วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หลวงพ่อตอบปัญหา "การรักษาศีลอย่างถูกวิธีและมั่นคงตลอดไป"

 


 

               วิธีการรักษาศีล ๕ ให้ถูกต้องเป็นอย่างไร และมีกุศโลบายอย่างไรในการที่จะทำให้รักษาศีล ๕ ได้มั่นคงตลอดไป?

 

           จำหลักง่ายๆ ก็แล้วกัน ในการรักษาศีลให้ถูกวิธีคือ ต้องตั้งใจ ถ้าไม่ตั้งใจไม่ถือว่าเป็นการ รักษาศีล ถ้าตั้งใจว่าจะไม่ละเมิด แม้มีโอกาสที่จะละเมิดก็ไม่ละเมิดตามที่ตั้งใจเอาไว้ นั่นคือการรักษาศีลที่แท้จริง

           ยกตัวอย่าง ตั้งใจว่าหัวเด็ดตีนขาดอย่างไรก็ไม่ฆ่า ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติผิดในกามหรือไม่เจ้าชู้ ไม่พูดโกหก ไม่ดื่มเหล้า ไม่ดื่มเบียร์ ไม่ดื่ม เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (Alcohol) ยาเสพติด ทั้งหลายที่ให้โทษ เลิก ไม่ต้องมาพูด

           ถึงใครจะเอามีดมาจ่อคอ เอาปืนมาจ่อหัวให้ละเมิดศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ ตายก็ให้ตายไปเถอะ ไม่ทำหรอก ที่ต้องพูดอย่างนี้ก็เพราะว่ามีหลายคนเข้าใจผิด เช่น เวลาชวนเข้าวัดเขากลับตอบว่า

           "ผมไม่ได้ทำความชั่วอะไร ทำไมต้องไปเข้าวัดด้วย ในเมื่อผมไม่ได้ทำชั่วก็ต้องถือว่าผมเป็นคนดีแล้ว" อย่างนี้อันตรายแล้วลูกเอ๋ย

           ต้องมองใหม่ เพราะว่าคนดีที่ได้มาตรฐาน คือ คนที่ตั้งใจทำความดี

           ส่วนพวกที่ไม่ได้ทำความดีอะไร เพียงแค่อยู่เฉยๆ เลยไม่ได้ทำความชั่ว การที่ไม่ได้ทำความชั่วแล้วจะบอกว่าเป็นคนดีนั้น หาใช่ไม่

           ไม่อย่างนั้นนักโทษที่ถูกขังอยู่ในคุก ไม่มีโอกาสที่จะฆ่า จะลัก จะประพฤติผิดในกาม จะโกหก จะดื่มเหล้า ถามว่าเจ้านักโทษคนนี้มีศีล ๕ หรือไม่ ก็บอกว่ายังไม่แน่

           เพราะถ้าในใจของเขาตั้งเอาไว้ว่า ถึงมดจะไต่ไรจะตอมอย่างไร ก็จะไม่บี้ไม่ตบล่ะ อย่างนี้ถือว่าเขามีศีลแล้ว

           แต่ถ้าในใจเขาคิดถึงแต่ว่า ใครแหลมเข้ามาจะฆ่าให้หมด เมื่อเป็นอย่างนี้แสดงว่าเขายังไม่ได้ตั้งใจรักษาศีล

           เพราะฉะนั้น จึงต้องตีประเด็นไว้ก่อนว่า คนที่ยังไม่ได้ละเมิดศีลนั้น ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนมีศีล เป็นแต่เพียงว่าเขายังไม่ได้ละเมิดศีลต่างหาก

           ส่วนคนมีศีล คือ คนที่ตั้งใจเอาไว้ว่าจะรักษาศีล จะไม่ล่วงละเมิดทั้งความประพฤติทางกาย และทางวาจา แล้วเมื่อถึงเวลาก็ไม่ล่วงละเมิดจริงๆ นั่นแหละคือคนที่มีศีลจริงๆ


วิธีที่ทำให้สามารถรักษาศีลได้ตลอดไป


           เมื่อสมัยยังเป็นฆราวาส หลวงพ่อเคยใช้วิธีง่ายๆ คือ ตั้งใจรักษาศีลไปทีละวัน เช้าจะออกจากบ้านก็พระที่ห้อยคออยู่นั่นแหละ อาราธนาท่านใส่ไว้ในมือแล้วตั้งนะโม ๓ จบ เสร็จเรียบร้อยก็สัญญากับหลวงพ่อในมือว่า

           วันนี้หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรจะไม่ฆ่าทั้งสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นมดหรือว่ายุงสักตัวก็จะไม่บี้ ไม่ตบ

           วันนี้หัวเด็ดตีนขาดอย่างไร จะไม่ลัก ไม่ขโมย ของใครทั้งนั้น

           วันนี้หัวเด็ดตีนขาดอย่างไร จะไม่ไปยุ่งกับภรรยา หรือว่าลูกสาวใคร

           วันนี้หัวเด็ดตีนขาดอย่างไร เรื่องไม่จริง ไม่พูด ถ้าพูดต้องพูดแต่เรื่องจริง พูดแล้วจะทำให้คนนั้นคนนี้เสียหาย สู้ไม่พูดดีกว่า

           วันนี้หัวเด็ดตีนขาดอย่างไร ไม่ว่าเหล้า ไม่ว่า เบียร์ ไม่ว่ากะแช่ ไม่ว่าสาโท ไม่เอาทั้งนั้น

           ส่วนพรุ่งนี้ยังไม่รู้ แค่สัญญากับตัวเองไปวันๆ เท่านั้น ทำอย่างนี้ทุกวัน พอข้ามวันก็ชื่นใจว่าวันนี้เราสามารถฝ่าอุปสรรคมาได้อีก ๑ วันแล้ว

           เพราะถึงอย่างไรก็ต้องยอมรับกันว่า โลกของเราทุกวันนี้ มีความวุ่นวาย มีสิ่งบีบคั้นที่จะทำให้เราละเมิดศีลมากพอแรงอยู่เหมือนกัน

           เพราะฉะนั้น เมื่อเราตั้งใจว่าจะรักษาให้ข้ามไปทีละวันๆ อย่างนี้ ก็จะไม่หนักแรงจนเกินไป หากินเป็นวันๆ ไปก่อน ไม่ต้องวางแผนอะไรมากมาย ทำอย่างนี้ทุกวัน ก็ได้ชื่นใจไปทุกวัน

           ครบปีเข้า พอมีอะไรมายั่วยุให้ผิดศีลขึ้นมา ใจก็ไม่ยอมรับที่จะละเมิด เพราะว่าศีลได้ซึมซับเข้าไปในใจ จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยไปตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้


ขั้นตอนของการรักษาศีล

           การรักษาศีลก็มีเป็นขั้นเป็นตอน ทีแรกพอยุงมากัดปั๊บ เงื้อมือปุ๊บเลย แต่พอจะตบลงไปเท่านั้น นึกได้ว่าวันนี้เรารักษาศีลก็เลยไม่ตบ อย่างนี้เรียกว่า "ศีลจิ้มน้ำตาล"เหมือนอย่างกับมะขาม จิ้มน้ำตาล ทีแรกก็เป็นอย่างนี้ คือยังง่อนแง่นอยู่

           พอรักษาศีลนานเข้าๆ เป็นเดือน ๒ เดือน ๓ เดือน พอมียุงมากัด ที่เงื้อมือจะตบนั้นไม่มีหรอก แค่ไล่ให้มันรีบๆ ไปเสีย เพราะว่าเราเจ็บแล้ว อย่างนี้เรียกว่า "ศีลเชื่อม"

           เมื่อรักษาศีลมากเข้าๆ จนกระทั่งเป็นปี พอถูกยุงกัดปุ๊บกลับได้คิดว่า ตราบใดที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ก็ไม่แคล้วที่จะต้องมาเบียดเบียนกันอย่างนี้ หมดกิเลสเมื่อไรถึงจะได้ไม่ต้องมาเจอกับสิ่งเหล่านี้ เพียงแค่ถูกยุงกัดเท่านั้นแต่คิดจะไปพระนิพพาน อย่างนี้เรียกว่า "ศีลแช่อิ่ม"

           เพราะฉะนั้น การรักษาศีลจึงไม่ใช่เป็นเรื่องพอดีพอร้าย แต่เป็นเรื่องที่จะต้องเอาชีวิตเป็น เดิมพันกันทีเดียว


บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๒๗ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล