ความหมายของวิปัสสนา

วันที่ 11 สค. พ.ศ.2558

 

 ความหมายของวิปัสสนา

คำว่า วิปัสสนา มาจาก 2 บท คือ วิ + ปัสสนา

  • วิ แปลว่า วิเศษ
  • ปัสสนา แปลว่า การเห็น

            วิปัสสนา จึงหมายถึง การเห็นวิเศษ วิปัสสนานี้เป็นชื่อของปัญญา ซึ่งเป็นธรรมชาติที่รู้ ก็แต่ว่าสิ่งที่ปัญญารู้นั้นมากมายหลายอย่าง ปัญญาจึงมีมากมายหลายอย่างตามสิ่งที่รู้นั้น กล่าวคือ ปัญญารู้วิชากฎหมายก็อย่างหนึ่ง ปัญญาที่รู้วิชาภูมิศาสตร์ก็อย่างหนึ่ง ปัญญาที่รู้ วิชาวิทยาศาสตร์ก็อย่างหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น ในบรรดาปัญญามากมายหลายอย่างเหล่านั้น เฉพาะปัญญาที่รู้ไตรลักษณ์ คือ ลักษณะ 3 อย่าง มี อนิจจลักษณะ ลักษณะที่ไม่เที่ยง ทุกขลักษณะ ลักษณะที่เป็นทุกข์ และอนัตตลักษณะ ลักษณะที่เป็นอนัตตาเท่านั้น จึงได้ชื่อว่า วิปัสสนา ข้อนี้ สมจริงตามที่ท่านให้คำจำกัดความของคำนี้ไว้ว่า อนิจฺจาทิวาเสน วิวิธากาเรน ปสฺสตีติ วิปสฺสนาŽ แปลว่า ปัญญาชื่อว่า วิปัสสนา เพราะมีความหมายว่า เห็นโดยอาการต่างๆ เกี่ยวกับอาการที่ไม่เที่ยง เป็นต้นŽ ดังนี้ อันได้แก่ ปัญญาที่พระพุทธเจ้าหมายเอา ตรัสไว้ว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา ฯลฯ สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา ฯลฯ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาŽ ซึ่งแปลว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตาŽ ดังนี้ นั่นเอง

 

            เมื่อวิปัสสนาเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะทั้ง 3 ดังกล่าว วิปัสสนานี้จึงมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์อะไรอย่างอื่น ที่แท้แล้วเป็นไปเพื่อการละกิเลสเท่านั้น กล่าวคือ กิเลสทั้งหลาย มีโลภะเป็นต้น เมื่อจะเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นในวัตถุธรรมที่เห็นว่าเที่ยงบ้าง ว่าเป็นสุขบ้าง ว่าเป็นอัตตาหรือเป็นของ ที่เนื่องด้วยอัตตาบ้าง เท่านั้น เพราะเหตุไรจึงเป็นเช่นนี้นั้น จะขอยกไปกล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ในปัญหาข้ออื่นที่เกี่ยวกับไตรลักษณ์ ในที่นี้ขอเพียงชี้แจงให้ทราบเป็นเบื้องต้นก่อนว่า กิเลสย่อมเกิดขึ้นและเจริญอยู่ได้ เพราะมีความสำคัญว่าเที่ยงเป็นต้น เพราะฉะนั้นหากว่าได้ทำความสำคัญโดยประการตรงข้าม คือความสำคัญว่าไม่เที่ยงเป็นต้น ให้เกิดขึ้น โดยการเจริญวิปัสสนาได้แล้วไซร้ กิเลสเท่านั้นจะถูกละไป เพียงแต่ว่า การละกิเลสแห่งวิปัสสนาปัญญานี้ เป็นการละได้เป็นครั้งคราวในทุกคราวที่ทำวิปัสสนาปัญญาให้เกิดขึ้นได้ ยังไม่สามารถละได้เด็ดขาดเท่านั้น แต่ถ้าหากว่า สามารถทำวิปัสสนาปัญญาที่เกิดขึ้นแล้วนี้ให้มีกำลัง ให้มีความแกล้วกล้าไปตามลำดับ จนบรรลุถึงมรรคซึ่งเป็นที่สุดแห่งวิปัสสนาปัญญาได้ ก็ย่อมละกิเลส เหล่านั้นได้เด็ดขาด นั่นคือ กิเลสที่ถูกละไปแล้ว จะไม่มีวันหวนกลับมาเกิดได้อีกเลย เมื่อกิเลสสิ้นไป ทุกข์ ก็ย่อมสิ้นไป เพราะทุกข์ทั้งหลายในสังสารวัฏ มีชาติความเกิดเป็นต้น มีกิเลสเป็นเหตุ มีกิเลสเป็นปัจจัย เมื่อความสิ้นกิเลสและความสิ้นทุกข์จะสำเร็จได้โดยการเจริญวิปัสสนาดังกล่าว มานี้ จึงกล่าวได้ว่า วิปัสสนานี้ มีความสิ้นกิเลสและความสิ้นทุกข์ เป็นประโยชน์

------------------------------------------------------------------------

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.059788715839386 Mins