วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ “บรรพชาอุปสมบทหมู่ ภารกิจฟื้นฟูพระพุทธศาสนา”

ทบทวนบุญบวช
เรื่อง : แป้นแก้ว

 

“บรรพชาอุปสมบทหมู่ 

ภารกิจฟื้นฟูพระพุทธศาสนา”

 

 

    อดีต...ผู้ปกครองจะส่งเสริมบุตรหลานให้บวชเรียนเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนาและกุลบุตรจะออกบวชทดแทนพระคุณบิดามารดา ปัจจุบัน...วิถีปฏิบัติดั้งเดิมแม้ยังคงอยู่ แต่กลับถูกลดทอนความสำคัญลงเพราะถูกละเลยด้วยหน้าที่การงาน การศึกษาเล่าเรียน และกิจกรรมของเยาวชนตามสมัยนิยม ทำให้สังคมยุคใหม่เสื่อมถอยจากศีลธรรมด้วยชาวพุทธถอยห่างจากวิถีปฏิบัติอันดีงาม ด้วยเหตุนี้พุทธบริษัทผู้เห็นความสำคัญจึงร่วมมือกันจัดบวชสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา โดยวัดพระธรรมกายได้จัดให้มีการบรรพชาอุปสมบทหมู่เป็นประจำทุกปี และขยายไปทั่วประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้กุลบุตรทั้งหลายได้เข้ารับการอุปสมบทหมู่ทุกหมู่บ้านทั่วไทยและเยาวชนได้เข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา

 

 

บรรพชา 
ยกฐานะอันประเสริฐ

 

    นับเป็นครั้งที่ ๑๑ ในการจัดโครงการอุปสมบทหมู่ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย ซึ่งครั้งนี้จัดอบรมระหว่างวันที่ ๗ มีนาคม - ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยในวันเสาร์ที่ ๑๔ มีนาคม ทางโครงการจัดให้มีพิธีบรรพชาสามเณรขึ้นที่วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี พิธีกรรมสำคัญเริ่มขึ้นในภาคเช้า เมื่อนาคธรรมทายาทพร้อมด้วยผู้ปกครอง คณะญาติ และเหล่ากัลยาณมิตร ร่วมประกอบพิธี       เวียนประทักษิณรอบมหาธรรมกายเจดีย์     จากนั้นนาคธรรมทายาททำพิธีวันทาเจดีย์ 


    ช่วงเวลาสำคัญในชีวิตของลูกผู้ชาย      ผู้ตัดสินใจออกบวชในพระพุทธศาสนา และ  ช่วงเวลาที่สำคัญของการมีส่วนร่วมสร้างประวัติศาสตร์ในวงการพระพุทธศาสนา       เริ่มขึ้นอีกครั้งที่สภาธรรมกายสากล    วัดพระธรรมกาย เมื่อนาคธรรมทายาท        ร่วมประกอบพิธีบรรพชาและพิธีคล้องอังสะ    ในพิธีได้รับความเมตตาจากพระเดชพระคุณพระมหาโพธิวงศาจารย์ ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร    พร้อมด้วยคณะพระสังฆาธิการและพระมหาเถระร่วมคล้องอังสะให้แก่นาคธรรมทายาท 


    ภายหลังพิธีคล้องอังสะ ธรรมทายาท    ทั้งหลายได้แสดงพลังแห่งความพร้อมเพรียงด้วยใจที่มุ่งมั่นในพิธีขอสรณคมน์และศีล และพิธีขอนิสสัย เป็นการยกฐานะอันประเสริฐจากผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัยโดยสมบูรณ์

 


อุปสมบทครั้งพิเศษนี้ 
มีหน้าที่เป็นพระพี่เลี้ยง


    
    ทุกอนุวินาทีที่ก้าวย่างเข้าสู่โครงการอุปสมบทหมู่กระทั่งก้าวสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เหล่าธรรมทายาทผู้เปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นได้หมั่นกลั่นจิตกลั่นใจทำความบริสุทธิ์ให้บังเกิดขึ้น   มุ่งหวังให้การบวชครั้งนี้เกิดประโยชน์สูงสุด    ต่อตนเองและพระพุทธศาสนา โดยสามเณร   ธรรมทายาทได้กลับไปยังภูมิลำเนาของตนและเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา สร้างช่วงเวลาประวัติศาสตร์ในชีวิต    ให้ดำเนินต่อเนื่อง 


    ภายหลังออกบวช พระธรรมทายาท    และสามเณรธรรมทายาททั้งหลายจะเข้ารับการอบรมเพื่อนำคำเทศน์สอนของพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์มาฝึกฝนอบรมตนให้เป็น  พระแท้ เป็นเนื้อนาบุญที่โลกต้องการ ให้การบวชครั้งนี้เป็นไปเพื่อการกำจัดกิเลสอันเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดนิสัยไม่ดีให้หมดสิ้นไป และจะได้นำความรู้ที่ได้รับไปขยายในวงกว้างด้วยการทำหน้าที่พระพี่เลี้ยงและสามเณรพี่เลี้ยง       ในโครงการบรรพชาสามเณรฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วไทย 

 


    การอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อนทุกหมู่บ้านทั่วไทย ครั้งที่ ๑๑ จึงพิเศษกว่าทุก ๆ ครั้ง เพราะเหล่าธรรมทายาทในโครงการจะได้เป็นบุคคลสำคัญในการสืบทอดอายุพระพุทธ-ศาสนาและได้ร่วมสืบสานภารกิจสำคัญในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในคราวเดียวกัน

 

 

โครงการบรรพชาสามเณรฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วไทย

 

    โครงการนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการ เตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เพราะเศรษฐกิจควรเติบโตไปพร้อมกับศีลธรรมด้วยการปลูกฝังเยาวชน  ให้เป็นเด็กเก่งและดี ที่สำคัญยังเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ให้เยาวชนปรับพฤติกรรมให้เข้าสู่วิถีปฏิบัติที่ดีงาม ก้าวสู่การเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์ เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ และเป็นอนาคตของพระศาสนา ทางโครงการจึงจัดให้มีการอบรมแบ่งเป็น      ๒ ระดับ โดยแบ่งเป็นนักเรียนที่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ ๒ ถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๑ (ป.๒ - ม.๑) เรียกว่า สามเณรเล็ก จัดให้มี  การอบรมระหว่างวันที่ ๒๓ มีนาคมถึงวันที่   ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ รวมระยะเวลา   ๓๐ วัน และจัดให้มีพิธีบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดหรือศูนย์อบรมทั่วประเทศในวันเสาร์ที่ ๒๘ มีนาคม ส่วนนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖        (ม.๒ - ม.๖) เรียกว่า สามเณรโต จะเข้าอบรมระหว่างวันที่ ๗ มีนาคม ถึงวันที่ ๒๓ เมษายน และเข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณรพร้อมกันทั่วประเทศในวันเสาร์ที่ ๑๔ มีนาคม ณ        วัดพระธรรมกาย ซึ่งสามเณรโตจะทำหน้าที่
เป็นสามเณรพี่เลี้ยงให้แก่สามเณรเล็กร่วมกับพระธรรมทายาทในโครงการอุปสมบทหมู่ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย

 

 

บรรพชาอุปสมบทหมู่ 
ภารกิจฟื้นฟูพระพุทธศาสนา

 

    การบรรพชาอุปสมบทหมู่เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งดั่งย้อนยุคพุทธกาลที่ผ่านมา และเป็นการทอดบันไดให้เยาวชนไทยก้าวสู่เส้นทางแห่งศีลธรรม เพื่อยังประโยชน์  ให้เกิดขึ้นแก่สังคมปัจจุบัน ที่สำคัญยังเป็นการยอยกพระพุทธศาสนาให้สูงส่ง ซึ่งการก้าวสู่  ร่มกาสาวพัสตร์ของพระภิกษุและสามเณรธรรมทายาทครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ   ที่พุทธบริษัททั้งหลายได้รวมพลังสามัคคี    สร้างความสำเร็จให้บังเกิดขึ้น ตั้งแต่ออกไป  ทำหน้าที่ชวนบวช จัดงานบรรพชาอุปสมบทหมู่กระทั่งคอยต้อนรับอุปัฏฐากเป็นอย่างดี เพื่อให?
ผู้บวชใช้วันเวลาในโครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่ ฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นเนื้อนาบุญที่แท้จริง เป็นพระแท้สามเณรดีที่โลกต้องการ  

 

 

บวชเรียนครั้งพิเศษ เป็นพระแท้

และพระพี่เลี้ยง
โอวาทพระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช)
เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร
วันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    บัดนี้ เธอทั้งหลายได้เป็นสามเณรถูกต้องตามพระวินัย ตามหลักการบวชในพระพุทธศาสนา การเป็นสามเณรถือว่าเป็นเบื้องต้นของการอุปสมบท สำเร็จได้ด้วยการถึงไตรสรณคมน์ หมายความว่าได้รับไตรสรณคมน์ ตั้งแต่พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ จนถึงตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ แค่นี้ก็เป็นสามเณรโดยสมบูรณ์ รับไตรสรณคมน์เป็นสามเณรแล้ว ก็รับสิกขาบท ๑๐ สำหรับประพฤติปฏิบัติ ถ้าหากจะเป็นพระภิกษุต่อไป ก็ต้องไปขอรับ          การอุปสมบทในอุโบสถ ในช่วงนี้เธอทั้งหมดเป็นสามเณรถูกต้องตามพระวินัย เป็นการเริ่มต้นที่จะได้บำเพ็ญคุณงามความดี สั่งสม อบรมบุญบารมีให้แก่ตัวเอง 

 

    ตั้งแต่เราได้นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์เป็นสามเณร ญาติโยมทั้งหลายก็ปลื้มอกปลื้มใจว่าลูกได้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า ได้ใกล้ชิดพระสงฆ์แล้ว ได้เป็นผู้ประเสริฐ สมควรเคารพกราบไหว้ได้แล้ว โยมก็จะเคารพเรา ปลื้มปีติในการบวชของเรา ยิ่งต่อมาบวชพระด้วยก็ยิ่งปลื้มปีติมากขึ้น นี้คือประโยชน์หรืออานิสงส์ที่เกิดจากการบวชที่ญาติโยมเขาได้รับ ส่วนตัวเราเองก็ให้ตั้งใจบวช สร้างบุญสร้างบารมีให้เต็มที่ อย่าได้ท้อแท้ ท้อถอย หนักเอาเบาสู้ ไม่เห็นแก่สนุกสนาน เรื่องอะไรต่าง ๆ ที่ผ่านมานั้นไม่ต้องไปคำนึงถึง คนเราก่อนบวชเป็นอย่างหนึ่งทุกคนไป พระพุทธเจ้าของเราก่อนที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ประสูติมาแล้วก็อยู่  ในรั้วในวัง ทรงมีครอบครัว ทรงมีพระโอรส จนกระทั่งอายุ ๒๙ จึงออกบวช ออกบวชแล้ว   ก็ไปศึกษากับครูบาอาจารย์จนกระทั่งได้ฌาน ได้สมาบัติ จนครูบาอาจารย์บอกว่า        หมดความรู้แล้ว เพราะว่าการบวชในยุคนั้นได้สมาบัติ ๘ ก็คือฌาน ๘ ครบถ้วน ถือว่า  ได้สิ่งที่สูงสุดแล้ว เรียกกันว่าได้บรรลุถึงระดับปรมาตมัน ปรมาตมันก็คือ ปรมัตตาหรืออัตตาที่สูงสุด ถือว่าไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นแล้ว แต่พระพุทธเจ้าของเราทรงเห็นว่าไม่ใช่จุดสูงสุดที่ต้องการ จึงเสด็จออกบำเพ็ญเพียร ทรงอดอาหารจนกระทั่งเกือบสิ้นพระชนม์ และทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางอีกเหมือนกัน จึงทรงเสวยพระกระยาหาร ดูแลรักษาร่างกาย     จนสมบูรณ์เหมือนเดิม แล้วปฏิบัติทางสายกลาง บำเพ็ญเพียรทางจิต ทำสมาธิ              จนกระทั่งได้บรรลุอาสวักขยญาณ ได้ญาณสูงสุดที่กำจัดกิเลสได้ และได้อาโลกสัญญา     ได้ความรู้ความเข้าใจลึกซึ้งแจ่มแจ้ง ที่เรียกกันในยุคต่อมาว่าบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ        จึงทรงรู้ว่าพระองค์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว นั้นแสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงยอมรับว่า                            ทรงบำเพ็ญทางสายกลาง ได้บรรลุถึงปรมัตตาที่แท้จริง หรือปรมาตมันอย่างแท้จริง      บรรลุพระนิพพานแท้จริง 


    ตอนหลังพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะหมวดนี้กับพระปัญจวัคคีย์ เรียกกันว่า        อนัตตลักขณสูตร คือ พระสูตรที่ว่าด้วยสิ่งที่เป็นอนัตตา ว่าปรมาตมันของพวกพราหมณ์ที่ได้บรรลุมานั้นยังเป็นอนัตตา แต่สิ่งที่พระองค์ทรงบรรลุนั้นตรงกันข้าม แม้พระองค์ไม่ได้ตรัสว่าเป็นอัตตา แต่เป็นอันเข้าใจกันได้ว่า เมื่อไม่ทรงยอมรับว่าอย่างนั้นเป็นอัตตา แต่เป็นอนัตตา ก็แสดงว่าของพระองค์เป็นอัตตา อันนี้เป็นเรื่องลึกซึ้งในพระพุทธศาสนา 


    เธอทั้งหลายบวชมา ถ้าหากว่าได้ศึกษาเล่าเรียนว่าอะไรเป็นอะไร ก็จะมีศรัทธาลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นการบวชสมัยโบราณจึงเรียกว่า “บวชเรียน” มีคำว่าเรียนต่อท้าย คำว่าบวชเรียน คือบวชแล้ว เรียนแล้วหรือยัง เรียนอะไร เรียนคำสอนของพระพุทธเจ้า เรียนสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และทรงแนะนำสั่งสอน เรียนเรื่องที่ไม่ใช่ควรรู้ แต่เป็นเรื่องที่ต้องรู้ อย่างเรื่องพระวินัยเราต้องรู้ ไม่ใช่ควรรู้ เพราะว่าเราต้องประพฤติปฏิบัติตามเคร่งครัด เรื่องที่ควรรู้ก็คือเรื่องคำสอนของพระพุทธเจ้า รู้ได้มากเท่าไรยิ่งดี แต่บางเรื่องที่รู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ได้นั้น   ก็คือเรื่องเกี่ยวกับธรรมะเหมือนกัน แต่ว่าธรรมะบางข้อ เราไม่รู้ ไม่ได้เรียนก็ไม่เป็นไร เพราะความเป็นพระเป็นเณรของเราก็ไม่ได้สิ้นสุดลง แต่เรื่องที่เราต้องเรียนต้องศึกษาก็คือ เรื่องพระวินัย เรื่องศีล สามเณรมีศีล ๑๐ ข้อ มีอะไรบ้าง ห้ามอะไรบ้าง ไม่ควรทำอะไรบ้าง อย่างนี้ต้องรู้ หรือศีล ๒๒๗ ข้อ ของพระมีอะไรบ้าง เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจ ต้องรู้ ส่วนเรื่องธรรมะที่ควรรู้ ครูบาอาจารย์ท่านก็จะแนะนำสั่งสอน หรือไปอ่านเอาจากหนังสือธรรมะได้ 


    คำสอนของพระพุทธเจ้ามีมาก แม้ทุ่มเทอย่างไรก็ไม่มีทางรู้หมด แค่อ่านพระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม บวชมาปีหนึ่งยังอ่านไม่หมดเลย ก็เก็บเฉพาะส่วนที่สำคัญซึ่งท่านคัดลอกมาจากพระไตรปิฎกมาแนะนำสั่งสอนกัน อันนี้เรียกกันว่าเป็นภารกิจของพระ-เณร ต้องการบุญต้องการกุศลเพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติเป็นพระเป็นเณรที่ดี ที่ถูกต้อง บริสุทธิ์ผุดผ่อง เพื่อ ให้ชาวบ้านญาติโยมเขาได้กราบ ได้ไหว้ ได้ทำบุญ ได้ใส่บาตร แล้วได้บุญได้กุศลเต็มที่   ตัวเราเองก็ภาคภูมิใจว่าบวชมาแล้วได้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ สิ่งต่าง ๆ ที่แล้วมาไม่ต้องไปคำนึงถึง ถ้าเราทำชั่วทำผิดอะไรไว้ ทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง บวชแล้วก็ให้อภัยกัน ถ้าเขาล้มหายตายจากก็กรวดน้ำคว่ำขันไปให้ ชีวิตของเราก็เป็นพระเป็นเณรที่ดี ไม่มีเวรไม่มีภัยอะไรกับใคร ใครจะมาโทษ มาด่า มาว่าอะไร เขาเห็นเราเป็นพระเป็นเณรแล้ว เขาก็ให้อภัยต่อเรา เราก็ให้อภัยต่อเขา หรือเขาไม่รู้ว่าเราบวชแล้วก็ไม่เป็นไร เราให้อภัยต่อเขา ไม่ถือโทษโกรธเคืองต่อกัน เราก็จะเป็นผู้ที่มีจิตใจงดงาม บริสุทธิ์ 


