วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หลวงพ่อตอบปัญหา : ทำอย่างไรจึงจะฝึกจิตใจให้พ้นจากทุกข์ภัยในการดำเนินชีวิตได้ ?

หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

หลวงพ่อ ตอบปัญหา

อยู่ในบุญ , วัดพระธรรมกาย , ธรรมกาย , วารสาร , หนังสือ , หนังสืออยู่ในบุญ , หนังสือธรรมะ , บุญ , หลวงพ่อธัมมชโย , หลวงพ่อทัตตชีโว , พระมงคลเทพมุนี , case study , ฝันในฝัน , สื่อธรรมะ , วิชชาธรรมกาย , ธรรมกายเจดีย์ , สวดธรรมจักร , ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร , world peace , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , พระพุทธเจ้า , พุทธพจน์ , คำสอนหลวงปู่ , คำสอนคุณยาย , คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย , อยู่ในบุญเดือนมีนาคม2561 , สมาธิ , หยุดเป็นตัวสำเร็จ , พระพุทธศาสนา , 072 , หยุดใจ , ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 หลวงพ่อตอบปัญหา : ทำอย่างไรจึงจะฝึกจิตใจให้พ้นจากทุกข์ภัยในการดำเนินชีวิตได้ ?

คำถาม : ทำอย่างไรจึงจะฝึกจิตใจให้พ้นจากทุกข์ภัยในการดำเนินชีวิตได้ ?

หลวงพ่อทัตตชีโว : ทุกวันนี้การดำเนินชีวิตเต็มไปด้วยความเร่งรีบแข่งขันกันทำมาหากิน คนส่วนใหญ่ก็คิดแต่ว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอา แล้วก็ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการเบียดเบียนกัน การที่เราจะฝึกจิตใจให้พ้นสภาพทุกข์นั้น จำเป็นต้องเสียสละหลวงพ่อ ตอบปัญหาเวลามาปฏิบัติธรรม เพื่อศึกษาเรื่องตัวตนของเราให้ละเอียดลึกซึ้งขึ้น ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเตรียมแนวทางฝึกจิตไว้ในคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างดีเยี่ยมแล้ว


องค์ประกอบของมนุษย์
         ตัวตนคนเรานั้นประกอบด้วยร่างกายกับจิตใจ ร่างกายประกอบด้วยธาตุหยาบ ๔ อย่าง คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ ธาตุทั้งสี่ต้องรวมกันได้สัดส่วน ถ้าไม่ได้สัดส่วนโรคภัยไข้เจ็บก็มาเยือน สมัยโบราณการรักษาคนที่เจ็บไข้ได้ป่วย ทำโดยการสังเกตธาตุทั้งสี่นี้ว่าธาตุไหนกำเริบ ธาตุไหนหย่อน ธาตุไหนวิปริต แล้วก็รักษาตามอาการ

           ใจนั้นต่างจากกาย ใจเป็นธาตุละเอียด จับต้องไม่ได้ ไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า เดิมมนุษย์เราก็ไม่มีใครรู้และเข้าใจเกี่ยวกับใจได้ถูกต้อง จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้รู้แจ้งโลกทรงตรัสชัดเจนถึงเรื่องของใจ


ลักษณะของใจ
            ในที่นี้ได้รวบรวมลักษณะของใจไว้ให้ศึกษากันดังนี้

๑) อสรีรํ ไม่มีสรีระหรือไม่มีโครงสร้างเหมือนกาย เป็นคนละส่วนกับกาย

๒) เอกจรํ เที่ยวไปดวงเดียว ใจเกิดขึ้นดวงหนึ่งแล้วก็ดับ เวลามันจะดับก็เกิดอีกดวงขึ้นมาแทน ต่อกันเป็นสายจนไม่รู้สึกว่ามันมีเกิดแล้วมีดับ

๓) คุหาสยํ มีถ้ำคือกายเป็นที่อาศัย

๔) ทูรงฺคมํ ชอบเที่ยวไปไกล

๕) สุทุทฺทสํ เห็นได้แสนยาก

๖) ทุนฺนิคฺคหํ หากคิดเตลิดแล้ว ควบคุมยาก

๗) ลหุ เกิดและดับเร็ว แค่ลัดนิ้วมือเดียวใจเกิดดับไปแล้วเป็นล้านครั้ง

๘) ผนฺทนํ ดิ้นรนอยู่ในอารมณ์ทั้งหลาย มักคิดเรื่องที่ไม่ควรคิดอยู่ตลอดเวลา

๙) จปลํ ไม่ดำรงอยู่ในอารมณ์เดียว ชอบเปลี่ยนเรื่องคิด

๑๐) ทุรกฺขํ รักษาให้มั่นคงได้ยาก

๑๑) ทุนฺนิวารยํ ห้ามได้แสนยาก

๑๒) ปภสฺสรํ มีความสว่างในตัวเอง

๑๓) ทนฺตํ ฝึกได้ ฝึกให้ดียิ่งขึ้นได้ ฝึกได้ไม่มีที่สิ้นสุด


โครงสร้างของใจ
        ในยุคนี้มีผู้ทำโครงสร้างออกมาให้เห็นชัด ๆ คือ พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านพากเพียรฝึกฝนอบรมใจของตน นั่งสมาธิแล้วนั่งสมาธิอีก ในที่สุดท่านก็นำโครงสร้างของใจมาให้เราดูว่า ใจมีลักษณะเป็นทรงกลม (sphere shape) และมีเนื้อใจเป็นชั้น ๆ ถึง ๔ ชั้น แต่ละชั้นทำงานต่างกันเพื่อส่งต่อกัน


การทำงานของใจ
         เนื้อใจชั้นนอกทำหน้าที่รับ เนื้อใจชั้นที่ ๒ ทำหน้าที่จำ เนื้อใจชั้นที่ ๓ ทำหน้าที่คิด ส่วนเนื้อใจชั้นที่ ๔ ทำหน้าที่รู้

     เมื่อมีภาพมากระทบตา ประสาทตาส่งมาให้ใจชั้นนอก ใจรับไว้ก็คืออาการเห็น ถ้ามีเสียงมากระทบหู ประสาทหูส่งมาให้ใจ ใจรับไว้คืออาการได้ยิน กลิ่นกระทบจมูก ประสาทจมูกส่งให้ใจ ใจรับไว้คือได้กลิ่น มีรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็มมากระทบลิ้น ประสาทลิ้นส่งให้ใจ ใจรับไว้คืออาการลิ้มรส มีวัตถุมากระทบผิวกาย ประสาททางกายส่งให้ใจ ใจรับไว้คืออาการสัมผัส

          เนื้อใจชั้นนอกทำหน้าที่รับ ตามองแต่ใจเห็น หูฟังใจได้ยิน จมูกดมใจได้กลิ่น ลิ้นมีรสมากระทบใจรู้สึกรส ผิวกายกระทบใจรู้สึกสัมผัส

            จากนั้นเนื้อใจชั้นนอกส่งให้เนื้อใจชั้นที่ ๒ ทำหน้าที่จำ บันทึกไว้ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เมื่อใจชั้นที่ ๒ บันทึกเป็นข้อมูลส่งให้เนื้อใจชั้นที่ ๓ เนื้อใจชั้นที่ ๓ ทำหน้าที่คิด ไตร่ตรอง คิดแล้วคิดอีก ในที่สุดก็ตัดสิน แล้วส่งให้เนื้อใจชั้นที่ ๔ เชื่อหรือรู้ว่าเป็นอย่างไร

           จุดเริ่มต้นการทำงานของใจตรงการรับจึงเป็นจุดสำคัญ ถ้ารับถูก ก็จะจำถูก เมื่อจำถูกก็คิดถูก เมื่อคิดถูก ก็รู้ถูก ตรงกันข้ามถ้ารับผิด ก็จำผิด แล้วจะคิดผิด จะรู้ผิด

           ในวงการปศุสัตว์ เคยมีการหลอกม้าให้กินหญ้าแห้ง แต่ม้าไม่ยอมกิน เมื่อลองเอาแว่นสีเขียวใส่ให้ มันก็ยอมกิน ใจของเราก็มีโอกาสถูกย้อมสีทำให้รับอะไรผิดได้เช่นกันทำนองเดียวกับคนใส่แว่นสีดำ เห็นอะไรก็ดำหมด ใส่แว่นสีชา เห็นอะไรก็สีชาหมด ใส่แว่นสีเขียว เห็นอะไรก็สีเขียวหมด


ปัจจัยที่เป็นเหตุให้ใจรับเข้าไปถูกหรือผิด
           แบ่งได้ ๓ ประการ ได้แก่
          ๑) สุขภาพกาย เมื่อเราถูกความเจ็บป่วยรบกวนจิตใจ เพียงแค่ปวดศีรษะ เราก็ไม่มีแก่ใจจะรู้สึกว่าเสียงที่มากระทบหูนั้น เสียงไหนไพเราะน่าฟัง รู้สึกแต่ว่าปวดศีรษะหรือคนเมาเหล้า เวลาจะพูดอะไรหรือฟังอะไรก็ไม่รู้เรื่อง

          ๒) กิเลส ได้แก่ โลภ โกรธ หลง เมื่อกิเลสควบคุมใจ คนมีความโลภ เห็นแก่ได้ เห็นอะไรแม้ของคนอื่นก็คิดอยากเอามาเป็นของตน พวกมักโกรธมีโทสะเป็นพื้น เห็นอะไรก็รู้สึกขัดหูขัดตาไปหมด คนมีความหลงมัวเมา ทำอะไรไม่มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นอยู่กับอารมณ์เป็นใหญ่ วันนี้พูดอย่าง วันพรุ่งนี้พูดอีกอย่าง

          ๓) สิ่งแวดล้อม เช่น ระยะการมองเห็นจะเห็นได้ชัดเจน ก็ต้องมีระยะห่างที่พอดีระดับหนึ่ง ชิดนัยน์ตาไปก็มองไม่เห็น ห่างมากไปก็มองไม่เห็น เสียงก็เหมือนกันต้องมีระยะห่างในระดับหนึ่งจึงจะได้ยินชัด หรือขนาดของวัตถุ ความใหญ่ ความเล็ก ก็มีผลต่อการรับรู้เช่นกัน แม้คลื่นความถี่ก็มีระยะถี่ห่างที่มีผลต่อการรับรู้เช่นกัน


อยู่ในบุญ , วัดพระธรรมกาย , ธรรมกาย , วารสาร , หนังสือ , หนังสืออยู่ในบุญ , หนังสือธรรมะ , บุญ , หลวงพ่อธัมมชโย , หลวงพ่อทัตตชีโว , พระมงคลเทพมุนี , case study , ฝันในฝัน , สื่อธรรมะ , วิชชาธรรมกาย , ธรรมกายเจดีย์ , สวดธรรมจักร , ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร , world peace , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , พระพุทธเจ้า , พุทธพจน์ , คำสอนหลวงปู่ , คำสอนคุณยาย , คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย , อยู่ในบุญเดือนมีนาคม2561 , สมาธิ , หยุดเป็นตัวสำเร็จ , พระพุทธศาสนา , 072 , หยุดใจ , ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 หลวงพ่อตอบปัญหา : ทำอย่างไรจึงจะฝึกจิตใจให้พ้นจากทุกข์ภัยในการดำเนินชีวิตได้ ?

กิเลสทำลายใจ
      กิเลสคือสิ่งที่ทำให้ใจเศร้าหมอง ถ้าใจตกอยู่ใต้อำนาจกิเลสจะถูกกิเลสบังคับให้คิดในเรื่องที่ไม่ควรคิด และเปลี่ยนเรื่องคิดจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่งไม่หยุด ทั้งถี่ทั้งเร็ว ทั้งที่เรื่องเดิมยังคิดไม่จบ ใจจึงมืดลง ล้าง่าย เหนื่อยง่าย

     กิเลสเป็นธาตุละเอียดและสกปรก มันฝังอยู่ในเนื้อใจตั้งแต่วันแรกเกิด  ทำให้ใจเศร้าหมองเมื่อมีวัตถุภายนอกมากระทบ มายั่วยุ ก็เหมือนกับการกวนน้ำให้ขุ่น กิเลสจะกำเริบขึ้นมาทำให้ใจขุ่นมัว อ่อนล้า ทำให้ใจเสียคุณภาพในการเห็น จำ คิด รู้ แล้วมันจะบังคับใจให้คิดในทางไม่ดีตามอำนาจของมัน คือ ทำให้ใจคิดโลภ คิดโกรธ คิดหลง คิดอิจฉาตาร้อน คิดพยาบาท คิดเรื่องที่ไม่ควรคิดทั้งหลาย

          เมื่อคนเราเจ็บป่วยและตายไปนั้น กิเลสไม่ได้ตายตามกายไปด้วย มันยังฝังค้างอยู่ในใจตามไปบีบคั้นใจในชาติหน้าต่อไปอีก ด้วยความที่กิเลสมันไม่พรากจากใจเลย ใจคนเราจึงคุ้นกับกิเลสเหมือนปลาคุ้นน้ำ นิสัยอะไรที่ไม่ดีก็คือการคุ้นกับกิเลสนั้นมาก ถ้าจะให้เลิกนิสัยที่ไม่ดีสักอย่าง มันจึงทุรนทุรายมาก อยากจะกลับไปทำผิด ๆ เหมือนเดิมอีก


การฝึกใจ
         ใจนั้นฝึกให้ดีขึ้นได้ และมีศักยภาพฝึกได้ไม่มีขีดจำกัด สิ่งที่ต้องฝึกคือ ฝึกใจให้เป็นสัมมาสมาธิ จะทำให้ใจหยุดคิดสิ่งที่ไม่ควรคิด และใจนั้นยิ่งฝึก ยิ่งสว่าง ยิ่งแจ่มใส ยิ่งสุข ยิ่งสงบ ยิ่งทรงพลัง มีแต่ความชุ่มชื่นเบิกบาน มีพลังที่จะทำความดีเพิ่มขึ้น เมื่อฝึกมาก ๆ เข้าก็เป็นทางมาแห่งปัญญา

        สัมมาสมาธิคือชื่อเต็มของสมาธิ สัมมา แปลว่า ถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้องเป็นการทำใจให้หยุด ให้นิ่ง ให้สงบ อยู่ภายในตัว ภายในศูนย์กลางกาย การฝึกสมาธิเป็นกระบวนการที่จะทำให้ใจหยุดนิ่ง ตั้งมั่น ภายในศูนย์กลางกาย จึงเป็นการฟื้นฟูพัฒนาคุณภาพการเห็นจำคิดรู้ของใจขึ้นมาโดยตรง


เทคนิคสำคัญในการฝึกสมาธิ
         กว่าที่ใจจะหยุดนิ่งได้ ต้องตะล่อมใจที่คิดซัดส่ายไปมาให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวเสียก่อนการผ่อนคลายร่างกายทุกส่วน มีผลให้ใจผ่อนคลายและกลับมาอยู่กับตัว เทคนิคที่สำคัญคือ การหลับตาเบา ๆ ให้ผนังตาปิดเพียง ๙๐ เปอร์เซ็นต์

        การที่ไม่ปิดเปลือกตาหรือผนังตาให้สนิทนั้น เพราะกล้ามเนื้อรอบ ๆ ตาเป็นกล้ามเนื้อที่ไวต่อการรับรู้มาก เมื่อมีอะไรมากระทบนิดหนึ่ง จะรู้สึกทันที ถ้าหลับตาปิดเปลือกตาสนิท การกระทบกันของเปลือกตาจะทำให้เกิดอาการเกร็งที่บริเวณกล้ามเนื้อตา และถ้าตั้งใจมาก ก็จะมีอาการตึงหน้าผากร่วมด้วย การแก้ปัญหานี้จึงมีเทคนิคคือ ถ้าปิดผนังตาเพียงประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ กล้ามเนื้อบริเวณนี้จะคลายตัวง่ายกว่า เมื่อกล้ามเนื้อทุกส่วนผ่อนคลาย ใจก็จะสบาย จะกลับมาอยู่กับตัว

        ดังนั้น ให้หลับตาเบา ๆ อย่าบังคับใจ แล้วประคองใจเอาไว้ในกลางท้อง เอาไว้ในตัวด้วยการบริกรรมนิมิต บริกรรมคาถาตามที่ตนถนัด แล้วใจจะเป็นสมาธิได้ง่าย ใจจะกลับมาสู่ปกติของใจ คือมีความสว่างเมื่อใจเป็นสมาธิ

        สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธินี้เป็นเหตุให้เรามีความเข้าใจถูก ส่งผลให้คนเราคิดถูก เพราะว่าคิดถูกจึงพูดถูก พูดถูกก็เลยทำถูกได้ เมื่อเลี้ยงชีพก็จะระมัดระวังตัวเองให้ทำถูกต้อง ถูกควรการพยายามจึงเป็นการพยายามถูก คือพยายามเพื่อแก้ไขนิสัย ขจัดนิสัยที่ไม่ดี ทำนิสัยดีที่ถูกที่ควรขึ้นมาแทน และเพราะพยายามถูกก็เลยระลึกถูกคือมีสติ เพราะระลึกถูกนี้เอง ใจก็ตั้งมั่นถูกคือเป็นสมาธิ เมื่อใจตั้งมั่นถูกก็เลยเข้าใจถูกยิ่ง ๆ ขึ้นไป เป็นอย่างนี้รอบแล้วรอบเล่าสัมมาสมาธิจึงเป็นการฝึกใจเพื่อเข้าใกล้ธรรม เพื่อเข้าถึงธรรม เห็นธรรมภายใน เห็นใจตนเองเห็นกิเลสที่ซุกซ่อนอยู่และเพื่อการกำจัดกิเลสในที่สุด

         ทุกข์ภัยทุกชนิดของคนและสัตว์ล้วนเกิดจากการยอมแพ้ต่ออำนาจกิเลสมาชาติแล้วชาติเล่าทั้งสิ้น เมื่อยอมแพ้ก็เลยก่อกรรมทำชั่ว เพราะก่อกรรมทำชั่วก็เกิดทุกข์ การกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นได้เด็ดขาด จึงเป็นความสุขและเป็นหน้าที่ที่แท้จริงของทุกคน ไม่มีใครทำแทนกันได้เป็นกิจที่ทุกคนต้องทำด้วยตัวเอง เพื่อตัวเอง สมาธิที่เราเริ่มฝึกในวันนี้ จะมีผลบั้นปลายมาถึงตรงนี้ เมื่อเรายังไม่ถึงผลบั้นปลาย ก็เพียรขวนขวายทำกันต่อไป วันหนึ่งก็จะทำได้ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมครูของเรา

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๘๓ เดือนมีนาคม ๒๕๖๑

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล