การเจริญอุเบกขาภาวนา

วันที่ 06 สค. พ.ศ.2558

 

การเจริญอุเบกขาภาวนา

            อุเบกขา หมายความว่า การมีใจวางเฉยในสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีอาการของเมตตา กรุณา มุทิตา คือ ไม่น้อมไปในความปรารถนาดี ไม่น้อมไปในการบำบัดทุกข์ ไม่น้อมไปในการชื่นชมยินดีในความสุขความเจริญของเหล่าสัตว์แต่อย่างใดทั้งสิ้น

การเจริญอุเบกขา คือ การแผ่ความรู้สึกวางเฉยต่อสัตว์ทั้งหลาย โดยมีจิตใจที่ปราศจากอาการทั้ง 3 คือ

1.ไม่น้อมไปในความปรารถนาดี

2.ไม่น้อมไปในการบำบัดทุกข์

3.ไม่น้อมไปในการชื่นชมยินดีในความสุขของเหล่าสัตว์แต่อย่างใดทั้งสิ้น ผู้เจริญอุเบกขาภาวนา จะมีมัชฌัตตสัตว์ (ผู้ที่เราไม่รู้สึกรักหรือชัง) เป็นอารมณ์ มัชฌัตตสัตว์หรือมัชฌัตตบุคคล มีอยู่ 2 ประเภท คือ

ประเภทธรรมดา คือ คนที่เรารู้จักกันโดยทั่วๆ ไป คนที่ไม่ได้ให้คุณให้โทษอะไร แก่เรา เราย่อมรู้สึกเฉยๆ ไม่รักไม่ชัง

ประเภทที่เกิดจากอำนาจสมาธิ พวกนี้มีทั้งอติปิยบุคคล (คนที่รักยิ่ง) ปิยบุคคล (คนที่รัก) เวรีบุคคล (ศัตรู) บุคคลทั้งที่กำลังสุขหรือกำลังทุกข์ เมื่อเจริญภาวนาจนถึงภาวะอุเบกขานั้น จะรู้สึกวางเฉยต่อบุคคลที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดโดยเท่าเทียมกัน ไม่รักหรือเกลียดชัง ไม่ว่าบุคคลประเภทใด

 

การวางเฉยต่อสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ 2 อย่าง คือ

1.อุเบกขาแท้ เป็นการวางเฉยที่ประกอบด้วยปัญญา วางเฉยด้วยอำนาจของ ภาวนาสมาธิ สามารถวางเฉยต่อปิยบุคคล (บุคคลอันเป็นที่รัก) เวรีบุคคล (คนคู่เวร) ที่มีสุขหรือมีความทุกข์ได้

2.อุเบกขาเทียม คือ การวางเฉยที่ปราศจากปัญญา เป็นไปด้วยอำนาจโมหะ เมื่อประสบกับสิ่งที่น่ารักก็ไม่รู้จักรัก พบกับสิ่งที่น่าขวนขวายน่าอยากได้ ก็ไม่มีการขวนขวายพยายามจะแสวงหา พบสิ่งที่น่าเคารพเลื่อมใสก็ไม่เคารพเลื่อมใส พบสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว ก็ไม่รู้จักเกลียดรู้จักกลัว พบสิ่งที่ควรแก้ไขปรับปรุงหรือสนับสนุนส่งเสริม ก็ไม่คิดกระทำ นิ่งเฉยเสีย อุเบกขาที่ขาดปัญญานี้ เป็นอัญญานุเบกขาหรืออุเบกขาเทียม

 

----------------------------------------------------------------------------

MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.030673233668009 Mins