วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ โชติกเศรษฐี ผู้มีสมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง

โดย : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙



           มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาความเป็นผู้เลิศ ไม่ว่าจะเลิศทางด้านรูปสมบัติทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติ ทั้งที่เป็นของมนุษย์และของทิพย์ การจะได้ความเป็นผู้เลิศนี้มา ก็ต้องอาศัยการประกอบเหตุกันทั้งนั้น คือต้องกล้ารื้อผังจน และต้องกล้ารวย ความตระหนี่ที่มีอยู่ในใจ มากน้อยเพียงใด ต้องขจัดออกไปให้หมด ต้องไม่ห่วง ไม่หวง มีแต่อยากเป็นผู้ให้ ให้โดยไม่รู้สึกเสียดาย ยิ่งให้ก็ยิ่งปลื้มปีติ เพราะหวงคือไล่ ให้คือเรียก เรียกสิริมงคลทั้งหลายมาสู่ตัวของเรา ทานกุศลที่ได้ทำไปแล้ว จะกลายเป็นผังรวย ไปพังทลายผังจน ที่ติดแน่นมาข้ามชาติ ถ้าผังจนถูกรื้อหมด ผังรวยที่ยั่งยืน ก็บังเกิดขึ้น ทั้งหล่อ รวย สวย ฉลาด สมปรารถนา เมื่อเกิดมาก็ได้สมบัติทั้ง ๓ โดยไม่ต้องไปแสวงหา เหมือนชาวโลกทั่วไป เกิดมาเพื่อเสวยสมบัติ ที่เกิดจากผลบุญอย่างเดียว เหมือนดังเรื่องเส้นทางสู่ความเป็น มหาเศรษฐีผู้มีสมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่องของท่านโชติกเศรษฐีี            
           ในยุคที่พระวิปัสสีสัมมาพุทธเจ้ากำลังประกาศธรรม ท่านเกิดเป็นกุฎุมพีมีนามว่าอปราชิตะ เกิดความเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนามาก ได้สร้างพระคันธกุฎีถวายพระบรมศาสดา ให้ทำเสา บานประตูและกระเบื้องทั้งหมด ประดับด้วยรัตนะ ๗ ประการ ให้สร้างสระโบกขรณี ๓ สระ สั่งให้ทำน้ำหอม แล้วให้ปลูกดอกไม้ ๕ สี เมื่อสร้างสำเร็จแล้ว ได้กราบทูลพระบรมศาสดา ให้เสด็จเข้าไปพักผ่อนในพระคันธกุฎี อปราชิตะคิดว่า รัตนชาติที่เรามีอยู่นี้ ถ้าเก็บไว้ในคลังหรือมัวฝังไว้ในหลุม ก็ไม่มีใครได้ชมเชย ไม่เกิดประโยชน์กับใครเลย พอมีแล้วก็เป็นห่วง บางทีอาจเป็นโทษกับตัวเองก็ได้ เพราะฉะนั้นทางที่ดี ควรทำให้เกิดประโยชน์ ต่อพุทธศาสนาและชาวโลก

            ท่านคิดต่อไปว่า พุทธบริษัทที่รวยศรัทธา แต่ขาดทรัพย์ยังมีอยู่มาก ถึงแม้บางคนไม่ได้ศรัทธา แต่ไปวัดฟังธรรม เพราะโลภอยากได้รัตนชาติของเรา หากเขาได้ฟังแล้ว ก็มีโอกาสที่จะได้ศึกษาความจริงของชีวิต เมื่อคิดดังนี้จึงได้ตัดสินใจโปรยรัตนชาติที่หน้าลานพระคันธกุฎี คนที่ยังยากจนอยู่ เมื่อไปฟังธรรมแล้ว ก็หยิบเอารัตนะของ กุฎุมพีคนละกำสองกำ รัตนชาติถูกโปรยลงเพียงคราวเดียว และวันเดียวเท่านั้น ก็หมดไปอย่างรวดเร็ว เขาสั่งให้บริวารนำมาโปรยอีก คราวนี้โปรยสูงถึงเข่า ทำอยู่อย่างนั้นถึง ๓ ครั้ง นอกจากนี้ยังได้ทำกุศโลบาย ที่จะทำให้มหาชนได้บรรลุธรรมกันมากๆ จึงตัดสินใจสละสมบัติประจำตระกูล ด้วยการวางแก้วมณี ประมาณเท่าผลแตงโม แทบบาทของพระบรมศาสดา มหาชนได้เห็นแก้วมณีซึ่งเปล่งแสงสว่างไสว ขลับกับรัศมีที่เปล่งจาก พระพุทธสรีรกาย จึงชุ่มฉ่ำทั้งดวงตา และดวงใจ ดวงตาภายนอกก็ได้เห็นสิ่งอันเป็นสิริมงคล ดวงตาภายในเกิดธรรมจักขุ ได้บรรลุมรรคผลนิพพานกันถ้วนหน้า

           วันหนึ่ง พราหมณ์มิจฉาทิฏฐิคนหนึ่ง ได้แอบไปลักแก้วมณีดวงนั้น ท่านเศรษฐีจึงกราบทูล ความในใจแด่พระพุทธองค์ว่า " พระพุทธเจ้าข้า รัตนะ ๗ ประการที่ข้าพระองค์โปรยล้อมรอบพระคันธกุฎี ๓ ครั้ง สูงถึงหัวเข่า ใครมารับไป ข้าพระองค์ก็ปลื้มปีติทุกครั้ง แต่วันนี้ ข้าพระองค์ไม่รู้สึกปลื้ม ในการกระทำของพราหมณ์เลย พระเจ้าข้า" พระบรมศาสดาตรัสให้กำลังใจว่า " อุบาสก ช่างเถิด สิ่งใดที่คนอื่นนำไปแล้ว ก็จงเป็นอันนำไปด้วยดีเถิด ธรรมดาบัณฑิตควรทำความยินดีในทาน ทั้ง ๓ ขณะ จึงจะถูกต้อง การสละวัตถุภายนอกออกจากใจแล้ว มารู้สึกเสียดายภายหลัง ไม่ใช่วิสัยของสัตบุรุษ"

            กุฎุมพีได้ฟังดังนั้น จึงทำความปรารถนาเอาไว้ว่า "พระเจ้าข้า พระราชาหรือโจรแม้หลายร้อย ชื่อว่าสามารถเพื่อจะข่มเหงข้าพระองค์ ถือเอาเข็มเล่มเดียวของข้าพระองค์ จงอย่ามี และภัยใดๆ อย่าได้มาบีบคั้นตัดรอนชีวิต และทรัพย์สินของข้าพเจ้าได้" เมื่อถึงเวลาฉลองพระคันธกุฎี กุฎุมพีได้ถวายมหาทานแก่ภิกษุ ๖ ล้าน ๘ แสนรูป ภายในวิหารแห่งนั้นตลอด ๙ เดือน ในวันสุดท้าย ได้ถวายไตรจีวรแก่ภิกษุทุกรูป จากนั้น อปราชิตกุฎุมพีก็สั่งสมบุญทุกอย่าง คอยเป็นกำลังหลักในการสนับสนุน การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไปทั่วโลกจนตลอดอายุ ครั้นละโลกแล้ว ได้ไปบังเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติอันโอฬารเป็นเวลายาวนานมาก

บุญอจินไตยทำให้ได้มหาสมบัติจักรพรรดิ

           ครั้นมาถึงในยุคพุทธกาลนี้ ท่านได้เกิดในตระกูลเศรษฐี ในกรุงราชคฤห์ ในวันที่กุฎุมพีเกิด สรรพอาวุธในพระนคร ทั้งสิ้นรุ่งโรจน์ เปล่งแสงแพรวพราว จึงได้รับการขนานนามว่า "โชติกะ" หนูน้อยโชติกะได้รับการเลี้ยงด ูอย่างดีประหนึ่งเทพกุมาร เมื่อเติบโตเป็นหนุ่มพร้อม ที่จะแต่งงานมีคู่ครอง พระอินทร์ได้เสด็จลงจาก สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทรงนิรมิต เป็นนายช่างไม้ เดินเข้าไปหาพวกนายช่าง ซึ่งกำลังถางป่าเพื่อปลูกสร้างปราสาทให้โชติกะ ทรงบอกพวกช่างไม้ว่า โชติกะเป็นผู้มีบุญมาเกิด ไม่อยู่ในปราสาทที่พวกท่านสร้างขึ้นหรอก ทรงเนรมิตปราสาท ๗ ชั้น สำเร็จด้วยรัตนะ ๗ กำแพงแก้ว ต้นกัลปพฤกษ์ผุดขึ้นรอบกำแพง บนเนื้อที่ประมาณ ๑๖ กรีส หรือประมาณ ๖๒๕ ไร่ ขุมทรัพย์ ๔ ขุม ที่มุมทั้ง ๔ ของปราสาท พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับว่า "ปราสาท ๗ ชั้น ซึ่งสำเร็จด้วยแก้ว ๗ ประการ ผุดขึ้นเพื่อโชติกะ" ทรงส่งฉัตรเศรษฐีไปให้ แล้วทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเศรษฐีประจำกรุงราชคฤห์

            ทางด้านหญิงสาวผู้จะมาเป็น ภรรยาคู่บุญของโชติกะนั้น เป็นนางแก้วซึ่งไปเกิดในอุตตรกุรุทวีป เพราะฉะนั้นเมื่อถึงคราว ที่โชติกะจะต้องแต่งงานมีคู่ครอง พวกเทวดาจึงเหาะไปพา นางมาจากอุตตรกุรุทวีป ให้นั่งในห้องอันเป็นสิริ ตอนที่มาจากอุตตรกุรุทวีป ก็ได้ถือเอาทะนานข้าวสารมาด้วย พร้อมกับแผ่นศิลา ๓ แผ่น โชติกเศรษฐีพร้อมด้วยภรรยา จะอาศัยแสงสว่างจากแก้วมณี จึงไม่ต้องอาศัยแสงสว่าง ของไฟหรือประทีป ทั้งสองภรรยาสามี ผู้มีบุญอาศัยทะนานข้าวสาร กับแผ่นศิลาวิเศษซึ่งถือว่าเป็นเครื่องครัวที่รู้ใจ และอาศัยแก้วมณี ที่นำความปรารถนาสำเร็จ มาให้ทุกอย่าง ทำให้ได้รับความสะดวกสบาย บนปราสาทแก้ว ประดุจอยู่บนสรวงสวรรค์

            สมบัติของโชติกเศรษฐีเลื่องลือ ไปทั่วชมพูทวีป มหาชนจึงชักชวนกันเทียมเกวียนบ้าง เทียมม้าบ้าง เพื่อต้องการมาดูสมบัติของผู้มีบุญ โชติกเศรษฐีได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าของบ้านที่ดี ให้การต้อนรับ ทำชมพูทวีปให้ได้รับความสุขถ้วนหน้า โดยสั่งให้เปิดปากขุมทรัพย์ใต้ดิน ที่มีประมาณคาวุตหนึ่งหรือประมาณ ๔ กิโลเมตร แล้วกล่าวว่า " มหาชนจงถือเอาทรัพย์ ตามที่ตนเองคิดว่า จะสามารถนำกลับไปตั้งเนื้อตั้งตัวได้ " น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เมื่อผู้คนมากมายที่หลั่งไหล มาจากชมพูทวีป ถือเอาทรัพย์ไปอยู่ ปากขุมทรัพย์มิได้พร่องลงแม้เพียงองคุลีเดียว นี่ก็เป็นเพราะผลแห่งรัตนะ ที่เขาโปรยลงบริเวณพระคันธกุฎีของพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้ได้สมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง


ผู้ละโลกียะมุ่งสู่โลกุตตระ

            ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูได้ยกกองทัพไปยึดรัตนปราสาทของท่าน แต่ก็ยึดไม่ได้ เพราะถูกพวกยักษ์ขับไล่กองทัพให้แตกกระเจิดกระเจิงไปคนละทิศคนละทาง พระราชาได้เสด็จหนีตาย ไปทางวิหารเชตวัน ครั้นเห็นเศรษฐีกำลังนั่งฟังธรรม จึงตรัสในเชิงสัพยอกว่า "คฤหบดี ท่านบังคับพวกบุรุษของท่านให้มารบกับเรา แล้วมาหลบอยู่ที่นี่ นั่งทำเป็นเหมือนฟังธรรม " เศรษฐีทูลถามว่า "ก็สมมติเทพ เสด็จไปเพื่อยึดเอารัตนปราสาทของข้าพระองค์มิใช่หรือ" เมื่อพระราชายอมรับ จึงกราบทูลว่า "ข้าแต่สมมติเทพ แม้พระราชาตั้งพัน ก็ไม่สามารถยึดมหาปราสาทของข้าพระองค์ได้ แม้เพียงเส้นด้ายที่ชายผ้าของข้าพระองค์ก็เอาไปไม่ได้ หากข้าพระองค์ไม่ปรารถนา" ท่านได้ให้พระราชาทดลองมาแย่งเอาแหวน ๒๐ วง ซึ่งสวมอยู่ที่นิ้วมือไป

            พระราชาเป็นผู้มีพละกำลังมาก เพียงประทับนั่งกระโหย่ง ก็สามารถกระโดดขึ้นสูง ๑๘ ศอก เมื่อประทับยืน สามารถกระโดดขึ้นสูงได้ถึง ๘๐ ศอก แต่ก็ไม่สามารถถอดแหวนแม้วงเดียวได้ โชติกเศรษฐีจึงลาดผ้าขาว ทำนิ้วทั้งสิบให้ตรง ทันใดนั้น แหวนทั้ง ๒๐ วง ก็หลุดออกทันที ด้วยความสลดสังเวชใจพระกิริยาของพระราชา ท่านจึงสอนตนเองว่า ทรัพย์เหล่านี้เป็นโลกียะ ไม่ได้นำความสุขที่แท้จริงมาให้ การได้ทรัพย์อันเป็นโลกุตตระประเสริฐกว่า แล้วก็ทูลลาบวช พระเจ้าอชาตศัตรูทรงดำริว่า "ดีเหมือนกัน เมื่อเศรษฐีบวชแล้ว เราจะได้ยึดเอาปราสาทได้สะดวก" จึงทรงอนุญาต เศรษฐีได้อำลาหมู่ญาติและบริวาร บวชในสำนักพระบรมศาสดา ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม ใช้เวลาไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เมื่อได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว สมบัติทั้งหมดก็อันตรธานไป พวกเทพดาจึงนำภรรยาของเศรษฐีกลับไปอุตตรกุรุทวีปดังเดิม

          ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องเส้นทางสู่ ความเป็นมหาเศรษฐีของโชติกะ เราจะเห็นว่า การจะได้ครอบครอง มหาสมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง ต้องรู้หลักวิชชา คือทำบุญถูกเนื้อนาบุญ ต้องสละความตระหนี่ ออกจากใจให้หมดเสียก่อน ความตระหนี่เป็นมลทินอันร้ายกาจ ที่จะทำให้เราพลาดจากสมบัติทุกอย่าง ในภพชาติเบื้องหน้า พลาดจากความรวย สวย ฉลาด สมปรารถนา เมื่อมีทรัพย์แล้ว หากมัวตระหนี่ ทรัพย์นั้นก็เป็นเหมือนบ่อน้ำที่ใสสะอาดเย็นสบาย แต่มีผีเสื้อน้ำคอยหวงแหน ทรัพย์นั้นเรียกว่าทรัพย์ตาย เพราะนำติดตัวไปไม่ได้ ถ้าจะให้ติดตัวไปได้ ต้องเอาชนะความตระหนี่ ด้วยการนำออกให้ทาน ให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเอง และชาวโลก เหมือนแม่น้ำสายใหญ่ มีท่าลงราบเรียบพร้อม ที่จะให้ทุกคนลงมาอาบดื่มกิน ได้อย่างสบาย แม้ขณะนี้เรายังมีทรัพย์น้อย แต่ขอให้หัวใจเกินร้อย คือให้ทุ่มเทเต็มความสามารถ เต็มศรัทธา สั่งสมบุญไว้ในบวรพุทธศาสนา ทั้งทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาจนตลอดชีวิต จะได้เป็นอริยทรัพย์ และก่อตัวเป็นสมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง ที่จะบังเกิดขึ้นในภพชาติเบื้องหน้า ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม



"บัณฑิตพึงครอบงำมลทินใจด้วยการกำจัดความตระหนี่เสีย แล้วมุ่งให้ทานเถิด เพราะบุญเท่านั้นเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งหลาย ในโลกหน้า" พิลารโกสิยชาดก ๒๗/๒๘

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล