วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ "มหาปูชนียาจารย์ แห่งวิชชาธรรมกาย"

 



            อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันคล้ายวันเกิด ของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ไปค้นวิชชาธรรมกายย้อนกลับมาให้พวกเรา หลังจากที่ขาด การถ่ายทอดอย่างเป็นระบบมานับพันปีถ้าเรามองวันเกิดของท่าน เป็นเหมือนวันเกิด ของคนทั่วไป วันนั้นก็คงจะไม่มีอะไรเป็นพิเศษ

            แต่ถ้ามองว่าเป็นวันเกิด ของท่านผู้ที่ไปค้นวิชชา สำหรับมาแก้ไขสัตวโลก ตลอดแสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล ให้พ้นจากความเป็นบ่าว เป็นทาสของพญามาร ก็ต้องถือว่า เป็นวันที่ไม่มีใครจะคาดเดา หรือทราบล่วงหน้าได้ว่า บุคคลผู้เป็นมงคลแก่โลกอย่างยิ่ง ได้มาอุบัติขึ้นในแผ่นดินไทยของเราแล้ว

            เนื่องจากพวกเราที่เข้าวัดปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ไม่ว่าจะมีความรู้ทางโลก มีความรู้ทางธรรมมากมายเพียงใด ก็คงจะทราบกันดีว่า เมื่อได้ลงมือศึกษาพระไตรปิฎกจะพบว่า แม้ศึกษาจนกระทั่งแตกฉาน แต่การจะนำความรู้ที่ได้มาใช้ในภาคปฏิบัติ ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย

            เพราะว่าคำพูดแต่ละคำที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกนั้น ล้วนเป็นถ้อยคำที่ลึกซึ้ง มีความหมายได้หลายนัย หากเอาความรู้ของเราที่มีอยู่ไปวินิจฉัย แล้วนำมาปฏิบัติ ก็ยากที่จะบังเกิดผลได้

            ยกตัวอย่าง พระองคุลีมาล ก่อนที่จะมาบวชเป็นพระภิกษุ ท่านเคยเป็นนักศึกษาหนุ่ม ที่มีความเฉลียวฉลาดมาก จนกระทั่งเพื่อน ๆ ร่วมสำนักพากันอิจฉา แต่ว่าเมื่อถึงคราวท่าน จะได้รับรสพระธรรมครั้งแรก แค่คำสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า " หยุด " เพียงคำเดียว ท่านยังไม่เข้าใจเลย

            คำว่า "หยุด" ที่ท่านคุ้นนั้น เป็นคำที่ใช้กันในทางโลก ซึ่งหมายถึงหยุดการเคลื่อนไหวทางกายบ้าง หยุดการเคลื่อนไหวทางวาจาบ้าง แต่คำว่า "หยุด" ในที่นี้ หมายถึงหยุดทำความชั่ว แต่ว่าก็ไม่ได้ห้ามให้หยุดทำความดี

            คำว่า "หยุด" ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงคำเดียว ทำให้โจรองคุลีมาลที่เคยฆ่าคนมาถึง ๙๙๙ คน ได้คิด โยนดาบทิ้ง แล้วออกบวช เป็นพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนา จนกระทั่งต่อมา ได้เป็นพระอรหันต์ ให้พวกเราได้กราบไหว้กัน

            ยิ่งกว่านั้น คำว่า "หยุด" ในภาคปฏิบัติ ยังมีความหมายที่ลึกซึ้งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเจริญสมาธิภาวนานั้น หมายถึง การทำใจให้หยุด ให้นิ่ง และไม่ใช่หยุดนิ่ง อยู่ที่อื่นด้วย ต้องหยุดนิ่ง อยู่ในศูนย์กลางกายเท่านั้น

            เมื่อหลวงพ่อเข้าวัดปากน้ำ ภาษีเจริญใหม่ ๆ ได้มีโอกาสซักถามพระภิกษุรุ่นเก่า ๆ ที่เคยฝึกสมาธิอยู่กับพระเดชพระคุณหลวงปู่ ว่าการฝึกสมาธิของหลวงปู่ในครั้งต้น ๆ นั้น ท่านทำอย่างไร

            ก็ได้รับคำตอบว่า แต่เดิมท่านก็ฝึกสมาธิด้วยวิธีกำหนดลมหายใจ จนกระทั่งเกิดเป็นดวงสว่างขึ้นมา ลอยอยู่ข้างหน้าบ้าง หรือบางทีก็เริ่มเข้ามาอยู่ในตัวบ้าง

            จากนั้นท่านก็ตั้งใจฝึกอย่างไม่ลดละ จนกระทั่งเกิดความชำนาญในระดับหนึ่ง ท่านได้ทดลองเลื่อนเอาดวงสว่างที่ได้ไปตามฐานต่าง ๆ ปรากฏว่า ดวงสว่างนั้นสว่างขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเลื่อนขึ้นมาไว้ตรงฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ดวงสว่างนั้นสว่างที่สุดเลย

            ท่านทำซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่อย่างนั้น ในที่สุดก็พบว่า ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นั่นแหละ สำคัญนักทีเดียว วางใจถูกส่วนเข้าเมื่อไหร่ล่ะก็ สว่างกว่าเอาตะวันเที่ยงมาเรียงเป็นดวงๆ เต็มท้องฟ้า...

            ต่อมาในภายหลัง พระเดชพระคุณหลวงปู่ ยังขยายความ ให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า "หยุด" คำเดียวนี้แหละ หยุดในหยุด ๆ เข้าไปล่ะก็ จะทำให้เข้าถึง "ธรรมกาย" ในตัว แล้วอาศัยธรรมกายนี้ ไปพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เข้านิพพานไปแล้ว นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วนทีเดียว

            เพราะฉะนั้น พวกเราที่อ่าน ตำรับตำรา ในพระพุทธศาสนา จนเกิดศรัทธา แต่ว่าเมื่อนำไปปฏิบัติแล้ว ไม่ค่อยจะออกผล ก็เพราะความลึกซึ้งของ ภาษาทางธรรม เป็นอย่างนี้นี่เอง


            ด้วยเหตุนี้ การที่ใครคนใดคนหนึ่ง จะศึกษาธรรมะให้ได้อย่างลึกซึ้งและชัดเจน จนกระทั่งสามารถนำไปปฏิบัติให้ออกผลได้จริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า ก่อนอื่นต้องหา "ครูดี" ให้เจอ

            เพราะว่าถ้ายังหาครูดีไม่เจอ เมื่ออ่านธรรมะแล้ว ธรรมะนั้นจะผ่านตาแต่ไม่ผ่านใจ หรือว่าผ่านใจเหมือนกันแต่ความหมายอาจผิดเพี้ยน หรือว่ามีความลึกซึ้งไม่เพียงพอที่จะนำไปปฏิบัติ จนอาจจะทำให้ต้องเดือดร้อน เหมือนอย่างกับองคุลีมาลในครั้งแรกที่ยังไม่เจอครูดีก็ได้

            หลวงพ่อเองค้นพระไตรปิฎก ค้นตำรับตำราต่าง ๆ มามากมาย ไม่เคยพบหลักฐานปรากฏไว้เลยว่า มีพระอาจารย์เจ้าท่านใดในยุคตั้งแต่หลังพุทธกาล จนกระทั่งมาถึงยุคปัจจุบันนี้ ที่ได้บันทึกวิธีปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงธรรมกายเอาไว้

            มีแต่เพียงคำว่า "ธรรมกาย" ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเท่านั้น ไม่ได้บอกว่าธรรมกายคืออะไร รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร หมายถึงอะไร จึงไม่มีใครรู้ว่า "ธรรมกาย" นี้เองเป็นเงื่อนงำสำคัญ ที่จะทำให้บุคคลบรรลุธรรมตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

            นอกจากจะค้นวิชชาธรรมกายกลับมาได้แล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ ยังเมตตานำวิชชาธรรมกาย ไปสอนผู้อื่น เพื่อให้มนุษย์ในยุคนั้น ได้รู้จักวิชชาธรรมกายตามท่านอีกด้วย

            เพราะฉะนั้น การที่พวกเราได้มารู้จักคำว่า "ธรรมกาย" รู้จักวิธีที่จะทำให้ถึงธรรมกายในตัว รู้จักเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต ทั้ง ๆ ที่ยังปฏิบัติไปไม่ถึง จนทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ที่จะทุ่มเทในการปฏิบัติธรรมกันอย่างนี้ พวกเราเป็นหนี้พระคุณของท่านอย่างยิ่งทีเดียว

            พระเดชพระคุณหลวงปู่ของเรา เมื่อถึงคราวปฏิบัติธรรม ท่านก็เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ไปค้นเอาวิชชาธรรมกายย้อนกลับมาให้พวกเรา... ถึงคราวอบรมลูกศิษย์ลูกหา ท่านก็ได้วางกฎ วางระเบียบ เอาไว้ เป็นขั้น เป็นตอน อย่างละเอียดชัดเจน

            และเนื่องจากการปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงธรรมกายในตัวนี้ ไม่ใช่ทำปุ๊บได้ปั๊บง่ายๆ ท่านจึงได้เคี่ยวเข็ญลูกศิษย์ ขนาบแล้วขนาบอีก อย่างไม่ยั้งอีกเหมือนกัน ใครที่ปฏิบัติได้จริง ท่านก็เอามาใช้งาน และเป็นพยานให้กับพระพุทธศาสนาไปด้วยในตัว

            ส่วนญาติโยมที่มาทำบุญก็พากันปลื้มอกปลื้มใจ ว่าได้ทำบุญถูกเนื้อนาบุญ เพราะบุญที่เกิดขึ้นสามารถวัดได้ทีเดียว ว่ามีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าไหร่

            ยังไม่พอ นอกจากจะทุ่มเทอบรมลูกศิษย์ลูกหา ทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ภายในประเทศแล้ว ท่านยังทุ่มเทเผยแผ่ไปสู่ต่างประเทศ จนกระทั่งมีชาวต่างชาติ เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เป็นครั้งแรกของประเทศไทยอีกด้วย

            ที่สำคัญ ก่อนจะลาโลกท่านได้สั่งเอาไว้ว่า ชาวโลกที่บารมีแก่กล้า พอที่จะเข้าถึงธรรมกายในตัว ยังมีอยู่อีกมาก แต่ว่าได้กระจัดกระจายไปทั่วโลก ซึ่งถ้าไม่มีใครไปสอนวิชชาธรรมกายให้ เขาก็จะไม่รู้บุญ รู้บาป เดี๋ยวจับพลัดจับผลูจะตกนรกไปเสียอีก

            เพราะฉะนั้น แม้ท่านจะละโลกไปแล้ว ก็ขอให้ลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย ตั้งใจนำวิชชาธรรมกายเผยแผ่ไปทั่วโลกให้ได้

            ด้วยคำสั่งนี้เอง ที่ทำให้ไม่เฉพาะลูกศิษย์ที่อยู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เท่านั้น แม้ลูกศิษย์ที่อยู่ตามวัดต่าง ๆ เช่น ที่วัดพระธรรมกายของเรา ก็รับคำสั่งนั้นมาเช่นเดียวกัน
แล้วก็ตั้งใจที่จะเผยแผ่วิชชาธรรมกาย ไปให้ชาวโลกได้รับรู้รับทราบ จะได้ร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติธรรม ตามคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อที่จะได้ ปิดนรก เปิดสวรรค์ ให้กับตัวเอง และช่วยกันทำโลกนี้ให้มีแต่ความสงบร่มเย็น

        บัดนี้พระเดชพระคุณหลวงปู่ ได้จากพวกเราไปแล้ว เราเป็นลูกของท่าน จึงมีหน้าที่จะต้องทำตามต้นแบบ ทำตามพ่อทางธรรมของเรา คือ

            ๑. เป็นกัลยาณมิตรให้กับตัวเอง
โดยเคี่ยวเข็ญตัวเองจนกระทั่งเข้าถึงธรรมกาย แตกฉานในวิชชาธรรมกาย ตามอย่างท่านให้ได้

            ๒. บำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตร ให้กับชาวโลก
แต่ว่าถ้าจะรอให้เข้าถึงธรรมกายเสียก่อน แล้วค่อยไปชักชวนผู้อื่นให้เข้าถึงธรรมกายตามเรามาด้วย ก็จะช้าเกินไป ช้าไปทั้งตัวเราเอง ช้าไปทั้งคนรอบข้าง

            เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรให้กับตัวเองอยู่นี้ ก็ไปชักชวนผู้อื่นให้มาประพฤติปฏิบัติธรรม เป็นกัลยาณมิตรให้กับตัวเขาเองไปด้วย อย่างนี้ก็จะช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวของเราดีขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

            เมื่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวดีขึ้นมาแล้ว โอกาสที่เราจะเข้าถึงธรรมะที่ลึกซึ้งยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็ง่ายขึ้น การเผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก ตามที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้สั่งไว้ จะเป็นจริงขึ้นมาได้โดยง่าย ชาวโลกทั้งหลายก็จะได้อยู่กันอย่างสงบสุขเสียที 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๓๖ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล