กัมมัฏฐานที่เหมาะสมกับจริต

วันที่ 18 กค. พ.ศ.2558

 

กัมมัฏฐานที่เหมาะสมกับจริต

            กัมมัฏฐานทั้ง 40 กอง ท่านแสดงไว้ให้เหมาะสมกับจริตอัธยาศัย เมื่อใดอารมณ์จิตข้องอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง หรือมีอารมณ์ใดปรากฏขึ้น ให้เลือกสรรกัมมัฏฐานที่เหมาะสมมาหักล้างอารมณ์นั้นๆ เพื่อใจจะได้หยุดนิ่งได้ง่าย กัมมัฏฐานทั้ง 40 กอง ที่ท่านแยกไว้เป็นหมวดเป็นกอง มีดังนี้

            อสุภกัมมัฏฐาน 10 อนุสติ 10 กสิณ 10 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุววัตถาน 1 พรหมวิหาร 4 อรูป 4 รวมเป็น 40 กองกัมมัฏฐานทั้ง 40 กอง ท่านจำแนกแยกเป็นหมวดไว้ เพื่อให้เหมาะสมกับจริตนั้นๆ มีดังนี้


ราคจริต

           ท่านจัดกัมมัฏฐานที่เหมาะสมไว้ 11 อย่าง คือ อสุภกัมมัฏฐาน 10 กับกายคตาสติกัมมัฏฐาน 1

ก. อสุภกัมมัฏฐาน 10 คือ การพิจารณาซากศพในลักษณะต่างๆ กัน รวม 10 ลักษณะ เริ่มตั้งแต่ ศพที่ขึ้นอืด ศพที่มีสีเขียวคล้ำ ศพที่มีน้ำเหลืองไหล ศพที่ฉีกขาดจากกันเป็นสองท่อน ศพที่ถูกสัตว์ทึ้ง ศพที่อวัยวะกระจัดกระจาย ศพที่ถูกสับฟันด้วยอาวุธ ศพที่มีเลือดไหล ศพที่มีหนอนคลาคล่ำ ศพที่เหลือแต่กระดูก

ข. กายคตาสติกัมมัฏฐาน คือ การกำหนดพิจารณากายนี้ ให้เห็นว่าประกอบด้วยส่วนต่างๆ คือ อาการ 32 มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมอง น้ำดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำมันไขข้อ น้ำปัสสาวะ ว่าไม่สะอาด ไม่งาม น่าเกลียด อันทำให้รู้เท่าทันสภาพของกายนี้ ไม่ให้หลงไหลมัวเมา


โทสจริต

            คนใจร้อน มักโกรธ หรือในขณะนั้นมีอารมณ์โกรธขัดเคืองเกิดขึ้น อันเป็นอุปสรรคต่อการเจริญภาวนา ท่านให้ใช้กัมมัฏฐาน 8 อย่าง คือ พรหมวิหาร 4 และวรรณกสิณ 4 เพื่อระงับดับโทสะ จะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละคน อารมณ์โทสะก็จะค่อยๆ คลายตัวระงับไปจนกระทั่งใจหยุดนิ่งในที่สุด

ก. พรหมวิหาร 4 คือ ธรรมที่แผ่ออกไปในมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายอย่างเสมอกันไม่มีประมาณ ไม่จำกัดขอบเขต ประกอบด้วย

1.เมตตา ความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข

2.กรุณา ความปรารถนาให้สัตว์ที่ตกยากมีทุกข์ให้พ้นทุกข์

3.มุทิตา ความยินดีในเมื่อผู้อื่นได้ดีมีสุข

4.อุเบกขา ความเป็นกลางต่อสุขทุกข์ของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย

ข. วรรณกสิน 4 อันประกอบด้วย นีลกสิณ (สีเขียว) ปิตกสิณ (สีเหลือง) โลหิตกสิณ (สีแดง) โอทากสิณ (สีขาว)
โมหจริตและวิตกจริต

            เป็นลักษณะของผู้ที่มีอารมณ์ตกอยู่ในอำนาจความหลงและครุ่นคิดตัดสินใจอะไรไม่เด็ดขาด ท่านให้เจริญอานาปานสติอย่างเดียว อานาปานสติ คือ การเอาสติกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์


 สัทธาจริต

            ผู้ที่มีความประพฤติตั้งอยู่บนความเชื่อ เชื่อโดยปกติ บูชาความเชื่อ ท่านให้เจริญกัมมัฏฐาน 6 อย่าง ที่เรียกว่าอนุสติ (อารมณ์ดีงามที่ควรระลึกถึงเนืองๆ) มีพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ เทวตานุสติ

ก.พุทธานุสติ ระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพิจารณาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอารมณ์

ข.ธัมมานุสติ ระลึกถึงพระธรรมและพิจารณาคุณของพระธรรมเป็นอารมณ์

ค.สังฆานุสติ ระลึกถึงพระสงฆ์และพิจารณาคุณของพระสงฆ์เป็นอารมณ์

ง.สีลานุสติ ระลึกพิจารณาศีลของตนที่ได้ประพฤติไม่ด่างพร้อย

จ.จาคานุสติ ระลึกถึงทานที่ตนได้บริจาค พิจารณาคุณธรรมคือ ความเผื่อแผ่เสียสละที่มีในตนเป็นอารมณ์

