บรรยากาศเละเทะอึดอัด โดย วีรพงษ์ รามางกูร

วันที่ 15 มีค. พ.ศ.2558

 

 


บรรยากาศเละเทะอึดอัด
โดย วีรพงษ์ รามางกูร

 

ทุกวันนี้จะหยิบปากกามาเขียนอะไร หรือจะเปิดปากคุยอะไรกับใคร ดูจะอึดอัดใจไปหมด เพราะไม่รู้จะเขียนอะไร ไม่รู้ว่าจะพูดอะไรดี ถ้าจะเขียนเรื่องในบ้าน วัตถุดิบที่จะนำมาเขียนหรือนำมาคุยมีค่อนข้างจำกัด แต่ถ้าเป็นเรื่องต่างประเทศก็มีวัตถุดิบมากมายไม่จำกัด ที่สำคัญก็คือไม่รู้ว่าคนที่เรากำลังพูดกำลังคุยอยู่เขาเป็นพวกไหน เขาเชื่ออะไร เช่น เขาชอบอะไร เขาเกลียดอะไร เขาคิดแบบไหน ต้องระวังตัวกันอย่างไม่เป็นปกติ

การจะพูดกันด้วยเหตุผล ข้อเท็จจริง เป็นไปไม่ได้เสียแล้ว ต้องรอฟังเขาพูดเสียก่อน ว่าเขาสังกัดอะไร คุยเรื่องแนวไหน แล้วค่อยพูด ขืนพูดไม่ระมัดระวังไป โอกาสที่จะเสียเพื่อนมีสูงมาก

คนไทยด้วยกันบัดนี้พูดกันคนละภาษา พูดกันคนละเรื่องไปเสียแล้ว จะใช้เหตุผลกันไม่ได้ ต้องใช้ "ศรัทธา" พูดกัน ในวงสนทนาที่มี "ศรัทธา" เดียวกัน ในขณะที่คนไทยด้วยกันพูดกันคนละภาษา ฝรั่งต่างชาติเสียอีกกลับพูดภาษาเดียวกัน สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้

ที่ประหลาดก็คือมีข่าว "เขาว่า" เรื่องแปลกๆ ออกมาให้ตื่นเต้นอยู่เสมอ โดยไม่สามารถบอกได้ว่า "เขาว่า" เป็นใคร มาจากแหล่งใด แต่เพราะเป็นข่าวที่ผู้คนสนใจจึงมีผู้พยายามค้นหา แต่ก็ไม่มีทางหาได้ ก็เคยต้องหาเอาจากเฟซบุ๊กหรืออินเตอร์เน็ต แล้วก็เชื่อกันเป็นตุเป็นตะ ทั้งที่เป็นข่าวเท็จ

ความอึดอัดใจเกิดจากสิ่งที่ได้รับการบอกกล่าว สิ่งที่ฟัง สิ่งที่อ่าน แต่สิ่งที่เห็นกลับเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม ยกตัวอย่าง รัฐบาลก็ดี หน่วยราชการก็ดี ต่างก็บอกว่าเศรษฐกิจดี ราคายาง กก.ละ 80 บาท ข้าวเกวียนละ 10,000 บาท อ้อยน้ำตาลราคาดี แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น จะส่งเรื่องบอกกล่าวสื่อมวลชนก็ไม่ลงข่าวให้ แต่ก็อยู่กันได้ ไม่มีปัญหาอะไร สงบเรียบร้อยดี

สหภาพยุโรปตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีขาเข้าและไม่เจรจาเรื่องเขตการค้าเสรี ก็ไม่กระทบการส่งออกของเรา สหรัฐอเมริกายกเรื่องการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานทาส เพื่อตัดสิทธิทางภาษีขาเข้ากับเราและไม่ยอมเจรจาด้วย เพราะประเทศเราไม่มีประชาธิปไตย ก็ไม่เป็นไร ไม่กระทบต่อการส่งออกของเรา ค่าเงินบาทแข็งเพราะธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมลดดอกเบี้ย เพราะดอกเบี้ยไม่มีผลต่อค่าเงิน ก็ไม่เป็นไรไม่กระทบต่อการส่งออก จะวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ได้ผิดกฎอัยการศึก พ่อค้านักอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของเราก็ต้องพึ่งการส่งออกทั้งนั้น พูดอะไรก็ไม่ได้ ต้องนั่ง "อึดอัดใจ" กันไป

การที่เราถูกตัดจีเอสพี โดยยุโรป อเมริกา ออสเตรเลียและอื่นๆ ย่อมเป็นที่ยินดีของเพื่อนประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน เพราะเขาจะได้ส่งออกแทนของไทย ตลาดที่เราเสียไปให้กับเพื่อนอาเซียนนั้นจะเสียไปอย่างถาวร ไม่ใช่ชั่วคราว เพราะเมื่อผู้ซื้อเปลี่ยนผู้ขายแล้วยากที่จะกลับคืนมา

การลงทุน ไม่ต้องพูดถึง ขณะนี้เราผลิตอยู่เพียงครึ่งเดียวของกำลังการผลิต เหตุผลทางเศรษฐกิจจึงไม่มีอยู่แล้ว แต่ยังมีเหตุผลเพิ่มเติม นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศย่อมไม่กล้าลงทุนกับประเทศที่ตลาดยุโรปและอเมริกา หรือที่อื่นๆ เพราะเขาไม่ยอมรับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือประเทศที่ไม่เป็น "นิติรัฐ" 

