ประเภทของขันธ์ 5

วันที่ 14 สค. พ.ศ.2558

 

 ประเภทของขันธ์ 5

ขันธ์ 5 เมื่อจัดแบ่งเป็นประเภท สามารถแยกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.ขันธ์ 5 ที่ประกอบด้วยอุปาทาน อุปาทานนี้ เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์แท้จริง เป็นทุกข์ที่ทำให้ต้องเวียนว่าย ตายเกิดในวัฏสงสาร ซึ่งเรียกว่า อุปาทานขันธ์ เป็นขันธ์ของปุถุชน หรือแม้แต่พระอริยเจ้าที่ยังไม่หมดกิเลสทั้งหมด ก็ยังมีอุปาทานขันธ์นี้อยู่ แต่เบาบางมาก

 

การที่มีอุปาทานเกิดขึ้นเพราะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในตัวขันธ์ 4 อย่าง คือ

1.กามุปาทาน ธรรมชาติที่ยึดมั่นอยู่ในกามคุณ 5 คือ กามตัณหา

2.ทิฏฐุปาทาน ธรรมชาติที่ยึดมั่นอยู่ในทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด

3.สีลัพพัตตุปาทาน ธรรมชาติที่ยึดมั่นอยู่ในการปฏิบัติผิด

4.อัตตวาทุปาทาน ธรรมชาติที่ยึดมั่นอยู่ในรูปนามขันธ์ 5 ว่าเป็นตัวเป็นตน ขันธ์ที่มีอุปาทานเข้าครอบงำจิตใจนี้ ทำให้กลายเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขาขึ้นมา ทำให้เกิดความเข้าใจว่า ความเป็นอยู่ต่างๆ ที่ปรากฏแก่ตน เช่น การทำ การพูด การคิดนึก ความสบาย ความไม่สบาย ความดีใจ ความเสียใจ และการเปลี่ยนแปลงไปต่างๆ ของร่างกาย เป็นเรื่องของตัวเรา หรือสิ่งที่เนื่องกับตัวเรา เราจึงใช้คำพูดกันจนชินว่า เราทำ เราพูด เราคิด เราสบาย เราไม่สบาย เราดีใจ เราเสียใจ เราแก่ เราหนุ่ม เราสวย เราไม่สวย และถ้าเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้อื่น เราก็ใช้คำว่า ผู้นั้น ผู้นี้ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ รวมความแล้วทุกสิ่งทุกอย่างในโลก มีเรา มีเขา ล้วนแต่เป็นอัตตทิฏฐิ (ความเห็นว่ามีตัวตนอันเป็นความเห็นผิด) ไปทั้งสิ้น กลายเป็นโมหะ ความโง่หลง ขาดปัญญา ไม่รู้เท่าทันตามความเป็นจริง

 

2.ขันธ์ 5 ที่ไม่ประกอบด้วยอุปาทาน ขันธ์ 5 นี้เป็นขันธ์ของพระอรหันต์เท่านั้น คือ พระอรหันต์นั้นสามารถละกิเลสได้ทั้งหมด จึงละอุปาทานได้ทั้งหมดเช่นกัน พระอรหันต์นั้นปราศจากการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 แล้ว ตัดเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดขันธ์ 5 แล้ว ทำให้ขันธ์ 5 ของท่านในภพต่อไปไม่มี เมื่อละสังขารแล้วก็เข้าสู่นิพพาน

------------------------------------------------------------

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011285503705343 Mins