คำแปลและความหมายของปฏิจจสมุปบาท

วันที่ 20 สค. พ.ศ.2558

 

 คำแปลและความหมายของปฏิจจสมุปบาท

            ปฏิจจสมุปบาท มาจากคำบาลีว่า “    ปฏิจฺจสมุปฺปาท” ซึ่งประกอบด้วยคำ ปฏิจฺจ กับ คำว่า สมุปฺปาท ปฏิจฺจ แปลว่า อาศัย สมุปฺปาท (แยกเป็น สํ ร่วม + อุปฺปาท เกิดขึ้น) แปลว่า การเกิดขึ้นร่วมกัน

เมื่อรวมคำทั้ง 2 เข้าด้วยกัน จึงแปลได้ว่า การเกิดขึ้นร่วมกันโดยอาศัยกัน

            การเกิดขึ้นร่วมกันโดยอาศัยกันนี้คือ การเกิดขึ้นร่วมกันโดยอาศัยกันของอวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรามรณะ ธรรม 12 ประการนี้ต่างเกิดขึ้นร่วมกันโดยอาศัยกันเกิดขึ้น ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างเกิดด้วยตัวเองโดดๆ ปฏิจจสมุปบาทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็ทรงมุ่งหมายที่จะทรงแสดงถึง ภาวะที่ต่างฝ่ายต่างเป็นปัจจัยให้กันและกันเกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ว่า

“    ภิกษุทั้งหลาย ปฏิจจสมุปบาทคืออะไร คือ การที่อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ สฬายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรามรณะ”1)

 

จากนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงผลที่เกิดจากการที่ธรรมทั้งหลายได้อาศัยกันเกิดขึ้น

“    โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วย”

 

ในปัจจยสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสว่า

“    พระตถาคตทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่เสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุอันนั้นคือ ธัมมฐิติ ธัมมนิยาม อิทัปปัจจัย ก็ยังดำรงอยู่ พระตถาคตย่อมตรัสรู้ ย่อมตรัสรู้ทั่วถึงธาตุอันนั้น ครั้นแล้วย่อมตรัสบอก ทรงแสดงบัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้น และตรัสว่า ท่านทั้งหลาย จงดูดังนี้ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ภิกษุทั้งหลาย ความจริงแท้ ความไม่คลาดเคลื่อน ความไม่เป็นอย่างอื่น มูลเหตุอันแน่นอนในธาตุอันนั้น ดังพรรณนามาฉะนี้แล เราเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท”2)

 

จากพุทธดำรัสนี้สรุปได้ว่า ปฏิจจสมุปบาท นี้มีชื่อเรียกอื่นๆ ได้อีก ดังนี้ คือ

1.ธัมมฐิตตา หรือ ธัมมฐิติ แปลว่า ความดำรงอยู่แห่งธรรม

2.ธัมมนิยามตา หรือ ธัมมนิยาม แปลว่า ความแน่นอนแห่งธรรม ความแน่นอนตามธรรม

3.อิทัปปัจจยตา แปลว่า ความมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย

4.ตถตา แปลว่า ความเป็นเช่นนั้นเอง

5.อวิตถตา แปลว่า ความไม่ผิดจากความเป็นเช่นนั้น

6.อนัญญถตา แปลว่า ความไม่เป็นอย่างอื่น

7.ปัจจยาการ แปลว่า อาการแห่งปัจจัย3)

 

นอกจากนี้ในกัจจานโคตตสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า

“    ดูก่อนกัจจานะ ส่วนสุดข้อที่ 1 นี้ว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่ ส่วนสุดข้อที่ 2 นี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่มี ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลางไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารเพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ… ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ เพราะอวิชชานั่นแหละดับ ด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ… ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้”4)

 

            จากพุทธพจน์นี้ทำให้ทราบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงสุดโต่ง 2 ส่วน ส่วนแรกจัดเป็นสัสสตทิฏฐิ เพราะเห็นว่าสิ่งทั้งปวงมีอยู่ตลอดกาล ส่วนที่ 2 จัดเป็นอุจเฉททิฏฐิ เพราะเห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่ตลอดกาล ทิฏฐิทั้ง 2 นี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด คำว่า สิ่งทั้งปวง ในที่นี้ก็คือ นามรูปนั่นเอง ซึ่งฝ่ายที่เป็นสัสสตทิฏฐิก็มีความเห็นว่า เป็นของเที่ยงแท้ ยั่งยืน จึงมีอยู่ตลอดไป ฝ่ายที่เป็นอุจเฉททิฏฐิก็มีความเห็นว่า เป็นของไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน จึงถือว่ามีอยู่ตลอดไปขาดสูญได้ เพื่อให้พ้นจากความเห็นสุดโต่งทั้ง 2 นี้ พระสัมมา-สัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรมสายกลางให้พิจารณาว่า สิ่งทั้งปวงคือ นามรูปนั้นจะมีหรือไม่มีขึ้นอยู่ที่ปัจจัยต่างๆ เป็นสำคัญ กล่าวคือ หากมีปัจจัยอยู่ สิ่งทั้งปวงก็ยังคงมีอยู่ หากไม่มีปัจจัย สิ่งทั้งปวงก็ไม่มี ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้เรียกปฏิจจสมุปบาทว่า มัชเฌนธัมมเทสนา คือ ธรรมเทศนาทางสายกลาง5)

 

------------------------------------------------------------

1) สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, มก. เล่มที่ 26 ข้อ 2 หน้า 2.
2) สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, มก. เล่มที่ 26 ข้อ 61 หน้า 96.
3) บรรจบ บรรณรุจิ, กระบวนธรรมเพื่อความเข้าใจชีวิต ปฏิจจสมุปบาท, กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, 2535, หน้า 4.
4) สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, มก. เล่มที่ 26 ข้อ 44 หน้า 73.
5) บรรจบ บรรณรุจิ, กระบวนธรรมเพื่อความเข้าใจชีวิต ปฏิจจสมุปบาท, กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, 2535, หน้า 9.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014466007550557 Mins