วิชา....ไม่ธรรมดา

วันที่ 25 กค. พ.ศ.2558

วิชา....ไม่ธรรมดา


ศาสตร์แห่งสมาธิ คืออะไร?
                สมาธิคือ สภาวะที่ใจเรานิ่ง ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ศัพท์ธรรมะท่านใช้คำว่า เอ-กัค-คะ-ตา คือ การที่จิตใจตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว นิ่งต่อเนื่อง เมื่อใจนิ่งแล้วผลที่ตามมา คือ ใจจะบริสุทธิ์ ผ่องใส คล้ายกับเวลาที่เราไปตักน้ำในแม่น้ำลำคลอง แล้วเอามาใส่โอ่งใหม่ๆ มันจะขุ่น แต่พอเราให้น้ำมาอยู่นิ่งๆ ในโอ่ง เดี๋ยวมันจะค่อยๆ ตกตะกอน แล้วน้ำก็จะใส
                ใจคนเราก็เหมือนกัน ปกติจะคิดนั่นคิดนี่ มีเรื่องราวสารพัดอย่างให้คิด ทำให้ใจขุ่นมัวเศร้าหมอง แต่พอเราทำใจนิ่งๆ ทั้งกิเลส ทั้งอนุสัย หรือกิเลสอย่างละเอียดจะค่อยๆ นอนก้น ใจก็จะค่อยๆใส นั่นคือ สิ่งที่เกิดขึ้นจากการทำสมาธิ


สติ กับ สมาธิ ต่างกันอย่างไร?


    สติ มาจาก สัมมาสติ แปลว่า ระลึกชอบ มีความรู้ตัว 
    สมาธิ มาจาก สัมมาสมาธิ คือ ใจตั้งมั่น สงบ นิ่ง


      สติกับสมาธิ เป็นกระบวนการต่อเนื่องกันไป ถ้าเราทำอะไรอยู่แล้ว ระลึกรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าสติ เมื่อมีสติใจก็ตั้งมั่นดิ่งลงไป เวลาทำสมาธิ ถ้ามีทั้งสติและสมาธิแล้วใจจะนิ่งได้เร็วมาก แล้วความผ่องใสก็จะบังเกิด


ทำไมทุกคนจึงควรมีสมาธิและฝึกสมาธิ?
            คำว่าสมาธิ เราสามารถแทนด้วยคำว่า ใจหยุด ก็ได้ เพราะการทำสมาธิ คือ การหยุดใจให้อยู่ในอารมณ์เดียว พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านสรุปสั้นๆว่า “ หยุด เป็นตัวสำเร็จ ” สำเร็จตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงพระนิพพาน ทุกคนบนโลกนี้จะทำทุกอย่างตั้งแต่เรื่องง่ายถึงเรื่องยากให้ประสบความสำเร็จได้ต้อง “ หยุด ” จริงๆ แล้วทุกการเคลื่อนไหว เกิดขึ้นจากความต่อเนื่องของการหยุดนั้นเอง


            ยกตัวอย่าง ถ้าเราจะเขียนหนังสือแต่มือของเราไม่นิ่ง มือสั่น จะเขียนหนังสือไม่เป็นตัว เพราะฉะนั้นจะเขียนหนังสือได้ มือเราต้องนิ่ง แล้วค่อยๆเคลื่อนไป นิ่งเท่าไรฝีมือการเขียนยิ่งเฉียบขาด เห็นไหมว่าทุกอย่างที่เราทำต้องเริ่มจากการนิ่งก่อน ถึงจะเคลื่อนไหวได้อย่างทรงพลัง 
            ในทุกเรื่องทุกการกระทำต้องมีสมาธิ ยิ่งมีสมาธิมากเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านสอนว่า หยุด เป็นตัวสำเร็จตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงพระนิพพาน คือ จะปฏิบัติธรรม (นั่งสมาธิ) จะทำความดีทุกอย่างใจต้องหยุด พอใจหยุดพลังจะเกิด แล้วจะเกิดผลดีมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ คนทุกคนในโลกจะต้องได้ฝึกสมาธิ เมื่อฝึกแล้วจึงจะเข้าใจตรงนี้ 


มีการฝึกสมาธิในความเชื่อื่นหรือไม่ แตกต่างกับการฝึกสมาธิในพระพุทธศาสนาอย่างไร?
            ในพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้ธรรม ช่วงแรกพระองค์ได้ไปฝึกกับอาฬารดาบส จนได้สมาบัติ 7 ต่อมาก็ไปฝึกกับ อุทกดาบส จนได้สมาบัติ 8 ซึ่งสมาบัติ 8 คือ รูปฌาณ 4 กับอรูปฌาณ 4
            รูปฌาณ ได้แก่ ปฐมฌาณ ฌาณที่1, ทุติยฌาณ ฌาณที่2, ตติยฌาณ ฌาณที่3 และจตุตถฌาณ ฌาณที่4 ส่วนอรูปฌาณขั้นแรกคือ อากาสานัญจายตนะ ขั้นที่สองคือ วิญญานัญจายตนะ ขั้นที่สามคือ อากิญจัญญายตนะ ขั้นที่สี่คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ซึ่งเรียกเหมือนกับในพระพุทธศาสนาจนกระทั่งคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่า สมาธิในพระพุทธศาสนาเหมือนกับสมาธินอกพระพุทธศาสนา เพราะเห็นว่าชื่อเรียกเหมือนกัน 
            ไม่เฉพาะในยุคพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น แม้ในอดีตที่พระบรมโพธิสัตว์กำลังสร้างบารมีอยู่ บางชาติเคยเป็นฤาษีชีไพรบ้าง ก็ปฏิบัติจนได้ฌาณสมาบัติจนเหาะเหินเดินอากาศได้ สมาธินอกพระพุทธศาสนาก็มีใจนิ่งเหมือนกัน แต่จุดต่างกับสมาธิในพระพุทธศาสนาที่สำคัญ คือ จุดที่วางใจ นั้นแตกต่างกัน สมาธิในพระพุทธศาสนา ใจจะมาอยู่ในตัว แต่สมาธินอกพระพุทธศาสนาจะส่งใจไปนอกตัว 


            อย่างฤาษีบูชาไฟ เขาจะนั่งเพ่งกองไฟ คือ เอาใจไปจรดอยู่กับกองไฟ แต่ในพระพุทธศาสนาจะเอาใจมาไว้ในตัว อยู่ที่  ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ในพระพุทธศาสนาก็มีแต่โชกสิณเหมือนกัน เตโช ที่แปลว่าไฟ เตโชกสิณ คือ กสิณไฟ จะน้อมนำเอาภาพไฟมาไว้ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ซึ่งเป็นจุดโฟกัสของใจที่แท้จริง สมาธินอกพระพุทธศาสนาเมื่อเอาใจไว้นอกตัว ใจจะเป็นสมาธิได้ในระดับหนึ่ง แต่เพราะไม่ตรงกับจุดโฟกัสของใจ การรู้การเห็นจึงมีขอบเขตจำกัด เช่น ระลึกชาติได้ แต่มีขอบเขตในระดับหนึ่ง แต่พอเอาใจมาไว้ในตัวตรงศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ใจจะดิ่งเข้ากลางไปรู้ไปเห็น ถึงความจริงของโลก และชีวิตทั้งมวลได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด เพราะตรงจุดโฟกัสของใจ
            ตอนเจ้าชายสิทธัตถะยังไม่ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงฝึกกับอุทกดาบสและอาฬารดาบส จนสุดความรู้ของอาจารย์ อาจารย์ยังขอให้อยู่ช่วยกันสอนคนอื่นต่อไป แต่เจ้าชายสิทธัตถะทรงปรารถนาความพ้นทุกข์ เมื่อฝึกจนสุดความรู้ของครูบาอาจารย์แล้วยังไม่พ้นทุกข์เลย จึงปฏิเสธอาจารย์แล้วก็แสวงหาทางพ้นทุกข์ต่อไป เมื่อไม่มีคนสอนก็เลยต้องหาเอง ทดลองทุกรูปแบบทั้งทรมานตนเอง อดอาหาร ลดอาหารลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเอามือลูบหน้าท้องก็สามารถคลำถึงกระดูกสันหลังได้ หรือเอามือลูบตัวพอให้สบาย ลูบแล้วปรากฏว่าเส้นขนหลุดติดมือมาหมด เพราะรากขนเน่าด้วยความเป็นผู้มีอาหารน้อย


            ตาทั้งสองปรากฏอยู่ในเบ้าประดุจเงาแห่งดวงดาวในบ่อลึก เรียกว่าตาลึกโบ๋เพราะอดข้าวอดน้ำ กลั้นลมหายใจ ทำทุกอย่างจนพิสูจน์แล้วว่า คนที่ทรมานตนเองทำได้ไม่มีเกินนี้แน่ๆ แต่ทรมานขนาดนี้แล้วก็ยังไม่ตรัสรู้ธรรม แสดงว่าหนทางนี้ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง
พระองค์จึงได้ข้อสรุปว่า หนทางสุดโต่ง 2 สาย คือ
1.    เพลิดเพลินในกามสุข เบญจกามคุณทั้ง 5 เหมือนตอนที่อยู่วังที่มีนางสนมกำนัลเต็มไปหมด ก็ไม่ใช่หนทางพ้นทุกข์
2.    ทรมานตนเองก็ไม่ใช่หนทางพ้นทุกข์
            ในที่สุดพระองค์ทรงค้นพบว่า “ ทางสายกลาง ” คือ หนทางดับทุกข์ ในทางปฏิบัติทางสายกลางที่กล่าวถึง คือ การน้อมนำใจมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 นั่นเอง พอใจนิ่งจิตจะดิ่งไปตามลำดับ ผ่านรูปฌาณ 4 อรูปฌาณ 4 เหมือนกันแต่ไม่ตัน ฤาษีชีไพรเอาใจไปอยู่นอกตัวพอรู้ระดับหนึ่งแล้วจะตัน
ฤาษีเขาก็รู้จักนรกสวรรค์ เขาเห็นเหมือนกันแต่ไม่ถึงพระนิพพาน เราจะเห็นว่าคำว่า พระอินทร์ มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยพระพุทธศาสนา เพราะฤาษีชีไพรที่ปฏิบัติธรรมก็รู้ว่ามีสิ่งนี้อยู่ แต่ไม่รู้จักว่าพระนิพพานเป็นอย่างไร ตันอยู่แค่ 3 ภพ คือ โลกมนุษย์ นรก และสวรรค์


            ในสมัยพุทธกาล มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ วังคีสะ ฝึกสมาธิจนสามารถเห็นนรกเห็นสวรรค์ สามารถใช้ไม้ท่อนเคาะหัวศพคนตาย ก็บอกได้เลยว่าไปเกิดที่ไหน ซึ่งเจ้าตัวก็ภูมิใจว่าตนเองเก่ง และมั่นใจในวิชาตนเอง วันหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล็งเห็นบุญเก่าของพราหมณ์วังคีสะ ว่าสามารถบรรลุธรรมได้ พระองค์จึงเสด็จมาโปรด
            เผอิญในวันนั้นมีพระอรหันต์เพิ่งนิพพานใหม่ๆ พอดี แล้วสรีระท่านยังอยู่ พระองค์จึงให้พราหมณ์วังคีสะลองวิชา เมื่อเคาะก็ไม่เห็น เพราะท่านเข้านิพพานไปแล้ว แต่พราหมณ์วังคีสะไม่รู้ รู้อยู่แค่ภพ 3 เคาะไปก็ไม่รู้ไม่เห็น พอวังคีสะเคาะแล้วก็งงว่าทำไมไม่เห็น เคาะใหม่ก็ไม่เห็นอีก
            ด้วยความที่เป็นคนฉลาด เลยรู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีวิชาสูงกว่าตนเอง จึงทิ้งไม้เท้าก้มกราบขอเรียนวิชานี้ พระองค์ตรัสว่าถ้าจะเรียนต้องบวชก่อน พราหมณ์วังคีสะจึงยอมบวช พอบวชแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติธรรม เอาใจไว้ที่ศูนย์กลางกาย สุดท้ายก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ แล้วยังได้รับการยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะ คือเป็นเลิศทางด้านปฏิภาณอีกด้วย


นอกจากชาวพุทธ คนศาสนาอื่นมีแนวโน้มนั่งสมาธิกันบ้างไหม?
            น่าทึ่งทีเดียว นิตยสารไทม์ ที่ถือว่าเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ที่ทรงอิทธิพลอันดับหนึ่งของโลก เคยนำภาพชาวต่างชาตินั่งสมาธิขึ้นปกมาแล้ว อีกทั้งยังวิจัยด้วยว่า ตอนนี้คนอเมริกันวันละกว่า 10 ล้านคน และในตอนนี้โรงเรียนที่มีระดับ เริ่มให้นักเรียนนั่งสมาธิก่อนเรียนหนังสือ เพราะมีผลวิจัยรองรับแล้วว่า นั่งสมาธิแล้วจะทำให้เรียนหนังสือดีขึ้น
            เขาเห็นว่าสมาธิดี ผลการวิจัยพิสูจน์แล้วก็เอามาใช้เลย คือ เหตุผลที่เขาเรียกว่าสมาธิเป็นศาสตร์ ใช้คำว่า The Science of  Meditation แปลว่า ศาสตร์แห่งสมาธิ เพราะเขาถือว่าสมาธิก้าวข้ามความเชื่อทางศาสนาไปแล้ว จนกลายเป็นศาตร์อย่างหนึ่ง
            ถ้าโรงเรียนจะสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ครูไม่ต้องถามนักเรียนว่า เธอนับถือศาสนาอะไร เพราะคนศาสนาไหนก็ต้องเรียน เนื่องจากเป็นความรู้สากลของโลก สมาธิก็อยู่ในสถานภาพนั้นเหมือนกัน เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมากที่ทุกคนควรศึกษา 


            คณะแพทย์ Harvard Medical School ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เมื่อมีคนไข้มาหาเขาจะแนะนำเลยว่า คุณต้องนั่งสมาธิ เพราะเมื่อคุณนั่งสมาธิแล้วจะได้แข็งแรง หายเร็วขึ้น หมอไม่ถามว่าคุณนับถือศาสนาอะไร เพราะถือว่า คนทุกศาสนาควรนั่งสมาธิทั้งนั้น หมอเองไม่ใช่ชาวพุทธแต่ก็นั่งสมาธิ
            บริษัทห้างร้านต่างๆ ก็เริ่มมีการจัดเตรียมห้องสำหรับนั่งสมาธิให้พนักงานด้วย เพราะมีผลการทดลองพิสูจน์แล้วว่า ประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น ตามปกตินักธุรกิจจะคิดถึงความคุ้มค่าในการลงทุนเป็นอันดับแรก ที่เขาลงทุนทำห้องสมาธิให้กับพนักงาน เพราะเขามองเห็นผลลัพธ์แล้วว่า สิ่งที่ลงทุนคุ้มค่ากับสิ่งที่จะได้กลับมา
            ชาวต่างประเทศเวลาจะฝึกสมาธิเขาต้องดั้นด้นแสวงหา เพราะบ้านเมืองเขา สมาธิเป็นของใหม่ แต่ประเทศไทยของเราเมืองพุทธ นั่งสมาธิได้ง่าย ถ้าไม่นั่งก็น่าเสียดาย เสียดายโอกาสอย่างยิ่ง ชาวอเมริกันยังนั่งสมาธิวันละ 10 ล้านคนทุกวัน เรารู้ข้อดีของการนั่งสมาธิแล้ว ขอให้ตั้งใจปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ แล้วสมาธิจะอำนวยประโยชน์ให้แก่เรา อย่างมหาศาล

 

--------------------------------------------------------------

หนังสือของสำนักพิมพ์ ทันโลกทันธรรม โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ
http://www.tltpress.com/

วางแผงจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือ
ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ , นายอินทร์ , ศูนย์หนังสือจุฬา , คิโนะคุนิยะ , บุ๊คสไมล์ ฯลฯ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0061497330665588 Mins