การเจริญสมาธิโดยใช้สติเป็นตัวนำ

วันที่ 14 กค. พ.ศ.2558

 

 การเจริญสมาธิโดยใช้สติเป็นตัวนำ

            ในที่นี้มีพระสูตรที่ให้หลักปฏิบัติกัมมัฏฐานไว้เรียกว่า สติปัฏฐานสูตร ซึ่งได้ให้หลักการแห่ง การปฏิบัติไว้ดังต่อไปนี้

(1) กายานุปัสสนา

            หมายถึง การตามเห็นกายในกาย หรือความรู้ทันที่เกิดขึ้นจากอาการต่างๆ ของกาย ด้วยวิธีการ 6 อย่าง คือ

1. อานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้า-ออกในร่างกายของตน ดังพุทธพจน์ว่า

            “    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่ควงไม้ก็ดี ไปสู่เรือนร้างก็ดี นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ย่อม สำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร (ลมหายใจ) หายใจเข้า

            นายช่างกลึง หรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ฉลาด เมื่อชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ชัดว่า เราชักยาว เมื่อชักเชือกกลึงสั้น ก็รู้ชัดว่า เราชักสั้นแม้ฉันใด ภิกษุ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่าเราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า ดังพรรณนามาฉะนี้”23)

 

2.กำหนดอิริยาบถ คือ เมื่อยืน เดิน นั่ง นอน หรือ ร่างกายอยู่ในอาการอย่างไร ก็รู้ชัดในอาการ ที่เป็นอยู่นั้นๆ ดังพุทธพจน์ว่า

“    ภิกษุเมื่อเดินก็รู้ชัดว่า เราเดิน เมื่อยืน ก็รู้ชัดว่า เรายืน เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่า เรานั่ง เมื่อนอน ก็รู้ชัดว่า เรานอน หรือเธอตั้งกายไว้ด้วยอาการอย่างใดๆ ก็รู้ชัดว่าอาการอย่างนั้นๆ”24)

 

3.มีสัมปชัญญะ คือ กำหนดรู้การเคลื่อนไหวของร่างกายทุกอย่าง ดังพุทธพจน์ว่า

“    ภิกษุเป็นผู้กระทำสัมปชัญญะ ในการก้าวไปและถอยกลับ, ในการมอง และการเหลียว, ในการคู้เข้าและเหยียดออก, ในการทรงผ้าสังฆาฏิ, บาตร และจีวร, ในการกิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ในเวลาเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด นิ่ง”25)

 

4.ปฏิกูลมนสิการ คือ การพิจารณาร่างกายของตนเอง ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าซึ่งมีส่วน ประกอบต่างๆ ที่ไม่สะอาดประกอบอยู่ ดังพุทธพจน์ว่า

“    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้ คือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร

            ไถ้มีปากสองข้าง เต็มด้วยธัญญชาตินานาชนิด คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง งา ข้าวสาร บุรุษผู้มีนัยน์ตาดี แก้ไถ้นั้นแล้ว พึงเห็นได้ว่า นี้ข้าวสาลี นี้ข้าวเปลือก นี้ถั่วเขียว นี้ถั่วเหลือง นี้งา นี้ข้าวสาร ฉันใด ภิกษุก็ ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้”26)

 

5.ธาตุมนสิการ คือ การพิจารณาร่างกายของตนโดยให้เห็นว่าประกอบขึ้นจากธาตุ 4 ดังพุทธพจน์ว่า

“    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ตามที่ตั้งอยู่ โดยความเป็นธาตุว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีอยู่ในกายนี้ คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโค ผู้ฉลาดฆ่าแม่โคแล้ว นั่งแบ่งออกเป็นส่วนๆ อยู่ที่หนทางใหญ่ 4 แพร่ง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ตามที่ตั้งอยู่โดย ความเป็นธาตุว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำธาตุไฟ ธาตุลม มีอยู่ในกายนี้”27)

 

6.นวสีวถิกา คือ การกำหนดรู้ร่างกายว่าเปรียบด้วยซากศพ โดยพิจารณาซากศพมีลักษณะ ต่างๆ กัน โดยระยะเวลา 9 ระยะ ตั้งแต่ตายใหม่ๆ จนถึงกระดูกผุ แล้วให้ย้อนมานึกร่างกายของตนว่า จะต้องเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน

ซากศพที่ให้พิจารณา 9 ระยะ มีลักษณะพอสรุปดังต่อไปนี้

1.ซากศพที่ขึ้นพองมีสีเขียว มีน้ำเหลืองไหล

2.ซากศพที่ถูกฝูงกา แร้ง สัตว์ต่างๆ กัดกินอยู่

3.ซากศพที่เป็นร่างกระดูก ยังมีเนื้อและเลือด ยังมีเอ็นผูกรัดอยู่

4.ซากศพที่เป็นร่างกระดูก ยังเปื้อนเลือด แต่ปราศจากเนื้อ ยังมีเอ็นผูกรัดอยู่

5.ซากศพที่เป็นร่างกระดูก ปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว ยังมีเอ็นผูกรัดอยู่

6.ซากศพที่เป็นร่างกระดูก ปราศจากเอ็นผูกรัดแล้ว กระจัดกระจายเรี่ยราดไปคนละทิศละทาง

7.ซากศพที่เป็นกระดูก มีสีขาว เปรียบประดุจสีสังข์

8.ซากศพที่เป็นกระดูก เป็นกองเรี่ยราดแล้ว เก่าเกินปีหนึ่งไปแล้ว

9.ซากศพที่เป็นกระดูกผุละเอียด

 

(2) เวทนานุปัสสนา

            หมายถึง การตามเห็นเวทนาในเวทนาที่เกิดขึ้น คือ เมื่อเกิดความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ ก็รู้ชัดว่าตามที่เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ ดังพุทธพจน์ว่า

“    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เสวยสุขเวทนาอยู่ ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนา เสวยทุกขเวทนาอยู่ ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนา เสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา หรือเสวยสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนามีอามิส หรือเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส หรือเสวยทุกขเวทนามีอามิสก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนา มีอามิส หรือเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา ไม่มีอามิส ด้วยเหตุดังพรรณนามานี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ภายในบ้าง พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นเวทนา ในเวทนาทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้น ในเวทนาบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในเวทนาบ้าง พิจารณา เห็นธรรม คือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในเวทนาบ้างอยู่ อนึ่ง สติของเธอ ตั้งมั่นอยู่ว่า เวทนามีอยู่ ก็เพียงเพื่อความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก”28)

 

            เวทนา หมายถึง ความเสวยอารมณ์ มี 3 อย่างคือ

1.สุขเวทนา คือ ความรู้สึกสุข สบาย ทางกายหรือทางใจ

2.ทุกขเวทนา คือ ความรู้สึกทุกข์ ไม่สบาย ทางกายหรือทางใจ

3.อทุกขมสุขเวทนา คือ ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ บางทีเรียกว่า อุเบกขาเวทนา

            อามิส หมายถึง เหยื่อล่อ คือกามคุณ 5 ดังนั้นสุขที่มีอามิสในพุทธพจน์ จึงหมายถึง สุขจาก กามคุณ 5 สุขที่ไม่มีอามิส หมายถึง สุขที่ไม่ต้องอาศัยกามคุณ เป็นสุขที่เกิดจากการที่ใจสงบ เป็นต้น

 

(3) จิตตานุปัสสนา

            หมายถึง การตามเห็นจิตในจิต คือ เห็นจิตของตนในขณะนั้นๆ เป็นอย่างไร เช่น มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิหลุดพ้น ยังไม่หลุดพ้น เป็นต้น ดังพุทธพจน์ว่า

“    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่าจิตมีโทสะหรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตปราศจากโทสะ หรือจิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโมหะ หรือจิต ปราศจากโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่า จิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่า จิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่า จิตเป็นมหัคคตะ จิตไม่เป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่าจิตไม่เป็นมหัคคตะ จิตมีธรรมอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัดว่า จิตมีธรรมอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัดว่า จิตไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า จิตตั้งมั่น ก็รู้ชัดว่า จิตตั้งมั่น หรือจิตไม่ตั้งมั่น ก็รู้ชัดว่า จิตไม่ตั้งมั่น จิตหลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า จิตหลุดพ้น หรือจิตยังไม่หลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า จิตยังไม่หลุดพ้น”29)

 

(4) ธัมมานุปัสสนา

            หมายถึง การตามเห็นธรรมในธรรม คือ การตามเห็นธรรมที่เกิดขึ้นในจิตของตน มีการพิจารณา 5 ประการ คือ

1.นิวรณ์ คือ รู้ชัดในขณะนั้นๆ ว่า นิวรณ์แต่ละอย่าง คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ที่มี มีอยู่ในจิตตนหรือไม่ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้ว ละเสียได้อย่างไร เมื่อละได้แล้ว ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปอย่างไร รู้ชัดตามที่เป็นจริง ดังพุทธพจน์ว่า

“    ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือนิวรณ์ 5 อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกามฉันทะอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า กามฉันทะมีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อกามฉันทะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า กามฉันทะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่งกามฉันทะที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย กามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย กามฉันทะที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อพยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย”

 

2.ขันธ์ คือ กำหนดรู้ว่า ขันธ์ 5 แต่ละอย่างคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ดับไปอย่างไร ดังพุทธพจน์ว่า

“    ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นดังนี้ว่า อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดขึ้น แห่งรูป อย่างนี้ความดับแห่งรูป อย่างนี้เวทนา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา อย่างนี้ความดับแห่งเวทนา อย่างนี้สัญญา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา อย่างนี้ความดับแห่งสัญญา อย่างนี้สังขาร อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร อย่างนี้ความดับแห่งสังขาร อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่งวิญญาณ ด้วยเหตุดังพรรณนามานี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้างอยู่ อนึ่ง สติของเธอตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก”30)

 

3.อายตนะ คือ รู้ชัดในอายตนะภายในภายนอกแต่ละอย่างๆ รู้ชัดในสังโยชน์ที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยอายตนะนั้นๆ รู้ชัดว่า สังโยชน์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้ว ละเสียได้อย่างไร ที่ละได้แล้ว ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปได้อย่างไร ดังพุทธพจน์ว่า

“    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักตา รู้จักรูป และรู้จักสังโยชน์ที่อาศัยตาและ รูปทั้ง 2 นั้นเกิดขึ้น อนึ่ง สังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัด ประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ภิกษุย่อมรู้จักหู รู้จักเสียง…

 

ภิกษุย่อมรู้จักจมูก รู้จักกลิ่น…

ภิกษุย่อมรู้จักลิ้น รู้จักรส…

ภิกษุย่อมรู้จักกาย รู้จักโผฏฐัพพะ…

ภิกษุย่อมรู้จักใจ รู้จักธรรมารมณ์ และรู้จักสังโยชน์ที่อาศัยใจและ ธรรมารมณ์ทั้ง 2 นั้นเกิดขึ้น”31)

 

4.โพชฌงค์ คือ รู้ชัดในขณะนั้นๆ ว่า โพชฌงค์แต่ละอย่าง คือ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา โพชฌงค์แต่ละอย่างมีอยู่ในจิตใจตนหรือไม่ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดแล้ว เจริญให้เต็มบริบูรณ์ได้อย่างไร ดังพุทธพจน์ว่า

“    ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือโพชฌงค์ 7 อย่างไรเล่า ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ เมื่อสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า สติสัมโพชฌงค์ มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อสติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อม รู้ชัดว่า สติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง สติสัมโพชฌงค์ที่ ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สติสัมโพชฌงค์ ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อีกอย่างหนึ่ง เมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต…

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปีติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต…

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต…

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต…

อีกอย่างหนึ่ง เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุเบกขา

            สัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย”32)

 

5. อริยสัจ คือ รู้ชัดอริยสัจ 4 แต่ละอย่างๆ ตามความเป็นจริงว่า คืออะไร เป็นอย่างไร และ จะทำให้รู้แจ้งเห็นจริงได้เมื่อใด

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน แม้ชาติก็เป็นทุกข์ แม้ชราก็เป็นทุกข์ แม้มรณะก็เป็นทุกข์ แม้โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ก็เป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ความพลัดพลาดจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นทุกข์…..

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขสมุทัยอริยสัจเป็นไฉน

           ตัณหานี้ใด อันมีความเกิดอีก ประกอบด้วยนันทิราคะ เพลิดเพลินยิ่งนัก ในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา…..

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นไฉน

            ความดับด้วยสามารถความสำรอกโดยไม่เหลือ ความสละ ความสละคืน ความปล่อยวาง ความไม่มีอาลัยในตัณหานั้น ก็ตัณหานั้น เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่ไหน เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่ไหน ที่ใดเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหานั้น เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นั้น เมื่อจะดับ ย่อมดับได้ที่นั้น ก็อะไรเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ เป็นที่รัก ที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อบุคคลจะละย่อมละเสียได้ที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับที่นี้ รูป เสียงกลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคล จะละ ย่อมละเสียได้ที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับที่นี้ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ เป็นที่รักที่เจริญใจ ในโลกตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับที่นี้…..

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน

            อริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 นี้แหละ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ”33)

 

 

------------------------------------------------------------------------

23) สติปัฏฐานสูตร, มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, มก. เล่มที่ 17 ข้อ 133 หน้า 607.
24) มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, มก. เล่มที่ 17 ข้อ 134 หน้า 608.
25) มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, มก. เล่มที่ 17 ข้อ 135 หน้า 608-609.
26) มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, มก. เล่มที่ 17 ข้อ 136 หน้า 609.
27) มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, มก. เล่มที่ 17 ข้อ 137 หน้า 610.
28) มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, มก. เล่มที่ 17 ข้อ 139 หน้า 613.
29) มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, มก. เล่มที่ 17 ข้อ 140-141 หน้า 614-616.
30) มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, มก. เล่มที่ 17 ข้อ 142 หน้า 617.
31) สังโยชน์ หมายถึง กิเลสที่ผูกใจสัตว์ไว้กับทุกข์ มีด้วยกัน 10 อย่าง คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา.
32) สติปัฏฐานสูตร, มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์, มก. เล่มที่ 17 ข้อ 144 หน้า 620.
33) สติปัฏฐานสูตร, มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์, มก. เล่มที่ 17 ข้อ 146-149 หน้า 621-627.
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับกัมมัฏฐาน หรือการปฏิบัติสมาธิที่พบในพระไตรปิฎก อันเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาเรื่องสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐานในบทต่อๆ ไป

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0022517840067546 Mins