วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ มาด้วยใจ อยู่ได้ด้วยรัก

ลูกหลวงพ่อ
เรื่อง : กลุ่มดาวมีน

 มาด้วยใจ อยู่ได้ด้วยรัก

 

    มาด้วยใจ อยู่ได้ด้วยรัก,เนื้อนาใน,อยู่ในบุญ

    อดีตสามเณรยุวธรรมทายาทรุ่นบุกเบิก บวช ตั้งแต่ ๑๐ ขวบ รักพระพุทธศาสนาเป็นชีวิตจิตใจ เปิดฉากการเรียนบาลีไม่เข้าตากรรมการ แต่สู้จนได้เป็นนาคหลวง  ดูแลสามเณรด้วยประสบการณ์ครบเครื่อง แต่บอกตัวเองว่า “ยังต้องทำให้ดีกว่านี้ ” นี้แหละ พระมหาสุวิทย์ ธมฺมิกมุนิ นาคหลวง รูปที่ ๓ ของวัดพระธรรมกาย พรรษา ๑๖

     พระมหาสุวิทย์เข้าอบรมเป็นสามเณรยุวธรรมทายาทรุ่นแรก (พ.ศ. ๒๕๓๑) โดย รั้งตำแหน่งน้องเล็กของรุ่น
เมื่อได้สัมภาษณ์ท่านแล้ว เรารู้สึกเลยว่า แบบนี้เองที่เขาเรียก “born to be”

     “หลวงพี่เคยบวชตอน ๙ ขวบ บวชแล้ว รู้สึกผูกพันกับวัด จะผูกอย่างไรไม่รู้ รู้แต่ว่าไม่อยากสึก เลยยืดเวลาสึกออกไป วันรุ่งขึ้นจะเปิดเทอมถึงยอมสึก

      “ก่อนสึกใคร ๆ ก็ไว้ผมกัน แต่วันสึกหลวงพี่โกนผมจนเกลี้ยงเลย ตอนไปโรงเรียนอาจจะดูแปลกตา แต่หลวงพี่กลับรู้สึกดี “สึกออกไปแล้ว ใจยังวนเวียนอยู่กับวัดพอจบ ป.๔ เลยกลับมาบวชอีก ช่วงแรกๆโยมพ่อโยมแม่เป็นห่วง อยากให้สึก เพราะว่ายังเด็กมาก แต่เราขอบวชต่อ”

       

การอบรมสามเณรยุคนั้นกับยุคนี้ต่างกันมาก ไหมคะ ?

      “สมัยนั้น ความเป็นอยู่ลำบากกว่ายุคนี้ ช่วงอบรมยุวธรรมทายาทต้องกางกลดอยู่บนลานหินเกล็ดโล่ง ๆ ไม่มีต้นไม้เลย ร้อนก็ร้อนบางทีเวลานอนมีคางคกหรืออึ่งอ่างเข้ามาในกลดด้วย นอน ๆ ไปมันก็ดิ้นอยู่ในย่าม ก็อยู่กันมาแบบนี้

      “การอบรมในยุคนั้นฝึกอยู่ ๓ เรื่อง หลัก ๆ คือ ความเคารพ วินัย อดทน ตอนนั้นหลวงพี่อายุน้อยที่สุด แค่ ๑๐ ขวบ แต่การฝึกเสมอภาคกัน ไม่ได้แบ่งเด็กเล็กหรือเด็กโตทุกอย่างต้องทำเป็นหมู่คณะ มีระบบระเบียบ
กิจวัตรกิจกรรมก็เข้มงวด”

      เมื่อใช้ชีวิตในโครงการอบรมครบ ๓ เดือน สามเณรธรรมทายาทก็เปลี่ยนสถานะมาเป็นสามเณรประจำ และย้ายมาอยู่ที่กุฏิจาก “สามเณรประจำต้องฝึกตัวผ่านกิจวัตร กิจกรรมต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่ตื่นนอน ๐๔.๓๐ น.จนกระทั่งเข้านอนเวลา ๒๒.๐๐ น. กิจกรรม ในแต่ละวันมีการสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น นั่งสมาธิ เข้าแถวเช็กชื่อ ปฏิญาณตนตอกย้ำเป้าหมายชีวิต ตั้งแถวไปหอฉัน เรียนหนังสือ ท่องหนังสือ ฉันปานะร่วมกัน ทำความสะอาด
บริเวณที่พัก ออกกำลังกาย ฟังโอวาท ฯลฯ”

      ในช่วงแรก ๆ ที่สามเณรน้อยอยู่วัดได้ประมาณครึ่งปี ทางบ้านก็ยังเป็นห่วง มาตามให้สึกอยู่เรื่อย แต่ท่านไม่อยากสึก เพราะว่ารักวัด อยากอยู่ที่วัด

       

แต่ก็คงคิดถึงบ้านเหมือนกัน?

       “ตอนมาบวชใหม่ ๆ คิดถึงบ้านเหมือนสามเณรเล็ก ๆ ทั่วไป ที่ช่วยได้มากคือการมี กิจวัตรต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาคิดอะไร แต่ถ้าตอนไหนคิดถึงบ้านขึ้นมา ก็จะไปทำงานกับเพื่อน ๆ ทำให้ลืมไปได้”

คิดว่าอะไรทำให้อยู่มาได้เรื่อย ๆ คะ ?

       “ระบบการหล่อหลอมของวัดเราปลูกฝังให้เห็นคุณค่าของชีวิตสมณะและการสร้างบุญบารมี โดยมีหลวงพ่อเป็นต้นบุญต้นแบบ พระอาจารย์และพระพี่เลี้ยงคอยอบรม ดูแลประคับประคอง มีเพื่อนที่คุ้นเคยกัน ทำสิ่งต่าง ๆไปด้วยกัน ทำให้เราไม่เบื่อ กิจกรรมก็มีให้ทำทั้งวัน ทำให้ไม่มีเวลาฟุ้งซ่าน หลวงพี่อยู่มาจะ๓๐ ปีแล้ว ยังรู้สึกเหมือนอยู่มาแป๊บเดียว”

      อีกอย่างหนึ่ง การที่พระมหาสุวิทย์ชอบวิถีชีวิตของสมณะอยู่แล้ว ก็มีส่วนช่วยให้ท่านอยู่กับชีวิตแบบนี้ไปได้เรื่อย ๆ อย่างเป็นธรรมชาติ เสมือนนกที่เกิดมาก็ต้องโบยบินหรือปลาที่เกิดมาก็ต้องแหวกว่ายในน้ำ

         

   

การเรียนบาลีของหลวงพี่ราบรื่นดีใช่ไหมคะ?

        “หลวงพี่ไม่ใช่คนเก่ง เรียนบาลีชั้นแรกสอบตก ๒ ปีซ้อนเลย ปีแรกสอบตกสนามวัดปีถัดไปตกสนามหลวง เพื่อน ๆ จบประโยค๓ กันแล้ว หลวงพี่ยังอยู่ที่เดิม”

          เทพระดับนาคหลวงเคยมีวันนี้ด้วย ? บาลีคงจะยากจริง ๆ เราคิดไปเรื่อย

          ในเมื่อสงสัยแล้ว เลยกราบเรียนถาม ท่านไปว่า เรียนบาลียากตรงไหน ?

          “การเรียนบาลีต้องใช้ทั้งความจำและความเข้าใจ ในเรื่องความจำ เราต้องจำเนื้อหามากมาย เริ่มแรกก็ต้องท่องไวยากรณ์ภาษา บาลีให้ได้ทั้งเล่ม จำบาลีทั้งเล่มไม่ง่ายนะ ต้องท่องตั้งหลายเดือน ขนาดเราสวดธรรมจักรกันบทเดียว ยังสวดตั้งนานกว่าจะจำได้ใช่ไหม

          “ท่องได้แล้วยังต้องมาทำความเข้าใจอีก เรื่องความเข้าใจก็ยาก เพราะว่าสำนวนต่าง ๆ เป็นภาษาเก่าแก่ ขนาดแปลมาเป็นภาษาไทยแล้วยังเข้าใจยากเลย ยิ่งประโยคสูง ๆ เนื้อหายิ่งเข้มข้น สำนวนยิ่งยาก หนังสือ
ก็หนาขึ้น

           

   “พอถึงประโยค ๙ ซึ่งเป็นเรื่องการปฏิบัติยิ่งยากขึ้น ถ้าใครเรียนแต่ทฤษฎีจะนึกภาพ ไม่ค่อยออก แต่ว่าที่วัดเราหลวงพ่ออยากให้ลูกพระและลูกเณรถึงพร้อมทั้งปริยัติ ปฏิบัติปฏิเวธ ท่านจึงให้เราทำสมาธิควบคู่ไปด้วยเวลาแปลหนังสือเลยเข้าใจง่ายขึ้น”

      นอกจาก ๒ เรื่องนี้แล้ว ยังมีปัจจัยอื่น มากำหนดให้การเรียนบาลียากขึ้นด้วย “และเนื่องจากภาษาบาลีเป็นภาษาที่รักษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การเรียนการสอนจึงต้องเข้มข้น เพื่อให้นักเรียน มีความรู้จริง ๆ จะได้ไม่ไปตีความพระไตรปิฎกผิด ๆ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อพระพุทธศาสนาความเข้มข้นนี้ยังรวมไปถึงการสอบวัดผลด้วยคือเวลาสอบจะทำข้อสอบผิดได้ไม่เกิน ๑๒คะแนน ถ้าเกินก็ตก และศัพท์บางตัวถ้าใช้ผิด
จะถูกหักทีเดียว ๖ คะแนนเลย ผู้ที่สอบผ่านแต่ละประโยคจึงต้องมีความรู้แน่นและแม่นจริงๆ” 

     แม้ว่านี้เป็นแค่เรื่องย่อๆ ของความยาก แต่ก็ช่วยให้เข้าใจนักศึกษาภาษาบาลีได้ดีขึ้น ทั้งผู้ที่สอบผ่านและยังไม่ผ่าน

 อายุมีผลกับการเรียนหรือไม่ ?     
     “ถ้าอายุมากอาจมีปัญหาเรื่องความจำ แต่การทำความเข้าใจไมยาก ส่วนเด็กตรงข้ามกัน เด็กเข้าใจยาก แต่ความจำดี ตอนนั้นที่หลวงพี่สอบตก หลวงพี่อายุยังน้อย ท่องหนังสือเก่ง แต่เรียนไม่เข้าใจ”

  อยากทราบเทคนิคการเรียน
     “ถ้าจะเรียนบาลีให้ได้ผลดี หลัก ๆ ก็คือ
      ๑. ต้องทุ่มเวลาให้ ๒. ความจำต้องดี ๓. ต้องมีความขยัน

 
      “สำหรับผู้ที่สอบไม่ผ่าน ก็ไม่ควรท้อแท้ควรมุ่งมั่นดูหนังสือต่อไป แล้วผลจะออกมาดีเอง ตามเหตุที่เราประกอบ

      “ตอนที่หลวงพี่สอบตก ๒ ปีซ้อน ก็รู้สึกว่าเพื่อนที่เรียนด้วยกันค่อย ๆ ทิ้งเราไป แต่ปลอบใจตัวเองว่า ถ้าเราเรียนไม่หยุด ดูหนังสือทุกวัน เดี๋ยวก็ทันเพื่อน หลวงพี่เลยตั้งใจท่องหนังสือ ให้เวลากับการเรียนเต็มที่ พอสอบผ่านประโยค ๓ แล้ว คราวนี้ยิงยาวเลย ไปตกอีกทีประโยค ๘-๙ เพราะความรู้เราไม่พอ”

       

พลิกสถานการณ์มาเป็นนาคหลวงได้อย่างไรคะ ?

      “ตอนที่หลวงพี่ตกประโยค ๘ หลวงพ่อเมตตามาดูแลใกล้ชิดเลย ท่านมาถามทีละรูปว่าทำไมถึงตก จนกระทั่งเจอข้อสรุปว่าพวกเรารู้ไวยากรณ์ไม่หมด ท่านเลยให้เราท่องให้ฟังทุกวัน ประมาณ ๖ โมงเย็นท่านจะมาฟัง“ตอนนั้นหลวงพี่เป็นประธานสามเณรต้องไปนำท่องไวยากรณ์ให้ท่านฟังจนกระทั่งจำได้หมด ปีนั้นเลยสอบได้”

     ด้วยการดูแลเอาใจใส่และสนับสนุนของหลวงพ่อทั้งสอง ทำให้กระแสการเรียนบาลี แพร่สะพัดในวัดพระธรรมกาย จนกระทั่งมีผู้สอบผ่านเปรียญธรรมประโยคต่างๆได้ เป็นจำนวนมาก รวมทั้งพระมหาสุวิทย์หรือสามเณรสุวิทย์ ธีรเนตร ในขณะนั้น ซึ่งสามารถสอบประโยค ๙ ได้ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ และได้เป็นนาคหลวงด้วย

     “นาคหลวง” คือ ผู้ที่สอบได้เปรียญธรรม๙ ประโยคขณะยังเป็นสามเณร และได้รับการอุปสมบทในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว) โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าภาพในการอุปสมบท

      “ตอนที่ได้ ป.ธ. ๙ หลวงพี่ยังเป็นสามเณรอยู่ จึงได้เป็นนาคหลวง ได้บวชที่วัดพระแก้ว โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเจ้าภาพในการบวช และยังได้รับพระบรมราชูปถัมภ์ตลอดชีวิตด้วย ซึ่งถือกัน
ว่าเป็นเกียรติ เป็นศักดิ์ศรี

      “หลังจากเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดพระแก้วแล้ว หลวงพี่ก็กลับวัดพระธรรมกาย พอมาถึงเจอหลวงพ่อนั่งรออยู่หน้าโบสถ์ หลวงพ่อท่านชอบสามเณรนาคหลวง ท่านอยากสร้างต้นแบบขึ้นมาให้สามเณรรุ่นหลังได้เห็นเป็น
แรงบันดาลใจในการเล่าเรียน

     “ตอนนั้น หลวงพ่อไม่ค่อยสบายแล้ว ท่านจึงไม่ได้ลงจากรถ หลวงพี่ไปกราบท่านหน้าประตูรถเลย ส่วนหลวงพ่อทัตตชีโวอยู่ในพิธีมุทิตานาคหลวงในโบสถ์”

   

 เรียนจบแล้ว รับหน้าที่อะไรบ้างคะ ?

     “เราโตมาบนเส้นทางนี้ มีทั้งความเข้าใจและประสบการณ์ จึงได้รับมอบหมายให้เป็นพระพี่เลี้ยงดูแลสามเณรตั้งแต่วันแรกที่บวชพระ และต่อมาได้สอนภาษาบาลีด้วย”

  เป็นงานที่ชอบ ?
    “ใช่ หลวงพี่รักชีวิตสามเณรและสถานที่นี้มาก คิดว่าถ้าบวชแล้วจะมาเป็นพระพี่เลี้ยงสร้างน้องสามเณรรุ่นถัดไป
     
    “ตอนเป็นสามเณร เราเห็นหลวงพ่อเอาใจใส่และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสามเณรมาตลอด ท่านบอกว่า ‘สามเณรเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา เป็นความเป็นความตายของพระศาสนา’ เพราะว่าสามเณรได้รับการปลูกฝังทั้งพุทธประวัติและพระธรรมคำสอนมาตั้งแต่เด็ก ทุกอย่างค่อย ๆ ซึมซับเข้าไปในชีวิตจิตใจ ทำให้รักชีวิตสมณะและพระพุทธศาสนามาก
 
    “หลวงพ่อเคยสั่งไว้ด้วยว่า ‘ตั้งใจดูแลน้องให้ดีนะลูก ให้ถ่ายทอดสิ่งที่เราฝึกตัวเองมา และที่เราได้ยินได้ฟังจากหลวงพ่อให้น้องรุ่นหลัง ๆ ฟัง หลวงพ่อไม่มีเวลา’ ทำให้เรายิ่งอยากมาอยู่ในจุดนี้ เพื่อสร้างบุคลากรขึ้นมาดูแลรักษาพระพุทธศาสนาต่อไป เหมือนที่หลวงพ่อ พระอาจารย์ และพระพี่เลี้ยงเมตตาสร้างเรามา”

 ดูแลสามเณรมากมาย มีวิธีอบรมอย่างไร ?

     “อบรมด้วยศีล ด้วยธรรม หล่อหลอมโดยยึดตามพระธรรมวินัยและกฎระเบียบของวัด แล้วอาศัยความเมตตาเคี่ยวเข็ญสั่งสอน อบรม แก้ไขปัญหากันไป เราคิดว่า เด็กมาถึงหลวงพ่อแล้ว ต้องมีบุญระดับหนึ่ง คราวนี้อยู่ที่ความสามารถของเราแล้ว ว่าจะอบรมได้ดีขนาดไหน”

     การดูแลสามเณรปีละนับร้อยรูปไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แต่พระมหาสุวิทย์และทีมงานพระพี่เลี้ยงมีความพร้อมและมีใจเต็มร้อยกับการทำหน้าที่ดูแลประคับประคอง “รากแก้วของพระพุทธศาสนา” ให้เติบโตขึ้นมาอย่าง
มีคุณภาพ ทำให้สามเณรจำนวนมากมีกำลังใจบวชเรียนไปจนกระทั่งได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วอยู่เป็นกำลังของวัดและพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน

 ผลงานน่าปลื้มใจ รู้สึกอย่างไรบ้างคะ ?

    “คิดว่ายังต้องทำให้ดีกว่านี้ เพราะว่าสามเณรเป็นผู้ที่จะรักษาวัดและพระศาสนาต่อไป ถ้าเราทำตรงนี้ได้ดี ในอนาคตวัดเรา ก็จะอยู่ได้ แต่ถ้าเราทำได้ไม่ดี ในอนาคตหากวัดเกิดปัญหาขึ้น ส่วนหนึ่งถือเป็นความบกพร่องของเรา ฉะนั้นเราต้องทำให้ดีกว่านี้ เพื่อสร้างสามเณรที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น”

 มาถึงวันนี้แล้ว รู้สึกอย่างไรกับชีวิตบ้างคะ?

     “หลวงพี่อยู่วัดมาตั้งแต่ ๑๐ ขวบ ตอนนี้อายุจะ ๔๐ ปีแล้ว เกือบ ๓๐ ปีที่อยู่วัดรู้สึกรักวัด รักหมู่คณะ และภูมิใจในตัวเองในหมู่คณะ ในองค์กร เพราะว่าสิ่งที่หมู่คณะเราทำล้วนแต่เป็นบุญ เป็นบารมี และเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา แก่ชาวโลกหลวงพ่อและครูบาอาจารย์ท่านทำให้ดูเป็นตัวอย่าง พอเราเห็น เราก็เกิดความศรัทธาในตัวท่าน ทำให้รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะนี้”

     

ขอคำถามสุดท้ายนะคะ การเรียนบาลีสำคัญอย่างไรบ้าง ?

      “สิ่งที่เราเรียนเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราได้เห็นชีวิตของท่าน ที่โลดแล่นอยู่ในเนื้อหา เห็นความยิ่งใหญ่จิตใจที่ประเสริฐ และความเพียรในการสร้างบารมีของท่าน ซึ่งล้วนแต่ใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน
ทำให้รู้สึกประทับใจและศรัทธาอย่างลึกซึ้งในพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา

      “สมัยเด็ก ๆ เรายังเคยอยากจะเป็นพระพุทธเจ้าเลย จึงพยายามปฏิบัติตามท่าน การเรียนบาลีจึงสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสามเณร เพราะเป็นการปลูกฝังความรักในพระพุทธศาสนาตั้งแต่เยาว์วัย เป็นการสร้างความมั่นคงแก่พระศาสนา  

       “การเรียนบาลียังทำให้เราไม่หลงทางด้วย เพราะเราได้เรียนมาจากพระไตรปิฎกโดยตรง ว่าพระพุทธเจ้าสั่งสอนอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร เราจะได้น้อมนำความรู้ที่ถูกต้องมา ฝึกฝนและพัฒนาชีวิตเราให้บรรลุประโยชน์
ที่ควรจะได้รับ ในฐานะที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา

      “ที่สำคัญ การเรียนบาลีเป็นการรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าเอาไว้ และยังนำไปเทศน์เผยแผ่ศาสนาได้ด้วย ซึ่งเป็นการสืบต่ออายุพระศาสนาให้ยืนยาว หลวงพี่จึงอยากให้พระภิกษุ-สามเณรให้ความสำคัญกับการเรียนบาลี เพราะว่าหากเราไม่เห็นคุณค่าของภาษาบาลี ก็คงยากจะมีใครมาสนใจให้ความสำคัญ”
    
   มนุษย์เราหากเกิดมาเพื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว จะให้ไปทำอย่างอื่นก็คงไม่ใช่ เพราะว่าการได้ทำสิ่งที่ตนรักนอกจากจะมีความสุขแล้ว ผลงานที่เกิดจาก “ฉันทะ” ยังมักไม่ธรรมดาอีกด้วย ดังเช่น พระมหาสุวิทย์ ธมฺมิกมุนิที่ออกบวชด้วยใจรัก เมื่อบวชแล้วก็แปรเปลี่ยน“ความรักในสมณเพศ” ซึ่งเป็นเพียงนามธรรมให้ปรากฏเป็นรูปธรรม ด้วยการตั้งใจเรียนจนจบเปรียญธรรม ๙ ประโยค ได้เป็นนาคหลวงแล้วนำความรู้ความสามารถมาดูแลสามเณรรุ่นแล้วรุ่นเล่าให้เติบโตขึ้นมาเป็นลมหายใจ ของพระพุทธศาสนาสืบไป
      

     
   

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๗๖ เดือนสิงหาคม ๒๕๖๐

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล