วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ปฐมเทศนาในวันอาสาฬหบูชา

DOU ความรู้สากล
เรื่อง : พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙

 

 

ปฐมเทศนาในวันอาสาฬหบูชา

 

    วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ ๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ คือ วันเพ็ญ เดือนอาสาฬหะ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้า        ทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์    


    การที่ปฐมเทศนานี้ได้รับการขนานนามว่าธัมมจักกัปปวัตนสูตรดังกล่าว ก็     เนื่องด้วยปฐมเทศนานี้เปรียบประดุจธรรมราชรถ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาจะใช้บรรทุกสรรพเวไนยสัตว์ทั้งหลายออกจากห้วงวัฏสงสารไปสู่แดนเกษม คือ     พระอมตนิพพาน โดยมีพระพุทธองค์ทรงเป็นสารถี ส่วนประกอบสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้รถแล่นไปสู่ที่หมายก็คือ ล้อรถหรือที่เรียกว่า จักร นั่นเอง ดังนั้น ล้อแห่งธรรมราชรถจึงได้ชื่อว่า จักรธรรม หรือ ธรรมจักร


    ตามธรรมดา “ล้อ” หรือ “จักร” ย่อมประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วน คือ      ดุม กำ และ กง ส่วน “จักรธรรม” นี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุปมาเปรียบ โพธิปักขิยธรรมเป็นดุม ปฏิจจสมุปบาทธรรมเป็นกำ และอริยสัจ ๔ เป็นกง


    สาระสำคัญของธัมมจักกัปปวัตนสูตรนี้ คือ การประกาศทางสายกลาง  (มัชฌิมาปฏิปทา) ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่เอียงไปทางกามสุขัลลิกานุโยค อันเป็นการประกอบตนแสวงหาความสุขจากกามคุณทั้ง ๕ และไม่เอียงไปทางอัตตกิลมถานุโยค อันเป็นการทรมานตนโดยหาประโยชน์มิได้ ซึ่งข้อปฏิบัติทางสายกลาง คือ มัชฌิมา-ปฏิปทานี้เป็นข้อปฏิบัติอันเป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี      เพื่อความดับตัณหา เพื่อพ้นไปจากข้าศึก คือ กิเลส เป็นทางของพระอริยเจ้าผู้ละจากสภาวะฆราวาสออกบรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้วพึงปฏิบัติตามหนทางสายกลางนี้เท่านั้น ซึ่งมัชฌิมาปฏิปทานี้ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมา-วาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ มัชฌิมา-ปฏิปทานี้เป็นแนวปฏิบัติอันเป็นปัจจัยให้เจ้าชายสิทธัตถะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตรัสรู้เป็น พระสัพพัญญูพุทธเจ้า และทำให้ประจักษ์แจ้งในอริยสัจ ๔ อันประกอบด้วย


    ๑.    ทุกขอริยสัจ คือ ทุกข์อย่างแท้จริง
    ๒.    ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือ เหตุให้เกิดทุกข์อย่างแท้จริง
    ๓.    ทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ความดับทุกข์อย่างแท้จริง
    ๔.    ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จริง


    ญาณทัสนะหรือปัญญาอันรู้เห็นในอริยสัจ ๔ นั้น มีรอบ ๓ อาการ ๑๒ คือ

 

อริยสัจญาณ    ทุกขอริยสัจ    ทุกขสมุทัยอริยสัจ    ทุกขนิโรธอริยสัจ    ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ


สัจญาณ          ทรงหยั่งรู้          ทรงหยั่งรู้                ทรงหยั่งรู้                   ทรงหยั่งรู้
(ญาณหยั่งรู้อริยสัจตามสภาวะ)


กิจญาณ         เป็นสิ่งควรรู้         เป็นสิ่งควรละ         เป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง    เป็นสิ่งควรเจริญหรือปฏิบัติ
(ญาณหยั่งรู้กิจที่ต้องทำในอริยสัจ)     

           
กตญาณ       ทรงกำหนดรู้แล้ว     ทรงละแล้ว            ทรงทำให้แจ้งแล้ว         ทรงเจริญแล้ว
(ญาณหยั่งรู้กิจที่กระทำแล้วในอริยสัจ)

 

    ญาณทัสนะในอริยสัจ ๔ อันมีรอบ ๓ อาการ ๑๒ ของพระองค์นั้นหมดจดดีแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงกล้ายืนยันว่า พระองค์ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมทั้งในโลกมนุษย์ เทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ หมู่สมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ อาสวกิเลสของพระองค์ไม่กลับกำเริบขึ้นอีกแล้ว พระชาตินี้เป็นที่สุด จะมีภพใหม่อีกก็หาไม่


    จากหลักฐานอันมีปรากฏอยู่นั้น พบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาธัมม-    จักกัปปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ภิกษุทั้ง ๕ เป็นปฐมแล้ว มิได้ตรัสแสดงสูตรนี้อีกเลย ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษาแห่งการตรัสเทศนาเผยแผ่พระศาสนานั้น ล้วนแต่ทรงแสดงธรรมกถาขยายความแห่งปฐมเทศนาในแต่ละหมวดโดยเอกเทศ ยิ่งกว่านั้นยังเป็นที่ทราบกันทั่วไปในหมู่นักปราชญ์ทั้งหลายว่า การตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตรเป็นปฐมนี้ ถือเป็นพระประเพณีแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์


    การแสดงปฐมเทศนาในครั้งนั้นทำให้โกณฑัญญพราหมณ์ผู้เป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุเป็นพระโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็น      พระสงฆ์องค์แรกในโลก และด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลเป็นท่านแรก จึงทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ          มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงเรียกวันนี้ว่า “วันพระธรรม” หรือ “วันพระธรรมจักร” อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ “วันพระสงฆ์” คือ วันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก 


อ้างอิงจากหนังสือ PD 006 แม่บทแห่งธรรม
    กิจกรรมประจำภาคฤดูร้อน / ๒๕๕๘
ลงทะเบียนนักศึกษา                      บัดนี้ - ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๘
กิจกรรมตามรอยมหาปูชนียาจารย์    ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘
ปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่                 ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘
ธรรมปฏิบัติ Meditation for Relaxing Your Mind รุ่นที่ ๘ ณ หมู่บ้านบุคลากรแก้ว ๒๓-๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๘

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๕๓ เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๘

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล