วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ สมุดไทย...ทรงไว้ซึ่งสรรพศาสตร์ และอัจฉริยภาพเชิงศิลป์

บทความน่าอ่าน
เรื่อง : Tipitaka (DTP)

สมุดไทย...ทรงไว้ซึ่งสรรพศาสตร์ และอัจฉริยภาพเชิงศิลป์

สมุดไทย...ทรงไว้ซึ่งสรรพศาสตร์ และอัจฉริยภาพเชิงศิลป์ , อยู่ในบุญ , วารสาร , อยู่ในบุญตุลาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย

      คัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกเป็นงานเขียนบันทึกโบราณที่ทางโครงการพระไตรปิฎก ฉบับวิชาการ มุ่งออกเดินทางสำรวจ ค้นหา และถ่ายภาพบั7นทึกไว้เพื่ออนุรักษ์สืบทอดเก็บไว้เป็นหลักฐานทางวิชาการต่อไปในภายภาคหน้า เพราะเป็นผลงานที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาโดยตรงทั้งยังเป็นสมบัติของแผ่นดินที่เปี่ยมคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และโบราณคดี ขณะเดียวกันได้สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม ความเชื่อ สภาพสังคม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษไทยที่นับวันจะเสื่อมสลายไปโดยไม่มีใครตระหนักถึงความสำคัญ


สมุดไทย...ทรงไว้ซึ่งสรรพศาสตร์ และอัจฉริยภาพเชิงศิลป์ , อยู่ในบุญ , วารสาร , อยู่ในบุญตุลาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย

      การออกสำรวจแหล่งคัมภีร์ใบลานในจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทยทำให้พบว่านอกจากหนังสือใบลานที่บรรพบุรุษไทยนำใบจากต้นลานมาใช้จารจารึกเรื่องราวต่าง ๆ แล้วหลายครั้งยังพบสมุดไทยเก็บรักษารวมไว้กับหนังสือใบลานอีกด้วย แม้ส่วนใหญ่สมุดไทยมีความเก่าแก่น้อยกว่าหนังสือใบลาน แต่ก็จัดเป็นแหล่งอ้างอิงสรรพวิชาที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งที่บันทึกเรื่องราวในอดีต อาทิ เรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ตำราเวชศาสตร์ ตำราพิชัยสงคราม ตำราโหราศาสตร์ และวรรณคดีพื้นบ้าน เป็นต้น มีทั้งสมุดไทยฉบับหลวงที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นและฉบับราษฎร์ที่สร้างโดยพระภิกษุสงฆ์หรือชาวบ้านทั่วไป สำหรับสมุดไทยที่เป็นฉบับหลวงนั้นมีความงดงามอย่างยิ่งด้วยเป็นผลงานวิจิตรศิลป์ของฝีมือช่างหลวงที่มีประสบการณ์และมีความรู้ในเรื่องที่เขียนอย่างดี ในขณะที่สมุดไทยที่พบตามวัดหรือหอสมุดทั่วไปอาจมีความวิจิตรไม่เท่าฉบับหลวง แต่สมุดไทยฉบับราษฎร์บางเล่มก็นับว่ามีความงดงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน


สมุดไทย...ทรงไว้ซึ่งสรรพศาสตร์ และอัจฉริยภาพเชิงศิลป์ , อยู่ในบุญ , วารสาร , อยู่ในบุญตุลาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย

ตำราคชศาสตร์ ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

 

     พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ สร้างในปีพระนารายณ์มหาราช เป็นสมุดไทยฉบับเก่าแก่ที่สุดเก็บรักษาไว้เหตุการณ์ตั้งแต่แรกสถาปนากรุงศรีอยุธยาจนถึงรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชสามารถใช้เป็นหลักฐานสันนิษฐานย้อนไปได้ว่า สังคมไทยน่าจะรู้จักประดิษฐ์กระดาษเพื่อใช้บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ มาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยาตอนกลางโดยในอดีตบรรพบุรุษไทยผลิตกระดาษจากเยื่อไม้ของพันธุ์ไม้พื้นบ้านที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นจึงเป็นที่มาของชื่อเรียกสมุดไทยที่แตกต่างกันไปตามวัสดุที่นำมาใช้ สมุดไทยที่ทำจากเปลือกข่อย ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ทำกระดาษทั่วไปในหลายภาค เรียกว่าสมุดข่อย ส่วนสมุดไทยที่ทำจากเปลือกของต้นสา เรียกว่า "พับสา" เป็นที่นิยมในภาคเหนือ ชาวเหนือออกเสียงว่า "ปั๊บสา"


สมุดไทย...ทรงไว้ซึ่งสรรพศาสตร์ และอัจฉริยภาพเชิงศิลป์ , อยู่ในบุญ , วารสาร , อยู่ในบุญตุลาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย

สมุดไทยดำ ตำราพิชัยสงคราม ว่าด้วยการออกรบ

    ขั้นตอนในการทำกระดาษเริ่มจากนำเปลือกไม้แช่น้ำให้เปื่อย ฉีกเป็นฝอย หมักแล้วนึ่งจนยุ่ย นำมาทุบให้ละเอียด แล้วหล่อขึ้นรูปเป็นกระดาษ นำไปตากให้แห้ง จากนั้นทาด้วยแป้งเปียกผสมน้ำปูนขาว จะได้กระดาษสีขาวตามธรรมชาติ เรียกว่า "สมุดไทยขาว" หากทาด้วยแป้งเปียกผสมเขม่าไฟหรือถ่านบดละเอียดจะได้กระดาษสีดำ เรียกว่า "สมุดไทยดำ" เมื่อตากแดดจนแห้งสนิทแล้วจะได้กระดาษแผ่นใหญ่ นำกระดาษแต่ละแผ่นมาต่อกันด้วยแป้งเปียกจนเป็นแผ่นยาว พับทบกลับไปกลับมาเป็นเล่มสมุดตามขนาดความกว้างยาวและจำนวนหน้าที่แตกต่างกันไป สมุดพระอภิธรรมและบทสวดพระมาลัยมีขนาดใหญ่และมีจำนวนหน้ามากเป็นพิเศษ


สมุดไทย...ทรงไว้ซึ่งสรรพศาสตร์ และอัจฉริยภาพเชิงศิลป์ , อยู่ในบุญ , วารสาร , อยู่ในบุญตุลาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย

สมุดไทยขาววัดศาลาเขื่อน เรื่องพระมาลัย ยาว ๖๓.๗ ซม. กว้าง ๑๒.๗ ซม. หนา ๘ ซม.

     เรื่องราวที่ปรากฏในสมุดไทยทั้งด้านหน้าและด้านหลังเขียนด้วยหมึกจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ตามพื้นบ้าน สำหรับสมุดไทยขาวเขียนด้วยน้ำหมึกสีดำที่ได้จากเขม่าไฟบดผสมกาวยางมะขวิดหากเป็น สมุดไทยดำ เขียนด้วยหินดินสอหรือน้ำหมึกขาวที่ได้จากเปลือกหอยมุกฝนละเอียด นอกจากนี้ยังมีสีแดงจากชาดสีเหลืองจากยางไม้ผสมแร่ และสีทองจากทองคำเปลวที่ใช้เขียนได้ทั้งสมุดไทยขาวและสมุดไทยดำ ก่อนลงมือเขียนจะต้องขีดเส้นบรรทัดให้เป็นรอยโดยเว้นระยะช่องไฟให้เสมอกันตลอดทั้งเล่ม ส่วนใหญ่มี ๓-๔ บรรทัดต่อหน้าโดยเขียนอักษรใต้เส้นบรรทัด ไม่ได้เขียนเหนือเส้นบรรทัดอย่างปัจจุบัน


สมุดไทย...ทรงไว้ซึ่งสรรพศาสตร์ และอัจฉริยภาพเชิงศิลป์ , อยู่ในบุญ , วารสาร , อยู่ในบุญตุลาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย

สมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวง สมัยธนบุรี กล่าวถึงอริยบุคคล ๘ ประเภท

     เนื่องจากสมุดไทยมีรูปลักษณ์ ขนาดกว้าง ยาว ความหนา และวัสดุที่นำมาเขียนหลากหลายบางครั้งจึงเรียกสมุดไทยตามประโยชน์ใช้สอย สมุดไทยที่เกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาและใช้ในพิธี ได้แก่ สมุดพระอภิธรรม บันทึกบทสวดพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ย่อ สำหรับพระภิกษุใช้สวดในงานศพ สมุดสวดพระมาลัย บันทึกเรื่องราวที่ปรากฏในคัมภีร์ "มาลัยสูตร" เป็นพระสูตรนอกพระไตรปิฎก กล่าวถึงพระอรหันต์รูปหนึ่งที่มีฤทธิ์สามารถเดินทางไปนรก สวรรค์และไปสนทนากับพระศรีอาริย์ได้ ในอดีตบทสวดพระมาลัยใช้สวดในงานมงคล เช่นงานแต่งงาน แต่ต่อมาใช้สวดในงานศพ และสมุดไตรภูมิพระร่วงบันทึกเรื่องราวนรกสวรรค์ใช้สอนให้คนเข้าใจบาปบุญคุณโทษ หมั่นสร้างความดีและละเว้นจากการทำชั่ว สมุดไทยที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนานี้มักมีภาพจิตรกรรมประกอบที่งดงาม แสดงถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานและความเคารพในพระรัตนตรัยของผู้สร้างถวาย


สมุดไทย...ทรงไว้ซึ่งสรรพศาสตร์ และอัจฉริยภาพเชิงศิลป์ , อยู่ในบุญ , วารสาร , อยู่ในบุญตุลาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย

     กว่าจะได้หนังสือใบลานสักมัด สมุดไทยสักเล่ม ต้องอาศัยความตั้งใจในการทำตั้งแต่การตัดเปลือกไม้มาทำกระดาษ การบันทึกเนื้อหาผ่านอักขระทุกตัว จนถึงการตกแต่งด้วยภาพประกอบประณีตศิลป์ไทย ก่อเกิดเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าทั้งทางสรรพศาสตร์ที่บันทึกสืบต่อกันมาหลายยุคสมัย และความงดงามของงานศิลป์ไทยที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ แม้วันนี้เส้นอักษรและลวดลายของสีหมึกที่แต่งแต้มอาจจะซีดจางไปบ้างตามกาลเวลา แต่ความภาคภูมิใจในอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษไทยจะยังคงเด่นชัดไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นการอนุรักษ์หนังสือใบลานและสมุดไทยจึงเป็นโครงการสำคัญที่ควรได้รับการสนับสนุนให้กระทำอย่างเร่งด่วนก่อนสรรพศาสตร์และความงามของวิจิตรศิลป์ไทยเหล่านี้จะผุพังไปอย่างน่าเสียดาย


 


ก่องแก้ว วีระประจักษ์, การทำสมุดไทยและการเตรียมใบลาน. กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติกรมศิลปากร, ๒๕๕๓.

บุญเตือน ศรีวรพจน์, ประสิทธิ์ แสงทับ, สมุดข่อย. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๔๒. สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร, วิวัฒน์การอ่านไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ๒๕๕๖.

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๖๙ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล