วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หลวงพ่อตอบปัญหา ทำอย่างไรลูกจ้างกับนายจ้างจึงจะทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข

 


ทำอย่างไรลูกจ้างกับนายจ้างจึงจะทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข

 

 

 

           หลวงพ่อครับปกติลูกจ้างกับนายจ้างมักจะมีเรื่องกระทบกระทั่งและขัดแย้งกันอยู่บ่อยๆ บางครั้งรุนแรงถึงขั้นเดินขบวนก็มีทำอย่างไรลูกจ้างกับนายจ้างจึงจะอยู่ร่วมกัน ด้วยความพอใจทั้ง ๒ ฝ่ายครับ?            

 

 

 

 

          ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ที่ว่าจะให้ทำงานด้วยกันอย่างราบรื่น โดยไม่มีเรื่องกระทบกระทั่งกันนั้น ขอบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะอย่าว่าแต่ลูกจ้างกับนายจ้างเลย แม้สามีกับภรรยาอยู่กินด้วยกันมาตั้งแต่หนุ่มแต่สาว ตอนนี้อายุตั้ง ๕๐-๖๐ ปีแล้ว ก็ยังมีเรื่องให้ต้องกระทบกระทั่งกัน หรืออย่างลิ้นกับฟัน อยู่ในปากของเราเองแท้ๆ ยังไม่วายกระทบกัน เพราะฉะนั้นจำไว้เถอะว่า ของตั้งแต่ ๒ สิ่งขึ้นไป หากมาอยู่ในที่เดียวกัน ย่อมเกิดการกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา เพียงแต่ว่าทำอย่างไรการกระทบกระทั่งนั้น จึงจะไม่รุนแรงจนเกินไป


วิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดการกระทบกระทั่งกัน
   ในเมื่อมนุษย์ยังมีกิเลสอยู่ด้วยกันทุกคน การกระทบกระทั่งกันจึงเป็นเรื่องปกติ ส่วนวิธีง่ายๆ ที่จะไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกันอย่างรุนแรง ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างก็คือ เวลาเกิดการกระทบกระทั่งกัน ทั้ง ๒ ฝ่ายต้องทำใจให้ได้ดังต่อไปนี้

          ประการที่๑ ให้นึกว่าการกระทบกระทั่งกันเป็นเรื่องธรรมดา และเป็นเรื่องที่จะต้องช่วยกันแก้ไข
          ประการที่๒ อย่ามัวแต่หาว่าใครเป็นฝ่ายผิด เหมือนอย่างกับการที่จะไปหาว่าลิ้นผิด หรือว่าฟันผิด ที่มากระทบกัน
          ประการที่๓ ให้พิจารณาว่าตัวของเราเอง ก็มีส่วนก่อให้เกิดความผิดพลาดในครั้งนี้เช่นกัน

      พูดง่ายๆ อย่ามัวไปหาว่าใครเป็นผู้ผิด แต่ให้หาว่าความผิดพลาดในครั้งนี้คืออะไร จากนั้นทั้ง ๒ ฝ่ายก็หาข้อบกพร่องของตัวเองให้พบ โดยตั้งความปรารถนาดีซึ่งกันและกันเอาไว้อย่างนี้

      ฝ่ายนายจ้าง ให้ทำความรู้สึกว่า ถ้าเป็นอวัยวะในร่างกาย ตัวเราเปรียบเสมือนศีรษะ ส่วนลูกจ้างเปรียบเสมือนเป็นมือ เป็นเท้า หรือว่าเป็นแขน เป็นขา เพราะฉะนั้นถ้ามนุษย์มีเฉพาะศีรษะ แต่ไม่มีแขน ไม่มีขา ไม่ว่าจะฉลาดอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะทำงานได้

       ฝ่ายลูกจ้าง ให้ทำความรู้สึกว่า ตัวเราเปรียบเสมือนแขน ขา แต่ไม่ว่าแขน ขาจะแข็งแรงอย่างไร หากขาดศีรษะเสียแล้ว ก็ทำงานอะไรไม่ได้เช่นกัน

    เมื่อทั้งลูกจ้างและนายจ้างต่างก็นึกว่า ตัวเองเป็นอวัยวะ เป็นส่วนประกอบของร่างกายด้วยกันอย่างนี้ แล้วค่อยๆ ช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ในไม่ช้าปัญหาต่างๆ ก็จะหมดไป ไม่อย่างนั้นจะนึกถึงความเป็นญาติกันก็ได้ คือนายจ้างทำความรู้สึกว่าเป็นพ่อ เป็นแม่ ส่วนลูกจ้างทำความรู้สึกว่าเป็นลูก เป็นหลาน อย่างนี้เดี๋ยวก็หันหน้าเข้าหากันเอง

     คุณสมบัติของลูกจ้างที่ดี ในการค้นหาข้อบกพร่องของตัวเองนั้น ปู่ย่าตาทวดท่านมีวิธีสำรวจตรวจสอบสำหรับผู้ที่เป็นลูกจ้าง โดยให้ถามตัวเองว่า มีคุณสมบัติ ๔ ประการนี้อยู่ในตัวหรือไม่
           ๑.ฉันทะ คือ เต็มใจทำ ทุกครั้งที่ทำงาน หรือว่าเวลามีงานอะไรมาถึง เราเต็มใจทำเหมือนอย่างกับเป็นงานของตัวเองทุกครั้งหรือไม่
           ๒.วิริยะ คือ แข็งใจทำ เมื่อพบอุปสรรคขณะที่กำลังทำงาน เราได้แข็งใจทำงานนั้นหรือไม่
           ๓.จิตตะ คือ ตั้งใจทำ นอกจากเต็มใจทำและแข็งใจทำแล้ว เราตั้งใจทำให้ดีที่สุดหรือไม่
           ๔.วิมังสา คือ เข้าใจทำ ในการทำงานแต่ละครั้ง เราเข้าใจทำ หรือว่าฉลาดในการทำงานหรือไม่
          เมื่อตรวจสอบตัวเองแล้วปรากฏว่า เรามีคุณสมบัติครบทั้ง ๔ ประการ คือ ทั้งเต็มใจทำ แข็งใจทำ ตั้งใจทำ และเข้าใจทำ อย่างนี้จึงจะใช้ได้

คุณสมบัติของนายจ้างที่ดี
สำหรับนายจ้างท่านก็ให้สำรวจตรวจสอบตัวเองว่า มีคุณสมบัติ ๔ ประการนี้อยู่ในตัวหรือไม่
           ๑.เมตตา เมื่อลูกจ้างตั้งใจทำงานแล้ว เราได้แบ่งงานแบ่งการและจ่ายค่าแรงให้เขา อย่างพอเหมาะพอสมหรือไม่ คือมีความเมตตาต่อเขาหรือไม่นั่นเอง
           ๒.กรุณา เวลาที่ลูกจ้างแข็งใจทำงาน ต้องลำบากลำบน ทนแดด ทนลม ทนฝน ทนเหนื่อยอยู่นั้น เรามีความกรุณาให้สวัสดิการเขาเต็มที่หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงคราวป่วยไข้ เราดูแลเขาเต็มที่ไหม ไม่ใช่ว่ายามดีก็ใช้ ยามไข้กลับปล่อยให้ตายไป มันต้องยามดีก็ใช้ ยามเจ็บไข้ก็รักษา คือจะต้องมีความกรุณาให้เขาอย่างเต็มที่ด้วย
           ๓.มุทิตา ในขณะที่ลูกจ้างตั้งใจทำงานอย่างสุดฝีมืออยู่นั้น เราได้ส่งเสริม สนับสนุน โดยจัดการอบรม เพื่อฝึกฝนฝีมือของเขาให้เพิ่มขึ้นหรือไม่ รวมกระทั่งว่าพอถึงสิ้นปีมีโบนัสให้เขาไหม พูดง่ายๆ ต้องชูกำลังใจกันบ้าง และไม่ใช่ชูกำลังใจกันนิดๆ หน่อยๆ แต่ต้องทำกันให้เต็มที่
        ๔.อุเบกขา เมื่อพบลูกจ้างที่เข้าใจทำงาน ฉลาดและขยันแล้ว เรามีอุเบกขา คือให้ความเป็นธรรมแก่เขาเพียงพอหรือยัง ไม่ใช่ว่าลูกจ้างทำงานอย่างเต็มที่ ชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แต่ถึงคราวที่จะยกย่อง หรือเลื่อนตำแหน่งให้ กลับมีการเล่นเส้นเล่นสาย เอาลูกเอาหลานของตัวเองขึ้นมา โดยไม่คำนึงถึงน้ำใจ ไม่คำนึงถึงฝีมือกันบ้างเลย อย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้

          ถ้าผู้ที่เป็นนายจ้างสำรวจตรวจสอบตัวเองแล้วพบว่า ได้ทำครบทั้ง ๔ ประการ คือ มีความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาแก่ลูกจ้างอย่างเต็มที่ละก็ แสดงว่าได้ทำหน้าที่ของนายจ้างอย่างสมบูรณ์แล้ว

          เมื่อทั้งนายจ้างและลูกจ้างสำรวจตรวจสอบตัวเองกันอย่างนี้ รับรองได้ว่า เรื่องที่จะกระทบกระทั่งกันรุนแรง จนกระทั่งถึงกับเดินขบวนจะหมดไป มีแต่จะหันหน้ามาปรึกษาหารือกัน ช่วยเหลือกัน และรักกัน

          เพราะฉะนั้น เวลาเกิดการกระทบกระทั่งกันทุกครั้ง ฝ่ายนายจ้างควรรีบตรวจสอบตัวเองว่า ได้ทำตัวเป็นพ่อที่เลี้ยงลูกอย่างดี คือมีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกให้มีกินมีใช้อย่างเต็มอิ่มหรือไม่ ส่วนลูกจ้างก็ต้องถามตัวเองด้วยว่า ได้ทำตัวเป็นลูกที่น่ารัก ที่ทำงานให้พ่อเต็มที่แล้วหรือยัง

          ถามตัวเองกันอย่างนี้แล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย เพราะว่าระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ใจจะประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ถึงอย่างไรอาจจะมีการกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นธรรมดา แต่ว่าก็ไม่ถึงกับรุนแรงนัก เหมือนอย่างลิ้นกับฟันที่กระทบกันเพียงแค่เจ็บนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น ไม่ถึงกับกระเทือนไปทั้งตัว เพราะฉะนั้นลิ้นก็ไม่ต้องตัด ฟันก็ไม่ต้องถอน ยังอยู่ร่วมกันต่อไปได้เหมือนเดิม

         เมื่อพบลูกจ้างและนายจ้างที่ดีควรทำอย่างไร
         ปู่ยาตาทวดท่านให้ข้อคิดฝากเอาไว้สำหรับผู้ที่เป็นนายจ้าง คือ ถ้าพบลูกจ้างที่มีคุณสมบัติครบทั้ง ๔ ประการเข้าเมื่อใด เขาไม่ยอมปล่อยให้ไปไหนหรอก เพราะถ้าหากไปอยู่กับคนอื่น กลายเป็นคู่แข่งขึ้นมาละก็ แย่เลย บางทีอาจจะถึงกับล้มละลายก็ได้

          เพราะฉะนั้น สิ่งที่โบราณทำกันก็คือ เมื่อพบลูกจ้างดีๆ เขาจะยกลูกสาวให้ ในปัจจุบันนี้ แม้ไม่ถึงกับยกลูกสาวให้ก็ไม่เป็นไร ให้เขามาถือหุ้นร่วมด้วยก็ได้ จะได้อยู่กันไปนานๆ

          ส่วนลูกจ้างก็เหมือนกัน ถ้าพบเจ้านายดีๆ ตั้งใจทำงานให้เต็มที่ ฝากชีวิตไว้กับท่าน แล้วจะสบายไปตลอดชาติ

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล