกถึง เช่น พุทธานุสติ ระลึกถึง คุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์

พรหมวิหาร หมายถึง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม มี 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

อาหาเรปฏิกูลสัญญา หมายถึง การพิจารณาความเป็นปฏิกูลในอาหาร กำหนดหมายว่า อาหาร ที่บริโภคเป็นสิ่งปฏิกูล

จตุธาตุววัตถาน หมายถึง การพิจารณาธาตุทั้ง 4 ที่ปรากฏในร่างกายจนกระทั่งเห็นเป็นแต่เพียง กองแห่งธาตุ โดยปราศจากความจำว่า เป็นหญิง ชาย เรา เขา สัตว์ บุคคล เสียได้

อรูปกัมมัฏฐาน หมายถึง การเอาอารมณ์ที่ไม่ใช่รูปฌานเป็นที่ตั้งแห่งการงานทางใจ

     2. วิปัสสนากรรมฐาน คือ อุบายเรืองปัญญา มี 6 ภูมิ ได้แก่ ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 อริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาทธรรม (ธรรมที่อาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น)
 

สมาธิ แปลว่า ความมีใจตั้งมั่น, ความตั้งมั่นแห่งจิต, การทำให้ใจสงบแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน, การมีจิต กำหนดแน่วแน่อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ ในคัมภีร์วิมุตติมรรคได้กล่าวถึงความหมายของสมาธิไว้ว่า สมาธิหมายถึง สิ่งที่ทำให้จิตดำรง มั่น ดำรงอยู่ด้วยดี ตั้งดิ่งแน่วแน่ ไม่ซัดส่ายไป ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถูกรบกวน สงบ ไม่ถูกอารมณ์ยึดไว้ ทำให้สมรรถนะและพลังแห่งสมาธิเข้มแข็งขึ้นเมื่อกล่าวโดยภาพกว้างๆสมาธิมีได้หลายลักษณะด้วยกัน ถ้าเราสังเกตให้ดีจะพบว่าขณะที่นักพนันกำลังเล่นไพ่มือปืนกำลังจ้องยิงคู่อาฆาตคนทรงกำลังเชิญผีเข้าหรือพวกโจรกำลังวางแผนก่อโจรกรรมบุคคลเหล่านี้ต่างมีใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เขากำลังกระทำทั้งสิ้นหลายคนจึงมักเข้าใจผิด คิดว่าบุคคลเหล่านี้มีสมาธิมั่นคงดีแต่แท้ที่จริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่จัดว่าเป็นสมาธิในพระพุทธศาสนา

     สมาธิในพระพุทธศาสนา หมายถึง การที่จิตมีความมั่นคง ไม่วอกแวก และต้องก่อให้เกิดความ สงบ มีความเย็นกายเย็นใจด้วย ถ้าใจไม่วอกแวก แต่พกเอาความร้อนใจไว้ข้างใน เช่น พกเอาความโลภ อยากได้ของผู้อื่นไว้เต็มที่ดังเช่นนักการพนันพกเอาความพยาบาทไว้จนหน้าตาถมึงทึงอย่างพวกมือปืนหรือพกเอาความหลงไว้จนกระทั่งยอมให้ผีเข้ามาสิงร่างตัวดังเช่นพวกคนทรงอย่างนี้พระพุทธศาสนา ถือว่าไม่ใช่สมาธิ ถ้าหากจะถือก็เป็นได้แค่สมาธินอกลู่นอกทาง ที่เรียกว่า มิจฉาสมาธิ ซึ่งไม่ควรฝึกไม่ควรให้ความสนใจ เพราะมีแต่โทษอย่างเดียว ดังนั้นความหมายของสมาธิที่ถูกต้อง หรือที่เรียกว่า สัมมาสมาธิ ควรจะเป็นดังนี้ สมาธิ คือ ความมีอารมณ์เดียวแห่งจิตที่เป็นกุศล

พระภาวนาวิริยคุณได้กล่าวถึงคำว่าสมาธิไว้หลายประการ ดังนี้

1) สมาธิ คือ สภาวะที่ใจปราศจากนิวรณ์ 5

2) สมาธิ คือ อาการที่ใจตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวอย่างต่อเนื่องเป็นเอกัคคตา หรือบางทีใช้ว่า เอกัคคตารมณ์

3) สมาธิ คือ อาการที่ใจหยุดนิ่งแน่วแน่ ไม่ซัดส่ายไปมา

4) สมาธิ คือ อาการที่ใจสงบรวมเป็นหนึ่งแน่วแน่ ณ ศูนย์กลางกายของตนเองอย่างต่อเนื่องมีแต่ความบริสุทธิ์ผ่องใส สว่างไสวผุดขึ้นในใจ จนกระทั่งสามารถเห็นความบริสุทธิ์นั้นได้ด้วยใจตนเองอันจะก่อให้เกิดทั้งกำลังใจ กำลังขวัญ กำลังปัญญา และความสุขแก่ผู้ปฏิบัติได้ในเวลาเดียวกัน

     ที่กล่าวว่า สมาธิ คือ อาการที่ใจสงบรวมเป็นหนึ่ง ดังคำจำกัดความข้อ 4 นั้น ย่อมหมายความว่า ดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้ ซึ่งซ้อนกันอยู่นั้น หยุดรวมเป็นจุดเดียวกันอยู่ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็น กายมนุษย์ ณ ศูนย์กลางกายตนเองนั่นเอง เมื่อรวมกันเป็นหนึ่งแล้ว นิวรณ์ทั้ง 5 ย่อมแทรกแซงเข้าไปไม่ได้ ดังคำจำกัดความข้อ 1 เมื่อหยุดเป็นจุดเดียว ใจย่อมตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ดังคำจำกัดความข้อ 2 และไม่ซัดส่าย ดังคำจำกัดความข้อ 3

     ดังนั้น เราจึงอาจจะสรุปความหมายที่สมบูรณ์ของสมาธิได้ใหม่ว่า สมาธิ คือ สภาวะที่ใจเราปลอด จากนิวรณ์ 5 รวมเป็นจุดเดียว ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ซัดส่ายเลย สงบนิ่งจนปรากฏเป็นดวงใส บริสุทธิ์ผุดขึ้น ณ ศูนย์กลางกายของเราเอง ซึ่งจะสามารถยังผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ต่อการบรรลุธรรม ขั้นสูงต่อไป

 

 


จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001120666662852 Mins