เศรษฐกิจการค้าการขายในทุกวันนี้ล้วนผูกพันกับการเมืองอย่างใกล้ชิด เราเคย "อึดอัดใจ" ที่มีประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ที่ปกครองด้วยระบอบ "เผด็จการทหาร" แล้วเราก็เป็นผู้นำทางประชาธิปไตยในกลุ่มอาเซียน ได้รับมอบหมายให้ทำงานกับรัฐบาลทหารในพม่า ในการเข้าไปสร้างสรรค์กลวิธีการดำเนินการ สร้างแผนการและกรอบเวลาเพื่อนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตย อันเป็นเงื่อนไขของการรับพม่าเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน บัดนี้ต้อง "อึดอัดใจ" ที่ได้ยินผู้นำพม่าเตือนเราว่า ให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

เรื่องทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ การดำรงตนอย่างมีศักดิ์ศรีในประชาคมโลก ในฐานะอารยประเทศ มีความสำคัญเท่าๆ กับการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ที่ "อึดอัดใจ" มากขึ้น เมื่อเห็นสิ่งแปลกประหลาดเกิดขึ้นในวงการสงฆ์ โดยที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นคนจุดพลุริเริ่มขึ้นด้วยเรื่องที่ได้ยุติไปแล้ว มติของมหาเถรสมาคมตั้งแต่ปี 2542 ได้กลับปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เกิดการจาบจ้วงหยาบคายต่อองค์กรสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยอันได้แก่มหาเถรสมาคม ซึ่งประกอบด้วยพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ชั้นสมเด็จพระราชาคณะชั้นรอง สมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนไม่ว่าจะสมัยใด ย่อมเป็นการแสดงอาการป่วยของสังคมไทยที่ "อึดอัด" แปลกใจกับการไม่มีปฏิกิริยาคัดค้านการกระทำดังกล่าวจากคณะสงฆ์อื่นๆ และประชาชนชาวพุทธเลย อึดอัดจนไม่ทราบว่าจะพูดอย่างไร

บรรยากาศแห่งความสับสนอลหม่านที่เกิดขึ้นจากการปะทุขึ้นของเรื่องต่างๆ ที่ปกปิดกันมาเป็นเวลานานกำลังผุดขึ้นเหมือนพลุที่ถูกจุดขึ้นในยามค่ำคืน


เริ่มต้นตั้งแต่ความสับสนของขบวนการใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นไปตามปกติ มีความผิดปกติที่วิญญูชนทั่วไปคาดไม่ถึง ความสับสนปนเปเละเทะของหน่วยงานใหญ่ที่เป็นผู้ดูแลความสงบสุขและปราบปรามอาชญากรรม อย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การล่มสลายของสถาบันนิติบัญญัติและรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย การปฏิเสธประชาธิปไตย การเรียกร้องให้มีการทำรัฐประหาร รวมทั้งการสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะคาดได้ ในประเทศที่กำลังจะก้าวข้ามการเป็นประเทศกึ่งพัฒนา แล้วไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21 ความเละเทะ ไม่มีกฎไม่มีเกณฑ์ ไม่มีเหตุผล เต็มไปด้วยอคติและอารมณ์ คงจะดำรงอยู่ในสังคมไทยไปอีกระยะหนึ่ง แม้ว่าจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดกาล

ในบรรยากาศที่แสนจะอึดอัดดังกล่าวนี้ ทุกคนอยู่กับความไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น สังคมที่เละเทะ ไม่คงเส้นคงวา วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ เต็มไปด้วยข่าวลือที่พิสูจน์ไม่ได้ ย่อมคาดการณ์อะไรข้างหน้าได้ยาก

ทุกคนคิดว่าท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้ คงจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปกติขึ้น ไม่รู้ว่าจะเป็นอะไร รู้แต่ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นสิ่งไม่ดี ไม่น่าพึงประสงค์ แต่ก็ไม่ทราบว่าเมื่อไหร่และไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร ไม่ทราบว่าจะป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่ดีนั้นได้อย่างไร เพราะยังไม่รู้ชัดว่ามันคืออะไร เพราะการพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งต้องห้าม

บรรยากาศแบบนี้จึงเป็นบรรยากาศที่อึดอัด คนที่มีพลังหนุนหลังจึงแสดงออกอย่างเต็มที่ในการโจมตีทำลายล้างฝ่ายตรงกันข้าม ที่น่ากลัวก็คือจากองค์กรทางการเมืองมาสู่รัฐบาลขณะนี้กำลังคืบคลานเข้าไปสร้างความแตกแยกในวงการศาสนา การเข้าไปในวงการศาสนาเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะเป็นการเข้าไปท้าทายต่อศรัทธาของผู้คนจำนวนมาก 

ศรัทธาเป็นเรื่องที่แตะต้องไม่ได้ อธิบายไม่ได้ ถ้าไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วก็ไม่ควรไปท้าทาย

สถานการณ์ที่น่ากลัวนี้จะพัฒนาไปอย่างไร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001144285996755 Mins