วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ คุณสมบัติของผู้บวชในพระพุทธศาสนา

DOU ความรู้สากล
เรื่อง : พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙

คุณสมบัติของผู้บวชในพระพุทธศาสนา

 

       ในช่วงฤดูร้อนของทุกปีจะมีโครงการบรรพชาและอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสที่เหล่ากุลบุตรจะได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ธรรมะและปฏิบัติธรรมเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต และเพื่อการเป็นพุทธบริษัท ๔ ที่ดี แต่การที่กุลบุตรจะบวชในพระพุทธศาสนาได้นั้น นอกจากจะต้องมีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาแล้ว ยังจะต้องมีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างแท้จริง ซึ่งพระพุทธองค์ทรงให้หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกกุลบุตรที่จะบวชไว้หลายประการ เพื่อให้การบวชเกิดประโยชน์แก่ผู้บวชและเป็นประโยชน์ต่อการสืบทอดพระพุทธศาสนา ดังนั้นเพื่อให้การทำหน้าที่ของยอดกัลยาณมิตรทุกคนที่กำลังไปเชิญชวนชายแมน ๆ มาบวชในภาคฤดูร้อนนี้เป็นไปอย่างเหมาะสมและได้บุญกันอย่างเต็มที่จึงขอนำคุณสมบัติของผู้บวชในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงให้หลักการเอาไว้ มาเป็นแนวทางในการคัดกรองกุลบุตรผู้มีศรัทธาเพื่อการบวชอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัยทั้งในการบวชเป็นสามเณรที่เรียกว่า “บรรพชา” และการบวชเป็นพระภิกษุที่เรียกว่า “อุปสมบท” โดยผู้ที่บรรพชาและอุปสมบทต้องมีคุณสมบัติที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้ ดังนี้
 

๑) บุคคลผู้ถูกห้ามอุปสมบทโดยเด็ดขาด

     ผู้ถูกห้ามอุปสมบทโดยเด็ดขาดมีอยู่ ๓ ประเภท คือ ผู้ที่มีเพศและภาวะบกพร่อง ผู้ที่เคยทำอนันตริยกรรม ๕ อย่าง และผู้ที่ทำผิดต่อพระพุทธศาสนา หากคณะสงฆ์ให้อุปสมบทไปโดยที่ไม่รู้ เมื่อทราบภายหลังจะต้องให้ลาสิกขา การห้ามอุปสมบทในที่นี้รวมถึงการห้ามบรรพชาเป็นสามเณรด้วย

     ประเภทที่ ๑ ผู้ที่มีเพศและภาวะบกพร่อง
๑)  บัณเฑาะก์ หมายถึง กะเทย
๒)  อุภโตพยัญชนก หมายถึง คนที่มีอวัยวะเพศ ๒ เพศ คือ มีทั้งเพศหญิงและเพศชายในคนเดียวกัน
๓)  สัตว์ดิรัจฉาน

     ประเภทที่ ๒ ผู้ที่เคยทำอนันตริยกรรม
๑)  ผู้ที่ฆ่าบิดา
๒)  ผู้ที่ฆ่ามารดา
๓)  ผู้ที่ฆ่าพระอรหันต์
๔)  ผู้ที่ทำร้ายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต
๕)  ผู้ที่ทำสังฆเภทคือทำสงฆ์ให้แตกกัน

     ประเภทที่ ๓ ผู้ที่ทำผิดต่อพระพุทธศาสนา
๑)  ผู้ที่เคยต้องอาบัติปาราชิก หมายถึง ผู้ที่เคยบวชแล้วแต่ทำผิดร้ายแรงถึงระดับที่ขาดจากความเป็นพระภิกษุ บุคคลประเภทนี้จะกลับมาบวชอีกไม่ได้
๒)  ผู้ที่ประทุษร้ายภิกษุณี
๓)  คนลักเพศ หมายถึง ปลอมบวช คือ เอาผ้าเหลืองมาห่มเองโดยไม่มีพระอุปัชฌาย์
๔) ผู้ที่ไปเข้ารีตเดียรถีย์ หมายถึง พระภิกษุ-สามเณรที่เปลี่ยนไปเป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนา จะกลับมาบวชไม่ได้


๒) ผู้ที่ไม่ควรได้รับการอุปสมบท

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงผู้ที่ไม่ควรได้รับการอุปสมบทไว้ ๒๐ ประการ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทแรก ได้แก่ ผู้ที่ไม่มีพระอุปัชฌาย์หรือผู้ที่พระอุปัชฌาย์มีปัญหา เช่น พระอุปัชฌาย์เป็นกะเทย, ไปเข้ารีตเดียรถีย์, พรอุปัชฌาย์เป็นอุภโตพยัญชนกเป็นลักเพศ ประเภทที่สอง ได้แก่ ผู้ที่ไม่มีบริขารเป็นของตนเอง คือ ไม่มีบาตรและจีวรบุคคลเหล่านี้ไม่ควรให้บวช หากภิกษุรูปใดบวชให้จะต้องอาบัติทุกกฎ1 แต่เมื่อใดบุคคลเหล่านี้สามารถหาพระอุปัชฌาย์ที่เหมาะสมได้และหาบริขารได้แล้วก็สามารถอุปสมบทได้


๓) ผู้ที่ไม่ควรได้รับการบรรพชา

     ผู้ที่ไม่ควรได้รับการบรรพชานั้นถือว่าเป็นผู้ไม่ควรได้รับการอุปสมบทด้วย เพราะอุปสมบทกรรมเป็นพิธีที่ต้องผ่านการบรรพชามาก่อน บุคคลที่ไม่ควรได้รับการบรรพชาแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ ผู้ที่มีพันธะและผู้ทำผิดกฎหมาย, ผู้พิการหรือมีอวัยวะไม่สมบูรณ์, ผู้ป่วยหนักหรือเป็นโรคร้ายแรง

     ประเภทที่ ๑ ผู้ที่มีพันธะและผู้ทำผิดกฎหมาย ได้แก่ มารดาบิดาไม่อนุญาต มีหนี้สินเป็นทาส ข้าราชการที่ไม่ได้รับอนุญาต โจรผู้ร้ายคนที่ถูกออกหมายจับ เป็นต้น

     ประเภทที่ ๒ ผู้พิการหรือมีอวัยวะไม่สมบูรณ์ ได้แก่ มือเท้าด้วน หูขาด นิ้วขาด เอ็นขาด จมูกแหว่ง นิ้วติดกันเป็นแผ่น ตาบอด ใบ้ หูหนวก ง่อย เปลี้ย คอพอก ค่อม เตี้ยเกินไปเท้าปุก ชรา ทุพพลภาพ รูปร่างไม่สมประกอบคนกระจอกคือฝ่าเท้าไม่ดีต้องเดินเขย่ง เป็นต้น

     ประเภทที่ ๓ ผู้ที่ป่วยหนักหรือเป็นโรคร้ายแรง ได้แก่ โรคอัมพาต โรคเรื้อรัง โรคเรื้อนโรคฝี โรคกลาก โรคลมบ้าหมู โรคมองคร่อ(โรคที่มีเสมหะแห้งอยู่ในก้านหลอดลม) โรคเหล่านี้ถือว่าเป็นโรคร้ายแรงในสมัยพุทธกาลผู้ที่ป่วยจึงไม่ควรที่จะเข้ามาบวช แต่ในปัจจุบันมีโรคร้ายแรงต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น โรคเอดส์เป็นต้น ผู้ป่วยโรคนี้ก็ไม่ควรให้บวชเช่นกัน


     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า หากพระอุปัชฌาย์ท่านใดให้บุคคลเหล่านี้บรรพชาจะต้องอาบัติทุกกฎ2 แต่ทั้งนี้ก็ไม่มีหลักฐานปรากฏว่า พระพุทธองค์ทรงมีพระประสงค์ให้บุคคลที่ได้รับการบวชแล้วลาสิกขาแต่อย่างใดในอรรถกถาบางแห่งกล่าวไว้ว่า หากสงฆ์ให้บุคคลเหล่านี้บวชแล้ว “ก็เป็นอันอุปสมบทด้วยดี”3 บุคคลดังกล่าวหากได้บวชแล้วจะสามารถดำรงเพศบรรพชิตอยู่ได้หรือไม่จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสงฆ์ในแต่ละวัด ถ้าหากข้อบกพร่องมีไม่มากก็คงให้บวชอยู่ได้ แต่ถ้าเห็นว่าหากให้บวชอยู่ต่อไปจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ที่ดีของสงฆ์ก็ควรให้ลาสิกขาไป

      จะเห็นว่าระบบระเบียบการคัดคนเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนานั้นระบุไว้อย่างละเอียดชัดเจนมาก จึงเป็นเครื่องชี้วัดว่า ผู้ที่จะมาบวชได้จะต้องมีความสมบูรณ์พร้อมจริง ๆ ทั้งเรื่องบุคลิกภาพและความประพฤติ ต้องเป็นคนที่สั่งสมบุญมาอย่างดีแล้ว มาบวชเพื่อหวังทำ   พระนิพพานให้แจ้งอย่างแท้จริง และจะได้เป็นที่พึ่งให้พระศาสนาได้ ไม่ได้มาบวชเพื่อหวังพึ่งพระศาสนา

      ดังนั้น ในการไปทำหน้าที่ชวนชายแมน ๆ มาบวช ก็อย่าลืมช่วยกันพิจารณาคุณสมบัติของผู้บวชแทนพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ด้วย เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระ และไม่ทำให้เสียความตั้งใจในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรถ้าหากผู้ที่ชวนมาบวชไม่ผ่านคุณสมบัติของการบวช

 

 


1พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑, มก. เล่ม ๖ ข้อ ๑๓๓ หน้า ๓๓๕-๓๓๖.
2พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑, มก. เล่ม ๖ ข้อ ๑๓๕ หน้า ๓๔๐.
3สมันตปาสาทิก อรรถกถาพระวินัยปิฎก มหาวรรค มก. เล่ม ๖ หน้า ๓๕๐.


ข้อมูลจาก GB 101 ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา
จัดติวบรรยายสรุป
๓ เมษายน ๒๕๕๙  
PD 006 แม่บทแห่งธรรม     ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น.
PD 007 พุทธธรรมทีปนี ๑  ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น.

๙ เมษายน ๒๕๕๙
SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี  ๐๙.๐๐-๑๑.๐๐ น.
MD 101 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสมาธิ  ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น.
GL 305 ปฏิปทามหาปูชนียาจารย์  ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น.

๑๖ เมษายน ๒๕๕๙ 
PD 005 พระไตรปิฎกเบื้องต้น  ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น.

๒๓ เมษายน ๒๕๕๙
PD 002 สูตรสำเร็จการสร้างบารมีเป็นทีม  ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น.
MD 408 วิปัสสนากัมมัฏฐาน  ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น.
GL 101 จักรวาลวิทยา  ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น.

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๖๒ เดือนเมษายน ๒๕๕๙

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล