วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕)

บทความพิเศษ
เรื่อง : พระครูวิเทศสุธรรมญาณ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) และคณะนักวิจัย DIRI
จากวารสารอยู่ในบุญฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๘

 

 

      วันที่ ๙ กันยายนที่ผ่านมา ผู้เขียนและคณะนักวิจัยของสถาบันดีรี (DIRI) เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในโครงการสืบค้นวิจัยคำสอนดั้งเดิม ณ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เมืองซีแอตเทิลประเทศสหรัฐอเมริกา สืบเนื่องจากการลงนามสัญญาความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับทางสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย เพื่อร่วมประชุมกับ ศาสตราจารย์ริชาร์ด ซาโลมอน และศาสตราจารย์คอลเล็ต ค็อกซ์ กับคณะ เเละถือโอกาสไปส่ง ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล (อาจารย์ลูก) หลังจากกลับมาพักฟื้นฟูสุขภาพจากการทุ่มเทมุ่งมั่นในงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่องตลอดมาเป็นเวลานาน นับว่าเป็นบุคลากรหลักของสถาบันดีรีทีเดียว


     ช่วงนี้เป็นช่วงปลายของการปิดภาคเรียนนักศึกษาเพิ่งจะทยอยกันกลับมาเตรียมความพร้อมในเทอมต่อไป และยังเป็นฤดูใบไม้ร่วง (Fall) จึงทำให้เมืองซีแอตเทิลดูซบเซาไปบ้างอย่างไรก็ตาม คณะของเราอันมี ผู้เขียน, ศาสตราจารย์สุกัญญา สุดบรรทัด, ดร.ศิริพร ศิริขวัญชัย และ ดร.ชนิดา จันทราศรีไศลกลับมีความกระตือรือร้นมาก แม้การเดินทางจะยาวไกลใช้เวลาเกือบ ๒๐ ชั่วโมง ต่างก็ยังมีความสดชื่นเบิกบาน ไม่มีใครรู้สึกเมาเครื่องบินยิ่งได้พบหมู่คณะลูกพระธัมฯ (พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี ผู้สถาปนาสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย หรือ Dhammachai International Research Institute) คือพระครูภาวนาวิเทศ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายซีเเอตเทิล และ พระปอเหม่า ธมฺมฐิโต ที่ร่วมสนับสนุนการทำงานวิจัย มาต้อนรับถึงสนามบินอย่างอบอุ่น และจัดที่พักดูแลความเป็นอยู่อำนวยความสะดวกอย่างดีมาก ก็ยิ่งมีความรู้สึกเบิกบาน จึงขอขอบคุณอย่างยิ่งมา ณ ที่นี้ด้วย


    ผลของการประชุมสรุปว่า การดำเนินการวิจัยที่ผ่านมามีผลงานความก้าวหน้า และขอให้ทำอย่างต่อเนื่อง อนึ่ง มหาวิทยาลัยนี้เป็นแหล่งที่มี ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Source) คือ คัมภีร์พุทธโบราณเก่าเเก่อายุถึง ๒,๐๐๐ ปีเป็นจำนวนมาก ที่รอคอยทีมงานสืบค้นวิจัยมาช่วยกันอ่านถอดความให้ปรากฏ ซึ่งตรงกับวิสัยทัศน์ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อ ผู้สถาปนาสถาบันฯ เคยกล่าวไว้ และมอบนโยบายให้หมู่คณะทุ่มเทศึกษาเเละอ่านคัมภีร์เหล่านั้นที่มีอยู่ให้รู้เรื่องทั้งหมด เพื่อทำความจริงให้ปรากฏสู่สายตาชาวโลก และจะได้เป็นทนายแก้ต่างให้แก่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกายสืบไป
 


อาคารที่เก็บข้อมูลปฐมภูมิ คือ คัมภีร์พุทธโบราณจำนวนมากที่รอการศึกษาและทำวิจัย



พระครูวิเทศสุธรรมญาณ วิ. มอบหนังสือ “สารัตถะศิลาจารึกในประเทศไทย” เล่มที่ ๒ และของที่ระลึก
แก่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยวอชิงตันเป็นธรรมบรรณาการ


     สำหรับเรื่องที่มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาออกพ้นเขตชมพูทวีปไปสู่อาณาจักรต่าง ๆ รอบข้าง และประดิษฐานได้อย่างมั่นคง ตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช โดยเฉพาะการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าไปในโยนกประเทศและคันธาระนั้น ด้วยพุทธานุภาพจึงทำให้ มีการค้นพบหลักฐานคัมภีร์พุทธโบราณมากมาย ในเขตคันธาระเเละเอเชียกลางที่เมืองบามิยัน ฮัดดา กิลกิต เป็นต้น (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศอัฟกานิสถานและประเทศปากีสถาน) ดังนั้นจึงเป็นโอกาสทองที่ นักวิจัยของสถาบันฯ ได้ทำการศึกษาสืบค้นวิจัยจากข้อมูลปฐมภูมิเหล่านั้นด้วย โดยอาศัยการสร้างความสัมพันธ์กับนักวิชาการอาวุโสที่มีชื่อเสียงระดับโลก จนเกิดความคุ้นเคยและไว้เนื้อเชื่อใจ (วิสฺสาสปรมา ญาติ.) ต่อมาจึงมีการลงนามสัญญาเพื่อความร่วมมือทางวิชาการจนถึงปัจจุบันนี้ซึ่งผู้เขียนจะได้นำผลงานที่นักวิจัยของสถาบันฯได้ทำสำเร็จด้วยดีแล้วมานำเสนอในฉบับต่อไป

 

ทางมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้ให้เกียรติยกย่องจารึกชื่อ “Dhammachai International Research Inst.” ไว้ภายใน “หอเกียรติคุณ”

 

     ฉบับนี้ขอนำเสนอเรื่องราวของเส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อจากฉบับที่เเล้วโดยย้อนกลับมาในดินแดนพุทธภูมิ ในแถบรัฐมหาราษฎร์ ซึ่งยังมีหลักฐานความมั่นคงของพระพุทธศาสนาคงเหลือให้เห็น ได้แก่ กลุ่มถ้ำที่ดัดแปลงจากผาหินธรรมชาติเป็นพุทธสถาน เช่น ถ้ำอชันตา ถ้ำเอลโลลา เป็นต้น

 

     พุทธสถานถ้ำอชันตา 1 (Ajanta Caves) สร้างเมื่อ พ.ศ. ๓๕๐ สมัยนั้นถ้ำแห่งนี้เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่งจึงมีการเจาะภูเขาเพื่อสร้างเป็นกุฏิ พุทธเจดีย์และสถานที่ประกอบศาสนกิจต่าง ๆ ประดับด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง เล่าเรื่องราวในพุทธประวัติและชาดกต่าง ๆ

 

     ถ้ำที่ก่อสร้างในยุคแรก ๆ สร้างขึ้นอย่างเรียบง่ายเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย โดยเจาะหินเข้าไปเป็นห้องโถงโล่ง ๆ ใช้เป็นที่นั่งสนทนาธรรม พร้อมกับเจาะเป็นห้องนอน ภายในมีเตียงหินห้องละ ๒ เตียง ถ้ำอชันตาในยุคแรกยังไม่มีการแกะสลักเป็นองค์พระพุทธรูป
 

ถ้ำอชันตาหมายเลข ๙ พุทธศตวรรษที่ ๖
ที่มา http://sjoneall.net/big-galleries/india-2012-big/05-ajanta/slides/in12_021512470_j_r.jpg

 


ภายในถ้ำอชันตาหมายเลข ๑๓ กุฏิพระสงฆ์ พุทธศตวรรษที่ ๕-๖

ที่มา http://www.shunya.net/Pictures/South%20India/Ajanta/AjantaCaves31.jpg

 


ภาพสลักแสดงพระสถูปพระเจ้าอโศกที่อมราวดี พุทธศตวรรษที่ ๕-๖ พิพิธภัณฑ์ เชนไน อินเดีย

ที่มา http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/c/ce/Amaravati_Stupa_relief_at_Museum.jpg

 


เครื่องประกอบตกแต่งสถูปของพระมหาสถูป ศิลปะอมราวดี พุทธศตวรรษที่ ๕-๖ พิพิธภัณฑ์เชนไน อินเดีย

ที่มา http://www.hoparoundindia.com/cityimages/andhra-pradesh/Amaravathi-Amaravati%20Museum-4.jpg

 

     ถ้ำพุทธศาสนาลักษณะเรียบง่ายที่อชันตามีการสร้างเพิ่มเติมต่อมาอีกราว ๒๐๐ ปี จนถึงราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๖ ก็ไม่ปรากฏร่องรอยการสร้างวัดถ้ำเช่นนั้นอีก ต่อจากนั้นอีก ๔๐๐ ปี จึงกลับมามีการสร้างวัดถ้ำอีกครั้งที่น่าสังเกต คือ การสร้างพระพุทธรูปไว้ในถ้ำดังกล่าวเพื่อสักการบูชาแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สร้างขึ้นตามคตินิยมของฝ่ายมหายานจากการศึกษาภาพแกะสลักหินที่ยังคงอยู่อย่างสมบูรณ์ภายในถ้ำนี้ ทำให้นักวิชาการสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวของพระพุทธศาสนาในอินเดียเป็นรูปเป็นร่างได้มากขึ้น
 

ภาพสลักพระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์และมีพระประสูติกาลเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งแสดงด้วยสัญลักษณ์พระแท่นเปล่าห้อมล้อมด้วยท้าวมหาราชทั้งสี่ศิลปะอมราวดี พุทธศตวรรษที่ ๕-๖ พิพิธภัณฑ์เชนไน อินเดีย

ที่มาhttps://s-media-cache-ak๐.pinimg.com/originals/55/1d/๐c/551d๐c14b72e4f085ab0774d485d9805.jpg

 


ภาพสลักพระพุทธเจ้าโปรดช้างนาฬาคิรีแสดงรูปพระพุทธเจ้ายกพระหัตถ์เหนือช้างตกมัน ศิลปะอมราวดียุคหลัง พุทธศตวรรษที่ ๙ พิพิธภัณฑ์เชนไน อินเดีย

ที่มา https://s-media-cache-ak0.pinimg.c o m / 7 3 6 x / b 5 / 0 8 / 2 4 / b 5 0 8 2 4 a c -030924064c3f354e7a13025a.jpg

 

ภาพสลักพิมพาพิลาปและพระราหุลขอราชสมบัติ ในภาพแสดงพระพุทธเจ้าด้วยบัลลังก์เปล่า พนักบัลลังก์มีสัญลักษณ์ไตรรัตน์ศิลปะอมราวดี พุทธศตวรรษที่ ๕-๖ พิพิธภัณฑ์เชนไน อินเดีย
ที่มา http://orias.berkeley.edu/visuals/buddha/11_lg.jpg

 

      ทางตอนล่างด้านตะวันออกของอินเดียในแถบลุ่มแม่น้ำกฤษณะและแม่น้ำโคทาวรีพระพุทธศาสนาได้ประดิษฐานอย่างมั่นคงในเมืองอมราวดี 2 ซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์สตวาหนะ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๔-๘ เมืองอมราวดีเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งในยุคนี้ หลักฐานทางโบราณคดีที่เหลืออยู่ชี้ให้เห็นว่า ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๕-๖ ภาพสลักที่แสดงถึงพระพุทธเจ้ามักแสดงด้วยสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ไม่ใช่พระพุทธรูป เช่น ดอกบัว ธรรมจักร สถูป ต้นโพธิ์ หรือบัลลังก์หลังจากนั้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ จึงเริ่มนิยมแสดงถึงพระพุทธเจ้าด้วยพระพุทธรูป

 

     พระภิกษุเสวียนจั้ง3 หรือพระถังซำจั๋งได้เดินทางมาถึงเมืองอมราวดีใน พ.ศ. ๑๑๘๓4และได้พักศึกษาพระอภิธรรมและบันทึกถึงความรุ่งเรืองของสถาปัตยกรรมพุทธศาสนาของดินแดนดังกล่าวเอาไว้

 

      หลังจากการล่มสลายของราชวงศ์สตวาหนะแล้ว ราชวงศ์อานธรอิกศวากุ5 ได้ปกครองดินแดนแถบนี้ระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ ๘ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๙ โดยตั้งเมืองหลวงที่เมืองวิชัยปุระหรือนาคารชุนโกณฑะ6 สมาชิกฝ่ายสตรีในราชวงศ์นี้เป็นพุทธมามกะได้สร้างวิหารเทวีและวิหารสิงหล7 ให้เป็นอาสนสถานของพระสงฆ์จากลังกา และสร้างชัยตยฆระ8 ถวายแด่ฝ่ายพระเถรีจากลังกาความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาของลังกาและอินเดียแถบอานธรประเทศในยุคนี้มีความใกล้ชิดกันเป็นอย่างมาก

 

     ต่อมาราชวงศ์ปัลลวะเข้ามาครอบครองดินแดนภาคใต้ของอินเดียในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙ ถึง ๑๕ มีเมืองกาญจิปุรัม9 เป็นเมืองหลวงในตอนบน และเมืองมทุไร10 เป็นเมืองหลวงในตอนล่างของอาณาจักร11 ในทำเนียบกษัตริย์ของราชวงศ์ปัลลวะ ซึ่งต้นราชวงศ์นับถือศาสนาพุทธ12 มีกษัตริย์ทรงพระนามว่าพุทธวรมัน ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๐๕๓ - ๑๑๕๓13 พระเจ้านรสิงหวรมันที่ ๑ ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๑๗๓-๑๒๑๑14

 

     พระภิกษุจีนเสวียนจั้งหรือพระถังซำจั๋งได้จาริกมาถึงเมืองกาญจิปุรัม ท่านบันทึกไว้ว่ามีอารามในพระพุทธศาสนา ๑๐๐ แห่ง และมีพระสงฆ์กว่าพันรูป นักปราชญ์สำคัญในศาสนาพุทธหลายท่านก็อาศัยอยู่ที่กาญจิปุรัมนี้ เช่นพระพุทธโฆษาจารย์ พระธรรมปาละ หลังจากราชวงศ์ปัลลวะแล้ว พระพุทธศาสนายังคงอยู่ในดินแดนแถบรัฐทมิฬนาฑูต่อไปจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐

 

     สิ่งที่ควรค่าแก่การทราบไว้ประการหนึ่ง คือ ในราชวงศ์ปัลลวะนี้มีระบบอักษรชนิดหนึ่งพัฒนาขึ้นจากอักษรพราหมี เป็นที่รู้จักกันในชื่ออักษรปัลลวะ ได้มีการใช้ภาษา15 และอักษรปัลลวะบันทึกถ่ายทอดพระพุทธประวัติในราวพุทธ-ศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ซึ่งต่อมาพุทธประวัติฉบับนี้ได้รับการแปลถ่ายทอดเป็นภาษาอาหรับ ซีเรีย กรีก ฮิบรู เอธิโอเปีย อาร์เมเนีย และละติน16
 

พุทธสถานถวายแด่พระสงฆ์จากลังกา นาคารชุนโกณฑะอานธรประเทศ อินเดีย พุทธศตวรรษที่ ๘-๙
ที่มา http://www.ixigo.com/nagarjunakonda-buddhiststupas-andhra-pradesh-india-ne-3019462

 

     นอกจากนี้อักษรปัลลวะยังเป็นอักษรชนิดแรกที่ดินแดนสุวรรณภูมิรับมาใช้ในการจารึกบนหลักศิลาจารึกโบราณต่าง ๆ ทั้งจารึกในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ พบว่าเริ่มใช้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ เป็นต้นมาอักษรปัลลวะนี้ได้เป็นต้นแบบอักษรต่าง ๆ เช่นอักษรชวา กวิ มอญ พม่า เขมร อักษรธรรมล้านนา อักษรไทย ลาว ไทยลื้อ ฯลฯ

 

     โบราณวัตถุรวมถึงศิลาจารึกคาถาในพระพุทธศาสนาทั้งภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐาน สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตลอดฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยตามเส้นทางการค้าขายในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ นี้อย่างชัดเจน

 

     เส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนายังมีเนื้อหามากมายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ผู้เขียนจะทยอยนำมาเสนอให้ทราบในฉบับต่อ ๆ ไป พร้อมกับจะนำผลงานของนักวิจัยสถาบันฯ ที่ค้นพบหลักฐานคำสอนดั้งเดิม ร่องรอยธรรมกายจากหลายแหล่งตามเส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนถึงปัจจุบันมานำเสนอด้วย

 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๕๖ เดือนตุลาคม ๒๕๕๘

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล