จุดประสงค์ในการสร้างวัดพระธรรมกาย

วันที่ 19 พค. พ.ศ.2558

สาธุชนปฏิบัติธรรม ณ ศาลาดุสิต

 

จุดประสงค์ในการสร้างวัดพระธรรมกาย

     ความตั้งใจแน่วแน่ของคณะผู้บุกเบิกสร้างวัด คือ การอบรมศีลธรรมแก่ประชาชน เพื่อสร้างสันติสุขให้แก่ชาวโลกได้กำหนดวัตถุประสงค์ ซึ่งถือว่าเป็นอุดมการณ์ของวัด 3 ประการคือ

1. สร้างวัดให้เป็นวัด คือเป็นวัดที่สะอาด สงบ ร่มรื่น สำหรับการประพฤติปฏิบัติธรรมของประชาชน

2. สร้างพระให้เป็นพระ คือ ฝึกอบรมพระภิกษุ ให้ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตร และคุณธรรมภายในเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา สามารถเป็นครูสอนศีลธรรมให้แก่ประชาชนได้

3. สร้างคนให้เป็นคนดี คือสร้างคนดีมีศีลธรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว สังคมและประเทศชาติและมีความมุ่งหวังให้วัดพระธรรมกาย เป็นโรงเรียนสอนศีลธรรมให้กับประชาชน สร้างคน สร้างวัด27)

 

พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้เล่าถึงประวัติการสร้างวัดจนถึงปัจจุบันว่า

     ในการสร้างวัดมีคุณยายท่านเป็นหลักเป็นประธาน และนอกนั้นเป็นทีมงานสร้างวัดกันตั้งแต่ท้องไร่ ท้องนา ตอนแรกคิดว่าจะมีเพียง 21 รูปเท่านั้น พอทำสังฆกรรมได้ โดยเฉพาะอยู่ในปริวาสกรรม ต้องมีสงฆ์ 21 รูป คิดไว้แค่นั้น แล้วก็สร้างกุฏิในวัดกระจายเป็นหลังๆ ต่อมาก็เริ่มทยอยกันบวชเรื่อยๆ หลวงพ่อ ก็สอนธรรมไป ญาติโยมก็มานั่งกันโคนต้นไม้ กลางแดดก็มี อยู่ใต้เต๊นท์ ใต้กลดบ้าง และมีคนสนใจมาปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้น แต่เดิมญาติโยมเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของพระ ของนักบวช แต่พออธิบายว่าการปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว มีความจำเป็นและสำคัญยิ่งของมนุษย์ทุกคนในโลก จะเป็นพระหรือฆราวาสก็เริ่มตื่นตัวมาสนใจนั่งสมาธิญาติโยมมามากจนกระทั่งเห็นเขานั่งกลางแดด ทนไม่ไหวเลยต้องสร้างศาลาจาตุมหาราชิกา ซึ่งจุได้ 500 คน

     สอนไปสอนมา ญาติโยมเห็นว่าดีก็ไปชวนกันมาปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวเรามีที่นั่งได้ 500 ที่นั่ง แต่มาวัดกัน 7,000 คน ที่เหลือต้องนั่งตากแดดกันอยู่อย่างนั้นร่มไม้ไม่ค่อยมีเห็นแบบนั้นจึงสร้างสภาธรรมกายสากลหลังคาจาก (จุได้ 10,000คน) เราสร้างตามความจำเป็นของผู้ที่มาจากนั้นก็ต้องสร้างโรงครัว เพราะพระเยอะขึ้น ญาติโยมเยอะขึ้น ทำอาหารเลี้ยงทั้งพระเณรญาติโยมมาปฏิบัติธรรมกันไปก็ต้องเลี้ยงกันไปสภาจากว่าจุได้มากแล้วสร้างเผื่อไว้เลยเพื่อจะได้มีโอกาสปฏิบัติธรรม

   กลับมาที่การสร้างโบสถ์ในยุคแรก เราต้องไปยืมโบสถ์วัดกลาง (พระอาจารย์เล็ก ขณะนี้ท่านเป็นเจ้าคณะอำเภอคลองหลวง) เพื่อลงปาติโมกข์ เพราะเรายังไม่มีโบสถ์ ไปยืมบ่อยๆ ภายหลังต้องสร้างโบสถ์ของวัดพระธรรมกายเอง คือตั้งใจสร้างแบบง่าย ให้แข็งแรง จะไม่ต้องมาซ่อมกันอีก (ทำให้มีการ วิพากษ์วิจารณ์ว่าโบสถ์ที่วัดพระธรรมกายคล้ายโบสถ์คริสต์มาก : ผู้วิจัย)

   เมื่อมีที่นั่งจุได้ 10,000 คน ก็ชวนญาติโยมปฏิบัติธรรมมาอย่างต่อเนื่อง แต่เดิมญาติโยมมาวัดใส่เสื้อสีๆ กันเราก็แนะนำให้ใส่ชุดขาว เพราะปู่ย่าตายายเขาใส่กันมา มันทำให้กายวาจา ใจ มีความรู้สึกสะอาด และสีๆใส่กันสวยงามมาเดี๋ยวมาประกวดประขันกันใจก็จะไม่รวม แรกๆ ก็โดนคนว่า ว่าอวดอุตริ เราก็ค่อยๆ สอนไป และก็ค่อยๆ แนะกันไปที่ละคน สองคน ก็ใส่สีขาวมากันเพิ่มขึ้น ดูแล้วเรียบร้อย จะมีคนอื่นพูดว่าทำไมมาวัดนี้มันต้องยุ่งยาก ที่อื่นไม่เห็นกำหนดแบบนี้

    ภายหลังคนนั่งเต็มศาลา ก็แต่งกายชุดขาวกัน นั่งเรียบร้อยไม่คุยกันเลย รองเท้าก็จัดเป็นระเบียบ คุณยายท่านเริ่มก่อน ท่านไปเอาบุญพิเศษไปจัดรองเท้าก่อน พระทนไม่ไหวก็ต้องลงไปจัดบ้าง โยมเห็นพระจัดรองเท้าทนไม่ไหว โยมก็เลยต้องช่วยกันจัด การวางรองเท้าเลยเรียบร้อยหมด ตอนหลังเด็กๆ ก็มาตีตารางกัน ทุกคนสามารถเรียงรองเท้าตัวเองได้เลย

   ที่นี้พอมีสภาหลังคาจากจุคนได้ 10,000 คน แต่มีคนมาถึง 30,000 คน ที่มาเพิ่มต้องไปนั่งกลางแดดกลางฝน เวลาฝนตกลงมาก็ต้องไปนั่งงอก่องอขิงกัน เห็นแล้วก็ทนไม่ได้อีก หลังสุดท้ายสร้างให้มันใหญ่เลย ขนาดใหญ่กว่าสนามหลวง 2 เท่า เพราะมีชั้นบน และชั้นล่าง สร้างทีเดียวจุได้ 100,000 คน ใช้เนื้อที่ 100 ไร่เศษ ซึ่งมีประโยชน์มากในปัจจุบัน

     ต่อมาคิดว่าโลกยังขาดแคลนแบบอย่างที่ดี สันติภาพของโลกจะต้องเกิดจากสันติสุขภายใน จะต้องมีภาพที่ทำให้โลกเกิดแรงบันดาลใจอยากจะปฏิบัติธรรม อยากจะประพฤติพรหมจรรย์ จึงสร้าง มหาธรรมกายเจดีย์ขึ้น สร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นจุดรวมใจของผู้มีบุญ โดยกำหนดเนื้อที่รอบมหาธรรมกายเจดีย์ไว้หนึ่งล้านตารางเมตร หนึ่งคนต่อหนึ่งตารางเมตร หมายความว่าจะต้องมีผู้มีบุญมาสักการบูชา มหาธรรมกายเจดีย์ หรือปฏิบัติธรรมร่วมกันหนึ่งล้าน ภาพคนหนึ่งล้านคนที่มีระเบียบและประพฤติธรรม สงบเสงี่ยม นี่แหละจะสร้างแรงบันดาลใจให้ชาวโลกทั้งหลาย เกิดความรู้สึกว่าเขามาทำอะไร ทำไมมีระเบียบเรียบร้อย และจะได้เป็นหัวข้อสนทนาว่าที่มานั่งกันนี่เขามาแสวงหาพระรัตนตรัยในตัว ที่พึ่งในตัว ถ้าเข้าถึงแล้วจะมีความสุข ปลอดภัย อบอุ่น และได้รู้เรื่องราวความจริงของชีวิต ก็จะเกิดแรงบันดาลใจอยากประพฤติปฏิบัติธรรมตามไปด้วย จึงได้ชวนสร้างพระ สร้างคนละองค์ สององค์ มหาธรรมกายเจดีย์มีส่วนของสังฆรัตนะ เพื่อที่จะได้กราบนิมนต์พระเถรานุเถระ พระสังฆาธิการ มาร่วมพิธีกัน จะได้ครบ พุทธบริษัทก็ทำกันมามาชะงักตอนเขาคิดว่าเราอยากจะเป็นใหญ่ อยากเด่น อยากดัง แต่ไม่ใช่เลยขอพูดด้วยความสุจริตใจ ต้องการให้ทุกคนได้มาศึกษาธรรมะ มาปฏิบัติธรรมเราต้องการบุญ และอยากเห็นคนที่เขาประพฤติปฏิบัติธรรมแค่นั้นก็ดีใจแล้ว เราจะได้เก็บเกี่ยวเอาบุญติดตัวกันไปในภพเบื้องหน้า ตายแล้วจะได้ไม่ตกนรก และอยากจะได้บุญ ที่สำคัญอยากเห็นพระพุทธศาสนาขยายไปทั่วประเทศŽ28)

    ในการพิจารณาวิสัยทัศน์นับตั้งแต่หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และหลวงพ่อธัมมชโยมีความคิดในการเผยแผ่วิธีการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวซึ่งเกิดจากผลการปฏิบัติที่ท่านทั้ง 3 ได้รับประสบการณ์ภายในด้วยตนเองและเกิดแรงบันดาลใจที่จะเผยแผ่การปฏิบัติธรรมดังกล่าวเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นในการดำเนินชีวิตในวงกว้าง

     ภารกิจในการทำงานดังกล่าวมีคุณยายเป็นผู้สืบสานปณิธานตั้งแต่เริ่มมีกลุ่มที่เข้ามาปฏิบัติธรรม และมีความตั้งใจเหมือนกันจัดหาสถานที่ และจัดหาทุนในการก่อสร้างคุณยายกำหนดหน้าที่ของพระภิกษุแต่ละรูปในการทำงานหลักด้านต่างๆ ของวัด ขณะเดียวกันก็สอนเรื่องที่ทุกคนต้องมีเป้าหมายและการฝึกที่เหมือนกันได้แก่การอยู่ร่วมกันในหมู่คณะความตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ การดูแลปัจจัย 4 ให้สะอาด เรียบร้อยและรู้จักใช้ของ รวมทั้งการวางระเบียบกฎเกณฑ์ของวัด และการวางตัวของพระภิกษุ และฆราวาส

 


27) มูลนิธิธรรมกาย, 29 ปี แห่งการสร้างคนดี วัดพระธรรมกาย, หน้า 19.
28) พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย), พระธรรมเทศนา ณ สภาธรรมกายสากล, 19 มิถุนายน 2546.

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.018445086479187 Mins