เทคนิคการแสดงธรรม

วันที่ 15 ตค. พ.ศ.2558

เทคนิคการแสดงธรรม


 รู้จักมีเรื่องประกอบเป็นตัวอย่าง
            การมีเรื่องตัวอย่างประกอบจะช่วยให้ผู้ฟังจดจำง่าย เข้าใจได้ง่าย และเกิดความเพลิดเพลินในการ
ฟัง ไม่เบื่อหน่ายสามารถติดตามเนื้อหาสาระที่พระภิกษุแนะนำ แสดงธรรมได้ตลอดต่อเนื่อง ไม่ขาดตอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงมีเรื่องตัวอย่างประกอบเช่นกัน ซึ่งบางครั้งเป็นเรื่องของพระองค์เองในขณะที่บำเพ็ญบารมีเป็นพระบรมโพธิสัตว์อยู่ บางครั้งก็เป็นเรื่องในสมัยพุทธกาลของพระองค์ กับเหล่าสาวกบ้าง เป็นต้น

 

รู้จักใช้การอุปมาอุปไมย หรือการเปรียบเทียบ
            เมื่อต้องอธิบายในสิ่งที่เข้าใจได้ยาก การอุปมาเปรียบเทียบก็ช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้วิธีนี้เช่นกัน ดังตัวอย่างที่พระมาลุงกยบุตรทูลถามปัญหาเรื่องของโลกกับพระองค์ เช่น โลกนี้เที่ยง หรือโลกนี้ไม่เที่ยง โลกนี้มีที่สุด หรือโลกนี้ไม่มีที่สุด เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่มีประโยชน์ต่อการทำอาสวกิเลสให้หมดไป พระพุทธองค์ไม่ทรงตอบโดยตรง แต่ทรงใช้วิธีอุปมา ดังปรากฏใน"จูฬมาลุงกยโอวาทสูตร" ว่า


"ดูก่อนมาลุงกยบุตร เปรียบเหมือนบุรุษต้องศรอันอาบยาพิษที่ฉาบทาไว้หนา มิตร อมาตย์ ญาติสายโลหิตของบุรุษนั้นพึงไปหานายแพทย์ผู้ชำนาญในการผ่าตัดมาผ่าบุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักบุรุษผู้ยิงเรานั้นว่า เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทร...เพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้นบุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักธนูที่ใช้ยิงเรานั้นว่าเป็นชนิดมีแล่งหรือเกาทัณฑ์...สายที่ยิงเรานั้นเป็นสายทำด้วยปอผิว ไม้ไผ่ เอ็นป่านหรือเยื่อไม้ ลูกธนูที่ยิงเรานั้น ทำด้วยไม้ ที่เกิดเองหรือไม้ปลูก หาง
เกาทัณฑ์ที่ยิงเรานั้น เขาเสียบด้วยขนปีกนกแร้ง นกตะกรุม เหยี่ยว นกยูง...เกาทัณฑ์นั้นเขาพันด้วยเอ็นวัว ควาย ค่างหรือลิง...ลูกธนูที่ยิงเรานั้น เป็นชนิดอะไรเพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้นดูก่อนมาลุงกยบุตร บุรุษนั้นพึงรู้ข้อนั้นไม่ได้เลย โดยที่แท้บุรุษนั้นพึงทำกาละ (ตาย) ไป ฉันใดดูก่อนมาลุงกยบุตร บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิ 10 นั้น1 ฯลฯ แก่เราเพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้าเพียงนั้น ข้อนั้นตถาคตไม่พยากรณ์เลย โดยที่แท้บุคคลนั้นพึงทำกาละไปฉันนั้น"

 

รู้จักใช้อุปกรณ์ในการสอน
            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้อุปกรณ์เป็น สื่อในการสอนธรรมะโดยทรงอาศัยสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว หาได้ตามธรรมชาติมาใช้ ดังขณะที่พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นกองไฟกองใหญ่ จึงใช้กองไฟนั้นเป็นอุปกรณ์สอนเหล่าพระภิกษุให้ระมัดระวังในศีล ตั้งมั่นในการบำเพ็ญสมณธรรมว่า


"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นกองไฟกองใหญ่โน้นที่กำลังลุกโชติช่วงอยู่หรือไม่... เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การเข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอดกองไฟใหญ่โน้น ที่กำลังลุกโชติช่วงอยู่ กับการเข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอดพระราชธิดา บุตรสาวพราหมณ์หรือบุตรสาวคฤหบดี ผู้มีฝ่ามือฝ่าเท้าอ่อนนุ่ม อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน"


            เมื่อพระภิกษุตอบว่ากอดพระราชธิดา บุตรสาวพราหมณ์ดีกว่า พระองค์จึงทรงสอนว่า ไปกอดกองไฟดีกว่า เพราะกอดกองไฟอย่างมากก็แค่ตายแต่ไม่ตกนรกส่วนพระภิกษุที่ทุศีล ไปกอดหญิงสาว ตายไปก็มีต้องทนทุกข์ทรมานในนรก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก จึงมีการนำ สื่อมาประยุกต์ใช้ในการแสดงธรรม ด้วยการจัดทำ สื่อการสอนมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดี เพราะทำให้การแสดงธรรมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตัวอย่างการนำเทคโนโลยี สมัยใหม่มาใช้ทำสื่อการแสดงธรรม เช่น การใช้เครื่องฉายแผ่นใสการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำสื่อการสอนต่างๆ ประกอบการแสดงธรรม การเผยแผ่
ธรรมะผ่านทางซีดี การกระจายเสียงธรรมะผ่านทางวิทยุชุมชน หรือแม้กระทั่งการถ่ายทอดภาพผ่านทางสัญญาณดาวเทียม เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปกรณ์การสอนที่สำคัญอย่างหนึ่ง เพราะทำให้การเผยแผ่ธรรมะเป็นไปอย่างกว้างขวาง เข้าถึงผู้ฟังได้ง่ายและทั่วถึง พระภิกษุจึงควรให้ความสนใจและฝึกหัดใช้สื่อเพื่อการแสดงธรรมรวมทั้งเลือกใช้ สื่อการสอนที่เหมาะสมกับตนเอง ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการแสดงธรรม

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010626991589864 Mins