ชาดก 500 ชาติ รวมนิทานชาดกพร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ชาดก 500 ชาติ : ชาดก 500ชาติรวมชาดก 500 ชาติพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ชาดก คือ เรื่องราวหรือชีวประวัติในอดีตชาติของพระโคตมพุทธเจ้า คือ สมัยที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่ พระองค์ทรงนำมาเล่าให้พระสงฆ์ฟังในโอกาสต่าง ๆ เพื่อแสดงหลักธรรมสุภาษิตที่พระองค์ทรงประสงค์ เรียกเรื่องในอดีตของพระองค์นี้ว่า ชาดก ชาดกเป็นเรื่องเล่าคล้ายนิทาน บางครั้งจึงเรียกว่า นิทานชาดก

ชาดก 500 ชาติ :: สังวรมหาราชชาดก-ชาดกว่าด้วยพระราชาผู้มีศีลาจารวัตรที่ดีงาม

ชาดก 500 ชาติ
สังวรมหาราชชาดก-ชาดกว่าด้วยพระราชาผู้มีศีลาจารวัตรที่ดีงาม

ชาดก 500 ชาติ สังวรมหาราชชาดก-ชาดกว่าด้วยพระราชาผู้มีศีลาจารวัตรที่ดีงาม

       ในกาลสมัยที่พุทธศาสนาเผยแผ่ทั่วชมพูทวีป เหล่าพุทธศาสนิกชนต่างล้วนฟังธรรมประพฤติศีลกันทั่วหน้า ด้วยศรัทธาในพระธรรมและองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งนั้นได้มีกุลบุตรชาวพระนครสาวัตถีผู้หนึ่งเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาก็เกิดความเลื่อมใสจนตัดสินใจออกบวชด้วยหวังตั้งใจดำเนินรอยตามพระศาสดา

        ชายหนุ่มนั้นเมื่อบรรพชาได้อุปสมบทแล้วก็บำเพ็ญอาจาริยวัตรและอุปัชฌายวัตรท่องพระปาฎิโมกข์ทั้งสองจนคล่อง มีพรรษาครบ ๕ เรียนกรรมฐานจึงลาอาจารย์และอุปัชฌาย์เข้าไปอยู่ในป่าด้วยหวังว่าความสงบในป่าใหญ่นั้นจะทำให้บรรลุธรรมได้ เมื่อภิกษุหนุ่มนั้นไปถึงบ้านชายแดนตำบลหนึ่งพวกคนต่างเลื่อมใสในอิริยาบถพากันสร้างบรรณศาลาบำรุงอยู่ในป่า

ชาดก 500 ชาติ สังวรมหาราชชาดก-ชาดกว่าด้วยพระราชาผู้มีศีลาจารวัตรที่ดีงาม

        ครั้นเข้าพรรษาอันปรารภแล้วก็ไม่สามารถให้คุณแม้เพียงโอภาสบังเกิดได้จึงเกิดความท้อแท้ใจ “ อืม ในบุคคล ๔ เหล่าที่พระสาสดาทรงแสดงแล้วเราคงเป็นประเภทปดปรมเสียแน่แล้ว แม้จะเรียนมากศึกษามากเท่าไหร่ก็ไม่อาจที่จะตรัสรู้ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะอยู่ป่าทำไม ไปพระเชตวันคอยดูพระรูปพระโฉมของพระตถาคตเจ้าสดับธรรมเทศนาอับไพเราะยับยั้งอยู่เถอะ ”

      ภิกษุหนุ่มตัดสินใจเช่นนั้นก็ตัดสินใจเดินทางออกจากป่ามุ่งหน้าไปเชตวันมหาวิหาร เมื่อถึงแล้วก็ถูกอาจารย์และอุปัชฌาย์ทั้งภิกษุที่เคยรู้จักมักคุ้นรุมถามถึงเหตุที่บังคับให้มา “ กระผมท้อแท้ใจเหลือเกินครับ แม้ว่าจะตั้งใจศึกษาพระธรรมเพียงไรก็ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ ” “ เอาเถอะท่านอย่าเพิ่งหมดกำลังใจไปเลย ไปเฝ้าพระองค์พระศาสดากับพวกเราเถิด ท่านจะช่วยชี้ทางให้ท่านได้ ”

ชาดก 500 ชาติ สังวรมหาราชชาดก-ชาดกว่าด้วยพระราชาผู้มีศีลาจารวัตรที่ดีงาม

        เหล่าภิกษุทั้งหลายนำตัวภิกษุหนุ่มนั้นไปสู่สำนักพระศาสดา “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้ทอดทิ้งความเพียรมาแล้วพระเจ้าค่ะ พระองค์ได้โปรดชี้ทางให้เขาเถิด ” “ ดูก่อนภิกษุเหตุใดจึงทอดทิ้งความเพียรเสียล่ะ ที่จริงผลอันเลิศในพระศาสนานี้ที่มีนามว่าอรหัตผลย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้เกียจคร้านผู้มีความเพียรอันปรารภแล้วจึงจะชื่นชมอธิคมธรรมได้ ก็แลในปางก่อนเธอก็เป็นคนมีความเพียรทนต่อโอวาทด้วยเหตุนั้นแล แม้เป็นน้องสุดท้องคนที่หนึ่งร้อยของพระเจ้าพาราณสีตั้งอยู่ในโอวาทของบัณฑิตทั้งหลายก็ถึงเศวตฉัตรได้ ” แล้วองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้

        ในอดีตกาล ณ เมืองพาราณสีพระ พระราชาผู้ปกครองเมืองทรงมีพระโอรสทั้งหมด ๑๐๐ พระองค์ แต่ในพระโอรสทั้งหมดนั้นมีพระโอรสสุดท้องสังวรกุมารพระองค์เดียวที่ทรงยึดเหนี่ยวผูกน้ำใจฝูงชน ผู้ถึงพระนครพาราณสีทั่วหน้าทั่วสังคหวัตถุนั้น ๆ ได้ พระองค์เป็นที่รักที่เจริญใจของคนทั้งปวง การต่อมาเมื่อพระเจ้าพาราณสีทรงประชวรหนัก พวกอำมาตย์ต่างวิตกกังวลในเรื่องของรัชทายาทครั้งนั้นจึงได้พากันกราบทูลพระราชา

ชาดก 500 ชาติ สังวรมหาราชชาดก-ชาดกว่าด้วยพระราชาผู้มีศีลาจารวัตรที่ดีงาม

        “ ขอเดชะใต้ฝ่าละอองทุลีพระบาท เมื่อใต้ฝ่าละอองทุลีพระบาทสวรรคตไปพวกข้าพุทธเจ้าจักถวายเศวตฉัตรให้แก่ใครพระเจ้าค่ะ พระโอรสของพระองค์ทั้งหมด ๑๐๐ พระองค์ พระองค์ไหนที่มหาราชเจ้าจะทรงแต่งตั้งให้ปกครองเมืองสืบไป ” “ อันโอรสของเราทั้ง ๑๐๐ พระองค์นั้น ทุกคนก็ล้วนเป็นลูกของเราทั้งหมด ทุกคนก็ล้วนเป็นเจ้าของเศวตฉัตรทั้งนั้น แต่ใน ๑๐๐ คนนั้น มีแค่คนเดียวเท่านั้นที่เป็นที่จับใจพวกท่านและเป็นที่รักใคร่ของประชาชนพวกท่านจงให้เศวตฉัตรแก่ผู้นั้นเถิด ” ครั้นองค์มหาราชสวรรคตพวกอำมาตย์นั้นจัดการถวายพระเพลิงพระศพของพระองค์เสด็จประชุมกันในวันที่เจ็ด สรรหาผู้ที่จะมาเป็นมหาราชองค์ต่อไป “ ในพระโอรสทั้งหมด ๑๐๐ พระองค์นั้น มีแต่เจ้าชายสังวรกุมารเท่านั้นที่เป็นที่รักของเหล่าไพร่ฟ้า หรือแม่แต่เหล่าทหาร อำมาตย์หรือผู้รับราชการในวังก็ล้วนรักใคร่นับถือพระองค์ยิ่งกว่าพระโอรสองค์ใด ”

        การหารือในครั้งนั้นเหล่าอำมาตย์ต่างมีความเห็นตรงกันให้พระเจ้าสังวรมหาราชทรงครองราชสมบัติสืบไป โดยมีอำมาตย์บัณฑิตเป็นผู้รับใช้ข้างเคียง นับตั้งแต่นั้นพระเจ้าสังวรมหาราชก็ทรงปกครองบ้านเมืองโดยธรรม ประชาชนไพร่ฟ้าล้วนอยู่ดีมีสุขกันถ้วนหน้าเมื่อพระเจ้าสังวรมหาราชได้พระนครสืบต่อจากพระราชบิดาทำให้เหล่าพระกุมารทั้ง ๙๙ พระองค์นั้นต่างไม่พอใจ เนื่องด้วยตามราชประเพณีพระโอรสองค์ใหญ่ควรที่จะได้เป็นผู้ครองนครต่อจากพระราชาเท่านั้น

ชาดก 500 ชาติ สังวรมหาราชชาดก-ชาดกว่าด้วยพระราชาผู้มีศีลาจารวัตรที่ดีงาม

        “ ท่านพี่ทั้งหลายดูเอาเถิด สังวรนั้นเป็นน้องคนสุดท้องแท้ ๆ กลับได้ครองนครต่อจากเสด็จพ่อ เธอเป็นน้องคนสุดท้องยังไม่ควรต่อเศวตฉัตรของพระบิดา ” “ นั้นสิ เหตุใดเหล่าอำมาตย์ถึงได้แต่งตั้งพระเชษฐาอุโบสถกุมารเล่าเพราะพระองค์ทรงเป็นพระเชษฐาของพวกเราทั้งหมด ” “ ใช่ หรือทว่าพวกเขาเห็นพระเชษฐาของพวกเรานั้นไม่คู่ควร ก็ควรจะยกราชสมบัติเหล่านั้นให้กับเราซึ่งเราเป็นโอรสองค์ถัดมา หากพวกน้องเห็นตรงกันอย่างนี้เราจะส่งสาสน์ไปยังสังวรกุมารให้ยกเศวตฉัตรนั้นคืนให้กับพวกเรา ถ้าไม่อย่างนั้นพวกเราทั้งหมด ๙๙ คนก็จะขอทำสงครามรบเพื่อแย่งชิงราชสมบัติเหล่านั้นคืนด้วยตัวเอง ”

        เหล่าพระกุมาร ๙๙ พระองค์ร่วมกันส่งหนังสือถึงพระเจ้าสังวรมหาราชมีใจความให้ยกฉัตรแก่พวกเขา หากไม่อย่างนั้นแล้วทุกพระองค์จะพากันยกทัพมาล้อมพระนครไว้ พระเจ้าสังวรเมื่อได้รับสาสน์นั้นก็วิตกกังวล เรียกอำมาตย์บัณฑิตมาปรึกษาหารือหาทางแก้ไข “ ท่านอำมาตย์ เราจะทำอย่างไรดีล่ะ เจ้าพี่ทั้งหมดไม่พอใจที่เราได้ครองนครแทนพระบิดาพวกพี่เขาจะยกทัพมาหากเราไม่ยอมสละราชสมบัติให้ อันสมบัติเหล่านี้เราไม่ต้องการครอบครองแต่เพียงคนเดียวหรอก แต่บ้านเมืองจะมีผู้ปกครองทั้ง ๑๐๐ พระองค์ได้อย่างไรกันเล่า ”

ชาดก 500 ชาติ สังวรมหาราชชาดก-ชาดกว่าด้วยพระราชาผู้มีศีลาจารวัตรที่ดีงาม

        “ ทางแก้ไขนั้นก็พอมีอยู่พระเจ้าค่ะ แต่หากพระองค์เองจะยอมทำหรือไม่ ” “ ท่านบอกมาเถิดทางแก้ไขนั้นคืออะไร เรายอมทำหากสิ่งนั้นจะทำให้พวกพี่พอใจได้ เราไม่อยากให้เกิดสงคราม ไม่อยากให้บ้านเมืองร้อนเป็นไฟ ” “ ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระนครไม่อาจมีผู้ปกครองทั้ง ๑๐๐ พระองค์ได้ แต่พระราชทรัพย์ส่วนอื่นก็ทรงแบ่งให้ได้ไม่ใช่รึพระเจ้าค่ะ ” “ ใช่สินะ ถ้าเช่นนั้นเราจะแบ่งพระราชทรัพย์ของพระบิดาออกเป็น ๙๙ ส่วน ส่งถวายแด่พระพี่ทั้งหมด ๙๙ พระองค์ ท่านช่วยส่งสาสน์ให้เจ้าพี่เราทั้งหมดด้วยนะ ว่าเราไม่ต้องการรบกับเจ้าพี่ ขอเชิญเจ้าพี่ทั้งหลายรับส่วนพระราชทรัพย์ของพระราชบิดาของเจ้าพี่นี่เถิด ”

        ครั้งนั้นเมื่อราชกุมารทั้ง ๙๙ องค์ได้รับสาสน์จากพระเจ้าสังวรมหาราชแล้วครั้งนั้นเจ้าพี่องค์ใหญ่พระนามว่าอุโบสถกุมารเมื่ออ่านพระราชสาสน์แล้วก็ทรงคิดได้ตรัสเรียกพระเจ้าน้องที่ทั้งหมดหารือ “ น้องเอ๋ย สังวรเจ้าน้องของพวกเราองค์นี้ มิได้ตั้งตน แม้แต่จะตั้งตนเป็นศัตรู กลับส่งพระราชสมบัติของบิดาให้พวกเรา ส่งสาสน์มาด้วยว่าไม่ขอสู้รบกับพวกเรา ” “ แล้วพี่ ๆ เห็นว่าอย่างไรในเมื่อสังวรน้องของเราเขาก็ไม่คิดที่จะครองราชย์สมบัติแต่เพียงผู้เดียวเหมือนอย่างที่เราคิดกันไว้แต่แรก ”

ชาดก 500 ชาติ สังวรมหาราชชาดก-ชาดกว่าด้วยพระราชาผู้มีศีลาจารวัตรที่ดีงาม

        “ พี่เองก็ไม่อยากทำสงครามกับผู้เป็นน้องของเราเช่นกัน ” “ นั้นสินะ สังวรเองก็เป็นที่รักใคร่ของเหล่าประชาทั่วไป เหล่าอำมาตย์ยกให้เป็นมหาราชก็เหมาะสมดีแล้ว ” “ ใช่แล้วหล่ะน้องเอ๋ย เศวตฉัตรของพระบิดานั้น ครั้นจะยกให้กับพระโอรสทุกพระองค์ก็คงเป็นไปไม่ได้ สังวรน้องของพวกเรานั้นเหมาะสมแล้วที่จะได้ปกครองพระนครต่อจากเสด็จพ่อ เจ้าน้องนี้เป็นผู้ปกครองโดยธรรม เมื่อได้ปกครองนครแล้วก็ก่อให้เกิดความสงบสุขถ้วนหน้าเธอทั้งหลายพวกเราพากันพบเธอแล้วมอบราชทรัพย์แล้วพากันไปสู่ชนบทของพวกเราดังเดิมเถิด ”

       “ อืม น้องเห็นด้วยกับพระพี่ใหญ่ น้องเองจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้ต้องการทรัพย์สมบัติแต่อย่างใด อันชนบทที่เสด็จพ่อประทานให้ปกครองก็สร้างความสุขให้กับน้องแล้ว ” “ น้องเองก็เช่นกัน อันสงครามหากเกิดจากผู้เป็นพี่น้องกันแล้วบ้านเมืองก็คงจะหาความสงบสุขไม่ได้ ” “ ถ้าอย่างนั้นพวกเราก็จงเร่งรีบไปหาเจ้าน้องกันเถิด จะได้บอกกับสังวรว่าเราเองก็ไม่ได้ต้องการราชทรัพย์อันใด ” ครั้งนั้นพระกุมารทั้งหมดนั้นก็ให้เปิดประตูเมือง มิได้ตั้งตนเป็นศัตรูพากันเข้าสู่พระนคร ทางด้านพระเจ้าสังวรพระมหาราชนั้นก็ตรัสสั่งให้พวกอำมาตย์คุมสักการะเพื่อถวายพระกุมารเหล่านั้นเช่นกัน

        มิทันที่เหล่ากุมารจะมาทูลไม่ขอรับทรัพย์ ขบวนราชทรัพย์เหล่านั้นก็เดินทางมาถึงยังชนบทของเหล่ากุมารแล้ว เหล่าพระกุมารทรงพระดำเนินมาด้วยเหล่าบริวารอันมากขึ้นสู่พระราชวังแสดงอาการนอบน้อมแด่พระเจ้าสังวรมหาราช พากันประทับนั่งเหนืออาสนะต่ำ พระเจ้าสังวรมหาราชเองเมื่อเห็นเจ้าพี่ทั้งหมดมาเยือนอย่างเป็นมิตรก็ทรงยินดีตอบรับการเสด็จมาอย่างยินดี  “ เหล่าพระเชษฐาคงได้รับสาส์นของน้องแล้ว เห็นเป็นอย่างไรบ้าง น้องเองไม่คิดจะครอบครองสมบัติเหล่านี้แต่เพียงผู้เดียวหรอก น้องยินดีที่จะแบ่งราชทรัพย์เหล่านั้นให้พวกพี่ทุกพระองค์ พวกพี่อย่าได้อคติกับน้องเลย ”

ชาดก 500 ชาติ สังวรมหาราชชาดก-ชาดกว่าด้วยพระราชาผู้มีศีลาจารวัตรที่ดีงาม

       พระอุโบสถกุมารทอดพระเนตรเห็นสิริสมบัติของพระเจ้าสังวรมหาราช เมื่อประทับนั่งเหนือสีหสนะภายใต้เศวตฉัตรพระยศใหญ่ พระสิริโสภาคอันใหญ่ได้ปรากฏแล้วก็ทรงยินดีที่เหล่าอำมาตย์ได้เลือกพระโอรสที่มาครองราชย์ถูกพระองค์ “ ข้าแต่มหาราชอันที่จริงนั้นพระราชบิดาของพวกเราทรงทราบความที่สังวรกุมารจะได้เป็นพระราชาอยู่แล้วก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคตได้ประทานชนบทอื่น ๆ แก่พวกพี่แล้ว ซึ่งพระองค์มิได้ประทานชนบทนั้นแก่ท่านเลย ข้าแต่มหาราชท่านเป็นผู้ที่เหมาะสมแล้วที่จะได้ครองพระนคร เสด็จพ่อก็เห็นว่ามีแต่ท่านนี่แหละที่จะครองพระนครสืบต่อจากพระองค์ได้

       แม้แต่เหล่าอำมาตย์ขุนนางหรือไพร่ฟ้าประชาชนเองก็ตาม เขาเหล่านี้ต่างเทิดทูนท่านให้เป็นพระราชา ข้าแต่พระเจ้าสังวรราชด้วยพระศีลลาจารวัตรขอไหนพระองค์จึงสถิตอยู่เหนือพระเชษฐภาดา เหนือพระเชษฐภาดาผู้ทรงร่วมกำเนิดได้ ด้วยพระศีลลาจารวัตรข้อไหนหมู่พระญาติที่ประชุมกันแล้วจึงไม่ย่ำยีพระองค์ได้ ” “ ข้าแต่พระราชบุตรหม่อมฉันไม่ริษยาสมณะทั้งหลายผู้แสวงคุณอันใหญ่หลวง หม่อมฉันนอบน้อมท่านเหล่านั้นด้วยความเคารพไหว้เท้าของท่านผู้คงที่ สมณะเหล่านั้นยินดีแล้วในคุณธรรมของท่านผู้แสวงหาคุณ ย่อมพร่ำสอนหม่อมฉันผู้ประกอบในคุณธรรม ผู้พอใจฟังไม่มีความริษยา หม่อมฉันได้ฟังคำของสมณะผู้ทรงแสวงหาคุณอันใหญ่หลวงเหล่านั้นแล้ว มิได้ดูหมิ่นสักหน่อยหนึ่งเลย ใจของหม่อมฉันยินดีแล้วในธรรม กองพลช้าง กองพลม้า และกองพลรถ และกองพลเดินเท้าหม่อมฉันไม่ตัดเบี้ยเลี้ยงบำเหน็จบำนาญของจตุรงคเสนาเหล่านั้นให้ลดน้อยลงอำมาตย์ผู้ใหญ่และราชการผู้มีปรีชาของหม่อมฉันมีอยู่ช่วยกันบำรุงพระนครพาราณสีให้มีเนื้อมาก มีน้ำดี อนึ่งพวกพ่อค้าผู้มั่งคั่งมาแล้วจากรัฐต่าง ๆ หม่อมฉันช่วยจัดอารักขาให้พ่อค้าเหล่านั้น ขอได้โปรดทราบอย่างนี้เถิดเจ้าพี่อุโบสถ ”

