การรับกัมมัฏฐาน

วันที่ 17 กค. พ.ศ.2558

 

 

การรับกัมมัฏฐาน

            ผู้ปฏิบัติเมื่อได้กัลยาณมิตรผู้ให้กัมมัฏฐาน พึงมอบตนแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือแก่พระอาจารย์ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และไม่เกิดความสะดุ้งกลัวใดๆ ในขณะบำเพ็ญกัมมัฏฐาน และเพื่อให้ได้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือจากอาจารย์ผู้สอนกัมมัฏฐาน ไม่ต้องเสียเวลาในการลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ผู้ปฏิบัติ พึงมอบตัวแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า และพระอาจารย์ดังที่กล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า

 

“    กุลบุตรผู้เริ่มบำเพ็ญเพียร เข้าไปหากัลยาณมิตรผู้บอกกัมมัฏฐาน พึงถวายตัวแด่พระพุทธเจ้าหรืออาจารย์ เป็นผู้มีอัธยาศัยถึงพร้อม เป็นผู้มีอธิมุตติ (ความตั้งใจ) ถึงพร้อมแล้วจึงขอกัมมัฏฐาน”7)

 

ในการถวายตนนั้น ควรถวายตนด้วยคำว่า

“    อิมาหํ ภควา อตฺตภาวํ ตุมฺหากํ ปริจฺจชามิ”ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าขอสละอัตภาพนี้แด่พระองค์

“    อิมาหํ ภนฺเต อตฺตภาวํ ตุมฺหากํ ปริจฺจชามิ”ข้าแต่อาจารย์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอสละอัตภาพนี้แก่ท่านเมื่อได้มอบอัตภาพแด่อาจารย์แล้ว พึงเป็นผู้ที่อาจารย์ห้ามปรามได้ ไม่เป็นผู้ทำตามอำเภอใจ เป็นผู้ว่าง่ายและเป็นผู้ใกล้ชิดอาจารย์อยู่เสมอ เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมได้รับความสงเคราะห์ด้วยอามิสและธรรมะจากอาจารย์ ย่อมบรรลุธรรมสมปรารถนาถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระพุทธศาสนา เหมือนดังเรื่องต่อไปนี้ เป็นอุทาหรณ์

 

อันเตวาสิกของพระจูฬปิณฑปาติกติสสเถระ

ครั้งนั้นพระภิกษุ 3 รูป เข้ามากราบพระเถระเพื่อมอบตัวเป็นศิษย์ ภิกษุ รูปหนี่งกราบเรียนว่า

“    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าเพื่อประโยชน์แก่ท่านอาจารย์แล้วละก็ กระผมสามารถ กระโดดลงในเหวลึก 100 ชั่วคนได้”

 

รูปที่สองกราบเรียนว่า

“    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าเพื่อประโยชน์แก่ท่านอาจารย์แล้วละก็ กระผมสามารถ ถูอัตภาพนี้ เริ่มตั้งแต่ ส้นเท้าเข้าที่ลานหิน จนตัวสึกไปไม่เหลือเลยได้”

 

รูปที่สามกราบเรียนว่า

“    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าเพื่อประโยชน์แก่ท่านอาจารย์แล้วละก็ กระผมสามารถ กลั้นลมหายใจเข้าออก จนสิ้นชีวิตได้”

 

            พระเถระเห็นว่า พระภิกษุทั้ง 3 รูปเป็นผู้สามารถสอนได้ จึงบอกกัมมัฏฐานให้ และทั้ง 3 รูปก็ตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน จนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ นี้คืออานิสงส์แห่งการมอบตนแด่อาจารย์

            การมอบตัวแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและแด่อาจารย์ ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น กล่าวตามแนว วิสุทธิมรรค ซึ่งท่านมุ่งถึงพระภิกษุผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานในพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ แต่ฆราวาสผู้มุ่งปฏิบัติกัมมัฏฐาน แม้จะถวายตัวแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและแด่อาจารย์ผู้สอนกัมมัฏฐาน ก็ย่อมมีผลดีเช่นกัน ถึงแม้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานไปนานแล้ว การถวายตัวแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือระลึกนึกถึงพระพุทธองค์ ก็เป็นการสร้างกำลังใจและป้องกันความสะดุ้งกลัวในการปฏิบัติ

 

            แต่อย่างไรก็ตาม ในการเริ่มเจริญสมาธิ แม้ผู้ปฏิบัติจะไม่ได้ถวายตัวแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือแด่อาจารย์ผู้สอนกัมมัฏฐาน ก็ย่อมปฏิบัติได้ผลเช่นกัน เพราะหลักสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติจริงและ ปฏิบัติได้ถูกต้อง แต่ผู้ที่มอบกายถวายชีวิตแด่พระพุทธองค์และแด่อาจารย์ผู้สอนกัมมัฏฐานของตน ย่อมมีแต่ผลดีไม่มีผลเสีย ดังได้กล่าวมาแล้ว

            หลักเบื้องต้นในการเจริญสมาธิภาวนาดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ทุกประการมีความสำคัญทุกข้อ ขอให้ นักศึกษาศึกษาให้เข้าใจและฝึกฝนปฏิบัติให้เกิดขึ้นในตัวให้ได้ จึงจะสามารถปฏิบัติธรรมได้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เหมือนการตอกเสาเข็มที่ต้องตอกให้ครบทุกต้น แต่ละต้นต้องตอกให้แน่นแข็งแรง จึงจะรองรับอาคาร ที่จะสร้างขึ้นได้

 

 

------------------------------------------------------------------------

7) พระเทพวิสุทธิกวี, การพัฒนาจิต, (กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย), 2543 หน้า 61.

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0018327673276265 Mins