ความเป็นมาของอรูปกัมมัฏฐาน

วันที่ 07 สค. พ.ศ.2558

 

ความเป็นมาของอรูปกัมมัฏฐาน

            อรูปกัมมัฏฐานเป็นการเจริญสมาธิขั้นสูงสุดของสมถะ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เกิดต่อจากการบรรลุฌาน 4 ส่งผลให้ได้อรูปฌาน ซึ่งวิธีการฝึกสมาธิจนกระทั่งบรรลุอรูปฌานนี้ เป็นสิ่งที่รู้จักกันก่อนการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลักฐานแสดงว่า ในช่วงที่เจ้าชายสิทธัตถะแสวงหาทางหลุดพ้น ก่อนการตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้ทรงไปศึกษาและปฏิบัติอยู่กับดาบส 2 ท่าน คือ อุทกดาบสและอาฬารดาบส ผู้ได้บรรลุอรูปฌาน 3 และอรูปฌาน 4 แต่พระองค์ก็ทรงตระหนักว่าไม่ใช่หนทางที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น พระองค์จึงทรงจากครูทั้งสองไป และแสวงหาวิธีการเพื่อการหลุดพ้นด้วยพระองค์เอง1)

 

            ในปาสราสิสูตร2) ได้กล่าวถึงขั้นตอนที่เริ่มจากการเจริญสมาธิภาวนาขั้นต้น คือ การบรรลุฌานขั้นต่างๆ จนกระทั่งบรรลุอรูปฌาน และเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ จนกระทั่งสิ้นกิเลสอาสวะ ทั้งหมดเป็นขั้นตอนที่ชี้ให้เห็นหลักแห่งการเจริญสมาธิในพระพุทธศาสนา และชี้ให้เห็นความแตกต่างของการบรรลุอรูปฌานในพระพุทธศาสนาที่แตกต่างจากนอกพระพุทธศาสนา คือ ในพระพุทธศาสนาจะมีเรื่องของวิปัสสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง ความสมบูรณ์ของการเจริญสมาธิภาวนาในพระพุทธศาสนาจะเกิดขึ้นเมื่อสมาธิและปัญญาบริบูรณ์ อันนำไปสู่ความเป็น พระอรหันต์

             และการเจริญอรูปฌานขั้นต่างๆ ในพระพุทธศาสนา โดยมีลักษณะของการเป็นฐานไปสู่วิปัสสนานี้ ย่อมทำให้ผู้ปฎิบัติหลุดพ้นจากมิจฉาทิฏฐิ โดยเฉพาะนัตถิกทิฏฐิ เพราะปรากฏว่ามีพราหมณ์และนักบวชบางพวกแม้จะเป็นผู้ปฏิบัติจนบรรลุฌานแล้ว ก็ยังยึดถือทิฏฐิเหล่านั้น ด้วยเหตุที่เข้าถึงการปฏิบัติที่ไม่สมบูรณ์3)

 

ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงอรูปกัมมัฏฐาน จึงมีลักษณะความเห็นของการปฏิบัติอยู่ 2 ประการ คือ

            1.ในเวลาที่พระพุทธศาสนายังไม่อุบัติขึ้น ผู้ที่เป็นนักบวชประเภทโยคีต่างๆ บำเพ็ญฌานถึงขั้นปัญจมฌานลาภี (ฌานที่ 5) มีความคิดกันขึ้นมาว่า ร่างกายนี้เป็นต้นเหตุของความทุกข์ต่างๆ เช่น ต้องเจ็บป่วย แก่ชรา การทะเลาะวิวาทประหัตประหารกันก็ดี โรคภัยก็ดี ความกำหนัดรักใคร่ในกันและกันก็ดี การยื้อแย่งวัตถุสิ่งของกันและกันก็ดี ฯลฯ เหล่านี้ ล้วนแต่เนื่องจากร่างกายทั้งสิ้น เพราะมีร่างกายจึงมีตัณหา เช่น ความอยากในอาหาร ความอยากเสพกาม อยากได้รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสที่ดี อันเป็นสิ่งนำความทุกข์ประการต่างๆ มาให้

            สำหรับร่างกายเองนั้น ก็เกิดมาจากสิ่งไม่สะอาดมีเลือดของบิดามารดา ฯลฯ จึงเรียกว่า กรชกาย (กะ แปลว่า สรีระ รชะ แปลว่า ธุลี) แปลว่า กายอันเกิดด้วยธุลีในสรีระ ปัญจมฌาน-ลาภีบุคคลเหล่านี้ เห็นว่าในอรูปภูมิเป็นภูมิที่ปราศจากร่างกาย มีแต่จิตใจอย่างเดียว เรื่องเดือดร้อนต่างๆ ที่เกี่ยวกับกายก็หมดไป นับว่าเป็นความสุขอย่างยิ่ง เมื่อเกิดความคิดเห็นดังนี้แล้ว ก็เกิดเบื่อหน่ายในร่างกาย อยากจะไปบังเกิดในอรูปภูมิอย่างเดียว พร้อมกันนั้นก็เกิดความกลัวในปฏิภาคนิมิต อันเป็นอารมณ์ของรูปาวจรปัญจมฌาน ที่เกิดต่อเนื่องมาจากรูปที่เป็นองค์กสิณ เรียกว่า เบื่อหน่าย เกลียดกลัวในร่างกายอันเป็นรูป ความเกลียดกลัวนั้นยังต่อเนื่องมาจนแม้ในปฏิภาคนิมิตที่มาจากรูปกสิณก็กลัวไปด้วย เหมือนคนกลัวผี เห็นตอไม้ในตอนมืด ก็นึกหวาดกลัวว่าผีหลอก

 

            2.เกิดจากความเห็นที่เกิดขึ้นในสมัยที่มีพระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นแล้ว ปัญจมฌานลาภี-บุคคลไม่ได้พิจารณาเห็นโทษของร่างกายแต่ประการใด แต่เห็นว่าสมาธิที่เกิดจากอรูปฌานนั้นมีกำลังมั่นคง และประณีตกว่าสมาธิที่เกิดจากรูปฌาน เป็นสมาธิในขั้นที่สามารถใช้ทำอภิญญา หรือหากได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี พระอรหันต์เวลาใด ยังช่วยให้เข้านิโรธสมาธิบัติอันเป็นสภาวะที่มีสันติสุขอย่างยิ่งได้4)

----------------------------------------------------------------------------

1) มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มก. เล่มที่ 18 ข้อ 317-318 หน้า 415-417.
2) มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มก. เล่มที่ 18 ข้อ 328 หน้า 427-429.
3) พรหมชาลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่มที่ 11 ข้อ 26 หน้า 15.
4) อุบาสิกา ถวิล (บุญทรง) วัติรางกูล, เราคือใคร (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรุงเทพฯ, 2530), หน้า 444.

MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014400998751322 Mins