    เมื่อเราอยู่ในเพศที่ดีที่งาม จิตใจงดงามบริสุทธิ์ ถ้ามีบุคคลที่มาคิดร้ายต่อเรา มาด่าว่าเรา มาพูดอะไรที่ไม่ดีต่อเรา เราก็ให้อภัยเขา ไม่ต้องตอบโต้อะไร คนที่มาด่ามาว่าเราก็ได้รับผลของเขาเอง เป็นเวรเป็นกรรมสำหรับเขาเอง เขาจะประสบสิ่งที่เป็นเวรเป็นภัย ไม่มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า หรือได้รับความวิบัติ ความทุกข์ร้อน ก็เป็นเรื่องของเขา เราให้อภัยไปแล้ว ก็แล้วแต่กรรมของเขา เราไม่ถือโทษโกรธเคือง ไม่ก่อเวรอะไรกับเขา พวกเวรภัยต่าง ๆ ก็ไม่มากระทบตัวเรา แต่ว่าจะกลับไปหาเขา เขาก็ได้รับผลของเขาเอง ชีวิตของพระเป็นอย่างนั้น

 
    ฉะนั้น เมื่อเราบวชมาแล้ว ประพฤติปฏิบัติตัวให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดังนี้ได้ เราก็เป็นพระเป็นเณรที่ดี เป็นเนื้อนาบุญ ญาติโยมทั้งหลายมาทำบุญ เขาก็ได้บุญได้กุศล เมื่อเรา  ประพฤติดีปฏิบัติดี เราก็เป็นบุญเขตอันยอดเยี่ยมของชาวโลก คำว่ายอดเยี่ยมในที่นี้ก็คือ เมื่อเขาทำบุญทำกุศลกับเรา เสียสละอะไรแก่เรา ทำอะไรให้แก่เรา เขาก็ได้บุญได้กุศล    อันยอดเยี่ยมสูงสุด มีความสุข ความเจริญ ความรุ่งเรืองก้าวหน้า สมหวัง มีกินมีใช้ พ้นจากความเดือดร้อนต่าง ๆ เรื่องนี้เป็นสัจธรรม เป็นจริง คำว่าจริงในที่นี้ไม่ต้องพิสูจน์ ไม่ต้องอธิบาย เพราะว่าจริงก็คือจริง เหมือนเรารับประทานอาหาร เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วก็อิ่มแน่นอน นั้นคือสัจธรรม รับประทานของดีมีประโยชน์ ร่างกายก็เจริญเติบโตจริง เช่นเดียวกันเมื่อเราบวชแล้ว ประพฤติดีปฏิบัติชอบนั่นก็คือจริง เมื่อจริงแล้วใครมาทำบุญกับเรา         ทำจริงไหม จริง เมื่อจริงกับจริงมาเจอกันก็เป็นดับเบิลจริง นี่เป็นทางบุญที่เราหาได้ ทำได้ 


    เป็นโชคดีของเธอทั้งหลายที่ได้มาบวช หลายรูปเคยบวชมาแล้ว แต่มาบวชครั้งนี้พิเศษ มาบวชเพื่อเป็นพี่เลี้ยง เป็นพี่เลี้ยงของพระ-เณรที่จะบวชต่อไป ขอให้ตั้งใจประพฤติให้ดี เป็นพี่เลี้ยงให้ดีเป็นพิเศษ การนุ่ง การห่ม การพูดจา การขบฉัน หรืออะไรต่าง ๆ ต้องระแวดระวัง ต้องเป็นแบบอย่างแก่พระ-เณรรุ่นหลัง เหมือนวัดพระธรรมกายเมื่อ ๓๐-๔๐ กว่าปี             ที่แล้ว บริเวณวัดทั้งหมดมีแต่ทุ่ง ไม่มีต้นไม้สักต้นเดียว กุฏิก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี ในยุคนั้น      บวชที่นี่ไม่ได้ โบสถ์ไม่มี ต้องไปบวชวัดราชโอรสฯ ธรรมทายาทบวชครั้งแรกที่วัดราชโอรสฯ ๒ ปี ตอนนั้นบวช ๒๐ กว่ารูป บวชแล้วก็อบรมอยู่ที่วัดราชโอรสฯ ต่อมามีมากขึ้น สถานที่ วัดราชโอรสฯ ไม่พอ ต้องไปวัดเบญจมบพิตรฯ แต่บวชแล้วต้องมาอยู่วัดพระธรรมกาย กุฏิไม่มีก็ต้องอยู่เต็นท์ อบรมในเต็นท์ ทำบุญในเต็นท์ วันดีคืนดีฝนตกลมพัดเต็นท์พังหมด เปียกปอนกัน เป็นอยู่อย่างนี้หลายปี จนกระทั่งสร้างกุฏิสร้างศาลาขึ้นมา เราเกิดมายุคนี้สะดวกสบาย นี้เป็นบุญเป็นบารมีของเรา แต่ว่าก็เป็นบุญบารมีของญาติโยมวัดพระธรรมกาย     ของหลวงพ่อธัมมชโย ของหลวงพ่อทัตตชีโว ของพระ-เณรในยุคนั้นที่สร้างสรรค์กันเข้าไว้ ทำแบบอย่างให้เห็น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีงาม เป็นเรื่องน่าอนุโมทนา เพราะฉะนั้นเราก็                          สืบสานต่อ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ชื่นใจ แล้วจะได้มีกำลังใจ ไม่ท้อแท้ ท้อถอย มุมานะสร้างบุญสร้างบารมีสืบสานคุณงามความดี เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง คือทำตัวเองให้ดี เป็นแบบอย่างให้ดี  ไม่ถือโทษโกรธใคร แล้วประพฤติปฏิบัติให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นพี่เลี้ยงให้ดี เขาได้แบบ      ได้อย่างไป เราก็ได้บุญได้กุศล ถ้ามีภารกิจ หมดเวลาแล้วก็สิกขาลาเพศไปทำมาหากิน ช่วยเหลือเกื้อกูลพระพุทธศาสนาตามแบบคฤหัสถ์ แต่ถ้าไม่มีภาระอะไรก็บวชต่อ           เป็นพระต่อ เป็นเณรต่อ ศึกษาเล่าเรียนไป เป็นเณรเมื่อครบอายุก็บวชพระต่อ ถ้าอย่างนี้แล้วเป็นประโยชน์แน่นอน พระศาสนาเราก็อยู่ได้ 


    ขออนุโมทนาบุญต่อทุก ๆ ท่าน อนุโมทนาบุญต่อวัดพระธรรมกาย ต่อหลวงพ่อ    พระเทพญาณมหามุนี เจ้าอาวาส หลวงพ่อพระราชภาวนาจารย์ พร้อมทั้งพระพี่เลี้ยง เหล่ากัลยาณมิตรทั้งชายหญิงของวัดพระธรรมกายที่ช่วยเหลือเกื้อกูล ขออนุโมทนาญาติโยมทั้งหลายที่เป็นกัลยาณมิตรชักชวนเธอทั้งหลายเข้ามาบวชในพระศาสนาตามจังหวัดต่าง ๆ ขออนุโมทนาบุญต่อท่านทั้งหลายที่มีน้ำใจ ที่เสียสละมาบวชเป็นกำลังสำคัญของ
พระพุทธศาสนา ขอให้ทุกท่านเจริญงอกงามไพบูลย์ ร่มเย็นเป็นสุขในร่มเงาพระศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ปรารถนาสิ่งใด ต้องการสิ่งใดอันเป็นไปในทางที่ชอบ ประกอบด้วยธรรม ขอให้สำเร็จสมความมุ่งมาดปรารถนาด้วยกันทุก ๆ รูป ทุก ๆ ท่านเทอญ

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๕๐ เดือนเมษายน ๒๕๕๘

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล