บทสรุปตะแกรงกายสิทธิ์ร่อนหามิตรแท้ (ตอน ๑)

วันที่ 21 มค. พ.ศ.2547

อริยวินัยในการใช้ทรัพย์ 

.....พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้นทรงพระคุณอันยิ่งใหญ่ สุดจะนับประมาณ กล่าวคือ เมื่อทรงแสดงเรื่องการแสวงหาทรัพย์ ตลอดจนการสะสมโภคทรัพย์ เพื่อให้บุคคลมีความมั่งคั่งร่ำรวยแล้ว พระพุทธองค์ก็ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณห่วงใยคฤหัสถ์ ด้วยทรงเกรงว่า จะบริหารจัดการกับทรัพย์ของตนอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม อาจจะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นได้ จึงได้ตรัสแสดงอริยวินัยในการใช้ทรัพย์โดยให้แบ่งทรัพย์ที่หามาได้นั้นออกเป็น ๔ ส่วน ดังนี้

๑. ส่วนที่หนึ่ง สำหรับใช้สอยเลี้ยงชีวิตและครอบครัว ให้เป็นสุข ไม่ให้อดอยาก หรือทรมานตนเองและครอบครัวโดยใช่เหตุ ๒-๓ อีกสองส่วน สำหรับใช้ประกอบธุรกิจการงาน เช่น เพื่อการลงทุน เพื่อเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับใช้ในการประกอบอาชีพ

๔. ส่วนที่สี่ เก็บไว้สำหรับใช้คุ้มครองป้องกันตนยามมีอันตราย .....คำว่า “เก็บไว้” ในที่นี้ย่อมมีความหมายเป็น ๒ นัย คือ

......๑) เก็บไว้ใช้ป้องกันอันตรายในชาตินี้ เช่น อันตรายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย อันตรายจากภัยธรรมชาติ จากโจรภัย อัคคีภัย บางทีก็อาจจะมีภัยอันเกิดจากพระราชา หรือนักการเมืองผู้หลงผิด เป็นต้น ถ้าเรามีเงินเก็บไว้ เราก็ไม่จำเป็นต้องไปรบกวนญาติมิตร

.....นอกจากนี้ ยังเก็บไว้สำหรับช่วยเหลือญาติสนิทมิตรสหายในยามที่เขาประสบปัญหา เดือนร้อน ทั้ง ๒ กรณีย่อมเป็นเครื่องผูกมิตรไว้ได้ คือเราเองก็ไม่ต้องไปรบกวนญาติมิตรในยามที่เราเดือดร้อน ครั้นเมื่อญาติมิตรเดือดร้อน เราก็สามารถช่วยเหลือได้

.....๒) เก็บไว้ใช้ป้องกันอันตรายในชาติหน้า ด้วยการแบ่งไปทำบุญกุศล มีการถวายทานแก่พระภิกษุ การบริจาคเพื่อสร้างศาสนาวัตถุหรือศาสนสถาน การช่วยเหลือเด็กกำพร้าและผู้ประสบภัยต่างๆ ฯลฯ การสร้างทานกุศลนี้ ถือได้ว่าเป็นการสร้างอริยทรัพย์ เพื่อเตรียมไว้เป็นทุนสำหรับภพชาติหน้าและต่อๆ ไป

.....ดังนั้น การเก็บออมในส่วนที่สี่นี้ ย่อมแสดงถึงความเป็นผู้ไม่ประมาทอย่างหนึ่งของบุคคล

....บุคคลใดก็ตามที่มีอริยวินัยในการใช้ทรัพย์ ตามพุทธดำรัสดังกล่าว ย่อมได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า “เป็นคนดี เป็นผู้มีความสามารถ” ดังพระคาถาต่อไปนี้“คฤหัสถ์ในตระกูลผู้สามารถ ครั้นสะสมโภคสมบัติได้อย่างนี้แล้ว พึงแบ่งโภคสมบัติออกเป็น ๔ ส่วน เขาย่อมผูกมิตรไว้ได้ พึงใช้สอยโภคทรัพย์ด้วยส่วนหนึ่ง ประกอบการงาน ด้วยสองส่วน พึงเก็บส่วนที่สี่ไว้ด้วยหมายจักมีไว้ในยามมีอันตราย ดังนี้”

.....นอกจากเรื่องอริยวินัยในการใช้ทรัพย์ ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ซึ่งตรัสแสดงไว้ในสิงคาลกสูตรแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังได้ทรงแสดงเศรษฐศาสตร์แนวพุทธไว้ในพระสูตรต่างๆ อีกหลายพระสูตร  บทสรุปตะแกรงกายสิทธิ์ร่อนหามิตรแท้

......ความคิดและข้อมูลต่างๆ ที่นำเสนอ มีประเด็นสำคัญพอสรุปได้ดังนี้คือ

.....๑. สิ่งแวดล้อมที่เป็นบุคคลมีอิทธิพลเหนือชีวิตเรา ได้กล่าวมาแล้วว่า สิ่งแวดล้อมของคนเรานั้นมีอยู่ ๒ ประเภท คือ สิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ กับสิ่งแวดล้อมที่เป็นคน แม้สิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติจะมีผลดีผลเสียต่อการดำรงชีวิตของเราอยู่บ้าง แต่ก็อาจไม่มากเท่าสิ่งแวดล้อมที่เป็นคน เพราะสิ่งแวดล้อมที่เป็นคนมีอิทธิพลชักนำให้ชีวิตเราตกไปอยู่ความหายนะ หรือส่งเสริมให้เราประสบความรุ่งเรืองได้เกินคาด

.....การคบมิตรเทียมหรือคนเลวแม้เพียงคนเดียว ก็อาจะทำให้เราตกนรกได้ ดังกรณี พระเจ้าอชาตศัตรูที่หลงคารมนักบวชทุศีลอย่างพระเทวทัต ถึงกับปลงพระชนม์พระราชบิดา ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา และทั้งๆ ที่พยายามชดเชยบาปกรรมนั้นด้วยการสร้างกุศลกรรมมากมาย ในกาลต่อมาก็ไม่สามารถปิดนรกได้ เพราะเหตุที่การคบคนเลวมีโทษมหันต์ถึงปานนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงชี้ให้เห็นว่า การคบคนชั่วเป็นมิตรคือสุดยอดแห่งอบายมุข ส่วนพระองคุลิมาลแม้เคยเป็นฆาตกรฆ่าคนมาถึง ๙๙๙ คนแล้ว ครั้นมีโอกาสพบและได้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตรทรงชี้ทางสว่างให้ก็สามารถบรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ บรรลุความหลุดพ้นได้ในชาตินี้เอง

.....๒. หลักในการแยกแยะระหว่างมิตรเทียม – มิตรแท้ การที่จะสามารถรู้ได้ว่า ใครเป็นมิตรเทียมหรือมิตรแท้นั้น สังเกตได้จากพฤติกรรม ๑๖ ประการ ที่เขาแสดงออก หรือปฏิบัติต่อเพื่อนฝูง มิตรเทียมมีพฤติกรรมเลว ๑๖ ประการ มิตรแท้ก็มีพฤติกรรมดี หรือมีวินัยในการคบมิตรเป็นอย่างดี ๑๖ ประการ พฤติกรรมฝ่ายละ ๑๖ ประการนี้ จึงเปรียบเสมือนเครื่องมือตรวจสอบ หรืออาจเรียกว่า “ตะแกรงกายสิทธิ์” สำหรับร่อนหาคนเลวหรือคนดี

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0076355179150899 Mins