ผนึกกำลังต้านน้ำเมา

วันที่ 19 กย. พ.ศ.2549

     ในคำถามว่า"สุรา"หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสารเสพติดหรือไม่? บรรดาคอเหล้าทั้งหลายคงรีบค้านเป็นเสียงเดียวกัน เพราะเมื่อพูดถึงยาเสพติดหลายๆคนคงจะนึกถึง"เฮโรอีน" หรือ"โคเคน"มากกว่า ซึ่งในความเป็นจริงทั้งเฮโรอีนและโคเคนต่างก็ได้รับการรับรองจากองค์กรนานาชาติว่ามีภัยร้ายแรงเป็นอันดับ 1 ในบรรดายาเสพติดทั้งหลาย

ขณะที่สุราแม้จะไม่ได้ร้ายแรงเท่า แต่จะให้ติดฉลากว่าไม่เป็นสารเสพติดร้ายแรงก็คงจะเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะหากลองนึกถึงการหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สามารถทำได้ง่ายดาย ทั้งจากร้านขายของชำ และร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงอย่าง 7 Eleven ทำให้ไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดเจ้าน้ำเมาถึงได้เข้าเส้นชัยมาเป็นอันดับ 5 ในการจัดอันดับพิษยาเสพติด

แอลกอฮอล์ภัยร้ายอันดับ 5 นำไปสู่อาชญากรรม ความรุนแรง

     แม้บนฉลากของขวดเหล้า ขวดเบียร์ จะยังไม่ได้มีการติดภาพขู่ขวัญผู้ดื่มไว้อย่างข้างซองบุหรี่ หรือถึงแม้จะมีข้อความเตือนอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นไปอย่างนุ่มนวลเมื่อเทียบกับคำเตือนบนซองบุหรี่ เช่นว่า "การดื่มสุราทำให้ความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะลดลง" แต่ตัวเลขกลับชี้ให้เห็นว่า สุราเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตของมนุษย์ก่อนวัยอันควรถึงวันละ 5,000 คน นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังเป็นอันตรายต่อสังคมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมและความไม่สงบ ความรุนแรงในครอบครัว การทารุณเด็ก อุบัติเหตุ และหากคิดให้ลึกตามหลักเศรษฐศาสตร์ลงไปสุรายังก่อให้เกิดการเสียกำลังการผลิตซึ่งนำไปสู่ความยากจน กระทั่งอาจก่อให้เกิดภาระทางเศรษฐกิจต่อสังคมได้ด้วย โดยงานศึกษาหลายชิ้นระบุว่ามูลค่าต้นทุนทางเศรษฐกิจของแอลกอฮอล์มีถึงร้อยละ 1-4.5 ของผลผลิตมวลรวมของประเทศ

องค์กรอนามัยโลกได้ตระหนักถึงภัยคุกคามนี้มีมานานกว่า 50 ปีแล้ว อย่างไรก็ตามหากเทียบกับสารเสพติดคู่บาปอย่างบุหรี่ แอลกอฮอล์กลับยังอยู่ห่างไกลจากเส้นชัยอยู่มาก "โครงการเมาไม่ขับ" หรือ "งดเหล้าเข้าพรรษา" อาจจะเป็นการรณรงค์ที่คุ้นหูมากที่สุด และความเคลื่อนไหวที่เป็นรูปเป็นร่างและน่าจะฝากความหวังไว้ได้อีกอันหนึ่ง

คือการจัดตั้ง "เครือข่ายนโยบายควบคุมแอลกอฮอล์แห่งเอเซียแปซิฟิค" (Asia Pacific Alcohol Policy Alliance (APAPA) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิค โดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการร่วมดูแลภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

"การก่อตั้งเครือข่ายนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะว่าทางภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีเครือข่ายของเขาเหมือกัน เราจึงมองตัวเองว่าเป็นหมากที่ทำให้เกิดความสมดุลกับภาคธุรกิจ โดยเรามีเป้าหมายคือจัดหาพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นให้กับผู้รณรงค์นโยบายแอลกอฮอล์ ทำให้รัฐบาล องค์กรในระดับสากลทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนชุมชนได้ใส่ใจกับผลกระทบทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพของการบริโภคแอลกอฮอล์รวมถึงภัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกับองค์กรระดับชาติและระดับท้องถิ่น ตลอดจนชุมชนในการลดความรุนแรง ของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์

สนับสนุนให้มีการวิจัยในระดับสากลถึงผลกระทบด้านสังคมและสุขภาพจากมาตรการต่างๆของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นานาชาติ ติดตามและประชาสัมพันธ์ผลการวิจัยด้านผลกระทบจากข้อตกลงการค้าในระดับสากลต่ออันตรายต่างๆที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ ให้ความสำคัญกับการวิจัยและการมีตัวแทนในพื้นที่ซึ่งปัญหาแอลกอฮอล์ได้เพิ่มสูงขึ้นสร้างความมั่นใจว่ากลุ่มสมาชิกในพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพด้านด้านเทคโนโลยีและได้รับการสนับสนุนต่างๆในการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายระดับโลกในการสื่อสารและปฏิบัติการ" ดีเรค รัธเธอร์ฟอร์ด ประธานเครือข่ายนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลกหรือกาปา (GAPA - Global Alcohol Policy Alliance) กล่าว

เขาแสดงความเห็นว่าการที่ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พุ่งเป้ามายังทวีปเอเชียเป็นเพราะตลาดตะวันตกเริ่มถึงจุดอิ่มตัวแล้ว และภัยคุกคามที่น่ากลัวอีกอย่างก็คือการที่เครื่องดื่มเหล่านี้เริ่มเจาะตลาดวัยรุ่นและผู้หญิงมากขึ้นซึ่งทั้งหมดนี้จะโทษภาคธุรกิจอย่างเดียวไม่ได้ แต่เป็นเพราะรัฐบาลอ่อนแอเกินไป ในการออกนโยบายเพื่อต่อกรกับอุตสาหกรรมน้ำเมาที่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล

"ผู้ผลิตสินค้าควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย พวกเขาไม่ควรจะออกผลิตภัณฑ์ที่จูงใจผู้เยาว์ หรือเครื่องดื่มหวานๆที่เจาะจงดึงดูดกลุ่มผู้หญิง การให้เงินสนับสนุนในกิจกรรมกีฬาต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆก็ควรจะถูกห้าม มีนโยบายผ่อนปรนและเสรีมากเกินไป เราต่างก็รู้ว่านโยบายเช่นนี้เป็นนโยบายที่ขาดประสิทธิภาพ แต่ภาคอุตสาหกรรมกลับสนับสนุนมันเพราะเอื้อประโยชน์ให้พวกเขา

มันไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องที่รัฐบาลจะยอมรับความคิดเห็นของภาคธุรกิจว่าการดื่มสุราถือเป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคล เพราะจริงๆ เป็นสังคมต่างหากที่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของสุรา ราคาของสุราไม่ใช่แค่เงินในกระเป๋าของประชาชน แต่เป็นราคาของเด็กๆที่ถูกทอดทิ้ง สถาบันครอบครัวที่อมทุกข์และอุบัติเหตุบนท้องถนน ยังไม่นับรวมปัญหาทางเศรษฐกิจอีกด้วย"

ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าในประเทศไทยจำนวนผู้ดื่มที่เป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.1 และกลุ่มเยาวชนก็มีอัตราการบริโภคสุราเพิ่มขึ้นเช่นกัน ที่น่าเป็นห่วงของทั้งสองกลุ่มนี้คือรูปแบบการดื่มที่เปลี่ยนไปเป็นการดื่มที่เป็นพฤติกรรม นอกจากนี้ร้อยละ 83.6 ของอุบัติเหตุและความรุนแรงในครอบครัวเป็นสาเหตุจากแอลกอฮอล์ด้วย

นายรัธเธอร์ฟอร์ดเชื่อว่าการต่อสู้กับภัยของน้ำเมาไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องต่อกรกับระบบการค้าเสรีและโลกาภิวัตน์ แต่ภายใน 10 ปีข้างหน้าการรณรงค์เรื่องสุราจะต้องมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นเรื่อยๆ

"ดร. อี. เอ็ม. เจลลิเน็ก ที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านโรคพิษสุราเรื้อรังเคยกล่าวไว้เมื่อ 50 ปีก่อนว่า เราจะควบคุมแอลกอฮอล์หรือจะให้แอลกอฮอล์จะควบคุมเรา ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้อาจเรียกได้ว่าเราปล่อยให้มันควบคุมเรามากกว่า ฉะนั้นสิ่งที่จะต้องทำคือสร้างระเบียบวินัยให้กับตลาดนี้ เราไม่สามารถจะมีตลาดการค้าเสรีได้และจะต้องทำให้รัฐมนตรีซึ่งไม่ใช่แค่รัฐมนตรีสาธารณสุข แต่เป็นทุกๆท่านเชื่อและเห็นว่าแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดปัญหามากมายต่อประเทศของพวกเขา ผมมองโลกในแง่ดีเรื่องเวลา แต่ผมไม่คิดเราจะชนะได้ง่ายๆ เราต้องต่อสู้อย่างหนัก ต้องตรากตรำเป็นเวลานาน เพราะผู้ผลิตแอลกอฮอล์คงจะไม่ยอมลงให้เราง่าย ๆ" เขากล่าวสรุป

แม้การรณรงค์ต่อต้านภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่อเค้าว่ายังอยู่ไกลเส้นชัยนัก

แต่หากสังคมร่วมใจกันกดดันให้ภาครัฐทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่หาซื้อได้ง่ายๆได้กลายเป็นสินค้าที่หาซื้อยาก และมีระเบียบข้อบังคับมากขึ้น รุ่นลูกรุ่นหลานของเราคงไม่ต้องตกเป็นทาสน้ำเมาเหมือนคนรุ่นเก่าๆอีกต่อไป

 

ข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0056140661239624 Mins