ความสำคัญของศูนย์กลางกาย

วันที่ 14 มีค. พ.ศ.2558

 

ความสำคัญของศูนย์กลางกาย

ศูนย์กลางกายจึงมีความสำคัญมากในการเจริญภาวนา เพราะเป็นจุดศูนย์รวมในการรับรู้ทางใจทั้งหมด เมื่อนำใจไปตั้งไว้ตรงนี้แล้ว ใจจะเกิดความตั้งมั่นมากที่สุดยากที่จะซัดส่ายไปไหน ทำให้ง่ายต่อการทำสมาธิมากกว่าการวางใจไว้ในที่อื่นๆ ดังที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้แสดงพระธรรมเทศนาไว้ว่า

      “สำรวมใจดีแล้ว หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้จริงๆนะเขาทำกันอย่างไรต้องทำใจให้หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางกายมนุษย์ที่เคยแสดงอยู่เสมอๆ เข้าสิบเข้าศูนย์ให้ดี ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ใสบริสุทธิ์ เท่าฟองไข่แดงของไก่Ž”

     เมื่อวางใจให้นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายได้อย่างถูกส่วนแล้วก็จะเข้าถึงสภาวธรรมที่ลุ่มลึกไปตามลำดับ ความสงสัยในธรรมทั้งหลายก็หมดสิ้นไปดังที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้แสดงพระธรรมเทศนาไว้ว่า

      “ นี้ธรรมอันนี้แหละเป็นตัวจริงละ ให้เอาใจติดอยู่ตรงนี้แหละอย่าไปเที่ยวหาอื่น ให้มันอื่นจากศูนย์กลางกายมนุษย์ กลางกายของตัวไปเลยตรงนั้นแหละเอาใจไปจรดอยู่ตรงนั้นแหละ ถ้ายังไม่เห็นนานๆเข้าก็เห็นเอง พอถูกส่วนเข้า ก็เห็นเอง ที่ไปหาที่อื่น ไปโน่น ไปตรงโน้น ไปตรงนี้ ไปที่โน่น ไปที่นี่ ไปหาธรรม ในป่า ในดอนในดงกันยกใหญ่ทีเดียว เพราะไม่เห็นพอไปเห็นเข้าแล้ว โธ่… ผ้า โพกหัวหาแทบตายไม่เห็น อยู่บนหัวนี่เอง ไปหาธรรมแทบตาย ธรรมอยู่กลางตัวของตัวนั่นเอง นั่นแหละธรรมอยู่ตรงนั้นแหละ แต่ว่าไม่ปรากฏขึ้น เมื่อปรากฏขึ้นแก่พราหมณ์แล้ว พราหมณ์ก็หมดสงสัยŽ”
 

การเจริญภาวนาเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย

     การเจริญภาวนาเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายมีหลักการคือ การปฏิบัติตามมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง โดยการนำใจมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งใจสงบนิ่ง และหยุดได้ถูกส่วนก็จะเห็นดวงปฐมมรรค หรือดวงธรรม และเข้าถึงกายภายในไปตามลำดับจนถึงพระธรรมกาย

     สำหรับวิธีการทำให้เข้าถึงพระธรรมกายนั้น มีมากมายหลากหลายวิธีเพื่อให้เหมาะสมกับจริตอัธยาศัยของแต่ละคน ถ้าหากปฏิบัติถูกต้องตามหลักการแล้วสามารถเข้าถึงได้ทุกคน วิธีการที่จะทำให้ใจหยุดนิ่งตรงฐานที่ 7 มีเป็นล้านวิธี คือ นับวิธีไม่ถ้วน แต่ย่อลงมาเหลือเพียงแค่ 40 วิธีที่มีปรากฏในคัมภีร์ วิสุทธิมรรค จะเลือกวิธีไหนก็ได้ที่จะฝึกใจให้หยุดนิ่งไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตามเมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆพอใจสบายใจหยุดถูกส่วนเข้าก็หล่นวูบเข้าไปสู่ภายในพบดวงธรรมภายในถ้าดำเนินจิตไปเรื่อยๆก็จะเข้าถึงพระรัตนตรัยเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นวิธีที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยนั้นมีหลายวิธี แต่ทุกวิธีมีอารมณ์เดียว คือ ต้องมีอารมณ์ดี อารมณ์สบาย แล้วก็ต้องหยุดนิ่ง ใจที่ปกติชอบแวบไปแวบมา กลับมาหยุดนิ่งอยู่ภายใน พอหยุดถูกส่วนก็จะเข้าถึงพระธรรมกายในที่สุด
 

ระดับของการเจริญสมาธิ การฝึกใจให้หยุดนิ่งจนกระทั่งเกิดสภาวะที่เป็นสมาธิ แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ

1. ขณิกสมาธิ คือ สมาธิชั่วขณะ เป็นสมาธิในระดับที่คนทั่วๆ ไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ในชีวิตประจำวัน เช่น การอ่านหนังสือ การดูโทรทัศน์ การขับรถ เป็นต้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเจริญสมาธิ ในขั้นต่อๆ ไป

2. อุปจารสมาธิ คือ สมาธิขั้นเฉียดๆ หรือสมาธิที่จวนเจียนจะแน่วแน่ เป็นสมาธิในระดับที่สามารถ ระงับนิวรณ์ หรือสิ่งที่เป็นศัตรูของสมาธิได้ ก่อนที่จะเข้าสู่สภาวะแห่งฌาน

3. อัปปนาสมาธิ คือ สมาธิแน่วแน่ หรือสมาธิที่แนบสนิท เป็นสมาธิระดับสูงสุดซึ่งมีอยู่ในฌาน ทั้งหลาย ถือว่าเป็นผลสำเร็จที่ต้องการในการเจริญสมาธิ

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.010420882701874 Mins