สัมมาสัมพุทโธ ทรงเป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ

วันที่ 24 กค. พ.ศ.2558

 

 

สัมมาสัมพุทโธ ทรงเป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ

  ทรงพระนามว่า “    สัมมาสัมพุทธเจ้า” เพราะทรงเป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ

            คำว่า พุทโธ แปลว่า ผู้ตรัสรู้ คำว่า สัม ที่นำหน้า พุทโธ นั้นแปลว่าด้วยพระองค์เอง ไม่มีผู้อื่นสั่งสอน ส่วนคำว่า สัมมา แปลว่า โดยชอบ หรือ “    โดยถูกต้อง ดังนั้น สัมมาสัมพุทโธ จึงมีความหมายว่า ทรงเป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์โดยชอบ หรือทรงเป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยถูกต้อง

            คำว่า พุทโธ เมื่อพิจารณาความหมายตามพระบาลีในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ที่ว่า จกฺขุํ อุทปาทิ ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุปปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิฯ จะเห็นว่าคุณวิเศษทั้ง 5 อย่าง ดังบาลีที่ยกขึ้นกล่าวนี้ จะเป็นความหมายของคำว่า พุทฺโธ กล่าวคือ จกฺขุํ ญาณํ ปณฺญา วิชฺชา อาโลโก ทั้ง 5 อย่างนี้ประมวลเข้าด้วยกันรวมเป็นคำแปลของคำว่า พุทฺโธ ถ้าจะแปลให้สั้นเข้า พุทโธ ก็ต้องแปลว่า ทั้งรู้ทั้งเห็น มิใช่รู้เฉยๆ โดยอาศัยคำว่า จกฺชุํ ญาณํ

 

พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ(หลวงพ่อทัตตชีโว)ให้ความหมายว่า

“    พระคุณของพระสัมสัมพุทธเจ้า ประการที่ 2 สัมมาสัมพุทโธ คือ พระองค์ทรงทั้งรู้ทั้งเห็น แทงตลอดในเหตุและผลของสรรพสิ่งทั้งหลายตรงตามความเป็นจริง ด้วยพระธรรมกายของพระองค์เอง โดยมิได้มีผู้หนึ่งผู้ใดสั่งสอนเลย”13)

 

            สาเหตุที่พระองค์ทรงสามารถตรัสรู้ด้วยพระองค์เองได้ ก็เพราะความเป็น”อรหันต์”ของพระองค์ดังกล่าวแล้วนั่นเอง เนื่องจากอำนาจสมาธิทำให้จิตของพระองค์สะอาดบริสุทธิ์ปราศจากอาสวะทั้งปวง ซึ่งนอกจากจะใสสว่างแล้วยังหยุดนิ่ง จึงมีสิ่งที่ผุดขึ้นในนิ่ง ทำให้รู้ พระองค์ก็ทรงรู้ไปตามนั้น ทำนองเดียวกับน้ำในโอ่งที่นอนนิ่งสนิท ใสบริสุทธิ์ แม้มีเข้มอยู่ก้นโอ่งก็สามารถมองเห็นได้ ข้อนี้ฉันใดก็ฉันนั้น

            ที่่กล่าวว่าพระองค์ตรัสรู้โดยชอบหรือโดยถูกต้องนั้น หมายความว่า ตรัสรู้ทั้งเหตุ ตรัสรู้ทั้งผล กล่าวคือตรัสรู้เหตุแห่งทุกข์ เหตุแห่งสุข เหตุไม่ทุกข์และไม่สุข ซึ่งเหตุแห่งทุกข์ก็คือ อกุศลมูล ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ หรือโลภ โกรธ หลง เหตุแห่งสุขก็ตรงกันข้ามกับเหตุแห่งทุกข์คือ กุศลมูล ได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ หรือไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เหตุแห่งไม่ทุกข์ไม่สุขหรือ อัพยากฤต ก็คือสภาพเป็นกลางๆ ไม่เป็นทั้งกุศลหรืออกุศล เป็นกิริยาประเภทสักแต่ว่าทำ เช่น ขณะกำหนดลมหายใจเข้า-ออก, การอ่านหนังสือออก, การกินข้าวอิ่ม จึงไม่เป็นเหตุแห่งสุขหรือทุกข์

 

            สิ่งที่ลึกซึ้งกว่านี้ก็คือ ทรงตรัสรู้เหตุที่ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดกันอยู่ในสังสารวัฏโดยมิรู้จบสิ้น หรือที่เรียกว่า “    สมุทัย” ก็คือ “    อวิชชา” “    อวิชชา” เป็นเหตุให้เกิดการเกิดการดับติดต่อกันเป็นลูกโซ่ ซึ่งเรียกว่า “    ปัจจยาการ” หรือ “    ปฏิจจสมุปบาท” ทรงตรัสรู้ว่าถ้าดับอวิชชาได้อย่างเดียว ทุกอย่าง “    หยุด” หมด ซึ่งเรียกว่า “    นิโรธ” หรือ “    นิพพาน”ทรงตรัสรู้วิธีดับอวิชชา ซึ่งเรียกว่า “    มรรค” หรือ “    ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

            ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคแสดงถึงธรรมที่ทรงตรัสรู้เองโดยชอบ คือ ธรรมทั้งหลายที่เป็นอภิญไญย (ธรรมที่พึงรู้ยิ่ง คือ อริยสัจ 4) ได้แก่ ธรรมทั้งหลายที่เป็นปริญไญย(ธรรมที่พึงกำหนดรู้ คือทุกขสัจ) ธรรมที่พึงที่เป็นปหาตัพพะ (ธรรมที่พึงละ คือ สมุทัยสัจ) ธรรมทั้งหลายที่เป็นสัจฉิกาตัพพะ (ธรรมที่พึงทำให้แจ้ง คือ นิโรธสัจ) ธรรมทั้งหลายที่เป็นภาเวตัพพะ (ธรรมที่พึงเจริญ คือ มรรคสัจ)

 

             โดยสรุปก็คือตรัสรู้ อริยสัจ 4 ซิ่งมีทั้งเหตุและผล รวมทั้งวิธีดับเหตุโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว เนื่องแล้ว เนื่องจากทรงรู้และทรงเห็นแจ้งแทงตลอดในสัจธรรมอันประเสริฐเช่นนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า “    สัมมาสัมพุทโธ” คือ “    ทรงเป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ”

 

------------------------------------------------------------------------

13) พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทตฺตชีโว), พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ, กรุงเทพฯ : นฤมิต โซล(เพรส) จำกัด, 2546. หน้าที่ 110.

 สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011647860209147 Mins