วิธีฝึกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

วันที่ 24 กย. พ.ศ.2558

 

วิธีฝึกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวิธีฝึกบุคคลต่างๆ อย่างไร เรื่องนี้มีปรากฏอยู่ในเกสีสูตร ในสมัยนั้นพระองค์ทรงถามนายเกสีซึ่งเป็นสารถีฝึกม้า ว่าเขาฝึกม้าด้วยวิธีการอย่างไร นายเกสีทูลตอบว่า เมื่อเขาได้ม้าที่ควรฝึกมาแล้ว บางตัวก็จะฝึกด้วยวิธีละม่อม บางตัวฝึกด้วยวิธีรุนแรง บางตัวต้องฝึกทั้ง 2 วิธี คือละม่อมและรุนแรงควบคู่กันไปเมื่อพระองค์ถามต่อว่า ถ้าหากม้าของเขาฝึกไม่ได้ด้วยวิธีใดๆ เลย เขาจะทำอย่างไรกับมัน นายเกสีจึงทูลว่า ถ้าหากว่าฝึกไม่ได้เขาก็จะฆ่ามันทิ้งไปเสีย หลังจากทูลตอบแล้วนายเกสีจึงถามพระองค์กลับว่าแล้วพระองค์มีวิธีฝึกคนอย่างไร ทรงตอบว่าพระองค์ก็ฝึกคนคล้ายๆ กับที่เขาใช้ฝึกม้าเช่นกัน โดยจะทรงฝึกบุคคลที่ควรฝึกด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ คือ


1. ฝึกด้วยวิธีละม่อมบ้าง หมายถึง ทรงสอนเกี่ยวกับการทำความดีด้วยกาย วาจา ใจ และผลดี
หรือวิบากของการทำความดีนั้น เช่นการได้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ซึ่งทำให้ผู้ถูกฝึกอยากจะทำแต่ความดี
2. ฝึกด้วยวิธีรุนแรงบ้าง หมายถึง ทรงสอนเกี่ยวกับการทำความชั่วด้วยกาย วาจา ใจ และ
ผลเสีย หรือวิบากของการทำความชั่วนั้น เช่น ต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือการไปเกิดในอบาย ซึ่ง
ทำให้ผู้ถูกฝึกเกิดความกลัวและความละอายต่อบาป จนไม่อยากจะทำความชั่วใดๆ
3. ฝึกด้วยวิธีละม่อมและรุนแรงบ้าง หมายถึงทรงใช้ทั้ง 2 วิธีข้างต้นควบคู่กัน
4. ถ้าบุคคลนั้นเป็นคนที่ฝึกไม่ได้ ก็ทรงฆ่าเขาเสีย ซึ่งหมายความว่าจะไม่ทรงแนะนำสั่งสอนอะไร
การไม่สอนนี้ พระองค์เรียกว่าเป็นการฆ่าในวินัยของพระอริยเจ้า

 

นอกจากจะทรงมีวิธีการฝึกที่หลากหลาย เหมาะสมแตกต่างกันไปตามแต่ประเภทของบุคคลดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว พระองค์ยังทรงฝึกบุคคลที่ฝึกได้ด้วยความจริงจังอย่างเต็มที่โดยปราศจากอคติใดๆดังที่ตรัสแก่พระอานนท์ไว้ว่า
 

"ดูก่อนอานนท์ เราจักไม่ประคับประคองพวกเธอเหมือนช่างหม้อประ
คับประคองภาชนะดินดิบที่ยังดิบๆ อยู่ เราจักข่มแล้วๆ จึงบอก จักยกย่อง
แล้วๆ จึงบอก ผู้ใดมีแก่นสาร ผู้นั้นจักตั้งอยู่"


            ซึ่งหมายความว่า พระองค์จะไม่ฝึกด้วยความทะนุถนอมใครมากจนเกินไป จะทรงใช้วิธีพร่ำสอนบ่อยๆสิ่งใดที่ทำได้ดี ถูกต้อง เป็นกุศล พระองค์จะทรงยกย่องให้กำลังใจ และสนับสนุนให้ทำยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ในขณะเดียวกันสิ่งใดที่เป็นความชั่ว เป็นอกุศล พระองค์จะตำหนิ และสอนไม่ให้ทำในสิ่งนั้นอีก การพร่ำสอนอย่างนี้ พระองค์ชี้ว่าเหมาะกับบุคคลที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ เอาจริงเอาจัง มีมรรคผลนิพพานเป็นที่ตั้ง จึงจะทนต่อการฝึกของพระองค์ได้บุคคลที่พระองค์ตรัสว่าเหมาะแก่การฝึก ในที่นี้หมายถึงพระภิกษุสาวก เพราะเป็นผู้ที่มีเป้าหมายชีวิตชัดเจน นั่นคือการบรรลุมรรคผลนิพพาน ทั้งนี้ด้วยเห็นว่าชีวิตในวัฏสงสาร นำมาซึ่งความทุกข์นานัปการเมื่อเห็นอย่างนั้น ท่านจึงสลัดพันธนาการของชีวิตเสีย ไม่ว่าจะเป็นชีวิตครอบครัว ธุรกิจการงาน ความเพลิดเพลินสนุกสนานในทางโลก หรือความเจริญก้าวหน้าในแบบของฆราวาสวิสัย หันมาใช้ชีวิตในเพศนักบวชมุ่งฝึกฝนอบรมตนเองอย่างจริงจัง ตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังที่กล่าวมาแล้วและเพราะความที่มีมรรคผลนิพพานเป็นเป้าหมาย การฝึกฝนอบรมตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญอันยิ่งใหญ่ ที่จะเกี่ยวข้องผูกพันกับพระภิกษุไปจนตลอดชีวิต

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022952063878377 Mins