ฉ.เทวตานุสติ ระลึกถึงเทวดา คือพิจารณาถึงคุณธรรมของตนเปรียบเทียบกับคุณธรรมของเทวดาทั้งหลายเป็นตัวอย่าง

 

พุทธิจริต

            คนมีปัญญาเฉลียวฉลาด คิดอะไรเป็นเหตุเป็นผล และมีปฏิภานไหวพริบดี ท่านให้เจริญกัมมัฏฐาน 4 อย่าง คือ       มรณานุสติ อุปสมานุสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัตถาน

ก.มรณานุสติ คือ การระลึกถึงความตาย ความแตกดับของสังขารเป็นอารมณ์

ข.อุปสมานุสติ คือ การระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบคือพระนิพพาน พิจารณาคุณของพระนิพพานอันเป็นที่หายร้อน ดับกิเลส ปราศจากทุกข์ เป็นอารมณ์

ค.อาหาเรปฏิกูลสัญญา การพิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหาร

ง.จตุธาตุววัตถาน การพิจารณาธาตุทั้ง 4 ที่ปรากฏในร่างกาย จนกระทั่งเห็นเป็นแต่เพียงกองธาตุ โดยปราศจากความจำว่าเป็น ชาย หญิง สัตว์ บุคคล เรา เขา

กัมมัฏฐานที่เหมาะกับจริตทั้ง 6 จัดเป็นหมวดไว้ 5 หมวด รวมกัมมัฏฐานที่เหมาะสมกับจริต โดยเฉพาะจริตนั้นๆ รวมได้ 30 อย่าง หรือ 30 กอง กัมมัฏฐานทั้งหมดมี 40 กอง ที่เหลืออีก 10 กอง เป็นกัมมัฏฐานกลาง คือ กัมมัฏฐานที่เหมาะสมกับทุกจริต

 

กัมมัฏฐานที่เหมาะสมกับทุกจริต

             เป็นกัมมัฏฐานที่เป็นกลางๆ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะหนักไปทางจริตประเภทไหน ก็สามารถเลือกสรรมาปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ประกอบด้วย อรูปกัมมัฏฐาน 4 ภูตกสิณ 4 อาโลกสิณ 1 อากาสกสิณ 1 รวมเป็น 10 อย่าง

ก.อรูปกัมมัฏฐาน 4 คือ การเอาอารมณ์ที่ไม่มีรูปมาเป็นที่ตั้งแห่งการทำงานของใจ ประกอบด้วย

1.อากาสานัญจายตนะ กำหนดช่องว่างอันหาที่สุดมิได้ ซึ่งเกิดจากการเพิกกสินออกไปเป็นอารมณ์

2.วิญญาณัญจายตนะ กำหนดวิญญาณหาที่สุดไม่ได้ คือ เลิกกำหนดที่ว่าง เลยไปกำหนดวิญญาณที่แผ่ไปสู่ที่ว่างแทนเป็นอารมณ์

3.อากิญจัญญายตนะ กำหนดภาวะไม่มีอะไรเลย คือ เลิกกำหนดวิญญาณเป็นอารมณ์เลยไปกำหนดความไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์

4.เนวสัญญานาสัญญายตนะ เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ เลิกกำหนดแม้แต่ภาวะไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์

            สำหรับอรูปกัมมัฏฐานนี้ ใช้ได้เฉพาะผู้ที่เพ่งกสิณจนได้ฌานที่ 4 มาแล้ว จึงจะสามารถเจริญกัมมัฏฐานหมวดนี้ได้

ข. ภูตกสิณ 4 (กสิณ คือ มหาภูตรูป) มีปฐวี (ดิน) อาโป (น้ำ) เตโช (ไฟ) วาโย (ลม)

ค. อาโลกสิณ กำหนดแสงสว่างเป็นอารมณ์ การกำหนดนิมิตเป็นดวงแก้วใส หรือองค์พระแก้วใส ก็เป็นกสิณในข้อนี้

ง. อากาสกสิณ กำหนดช่องว่างเป็นอารมณ์

 

            ดังจะเห็นได้ว่า กัมมัฏฐานที่เป็นกลางๆ เหมาะกับทุกคนในโลก มีเพียง 10 อย่าง นอกเหนือจากนั้นต้องเลือกให้เหมาะกับจริต จึงจะก้าวหน้าในการปฏิบัติ ในบรรดา 10 อย่างนี้ ตัดอรูปกัมมัฏฐาน 4 ออกไป เพราะผู้ที่สามารถนำมาปฏิบัติได้ต้องได้รูปฌาน 4 เสียก่อน จึงเหลือเพียง 6 อย่าง คือ ภูตกสิณ 4 อาโลกสิณ 1 อากาสกสิณ 1

            พระมงคลเทพมุนีท่านได้เลือกเอาอาโลกสิณ คือ ดวงแก้วใสและองค์พระแก้วใสมาเป็นหลักในการสอนภาวนา เพื่อให้เหมาะกับคนทุกจริตในโลก นับเป็นวิธีการที่ชาญฉลาดยอดเยี่ยมเป็นอย่างมาก ถือเป็นอุปการคุณอย่างยิ่งต่อนักปฏิบัติทั้งหลายในยุคนี้ ที่ได้มาประสบพบวิธีการที่ลัดและตรงที่สุดในการมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน

 

------------------------------------------------------------------------

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011560002962748 Mins