ชาดก 500 ชาติ สังวรมหาราชชาดก-ชาดกว่าด้วยพระราชาผู้มีศีลาจารวัตรที่ดีงาม

        “ ข้าแต่พระเจ้าสังวราชด้วยพระองค์ทรงครอบครองราชสมบัติแห่งหมู่พระญาติโดยธรรม พระองค์เป็นผู้มีพระปรีชาด้วยเป็นบัณฑิต ด้วยทั้งทรงเกื้อกูลพระประยูรญาติด้วย ศัตรูทั้งหลายย่อมไม่เบียดเบียนพระองค์ผู้แวดล้อมไปด้วยพระประยูรญาติ มองมูลด้วยรัตนต่าง ๆ เหมือนจอมอสูรไม่เบียดเบียนพระอินทร์ ”

        พระเจ้าสังวรมหาราชทรงประทานยศใหญ่แด่พระเจ้าพี่ทุกพระองค์ หลังจากนั้นเหล่าพระกุมารทุกพระองค์ก็ไม่ทรงคิดอคติต่อพระเจ้าสังวรพระมหาราชอีกเลย ทุกพระองค์ล้วนยอมรับจักเทิดทูนพระองค์ทรงครองราชโดยธรรม พระเจ้าพี่เหล่านั้นประทับอยู่ในสำนักของพระองค์ตลอดกึ่งเดือนก็ทูลลากลับชนบท “ ข้าแต่มหาราช บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่พวกหม่อมฉันจะขอลากลับไปที่ชนบท พวกหม่อมฉันจะขอระวังพวกโจรที่จะเกิดขึ้นในชนบททั้งหลาย จงเสวยสุขในราชสมบัติเถิด ” จากนั้นเหล่ากุมารทั้ง ๙๙ พระองค์ก็เสด็จไปสู่ชนบทของตน พระเจ้าสังวรมหาราชทรงดำรงในโอวาทของอำมาตย์บัณฑิตในที่สุดแห่งพระชนม์มายุได้ไปเพิ่มเทพนครให้เต็ม

ชาดก 500 ชาติ สังวรมหาราชชาดก-ชาดกว่าด้วยพระราชาผู้มีศีลาจารวัตรที่ดีงาม

      “ ดูก่อนภิกษุ ครั้งก่อนเธอทนต่อโอวาทเช่นนี้ บัดนี้เหตุไรไม่กระทำความเพียร ” ภิกษุนั้นดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ทรงประชุมชาดก

 
สังวรกุมารผู้เป็นพระราชาในครั้งนั้นได้มาเป็น ภิกษุนี้
อุโบสถกุมาร ได้มาเป็น สารีบุตร
เจ้าพี่ที่เหลือ ได้เป็น เถรานุเถระ
และบริษัท ได้มาเป็น พุทธบริษัท
ส่วนอำมาตย์บัณฑิตผู้ถวายโอวาท เสวยพระชาติเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

* * ชาดก 500 ชาติ แนะนำ * *

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล