วิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานในพระไตรปิฎก

วันที่ 14 กค. พ.ศ.2558

 

วิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานในพระไตรปิฎก

            เมื่อกล่าวถึงวิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานในพระไตรปิฎก ได้แสดงวิธีการเจริญสมาธิแบบต่างๆ ไว้ ดังต่อไปนี้


การเจริญสมาธิวิธีธรรมชาติ

            เป็นหลักปฏิบัติที่แสดงให้เห็นถึงหลักการของจิตที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับจนกระทั่ง เกิดสมาธิขึ้น โดยแสดงให้เห็นถึงสภาวะจิตที่เริ่มเกิดจากมีปราโมทย์ หรือเกิดความปลาบปลื้มบันเทิงใจ จากการทำสิ่งที่ดีงามอย่างใดอย่างหนึ่ง จนเกิดความอิ่มใจ (ปีติ) ร่างกายจึงผ่อนคลาย สงบ จิตใจสบาย (ปัสสัทธิ) มีความสุข และสมาธิก็เกิดขึ้นตามลำดับดังนี้

ปราโมทย์ → ปัสสัทธิ → สุข → สมาธิ

 

            สมาธิที่เกิดขึ้นแบบธรรมชาตินี้ นักศึกษาคงเคยได้ประสบด้วยตนเอง ในยามที่รู้สึกผ่อนคลาย หรือปล่อยวางเรื่องราวภารกิจต่างๆ หรือได้ทำคุณความดีบางอย่าง จนกระทั่งเกิดความอิ่มเอมใจ แล้วจิตก็เกิดเป็นสมาธิขึ้นโดยที่ไม่ต้องมีวิธีการฝึกปฏิบัติอะไรเป็นพิเศษ จึงถือว่าเป็นวิธีการที่ง่ายและเหมาะสม กับทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ศาสนา

 

            ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงเหตุที่มาของความปราโมทย์ อันเป็นต้นทางแห่งสมาธิไว้ดังต่อไปนี้

(1)เกิดจากการประพฤติปฏิบัติตั้งมั่นอยู่ในศีล และด้วยศีลที่รักษาดีแล้ว ย่อมทำให้เกิดความปราโมทย์ ดังนี้

            “    วินัย ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่สังวร (ความสำรวม), สังวร ย่อมมีเพื่อประโยชน์ แก่อวิปปฏิสาร (ความไม่เดือดร้อนใจ), อวิปปฏิสาร ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์, ความปราโมทย์ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ปีติ (ความอิ่มใจ) ปีติ ย่อมมี เพื่อประโยชน์แก่ปัสสัทธิ (ความสงบ), ปัสสัทธิ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ความสุข, ความสุข ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่สมาธิ (ความตั้งใจมั่น), สมาธิ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ยถาภูตญาณทัสสนะ (ความรู้เห็นตามเป็นจริง), ยถาภูตญาณทัสสนะ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่นิพพิทา (ความเบื่อหน่าย), นิพพิทา ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่วิราคะ (ความสำรอกกิเลส), วิราคะย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่วิมุตติ (ความหลุดพ้น) วิมุตติย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่วิมุตติญาณทัสสนะ (ความรู้เห็นความหลุดพ้น), วิมุตติญาณทัสสนะ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่อนุปาทาปรินิพพาน (ความดับสนิทหาเชื้อมิได้)”18)

            บุคคลที่มีศีลย่อมไม่เดือดร้อนใจ และทำให้จิตสงบได้ตามลำดับ ดังนั้นบุคคลที่จะปฏิบัติธรรม ให้ผลการปฏิบัติก้าวหน้าไปตามลำดับ จำต้องสมาทานรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ศีลจึงเปรียบเสมือนบันได เพื่อนำไปสู่สมาธิและธรรมเบื้องสูงยิ่งๆ ขึ้นไป

 

(2)เกิดจากการได้ศึกษาธรรมะ ฟังธรรมและปฏิบัติธรรม จึงเกิดความปราโมทย์ สมาธิ จึงเกิดขึ้น ดังนี้

            “    ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย พระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์อยู่ในฐานะ ควรเคารพ รูปใดรูปหนึ่ง ย่อมแสดงธรรมแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ภิกษุรู้อรรถและ รู้ธรรมในธรรมนั้น โดยประการที่พระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์อยู่ในฐานะ เป็นครู รูปใดรูปหนึ่ง ย่อมแสดงธรรมแก่ภิกษุ ความปราโมทย์ย่อมเกิดแก่เธอ ผู้รู้อรรถ รู้ธรรม เมื่อปราโมทย์ ปีติย่อมเกิดเมื่อใจมีปีติ กาย ย่อมสงบ ผู้มีกายสงบ ย่อมเสวยความสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น นี้ก็เป็นวิมุตตายตนะข้อที่หนึ่ง

            ข้ออื่นยังมีอยู่อีก พระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์อยู่ในฐานะควรเคารพ รูปใดรูปหนึ่ง ย่อมไม่แสดงธรรมแก่ภิกษุ อีกอย่างหนึ่ง ย่อมแสดงธรรมตามที่ได้ฟัง ตามที่ได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร เธอเป็นผู้รู้อรรถและรู้ธรรม ในธรรมนั้น โดยประการที่ภิกษุแสดงธรรมตามที่ได้ฟัง ตามที่ได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร ความปราโมทย์ย่อมเกิดแก่เธอผู้รู้อรรถรู้ธรรม เมื่อปราโมทย์ ปีติย่อมเกิด เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น นี้ก็เป็นวิมุตตายตนะ ข้อที่สอง

 

            ข้ออื่นยังมีอยู่อีก พระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์อยู่ในฐานะควรเคารพ รูปใดรูปหนึ่ง ย่อมไม่แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งไม่แสดงธรรมตามที่ได้ฟัง ตามที่ ได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร อีกอย่างหนึ่ง ย่อมกระทำการท่องบ่นธรรม ตามที่ได้ฟัง ตามที่ได้เรียนมาโดยพิสดาร เธอเป็นผู้รู้อรรถและเป็นผู้รู้ธรรมใน ธรรมนั้น โดยประการที่ภิกษุ กระทำการท่องบ่นธรรม ตามที่ได้ฟัง ตามที่ได้เรียนมา ความปราโมทย์ ย่อมเกิดแก่เธอผู้รู้อรรถผู้รู้ธรรม เมื่อปราโมทย์ ปีติย่อมเกิด เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบผู้มีกายสงบ ย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อม ตั้งมั่น นี้ก็เป็นวิมุตตายตนะข้อที่สาม

            ข้ออื่นยังมีอยู่อีก พระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์อยู่ในฐานะควรเคารพ รูปใดรูปหนึ่ง ย่อมไม่แสดงธรรม ทั้งไม่แสดงธรรมตามที่ได้ฟังตามที่ได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร ทั้งไม่กระทำการท่องบ่นธรรมตามที่ได้ฟัง ตามที่ได้เรียนมา

อีกอย่างหนึ่ง เธอตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามธรรม ตามที่ได้ฟัง ตามที่ได้ เรียนมาด้วยใจ เธอเป็นผู้รู้อรรถและเป็นผู้รู้ธรรมในธรรมนั้น โดยประการที่ภิกษุตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามธรรมตามที่ได้ฟัง ตามที่ได้เรียนมาด้วยใจ ความปราโมทย์ ย่อมเกิดแก่เธอผู้รู้อรรถรู้ธรรม เมื่อปราโมทย์ ปีติย่อมเกิด เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบผู้มีกายสงบ ย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่นนี้ก็เป็น วิมุตตายตนะข้อที่สี่

 

            ข้ออื่นยังมีอยู่อีก พระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์อยู่ในฐานะควรเคารพ รูปใดรูปหนึ่ง ย่อมแสดงธรรม ทั้งไม่แสดงธรรมตามที่ได้ฟัง ตามที่ได้เรียนมา แก่ผู้อื่นโดยพิสดาร ทั้งไม่กระทำการท่องบ่นธรรม ตามที่ได้ฟัง ตามที่ได้เรียนมาโดยพิสดาร ทั้งไม่ตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามธรรม ตามที่ได้ฟัง ตามที่ได้เรียนมาด้วยใจ อีกอย่างหนึ่ง สมาธินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เธอเรียนดีแล้ว ทำไว้ในใจดีแล้ว ทรงไว้ดีแล้ว แทงตลอดดีแล้ว ด้วยปัญญา เธอเป็นผู้รู้อรรถและเป็น ผู้รู้ธรรมในธรรมนั้นโดยประการที่สมาธินิมิต อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ภิกษุ เรียนดีแล้ว กระทำไว้ในใจดีแล้ว ทรงไว้ดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา ความปราโมทย์ย่อมเกิดแก่เธอผู้รู้อรรถ รู้ธรรม เมื่อปราโมทย์ ปีติย่อมเกิด เมื่อใจมีปีติกายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบ ย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น นี้ก็เป็นวิมุตตายตนะ ข้อที่ห้า”19)

 

(3) เกิดจากความสามัคคี ปรองดองกัน ดังนี้

            “    ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยใด ภิกษุทั้งหลายพร้อมเพรียงกัน ชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกัน (กลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน) เป็นประหนึ่งว่านมประสม กับน้ำ มองดูกันและกันด้วยปิยจักษุ ในสมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายย่อมได้บุญมาก ในสมัยนั้น ภิกษุ ทั้งหลายชื่อว่าอยู่อย่างพรหม คือ อยู่ด้วยมุทิตา (พรหมวิหาร) อันเป็นเครื่องพ้นแห่งใจ (จากริษยา) ปีติย่อมเกิดแก่ผู้ปราโมทย์ยินดี กายของ ผู้มีใจปีติย่อมระงับ ผู้มีกายระงับย่อมเสวยสุข จิตของผู้มีสุขย่อมเป็นสมาธิ”20)

 

(4) เกิดจากการสำรวมอินทรีย์ คือ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ดังนี้

            “    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างไร ภิกษุ สำรวมจักขุนทรีย์อยู่ จิตก็ไม่แส่ไปในรูปทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ ภิกษุนั้น มีจิตไม่แส่ไปแล้ว ปราโมทย์ก็เกิด เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ปีติก็เกิด เมื่อใจเกิดปีติ กายก็สงบ ภิกษุผู้มีกายสงบ ก็อยู่สบาย จิตของภิกษุผู้มีความสุขก็ตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ธรรมทั้งหลายก็ปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายปรากฏ ภิกษุนั้น ก็ถึงความนับว่า เป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทแท้จริง ฯลฯ เมื่อภิกษุสำรวม ชิวหินทรีย์อยู่ จิตก็ไม่แส่ไปในรสทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น ฯลฯ เมื่อภิกษุสำรวม มนินทรีย์อยู่ จิตก็ไม่แส่ไปในธรรมารมณ์ทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ ภิกษุมีจิต ไม่แส่ไปแล้ว ปราโมทย์ก็เกิด เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ปีติก็เกิด เมื่อใจเกิดปีติ กายก็สงบ ภิกษุผู้มีกายสงบแล้ว ก็อยู่สบาย จิตของภิกษุผู้มีความสุขก็ตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ธรรมทั้งหลายก็ปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายปรากฏ ภิกษุนั้น ถึงความนับว่า เป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ด้วยประการฉะนี้”21)

 

------------------------------------------------------------------------

18) พาหิรนิทานวรรณนา, วินัยปิฎก อรรถกถา, มก. เล่ม 1 หน้า 171.
19) ฑีฆนิกาย ปาฏิวรรค, มก. เล่มที่ 16 ข้อ 419 หน้า 416-418.
20) อังคุตรนิกาย ติกนิบาต, มก. เล่มที่ 34 ข้อ 535 หน้า 428.
21) สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค, มก. เล่มที่ 28 ข้อ 144 หน้า 166.

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00098596413930257 Mins