การเจริญสีลานุสติ

วันที่ 27 กค. พ.ศ.2558

 

การเจริญสีลานุสติ

     สีลานุสติ คือ การตามระลึกถึงศีลที่ตนรักษาไว้โดยปราศจากโทษอยู่เนืองๆ

            ศีลที่รักษานั้น จะเป็นศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 หรือ ศีล 227 ตามเพศภาวะของผู้ เจริญภาวนา โดยการระลึกถึงศีลนั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องมีความประพฤติครบถ้วนทั้ง 5 ประการเสียก่อน คือ

1.จะต้องชำระศีลของตนให้พ้นจากโทษทั้ง 4 อย่าง คือ ศีลขาด ศีลทะลุ ศีลด่าง ศีลพร้อย และตั้งตนอยู่ในศีลที่บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ไม่แปดเปื้อนด้วยมลทิน เป็นศีลที่ผู้รักษารักษาด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่ได้มุ่งโลกียสมบัติ ไม่ได้เป็นทาสของตัณหา

2.จะต้องมีจิตใจพ้นไปจากความเป็นทาสแห่งตัณหา กล่าวคือ ต้องเป็นการรักษาศีลที่ไม่มีความมุ่งหวังต่อโลกียสมบัติ

3.มีการปฏิบัติ กาย วาจา ใจ ให้ตั้งอยู่ในสิกขาบทอย่างเคร่งครัด จนมิอาจที่ผู้ใดผู้หนึ่ง จะมาจับผิด โดยอ้างวัตถุขึ้นแสดงเป็นหลักฐานได้

4.ความประพฤติด้วยกาย วาจา ของตนนั้น แม้ว่าคนพาลและผู้ที่เป็นศัตรูแก่ตน จะไม่มีความเห็นดีเห็นชอบด้วยก็ตาม แต่วิญญูชนย่อมสรรเสริญ

5. ต้องประกอบด้วยความรู้ว่า ศีลนี้เป็นเหตุให้สมาธิเกิดขึ้นได้เมื่อความประพฤติปฏิบัติของตนถูกต้องตามหลักทั้ง 5 ประการนี้แล้ว ทำการระลึก ไปในศีล เป็นต้นว่า

 

        อโห เม วต สีลํ อขณฺฑํ อฉิทฺทํ หเว อสพลํ อกมฺมาสํ ภุชิสฺสํ อปรามสํ ปสฏฺฐํ สพฺพวิญฺญูหิ สมาธิสํวตฺตนิกํ

           ศีลของเรานี้บริสุทธิ์ดี น่าปลื้มใจจริงหนอ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย โดยแน่นอน ศีลของเรานี้บริสุทธิ์ ทำให้เราพ้นไปจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของตัณหา ศีลของเรานี้มิอาจ ที่จะมีผู้ใดมากล่าวหาได้ ศีลของเรานี้คนอันธพาลและผู้ที่เป็นศัตรูกับเราจะไม่มีการเห็นดีด้วยก็ตาม แต่วิญญูชนทั้งหลายนั้นย่อมสรรเสริญ ศีลของเรานี้เป็นเหตุทำให้สมาธิเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แล้วตรวจตราดูศีลของเราว่า เป็น “    ศีลที่มีโทษ” หรือ “    พ้นไปจากโทษ” ซึ่ง “    ศีลที่มีโทษ” นั้นมี 4 อย่าง คือ

 

ศีลที่มีโทษ 4 อย่าง

1.ขัณฑศีล (ศีลขาด) ได้แก่ ศีลของคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตาม ที่มีสิกขาบทข้อต้นหรือข้อปลายอย่างใดอย่างหนึ่งขาดไป เช่น ในศีลแปดนั้น ปาณาติปาตาเวรมณี หรือ อุจจาสยนะ มหาสยนาเวรมณี ข้อใดข้อหนึ่งขาดไป ศีลอย่างนี้เรียกว่า ขัณฑศีล

2.ฉิททศีล (ศีลเป็นรู) ได้แก่ สิกขาบทท่ามกลาง เช่น ในศีลแปดนั้น ข้อที่สองถึงข้อที่เจ็ด ข้อใดข้อหนึ่งขาดไป อย่างนี้เรียกว่า ฉิททศีล

3.สพลศีล (ศีลด่าง) ได้แก่ สิกขาบทท่ามกลาง คือ ข้อที่สองถึงข้อที่เจ็ดนั้นขาดไป แต่ไม่ใช่ขาดไปตามลำดับ อย่างนี้เรียกว่า สพลศีล

4.กัมมาสศีล (ศีลพร้อย) ได้แก่ สิกขาบทท่ามกลาง คือ ข้อที่สองถึงข้อที่เจ็ดนั้นขาดไป สองหรือสามหรือสี่ติดต่อกันตามลำดับ อย่างนี้เรียกว่า กัมมาสศีล

 

ส่วน “    ศีลที่พ้นจากโทษ” ก็มี 4 อย่างเช่นกัน คือ

1.อขัณฑศีล (ศีลไม่ขาด) ได้แก่ ศีลของคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตาม ที่มีสิกขาบท ข้อต้นหรือข้อปลายทั้งสองนั้นมิได้ขาด คงรักษาไว้ได้เป็นปกติ อย่างนี้เรียกว่า อขัณฑศีล

2.อฉิททศีล (ศีลไม่เป็นรู) ได้แก่ สิกขาบทท่ามกลางทั้ง 6 ข้อนั้น ไม่ขาด คงรักษาไว้ได้เป็นปกติ อย่างนี้เรียกว่า อฉิททศีล

3.อสพลศีล (ศีลไม่ด่าง) ได้แก่ สิกขาบทท่ามกลางทั้ง 6 ข้อนั้น แม้อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ขาด คงรักษาไว้ได้เป็นปกติ อย่างนี้เรียกว่า อสพลศีล

4.อกัมมาสศีล (ศีลไม่พร้อย) ได้แก่ สิกขาบทท่ามกลางทั้ง 6 ข้อนั้น ไม่ขาดแม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง คงรักษาไว้ได้เป็นปกติบริบูรณ์ ศีลอย่างนี้เรียกว่า อกัมมาสศีล เมื่อตรวจตราศีลของเราว่า พ้นจากโทษไม่มีโทษอย่างนี้แล้ว ใจก็แช่มชื่นเบิกบาน อาจหาญในศีล พร้อมที่จะตั้งลงในสมาธิต่อไปได้

------------------------------------------------------------------------

 สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00097184975941976 Mins