ผลของวิปัสสนากัมมัฏฐาน

วันที่ 14 กค. พ.ศ.2558

 

 

ผลของวิปัสสนากัมมัฏฐาน

            การทำวิปัสสนาเป็นวิธีเพื่อให้พบความจริงของชีวิต ทำให้เห็นร่างกายอันประกอบขึ้นด้วยขันธ์ 5 และมีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน

 

(1) เห็นไตรลักษณ์

ธรรมดาว่า มนุษย์เราเมื่อยังไม่ได้เจริญวิปัสสนา ย่อมถูกเครื่องปกปิด ปิดบังอยู่ทำให้ไม่เห็น ความจริงของชีวิตว่าตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ เครื่องปกปิดไตรลักษณ์ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า มี 3 ประการ คือ

1.อนิจจลักษณะไม่ปรากฏ เพราะถูกสันตติปิดบังไว้

2.ทุกขลักษณะไม่ปรากฏ เพราะอิริยาบถปิดบังไว้

3.อนัตตลักษณะไม่ปรากฏ เพราะฆนสัญญาปิดบังไว้11)

            อนิจจัง ถูกสันตติปิดบัง คือ ความสืบต่อเนื่องกัน เช่น ของเก่าเสื่อมไป ของใหม่เข้ามาเกิดแทน ดังจะเห็นว่า มนุษย์และสัตว์ที่ดำรงชีวิตอยู่นี้ก็เพราะ อวัยวะนั้นๆ เกิดใหม่แทนของเก่าไม่มีอันตราย จึงทรง อยู่ได้ ถ้าอวัยวะใหม่เกิดแทนไม่ทันหรือมีอันตราย มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายก็ตาย ชื่อว่า ขาดสันตติ

            ทุกข์ ถูกอิริยาบถปิดบัง คือ การบริหารร่างกายยักย้ายผลัดเปลี่ยนอิริยาบถเหล่านี้เป็นต้น ได้ปิดบังทุกข์ไว้ ถ้าหิวไม่บริโภคอาหาร ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ ไม่ถ่าย เมื่อร่างกายล้าไม่ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ จะเห็นได้ว่าเป็นทุกข์มาก เพราะการบริหารรักษาอิริยาบถที่เราทำอยู่โดยธรรมดา เราจึงมองไม่เห็นทุกข์

            อนัตตา ถูกฆนสัญญาปิดบัง คือ การกำหนดหมายร่างกายว่าเป็นก้อน เป็นกอง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุปาทานว่า เป็นตัวตน เมื่อประสงค์จะเห็นความไม่เป็นตัวตน ต้องแยกก้อนออกเป็นชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย พิจารณาดู เช่น ร่ายกายคนเราประกอบด้วย หู ตา เป็นต้น

            การเห็นความเป็นจริงของชีวิตว่าตกอยู่ในสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่เป็นตัวตนนั้นต้องอาศัย ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนา มิได้หมายถึง การใช้ปัญญาในขั้นสุตตมยปัญญา ที่เกิดจากการอ่าน ฟัง หรือจินตมยปัญญา ที่อาศัยการวิเคราะห์ คิด พิจารณา แต่เมื่อผู้ปฏิบัติได้เจริญภาวนา จนกระทั่งได้ญาณทัสสนะ ก็จะเห็นด้วยวิปัสสนาปัญญา

 

(2) ละสังโยชน์

            นอกจากผลแห่งการเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริงเแล้ว ภาวนามยปัญญาย่อมทำให้สามารถกำจัดกิเลสที่เป็นอนุสัยกิเลส หรือสังโยชน์ที่อยู่ภายในจิตใจไปตามลำดับด้วย

สังโยชน์ คือ กิเลสที่ผูกใจสัตว์ไว้ มี 10 อย่าง ได้แก่

สังโยชน์เบื้องต่ำ หรือโอรัมภาคิยสังโยชน์

1.สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดว่า กาย ซึ่งมีอยู่ว่าเป็นเรา เป็นของเรา

2.วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น

3.สีลัพพตปรามาส คือ ความยึดมั่นในศีลและข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ที่นอกไปจากมรรคผลปฏิปทา

4.กามราคะ คือ ความกำหนัดยินดีในกามคุณต่างๆ

5.ปฏิฆะ คือ ความขัดเคืองใจสังโยชน์เบื้องสูง หรือ อุทธัมภาคิยสังโยชน์

6.รูปราคะ คือ ความยินดีในรูปฌาน หรือในรูปภพที่จะพึงเข้าถึงได้ด้วยรูปฌานนั้น

7.อรูปราคะ คือ ความยินดีในอรูปฌาน หรือในอรูปภพที่จะพึงเข้าถึงได้ด้วยอรูปฌานนั้น

8.มานะ คือ ความถือตัวว่าเราดีกว่าเขา เสมอเขา เลวกว่าเขา เป็นต้น

9.อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน ซัดส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ ไม่สงบตั้งมั่นลงได้

10.อวิชชา คือ ความไม่รู้ในอริยสัจ 4

 

และผลจากการที่ละกิเลสสังโยชน์ย่อมทำให้ผู้นั้นเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระอริยบุคคลดังต่อไปนี้คือ

1.พระโสดาบัน ผู้ถึงกระแสคือเข้าสู่มรรค ละสังโยชน์ได้ 3 อย่าง คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส

2.พระสกทาคามี ผู้จะกลับมาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียว ละสังโยชน์ 3 อย่างข้างต้น และทำราคะ โทสะ และโมหะให้เบาบาง

3.พระอนาคามี ผู้จะไม่กลับมาสู่โลกนี้อีก จะไปเกิดในชั้นสุทธาวาสพรหม ละสังโยชน์ได้อีก 2 ข้อ คือ กามราคะและปฏิฆะ

4.พระอรหันต์ ละสังโยชน์ได้สิ้นเชิง คือละสังโยชน์อีก 5 ข้อได้ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา

กิเลสที่ละได้แล้วเป็นการละแบบสมุจเฉทปหาน ปฏิปัสสัทธิปหาน และนิสสรณปหาน ไม่ใช่ วิกขัมภนปหาน คือ การข่มไว้เหมือนในสมถะ

 

ในอรรถกถา การละกิเลส หรือปหาน จะแบ่งไว้เป็นลำดับขั้น 5 ขั้น12) ดังนี้

1.ตทังคปหาน เป็นการละองค์นั้นๆ ด้วยวิปัสสนาญาณ เหมือนอย่างเช่นการละสักกายทิฏฐิ ด้วยการกำหนดนามรูป ละความเห็นว่าสังขารไม่มีเหตุ และความเห็นว่าสังขารมีปัจจัยไม่เสมอกัน ด้วยการกำหนดปัจจัย ละความเป็นผู้สงสัย ด้วยการข้ามพ้นความสงสัยในภายหลังนั้น เป็นต้น อุปมาเหมือนการละความมืดด้วยแสงประทีป เป็นการดับชั่วคราว

2.วิกขัมภนปหาน เป็นการละธรรมมีนิวรณ์ ด้วยสมาธิ เหมือนการห้ามแหนบนน้ำ ด้วยการ ทุบหม้อเหวี่ยงลงไป หรือเหมือนการเอาหินทับหญ้าไว้

3.สมุจเฉทปหาน เป็นการละกิเลสด้วยอริยมรรค ละได้เด็ดขาด

4.ปฏิปัสสัทธิปหาน เป็นการละในขั้นอริยผล เป็นภาวะที่กิเลสสงบราบคาบ

5.นิสสรณปหาน เป็นการหลุดพ้นไปจากกิเลสโดยสิ้นเชิง คือ นิพพานจุดมุ่งหมายสูงสุดของการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือ การหลุดพ้นจากทุกข์ ถึงความเป็น พระอรหันต์และบรรลุมรรคผลนิพพาน

 

------------------------------------------------------------------------

11) พระโฆษาจารย์, วิสุทธิมรรค, กรุงเทพฯ : ธรรมบรรณาคาร, 2466. หน้า 710-711.
12) ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส, มก. เล่มที่ 67 หน้า 412.

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011124650637309 Mins