วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ พิธีอัญเชิญรูปหล่อทองคำหลวงปู่วัดปากน้ำ ประดิษฐาน ณ มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี

 
 
โดย :อุบลเขียว

เห็น          ใดฤๅมาตรแม้น          ธรรมกาย
จำ         สนิทนิมิตหมาย                  มั่นแท้
คิด         ทำเถิดหญิงชาย                ชูช่วย ตนแฮ
รู้         ยิ่งเบญจขันธ์แท้                  แต่ล้วนอนิจจัง

                 แม้คำว่า โชคดีเหลือเกิน ในวันมหาปีติที่กำลังจะมาถึง ก็ยังนับว่าน้อยไป กับเวลา ๑๒ ปี ช่างคุ้มค่ากับการรอคอย เมื่อภาพประวัติศาสตร์งานบุญครั้งยิ่งใหญ่ ในพิธีอัญเชิญรูปหล่อทองคำ พระมงคลเทพมุนี ยอดมหาปูชนียาจารย์ ประดิษฐาน ณ มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี เป็นการถาวร ได้บังเกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙

                  หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย แม้ท่านจะมรณภาพไปตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ แล้วก็ตาม แต่มรดกธรรมที่ท่านให้ไว้ ยังคงส่องสว่างหนทางชีวิตอันประเสริฐ ให้แก่มวลมนุษยชาติมาตราบเท่าทุกวันนี้ รวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับชีวประวัติ ตลอดจนปฏิปทาในการสร้างบารมีของท่าน ยังคงเป็นที่สนใจของ ผู้ได้ยินได้ฟังจากทั่วทุกมุมโลก

                  เพราะยิ่งฟัง ยิ่งซาบซึ้ง กระแสแห่งบุญอันสว่างไสวบังเกิดขึ้นในใจ ที่สามารถรับรู้และสัมผัสได้ด้วยตัวของเราเอง เหมือนผังสำเร็จที่คอยตอกย้ำเข็มทิศชีวิตที่ถูกต้องดีงาม ตามติดเป็นมหากุศลทุกเวลานาทีที่ระลึกถึง

                  พระมงคลเทพมุนี นามเดิมว่า สด มีแก้วน้อย เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ ตรงกับ วันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ณ หมู่บ้านเหนือ ฝั่งตรงข้ามวัดสองพี่น้อง ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

                  โยมบิดาชื่อเงิน โยมมารดาชื่อสุดใจ ท่านเป็นบุตรชายคนรองในจำนวนพี่น้อง ๕ คน แห่งสกุล "มีแก้วน้อย" ตระกูลของท่านเป็นตระกูลคหบดี ผู้มั่งคั่งในคลองสองพี่น้องมาหลายชั่วอายุคน ทำการค้าข้าวตลอดทั้งอำเภอและพื้นที่ใกล้เคียง

                  จากคำบอกเล่าของ คุณดา มีแก้วน้อย โยมพี่สาว กล่าวถึงหลวงปู่วัดปากน้ำว่า ตอนเล็กๆ ท่านเป็นเด็กฉลาด ใจคอเด็ดเดี่ยวมั่นคง หนักแน่น เมื่อตั้งใจทำสิ่งใดแล้ว ต้องพยายามทำจนสำเร็จ เมื่อไม่สำเร็จเป็นไม่ยอมวางมือเด็ดขาด

                  ท่านช่วยโยมบิดามารดาทำงานตั้งแต่เยาว์วัย จนอายุประมาณ ๙ ปี จึงมีโอกาสเล่าเรียนหนังสือ กับพระภิกษุน้าชายที่วัดสองพี่น้อง ต่อมาได้ศึกษาอักขรสมัยที่วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ในปกครองของพระอาจารย์ทรัพย์ จนมีความรู้ภาษาไทยและภาษาขอมโบราณพอสมควร

                  เมื่อท่านอายุได้ ๑๔ ปี โยมบิดาได้ถึงแก่กรรมลง ท่านจึงควบคุมดูแลการค้าแทน และมีความขยันขันแข็งในการทำงานมาก การค้าจึงมีความเจริญรุ่งเรืองตามลำดับ เป็นที่ปรากฏในยุคนั้นว่า เป็นผู้มีฐานะดีคนหนึ่ง ต่อมามีเหตุให้ต้องสลดสังเวชใจ เพราะการเดินทางค้าขายในยามค่ำคืนนั้น ทั้งคลองก็เล็กโจรก็ร้าย ภัยอันตรายมีรอบด้าน จึงได้เจริญมรณานุสสติ แล้วอธิษฐานจิตในขณะนั้นว่า

                  "ขออย่าให้ข้าพเจ้าตายเสียก่อนเลย ขอให้ได้บวชเสียก่อน เมื่อบวชแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่ลาสิกขา จะขอบวชไปจนตลอดชีวิต"

                  คำอธิษฐานของท่านยังคงฝังแน่นในใจตลอดมา และยึดมั่นไม่เสื่อมคลาย ตั้งใจทำมาค้าขาย จนสามารถเก็บเงินให้โยมมารดาได้อยู่อย่างสุขสบายไปตลอดชีวิต พออายุย่าง ๒๒ ปีจึงตัดสินใจบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดสองพี่น้อง ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ตรงกับเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ พระอาจารย์ดี วัดประตูสาร อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า จนฺทสโร ภิกขุ

                  นับแต่วันแรกที่บวช ท่านได้ตั้งใจศึกษาทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระไม่ได้ขาด จนกระทั่งพรรษาที่ ๑๒ ได้มาจำพรรษาที่วัดโบสถ์ (บน) จังหวัดนนทบุรี เมื่อจำพรรษาไปได้กึ่งพรรษา ก็หวนระลึกขึ้นว่า ความตั้งใจจริงในการบวชตั้งแต่ อายุ ๑๙ ปี บัดนี้บวชมาย่างเข้าพรรษาที่ ๑๒ แล้ว ของจริงของแท้ที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ท่านเห็นนั้น เรายังไม่บรรลุ ยังไม่รู้ไม่เห็น สมควรจะเจริญกรรมมัฏฐานอย่างจริงจังเสียที

                  เมื่อตกลงใจเช่นนั้น ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ท่านเดินเข้าสู่อุโบสถเวลาเย็น ตั้งสัตยาธิษฐานมั่นคงทีเดียวว่า ถ้านั่งลงไปแล้วไม่บรรลุธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงบรรลุจะไม่ยอมลุกขึ้นจากที่จนตลอดชีวิต ขอถวายชีวิตนี้เป็นพุทธบูชา

                  เมื่อท่านตั้งความปรารถนาแล้ว จึงเริ่มนั่งเจริญสมาธิภาวนา เมื่อเวลาล่วงไปๆ ใจจึงหยุดเป็นจุดเดียวกัน มองเห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ปีติสุขเกิดขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ในที่สุดจึงเห็นกายต่างๆ ผุดซ้อนขึ้น จนถึง "ธรรมกาย" ลักษณะ เป็นพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม ใสสว่างเป็นแก้วเป็นเพชร นั่งสมาธิคู้บัลลังก์อยู่ในกลางกายนั้น งามยิ่งกว่าพระพุทธรูปบูชาองค์ใด

                  นับตั้งแต่นั้น ท่านยิ่งปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาให้เชี่ยวชาญแตกฉาน จนกระทั่งได้รับตำแหน่งผู้ปกครองวัดปากน้ำ กระนั้นท่านยังดำเนินการค้นคว้าวิชชาธรรมกายที่ละเอียดยิ่งขึ้นไป และเผยแผ่สั่งสอนไปยังเหล่าพุทธบริษัทอย่าง กว้างขวาง สืบต่อมาเป็นเวลาหลายสิบปี ปรากฏมีผู้ปฏิบัติธรรมจนรู้เห็นตามอย่างท่านเป็นจำนวนมาก ทั้งภายในและต่างประเทศ

                  ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ท่านได้อาพาธเป็นโรคความดันโลหิตสูง และโรคแทรกซ้อน อื่นๆ มีอาการขึ้นๆ ลงๆ เรื่อยมา แต่กำลังใจของ ท่านยังแข็งแกร่ง หลวงปู่ไม่ได้แสดงอาการกังวลใจใดๆ เลย ยังคงต้อนรับแขกด้วยอาการยิ้มแย้มเสมอ

                  แม้เวลาป่วยไข้ หลวงปู่วัดปากน้ำได้ทำ กรรมมัฏฐาน และควบคุมการปฏิบัติธรรม ด้วยตนเองตั้งแต่ต้นจนกระทั่งวาระสุดท้าย ท่านได้สั่ง ลูกศิษย์ไว้ว่า "งานที่เคยทำอย่างไร อย่าทิ้ง จงพยายามกระทำต่อไป ..." และได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ สิริรวมอายุ ๗๔ ปี ๔ เดือน

                  คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง หนึ่งในศิษย์เอกที่หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ถึงกับเอ่ยชมว่า "ลูกจันทร์นี่ เป็นหนึ่งไม่มีสอง" คุณยายอาจารย์มีความมุ่งมั่นที่จะสืบสานมโนปณิธานของหลวงปู่วัดปากน้ำ ด้วยการสืบทอดวิชชาธรรมกายให้ขยายสู่จิตใจชาวโลกทั้งหลาย

                  เมื่อรวบรวมศิษยานุศิษย์ได้เป็นปึกแผ่น และมีสถานที่พร้อมสำหรับรองรับการประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว คุณยายอาจารย์จึงมีดำริที่จะตอบแทนพระคุณของหลวงปู่วัดปากน้ำ ด้วยการหล่อรูปเหมือนของท่านด้วยทองคำ ซึ่งเป็นวัตถุธาตุอันบริสุทธิ์ ควรแก่การสักการบูชา และระลึกถึงมโนปณิธานอันยิ่งใหญ่ที่ท่านได้สละชีวิตเป็นเดิมพัน จนสามารถค้นพบวิชชาธรรมกายที่เลือนหายไปให้กลับคืนมาสู่โลกได้

                  ด้วยพลังศรัทธา และความกตัญญูกตเวทีเหล่าศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ ต่างพร้อมใจกันหล่อรูปเหมือนหลวงปู่วัดปากน้ำ ด้วยทองคำขนาดหนึ่งเท่าครึ่งขององค์จริง เมื่อ วันมาฆบูชา ศุกร์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ณ วัดพระธรรมกาย

                  โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

                  การหล่อรูปเหมือนทองคำของพระมงคลเทพมุนียอดมหาปูชนียาจารย์ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ได้สำเร็จลุล่วง คงเหลือเพียงสถานที่ประดิษฐานรูปหล่อให้เหมาะสม นอกจากจะเป็นสถานที่ประดิษฐานอย่างถาวร คงทนแข็งแรงนานนับพันปีแล้ว ยังต้องเป็นมหานุสรณ์สถาน รวบรวม เรื่องราวชีวประวัติ ตั้งแต่ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย ตลอดจนเป็นสถานที่เก็บเครื่องอัฐบริขาร สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ อันเนื่องด้วยหลวงปู่วัดปากน้ำ ที่ยังหลงเหลืออยู่ โดยขนานนามสถานที่ประดิษฐาน แห่งนี้ว่า "มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)"

                  บัดนี้ การก่อสร้างมหาวิหารพระมงคลเทพมุนี ได้เจริญรุดหน้าไปตามลำดับ นับตั้งแต่

พิธีหล่อรูปเหมือนหลวงปู่วัดปากน้ำ
พิธีตอกเสาเข็มมหาวิหารพระมงคลเทพมุนีเป็นปฐมฤกษ

                  พิธีตอกเสาเข็มมงคลต้นแรก เป็นปฐมฤกษ์ เพื่อสถาปนามหาวิหารพระมงคลเทพมุนี ในวันมาฆบูชา วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ณ วัดพระธรรมกาย

พิธีเทคอนกรีตปิดยอดโดมมหาวิหารพระมงคลเทพมุนี
พิธีอัญเชิญแคลดดิ้งแผ่นสุดท้ายปิดเชิงลาด มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี

                  พิธีตอกเสาเข็มต้นสุดท้าย วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ท่ามกลางเหล่าสาธุชนเรือนแสน ในมือถือรูปพระมงคลเทพมุนีด้วยความเคารพบูชาอย่างสูงยิ่ง ละลานตาไปทั่วพื้นที่

                  พิธีอัญเชิญต้นตอมหาสมบัติ และพิธีชุบตัว ณ สระเศรษฐีทะเลบุญ เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔
ผู้มีบุญได้ปลื้มใจกันอีกครั้ง ในพิธีเทคอนกรีตปิดยอดโดมมหาวิหารพระมงคลเทพมุนี วันศุกร์ ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

พิธีตอกเสาเข็ม มหาวิหารพระมงคลเทพมุนีต้นสุดท้าย
พิธีอัญเชิญต้นตอมหาสมบัติ และพิธีชุบตัว

                  เริ่มต้นวันปีใหม่ด้วยความสว่างไสว ใน พิธีอัญเชิญแคลดดิ้งแผ่นสุดท้าย ปิดเชิงลาด มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี และพิธีกดปุ่ม จุดประทีปบูชามหาวิหาร วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗

พิธีปลูกต้นสนมหามงคล รายรอบมหาวิหาร พระมงคลเทพมุน
พิธีอัญเชิญจักรแก้ว ประดิษฐาน ด้านหน้ามหาวิหาร พระมงคลเทพมุน

                  จากนั้นร่วมกันสถาปนาธรรมอุทยาน ให้ความร่มเย็นแก่ผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรม ใน พิธีปลูกต้นสนมหามงคล รายรอบมหาวิหาร พระมงคลเทพมุนี วันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

                  พิธีอัญเชิญจักรแก้ว ประธานแห่งรัตนะ ๗ ประดิษฐาน ณ บริเวณด้านหน้ามหาวิหาร พระมงคลเทพมุนี ประจักษ์พยานแห่งอานุภาพของพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

รูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี ขนาด ๑ เท่าครึ่งขององค์จริง

                  ท่ามกลางสักขีพยานแห่งมหาสมาคมของเหล่าพุทธบริษัททั่วทุกสารทิศ วันพฤหัสบดีที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ในพิธีอัญเชิญรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ประดิษฐาน ณ มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี เป็นการถาวร นำหน้าด้วยริ้วขบวนอัญเชิญ ประกอบด้วย ธงทิวรัตนะ ๗ ประการ ทิพยสมบัติคู่บุญของพระเจ้าจักรพรรดิ สาธุชนทุกคนพร้อมใจกันถือภาพหลวงปู่วัดปากน้ำ และสายศีลขาวบริสุทธิ์ ก้าวเดินอย่างองอาจ สง่างาม ร่วมอัญเชิญรูปหล่อทองคำ เวียนรอบมหาธรรมกายเจดีย์ ให้มนุษย์และเทวดาทั้งหลายได้ชื่นชมอนุโมทนา

มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

                 เราจะพร้อมใจกันเจริญสมาธิภาวนาทั่วโลก ระลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของยอดมหาปูชนียาจารย์ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย เพราะถ้าหากไม่มีท่านที่สละชีวิตเป็นเดิมพันถึงสองครั้งสองครา เพื่อนำวิชชาธรรมกายอันสูงค่ากลับคืนมาสู่โลก คงไม่มีพวกเราในวันนี้ ที่ได้สร้างบารมีอย่างเต็มที่เต็มกำลัง

                  วันนั้น ตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเข้าถึงธรรมของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (สด จนฺทสโร) ณ วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง จังหวัดนนทบุรี เมื่อ ๘๙ ปีที่แล้ว กำหนดให้เป็น วันครูวิชชาธรรมกาย เพื่อให้เราได้แสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทิตา ต่อท่าน ทั้งอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา และหมั่นตอกย้ำเป้าหมายของการเกิดมา เพื่อเข้าถึงสรณะที่พึ่ง ภายในที่แท้จริง จึงจะสมกับเป็นศิษยานุศิษย์ผู้ดำเนิน รอยตามปฏิปทาของครูบาอาจารย์อย่างแท้จริง

                  หลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรม สาธุชนผู้ร่วมงานทุกท่านจะได้รับ "เหรียญปราบมาร ทองสำเร็จ" สีเรื่อเรืองประดุจทองคำสุกปลั่ง มอบเป็นพระ ของขวัญอันทรงคุณค่า เพื่อตรึกระลึกถึงบุญใหญ่ในวันนี้ ซึ่งเป็นของขวัญพิเศษสุด มอบแด่ผู้มีบุญเท่านั้น

                  ดังที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อ ได้ให้โอวาทไว้ว่า

เหรียญปราบมาร ทองสำเร็จ
พานและธงที่ใช้ในริ้วขบวนรัตนะ ๗

                  "...ของขวัญนี้ ได้ชื่อว่า "สำเร็จ" เพราะเป็น ผังสำเร็จจากพระนิพพาน จะทำความสำเร็จให้บังเกิด ขึ้นแก่ผู้มีบุญ โดยทุ่มเทกำลังบุญบารมี รัศมี กำลังฤทธิ์ อำนาจสิทธิเฉียบขาดทั้งหมดให้อย่างเต็มที่ เชื่อมโยง ระหว่างเรากับพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน จะทำให้เราทำงานได้สำเร็จเป็นอัศจรรย์..."

                  และพระเดชพระคุณหลวงพ่อยังได้เตือนย้ำว่า เมื่อได้รับของขวัญอันศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว ให้หมั่นน้อมนำมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อันเป็นแหล่งรวมกระแสธารแห่งบุญ ความปรารถนาใดที่ชอบประกอบด้วยกุศลจะสำเร็จเป็นอัศจรรย์ อุปสรรคใดๆ จะมลายหายสูญ ยิ่งใจหยุด ใจนิ่ง สว่างไสวมากเท่าใด บุญที่บังเกิดขึ้นก็มากเท่านั้น จึงนับเป็นของขวัญสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ เนื่องในงานบุญใหญ่ครั้งนี้โดยเฉพาะ

                  จึงขอเชิญยอดกัลยาณมิตรทุกท่าน ทั้งภายในและต่างประเทศ ที่ระยะทางไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อหัวใจโชนนิรันดร์ของยอดนักสร้างบารมีพันธุ์หัวใจไม่เกี่ยงทุกท่าน ร่วมกันอัญเชิญประติมากรรมอันทรงคุณค่า ชี้นำชาวโลกให้หัน มาศึกษาเป้าหมายชีวิตที่แท้จริง ธรรมะของพระบรมศาสดาแผ่ไพศาลไปถึงที่ใด ย่อมแผ่ขยายความสุขความสำเร็จไปยังที่นั้น การอัญเชิญ รูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนีครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ชีวิต จะกลายเป็นภาพเหตุการณ์ครั้งสำคัญ ที่จะประทับอยู่ในดวงใจของพวกเราทุกคน ตราบนานเท่านาน

 
 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 47 กันยายน ปี 2549

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล