การฝึกตนให้มีคุณสมบัติของผู้บรรลุธรรมได้ง่าย

วันที่ 02 มิย. พ.ศ.2560

การฝึกตนให้มีคุณสมบัติของผู้บรรลุธรรมได้ง่าย
 

สูตรสำเร็จการสร้างบารมีเป็นทีม , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , สร้างบารมี , หลวงพ่อธัมมชโย , การฝึกตนให้มีคุณสมบัติของผู้บรรลุธรรมได้ง่าย , ธรรมะ , เข้าถึงธรรม , บรรลุธรรม

      การที่ใครจะเข้าถึงธรรมได้นั้น คนๆ นั้นต้องปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ได้ถูกส่วนอย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพัน แต่ว่าการที่ใครปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 แล้ว จะสามารถเข้าถึงธรรมได้ช้าหรือเร็ว ยากหรือง่าย หยาบหรือละเอียดนั้น ขึ้นอยู่กับผลการฝึกตนของคน ๆ นั้นว่าสามารถบ่มเพาะคุณสมบัติ 5 ประการของผู้บรรลุธรรมให้เกิดขึ้นในตนได้มากน้อยเพียงใด

      พูดง่าย ๆ ก็คือ ผู้ที่จะบรรลุธรรมได้โดยง่าย ต้องปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ด้วยความมีศรัทธา มีสุขภาพดี มีนิสัยไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา มีนิสัยปรารภความเพียร และมีนิสัยเพิ่มพูนปัญญา นั่นเอง

     นี่คือเหตุผลว่า ทำไมปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 เช่นเดียวกัน แต่กลับได้ความคืบหน้าไม่เท่ากันและเป็นการยืนยันว่า ธรรมะทุกคำของพระองค์นั้นสามารถพาคนไปพระนิพพานได้ หากใครดูเบาไปเพียงคำครึ่งคำ จะมีผลต่อการบรรลุธรรมทันที


1. การเพิ่มพูนศรัทธาให้ตนเอง

         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า คุณสมบัติข้อแรกของผู้บรรลุธรรมได้ง่าย ก็คือ ต้องมีศรัทธา

       คนมีศรัทธา คือ คนที่เชื่อปัญญาตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเพราะการตรัสรู้นั้นทำให้พระองค์เป็นพระอรหันต์ ผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้เสด็จไปดี เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกคนได้เป็นเยี่ยม เป็นบรมครูของทั้งมนุษย์และเทวดา

      ศรัทธา เป็นคำภาษาบาลี ในที่นี้ หมายถึง ความเชื่อมั่นที่เปียมล้นด้วยความมั่นใจอันเกิดจากความสิ้นสงสัยในพระปัญญาตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วโดยสิ้นเชิง

         ศรัทธามี 2 ประเภท

        ประเภทที่ 1 ศรัทธาหัวเต่า คือ ความศรัทธาที่ยังไม่มั่นคง ยังง่อนแง่นคลอนแคลนแปรเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้ เปรียบเหมือนเต่าที่ทำหัวผลุบ ๆ โผล่ ๆ จากกระดอง เอาแน่เอานอนไม่ได้ เพราะยังมีความลังเลสงสัยในพระปัญญาการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าจริงหรือไม่จริง

       ประเภทที่ 2 ตถาคตโพธิศรัทธา คือ ความศรัทธาที่เกิดจากการบำเพ็ญเพียรภาวนาจนกระทั่งเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในตัว ทำให้มีความมั่นใจในทุกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นความจริงไม่เสื่อมคลาย เพราะได้พิสูจน์ให้รู้เห็นด้วยตนเองแล้วว่า การตรัสรู้ธรรมนั้นมีจริง ทุกคนในโลกสามารถบรรลุธรรมนั้นได้จริง ทุกคำสอนนั้นสามารถนำพาชาวโลกให้พ้นทุกข์ พ้นกิเลสไปพระนิพพานได้จริง


ศรัทธาเกิดขึ้นและเพิ่มพูนขึ้นได้อย่างไร ?

       คนที่จะมีศรัทธาที่เกิดขึ้นและเพิ่มพูนขึ้นได้นั้น อย่างน้อยที่สุด เขาต้องผ่านการฝึกตนมาตามขั้นตอนต่อไปนี้

     1. ต้องศึกษา ประวัติการสร้างบารมี ทุกขั้นตอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ชัดเจนมิฉะนั้น จะขาดข้อมูลสำคัญในการเกิดมาเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศา นา

       2. ต้องศึกษา การปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนกระทั่งตรัสรู้ธรรมให้ชัดเจน มิฉะนั้น จะแยกแยะไม่ออกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแตกต่างจากปุถุชนคนธรรมดาได้อย่างไร

       3. ต้องปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 จนกระทั่ง มีผลการปฏิบัติธรรมในระดับหนึ่ง มิฉะนั้นจะไม่มีเครื่องรับรองว่า ตนเองจะไม่ทิ้งธรรมไปทำความชั่ว หรือสร้างความหมองมัวให้แก่พระพุทธศาสนา

       เพราะฉะนั้น คนที่จะมีศรัทธาเกิดขึ้นได้ก็ต้องทั้งศึกษาและปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ตามมาจนกระทั่งเกิดความเข้าใจถูกในการตรัสรู้ธรรมอย่างชัดเจน และการที่มรรคมีองค์ 8 จะเกิดขึ้นได้ครบถ้วนทั้งแปดพร้อมกันนั้น ก็มีเพียงอย่างเดียว คือต้องบำเพ็ญภาวนาอยู่เป็นประจำ


ศรัทธาถูกรักษาไว้ได้อย่างไร ?

        ความศรัทธาถูกทำลายได้ง่าย ๆ ด้วยความไม่สะอาดของสิ่งแวดล้อมแม้เพียงนิดเดียว

       ยกตัวอย่าง เช่น วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิด โยมมีศรัทธาเต็มที่อยากจะไปทำบุญที่วัดซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง จัดเป็นสัมมาทิฏฐิ

       โยมตื่นแต่เช้ามืด ลุกขึ้นมาเตรียมข้าวปลาอาหารอย่างดี คิดจะเอาไปทำบุญที่วัดเป็นความคิดถูก จัดเป็นสัมมาสังกัปปะ

        จากนั้น ชักชวนคนในบ้านไปทำบุญด้วยกัน เป็นการพูดถูก จัดเป็นสัมมาวาจา

       แล้วทุกคนทั้งบ้านก็ช่วยกันหิ้วปินโตขึ้นรถ แล้วโยมก็ขับรถขนคนทั้งบ้านตรงไปทำบุญที่วัด เป็นการทำถูก จัดเป็นสัมมากัมมันตะ

      แต่ทันทีที่เปิดประตูลงรถที่หน้าวัดปุบ ขาก็เหยียบกองอุจจาระที่สุนัขขับถ่ายไว้ ความคิดไม่ดีที่เกิดขึ้นทันทีก็คือ "วันนี้แย่จริงๆ เหยียบกองอุจจาระฉลองวันเกิดแต่เช้า"

        เพียงสิ่งปฏิกูลกองเดียวที่อยู่หน้าวัด กัดสัมมาสังกัปปะให้หลุดจากใจทันที

      เมื่อเริ่มความคิดไม่ดี คำพูดไม่ดีก็ตามมา อาจจะว่าคน หรือว่าใครเพราะความหงุดหงิดก็ตามสัมมาวาจาหลุดจากใจทันที

      ถ้าความหงุดหงิดเพิ่มขึ้น การจับผิดเพราะความโกรธก็จะรุนแรงขึ้นตามมา แล้วจะว่าไปถึงพระทั้งวัด ว่าพระวัดนี้ไม่ดูแลรักษาวัดให้สะอาดเรียบร้อย จึงพบเห็นสิ่งปฏิกูลที่หน้าวัดตั้งแต่วันนี้ไปจะไม่มาทำบุญที่วัดนี้อีกแล้ว และก็ห้ามทุกคนในบ้านมาทำบุญที่วัดนี้ด้วย

       จากความตั้งใจที่จะทำบุญในตอนเช้า เตรียมข้าวปลาอาหารมาถึงวัดแล้ว แต่มรรคมีองค์ 8 ทั้งระบบ ต้องล้มลงทั้งหมดเพราะพบเห็นสิ่งปฏิกูล ความศรัทธาต่อวัดนั้นก็พลันหมดลงไปทันที

      นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นง่าย ๆ ว่า ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาถูกทำลายได้ง่าย ๆ ด้วยความไม่สะอาดของวัด

      เพราะฉะนั้น หัวใจของการเกิดศรัทธา คือ ต้องเริ่มต้นที่ความสะอาดภายนอกที่นำไปสู่ความสะอาดภายใน นี่คือหลักการสร้างและรักษาความศรัทธาให้มั่นคงต่อพระพุทธศาสนาและเป็นเหตุผลว่าทำไมคำสอนในพระพุทธศาสนาจึงเริ่มต้นที่ศีล แล้วจึงสมาธิ แล้วตามด้วยปัญญานั่นเอง


2. การมีสุขภาพดี
       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า คุณสมบัติข้อที่ 2 ของผู้บรรลุธรรมได้ง่าย ก็คือ ต้องมีสุขภาพดี

       คนมีสุขภาพดี คือ คนที่ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่าย ซึ่งประกอบด้วย

1. มีอาพาธน้อย คือ มีโรคน้อย
2. มีโรคเบาบาง คือ ไม่มีโรคร้ายแรงเรื้อรังประจำตัว
3. มีไฟธาตุในการย่อยอาหารที่สม่ำเสมอ ไม่เย็นจัด ไม่ร้อนจัด เป็นปานกลางควรแก่การบำเพ็ญเพียร คือ ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหาร เพราะวิถีชีวิตพระต้องอยู่ง่ายกินง่าย


ทำไมต้องมีสุขภาพดี ?
      ชีวิตของมนุษย์นั้นต้องพึ่งบุญเป็นหลัก แต่การสร้างบุญนั้น เราจะต้องทำด้วยตนเองคนอื่นไม่สามารถสร้างบุญแทนเราได้

    ยิ่งกว่านั้นก็คือ ร่างกายนี้คือที่สถิตของธรรมะภายใน หากแตกดับลงไป โอกาสที่จะเข้าถึงธรรมในชาตินี้ย่อมดับวูบลงไปด้วย

    ร่างกายจึงเป็นอุปกรณ์สำคัญในการสร้างบุญบารมีเพียงอย่างเดียว ที่ไม่มีอะไหล่ซ่อมแซมได้ เราจึงต้องรู้จักถนอมดูแลรักษาสุขภาพให้ดี เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงใช้สร้างบุญได้นาน ๆ ไม่ปล่อยให้ผุพังง่าย ไม่ถล่มทลายจนสังขารทรุดโทรมก่อนเวลาอันควร

ทำอย่างไรจึงมีสุขภาพดี ?
1) ต้องรู้จักวิธีรักษาสุขภาพ
      ร่างกายของคนเรานั้นแตกดับง่าย เพียงแค่หายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกก็ตายเพียงแค่หายใจออกแล้วไม่เข้าก็ตาย อีกทั้งยังเป็นรังแห่งโรคอีกด้วย เพราะทันทีที่ทุกคนเกิดมาก็มีโรคแฝงอยู่ในยีนส์ แฝงอยู่ในเนื้อเยื่อแล้ว รอแต่วันกำเริบเท่านั้น ร่างกายของแต่ละคนจึงไม่ต่างจากเรือไม้ผุ ๆ ที่รอวันพัง

     การใช้ร่างกายของเราสร้างบุญบารมี ก็ต้องใช้อย่างทะนุถนอม คือต้องหมั่นรักษาสุขภาพให้ดี ไม่หักโหมใช้งานโดยไม่ดูแล ในคราวป่วยไข้ก็ต้องรีบไปพบแพทย์ อย่าได้นิ่งนอนใจเพราะหากพลาดพลั้งไปมีโรคแทรกระหว่างนั้น จะแก้ไขไม่ทัน

       การที่ใครจะรู้จักวิธีดูแลสุขภาพ ก็ต้องมีนิสัยไม่ประมาท คือ

1.1 ต้องหมั่นศึกษาให้ทราบธรรมชาติแท้จริงของร่างกาย

1.2 ต้องหมั่นศึกษาวิธีดูแล วิธีใช้งาน วิธีซ่อมบำรุงร่างกายนี้ให้คงทน

1.3 ต้องหมั่นศึกษาถึงวิธีการนำร่างกายนี้ไปประกอบคุณงามความดีให้คุ้มค่าเพื่อให้เกิดบุญบารมีติดตัวไปภายภาคหน้า จะได้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติที่เหมาะแก่การเข้าถึงธรรม

       แต่การที่ใครจะไม่ประมาทนั้น ก็ต้องตระหนักในพุทธดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เสมอว่า

     "การได้เกิดในสภาพร่างกายที่เป็นมนุษย์เป็นเรื่องยาก การได้พบพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องยาก การได้ฟังคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเรื่องยากการได้โอกาสบรรลุธรรมก็เป็นเรื่องยาก"

     ความยาก 4 ประการนี้ บัดนี้เราต่างก็ได้ครอบครอง 3 ประการแรกไว้แล้ว ยังเหลือแต่เพียงสมบัติประการสุดท้าย ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยร่างกายที่มีสุขภาพดีเป็นอุปกรณ์สำคัญในการบำเพ็ญภาวนา จึงจะมีทางสำเร็จได้

2) ต้องมีความสามารถในการรักษาสุขภาพ
     การมีความรู้เรื่องสุขภาพดี ยังไม่แน่ว่าจะรักษาสุขภาพได้ดี เพราะความสามารถนี้ต้องฝึกให้เกิดเป็น "นิสัยรักษาสุขภาพ"

2.1) สาเหตุแห่งการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ
      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าสาเหตุร้ายที่ทำให้ร่างกายเกิดโรคภัยขึ้นนั้น มี 8 ประการ

1) โรคเกิดแต่ดีให้โทษ
2) โรคเกิดแต่เสมหะให้โทษ
3) โรคเกิดแต่ลมให้โทษ
4) โรคเกิดแต่ดี เสมหะ ลมให้โทษ
5) โรคเกิดแต่ฤดูแปรปรวน
6) โรคเกิดแต่การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถไม่สม่ำเสมอ
7) โรคเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง
8) โรคเกิดแต่วิบากกรรม

     หากมองแต่เพียงผิวเผิน แม้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคร้าย ก็ยากจะเห็นความวิเศษของการตรัสแ ดงเหตุร้ายทั้ง 8 ประการนี้ แต่ถ้าสาวหาสาเหตุที่มาที่ไปกันให้ดีจะพบว่าพระองค์ทรงแตกฉานการดูแลสุขภาพอย่างยิ่ง และไม่ทรงปิดบังหวงแหนแต่อย่างใด เพราะต้องการให้ชาวโลกนำไปใช้ป้องกันและรักษาสุขภาพให้ดี จะได้มีเรี่ยวแรงปฏิบัติธรรมสามารถบรรลุธรรมตามพระองค์ไป

    นี่คือน้ำใจของพระองค์ท่านที่ทำให้เราต้องศึกษาเรื่องนี้ด้วยความเคารพ และห้ามประมาทดูเบาอย่างยิ่ง และนำไปฝึกให้เป็นนิสัยรักษาสุขภาพให้จงได้

2.2) นิสัยรักษาสุขภาพ
    จากสาเหตุร้าย 8 ประการที่ก่อให้เกิดโรคดังกล่าวนั้น เมื่อนำไปศึกษาอย่างดีแล้วก็จะพบว่า เราจำเป็นต้องฝึกตนให้มีนิสัยรักษาสุขภาพ 5 ประการ คือ

(1) ต้องฝึกนิสัยใช้ปัจจัย 4 ที่ไม่เป็นโทษต่อสุขภาพ
สิ่งที่ทำให้คนเราพบอาการผิดปกติในขั้นต้นว่าเจ็บไข้ได้ป่วยหรือไม่ ก็คือสาเหตุร้าย 4 ประการแรกที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ อาการดีผิดปกติให้โทษบ้าง เสมหะผิดปกติให้โทษบ้างลมในตัวที่ผิดปกติให้โทษบ้าง เช่น ลมหายใจเข้าออก ลมในกระเพาะ ลมในลำไส้ ลมในอวัยวะต่าง ๆ เป็นต้น

    ความผิดปกติเหล่านี้หากยังปล่อยปละละเลย ไม่สนใจค้นหาสาเหตุให้เจอ ก็จะกลายเป็นความประมาทที่นำไปสู่การเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยเรื้อรัง และเป็นโรคร้ายแรงอื่น ๆ แทรกซ้อนตามมาได้

     อาการผิดปกติของดี เสมหะ ลมในตัวนั้น แท้จริงแล้วมีสาเหตุหลักมาจากการไม่รู้จักระมัดระวัง และไม่รู้จักประมาณในการใช้สอยปัจจัย 4 ซึ่งหากบริโภคใช้สอยไม่ถูกวัตถุประสงค์หรือเกินพอดี ก็จะนำโรคภัยไข้เจ็บมาให้แก่ผู้นั้นได้

   แม้ปัจจุบันจะมีการค้นพบว่าต้องระมัดระวังในเรื่องอาหาร เพราะโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการตามใจปากตามใจท้องนั้นเห็นได้ชัดที่สุด จึง รุปกันออกมาว่า "You are what you eat" แต่จริงแล้ว ปัจจัยที่เหลืออีก 3 อย่าง หากใช้สอยด้วยความประมาทมักง่าย ดูเบา ก็เป็นสาเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมาด้วย

  เพราะฉะนั้น นิสัยแรกที่ต้องฝึกในการดูแลสุขภาพ ก็คือ นิสัยไม่ประมาทในการใช้ปัจจัย 4 นั่นเอง

(2) ต้องฝึกนิสัยรู้เท่าทันฤดูกาลแปรปรวน
    สาเหตุโรคประการที่ 5 คือ โรคเกิดแต่ฤดูกาลแปรปรวน คนที่ป่วยเป็นโรคประเภทนี้บ่อย ๆ หากเจาะลึกลงไปก็จะพบว่า

  1) ไม่สนใจศึกษาธรรมชาติร่างกายของตนเองให้มากพอว่ามีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปรของฤดูกาลอย่างไรหรือไม่ จึงประมาทว่าร่างกายนี้จะคงทนราวกับหินผา ไม่ได้ประกอบขึ้นมาจากเลือดเนื้อ

   2) ไม่ระมัดระวังในการเลือกใช้ปัจจัย 4 ให้เหมาะสมกับฤดูแปรปรวน ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยเพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ โดยไม่ทันรู้ตัว

   เพราะฉะนั้น นิสัยที่สองที่ต้องฝึกในการดูแลสุขภาพ ก็คือ นิสัยรู้เท่าทันธรรมชาติของร่างกายและความแปรปรวนในแต่ละฤดูกาล นั่นเอง

(3) ต้องฝึกนิสัยบริหารอิริยาบถ 4 ให้สมดุล
    การอยู่ในอิริยาบถเดียวนานเกินไป ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคได้ เพราะร่างกายนั้นมีชื่อเต็ม ๆ ว่าสรีรยนต์ เครื่องยนต์ไม่ว่าชนิดใด ๆ จำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางต่าง ๆ ตามที่กำหนด หากเคลื่อนไหวค้างนานไว้จนผิดธรรมชาติที่กำหนด ย่อมเกิดอาการเกินกำลังของอิริยาบถนั้น เช่น ปวดเอว ปวดขา ปวดคอ ปวดหลัง เป็นต้น แล้วก็จะนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมที่นำไปสู่การเจ็บไข้ได้ป่วยโดยง่าย

    เพราะฉะนั้น นิสัยที่สามที่ต้องฝึกในการดูแลสุขภาพ ก็คือ นิสัยออกกำลังกายให้อิริยาบถ 4 สมดุล นั่นเอง ซึ่งก็ต้องศึกษาท่ากายบริหาร จำนวนครั้ง และระยะเวลาให้ดี เพราะหากทำมากเกินไป ก็กลายเป็นโทษได้เช่นกัน

(4) ต้องฝึกนิสัยไม่ใช้ร่างกายหักโหมเกินกำลัง
 การใช้ร่างกายหักโหมเกินไป ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ โรคชนิดนี้ไม่เกิดกับคนเกียจคร้าน แต่เกิดกับคนขยัน เป็นอาการอ่อนล้าของร่างกายที่สู้จิตใจที่มุ่งมั่นไม่ไหวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้มีปัญญาเห็นภัยในวัฏสงสารด้วยแล้ว ยิ่งเร่งปรารภความเพียรบำเพ็ญภาวนา เพราะหวังกำจัดกิเลสให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษโดยเร็ว จึงเผลอใช้ร่างกายหักโหมเกินกำลังบ้าง เกินอายุบ้าง เพราะต้องการสร้างบุญแข่งกับเวลา

  แม้ว่าการปรารภความเพียรเป็นเรื่องที่ควรแก่การอนุโมทนา แต่ว่าหากหักโหมเกินไปก็เป็นโทษ การบริหารเวลาให้ลงตัว และการได้กัลยาณมิตรไว้คอยสะกิดเตือนกันบ้าง ย่อมพอให้แก้ไขนิสัยเผลอหักโหมงานนี้ได้

   เพราะฉะนั้น นิสัยที่สี่ที่ต้องฝึกในการดูแลสุขภาพเป็น ก็คือ นิสัยไม่หักโหมเกินกำลังคนที่จะทำได้ก็ต้องบริหารเวลาให้ลงตัว และต้องหมั่นสังเกตธรรมชาติของร่างกายในแต่ละวัยด้วยจึงจะสามารถรู้ถึงความพอดีได้

(5) ต้องฝึกนิสัยป้องกันแก้ไขโรคจากวิบากกรรมเก่า
    โรคที่เกิดจากวิบากกรรมเก่า คือโรคที่เกิดจากผลกรรมชั่วในอดีตที่ตนเคยทำไว้ตามมาทัน จึงนำความเจ็บไข้ได้ป่วยมาให้ โรคประเภทนี้ หากเกิดขึ้นกับผู้ใดแล้ว ก็ยากจะแก้ไขใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นสิ่งที่เราทำไว้เอง แต่ถึงกระนั้น ก็ใช่ว่าจะหมดทางเสียทีเดียว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ทางผ่อนหนักเป็นเบาไว้ให้ คือ

        1) เมื่อยังทำอะไรไม่ได้ ให้เร่งทำใจยอมรับความจริงว่า โรคภัยไข้เจ็บนี้เป็นเพราะเราทำตัวของเราเอง ห้ามโทษใครอื่นเด็ดขาด พร้อมทั้งหักห้ามใจจะไม่ทำกรรมชั่วเช่นนั้นอีก

   2) เมื่อยอมรับผลแห่งอกุศลกรรมแล้ว ก็ให้ตั้งใจสร้างบุญใหม่ทุกชนิดให้เต็มกำลังความสามารถ และด้วยอำนาจของผลบุญใหม่นี้ หากอกุศลกรรมไม่รุนแรงนัก โรคภัยไข้เจ็บย่อมหายได้ หรือถ้าไม่หายก็ผ่อนคลายทุกขเวทนาให้เบาลงได้ แม้ที่สุด หากต้องตาย ถึงคราวตายก็ไปดี มีสุคติเป็นที่ไป

     เพราะฉะนั้น นิสัยที่ห้าที่ต้องฝึกในการดูแลสุขภาพ ก็คือ นิสัยป้องกันแก้ไขโรคจากวิบากกรรมเก่า แม้วันนี้ร่างกายยังไม่เจ็บไข้ได้ป่วย แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะถ้านำร่างกายไปก่อกรรมชั่วใหม่เพิ่ม ก็จะกลายเป็นช่องทางให้วิบากกรรมเก่าตามมาทัน ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมากะทันหันได้ จึงต้องรู้จักป้องกันและผ่อนหนักเป็นเบาด้วยการสร้างบุญไว้ตลอดเวลา

     จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็สรุปได้ว่า ผู้ที่จะมีสุขภาพดีเป็นต้นทุนในการบำเพ็ญเพียรภาวนาให้เข้าถึงธรรมได้ดียิ่งนั้น จำเป็นต้องไม่ประมาทในการศึกษาหาความรู้ในการดูแลสุขภาพโดยต้องเข้าใจทั้งธรรมชาติ การดูแลรักษา และการใช้สร้างบุญบารมี อีกทั้งยังต้องนำความรู้นั้นมาฝึกฝนให้เป็นนิสัยรักษาสุขภาพ 5 ประการดังกล่าวมาแล้วอีกด้วย จึงจะมี รีรยนต์ที่มีสุขภาพพลามัยที่ มบูรณ์แข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่าย ไว้ใช้สร้างบุญไปนาน ๆ


3. การไม่โอ้อวดและไม่มีมารยา
      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า คุณสมบัติข้อที่ 3 ของผู้บรรลุธรรมได้ง่าย คือ ไม่โอ้อวดไม่มีมารยา ทำตนให้เปิดเผยความจริงในศา ดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้ทั้งหลาย

     คนโอ้อวด คือ คนที่ชอบยกตนข่มท่าน ชอบเย้ยหยันและหาทางเอารัดเอาเปรียบคนที่อ่อนด้อยกว่า มีโลกทัศน์คับแคบ หิวคำชม ถือดีในความรู้ความสามารถของตน ใครเตือนไม่ได้

     คนมีมารยา คือ คนที่พึ่งตนเองไม่ได้ จึงมีเล่ห์เหลี่ยมกลโกง เสแสร้งแกล้งทำ คดในข้องอในกระดูก เพื่อหาทางเอาตัวรอดแต่ลำพัง

     ดังนั้นในทางตรงกันข้าม

    คนไม่โอ้อวดและไม่มีมารยา คือ คนที่ตั้งใจแก้ไขปรับปรุงนิสัยของตนเองด้วยความจริงจังและจริงใจ เป็นคนเปิดเผยตามความจริง ไม่เป็นคนลวงโลก มีความอ่อนน้อมถ่อมตนยินดีรับฟังคำตักเตือนสั่งสอนของผู้รู้ มุ่งตรงสู่เป้าหมายคือการทำพระนิพพานให้แจ้ง


ทำไมจึงเป็นคนโอ้อวด ?

     คนที่มีนิสัยโอ้อวดนั้น ย่อมถือดีในตน แต่โดยภูมิหลังของชีวิตมักเคยถูกเลี้ยงดูหรือตกอยู่ใน ถานการณ์ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ขาดความเป็นธรรม หรือมีความลำเอียงสูง

     พวกหนึ่งมีความสามารถพอพึ่งตนเองได้ แต่ถูกกดขี่เหยียดหยามอย่างหนัก จนกระทั่งเกิดปมด้อย มีความคับแค้นใจง่าย มองโลกในแง่ร้าย หากมีโอกาสเมื่อไร จะต้องยกตนข่มผู้อื่นทันที หรือหาทางปัดแข้งปัดขาผู้อื่นให้ล้มลงจนได้ หรือเรียกว่า โอ้อวดเพราะปกปิดปมด้อย

     อีกพวกหนึ่งมีความสามารถพอพึ่งตนเองได้เช่นกัน ไม่ได้ถูกกดขี่ แต่ถูกชมจนเหลิงถูกตามใจจนเคย ถูกยกจนลอยเกินความจริง จนกระทั่งเกิดปมเขื่อง หิวคำชม ทนเห็นใครดีกว่าตนหรือเท่ากับตนไม่ได้ จะต้องหาเรื่องจับผิดกดขี่ให้เขาแย่กว่าตน หรือหาทางปัดแข้งปัดขาผู้อื่นให้ล้มลงจนได้ หรือเรียกว่า โอ้อวดเพราะหิวคำชม

    เพราะเหตุนี้ คนโอ้อวดจึงยากที่จะมีวินิจฉัยถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ยากที่จะคบหาใครด้วยความจริงใจ ยากที่จะมีน้ำใจช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และยากจะฝึกให้มีความก้าวหน้าในความดีได้ยาก เพราะเขายังไม่ยอมทิ้งทิฏฐิมานะนั่นเอง


ทำไมจึงเป็นคนมีมารยา ?

      คนมีมารยานั้น มักเป็นคนที่พึ่งพาความสามารถของตนเองไม่ได้ จึงเกิดปมด้อย ทำให้มีมารยา หาอุบายคดในข้องอในกระดูก ฉกฉวยผลประโยชน์มาให้ตนในทางที่ผิด

     ภูมิหลังชีวิตของคนมีมารยานั้น มักไม่เคยถูกฝึกให้รับผิดชอบตนเองและส่วนรวมซึ่งเกิดจากการเลี้ยงดูที่ผิดพลาด แบ่งออกเป็นสามลักษณะใหญ่

ลักษณะแรก คือ ถูกเลี้ยงดูให้เป็นคนรักสบาย เกียจคร้านการงาน
ลักษณะที่สอง คือ ถูกตามใจจนเสียคน ไม่รู้จักถูก ผิด ดี ชั่ว
ลักษณะที่สาม คือ ถูกปล่อยปละละเลย ขาดคนเหลียวแล

     ครั้นเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก จึงพึ่งตนเองไม่ได้ และขาดความอดทนที่จะพัฒนาตน จึงคิดแก้ปัญหาแบบมักง่าย ด้วยการประจบประแจงบ้าง ฉ้อโกงผู้อื่นบ้าง ใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่นบ้าง

      เพราะฉะนั้น คนที่มีมารยาจึงเป็นคนที่ยากจะมีสัจจะต่อหน้าที่สัจจะต่อการงานสัจจะต่อวาจาสัจจะต่อบุคคล และสัจจะต่อศีลธรรม เป็นบุคคลที่ฝึกให้ดีได้ยาก


ทำอย่างไรจึงจะไม่โอ้อวดและไม่มีมารยา

1) ฝึกพึ่งตนเอง
     คนที่จะไม่โอ้อวดและไม่มีมารยาต้องเป็นคนพึ่งตนเองได้ แต่คนที่จะพึ่งตนเองได้ จำเป็นต้องได้ครูดีเป็นต้นแบบ และตัวของเขาเองก็ต้องตั้งใจฟังคำครูให้ชัด ตรองคำครูให้ลึก ทำตามคำครูให้ครบ จึงจะสามารถรับการถ่ายทอดความรู้และนิสัยดีจากครูมาสู่ตัวของเขาได้ และจึงจะสามารถพึ่งความรู้และนิสัยดีของตนเองได้เหมือนกับครู ไม่จำเป็นต้องโอ้อวด มีมารยา

2) ฝึกรักษาสุขภาพ
     หลังจากศึกษาหาความรู้ในการดูแลสุขภาพแล้ว ก็ต้องฝึกให้เป็นนิสัย การที่ความรู้จะกลายเป็นนิสัยได้ ก็ต้องฝึกตนให้เป็นคนมีวินัยอย่างน้อย 5 ประการ

2.1) วินัยต่อคำพูด คือ พูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ทำอย่างไรก็พูดอย่างนั้น เพื่อป้องกันการเป็นคนโกหกพกลม อันเป็นสาเหตุของการเป็นโรคความจำเสื่อม

2.2) วินัยต่อเวลา คือ กินเป็นเวลา นอนเป็นเวลา ตื่นเป็นเวลา ทำงานเป็นเวลา และออกกำลังกายเป็นเวลา

2.3) วินัยต่อความสะอาด คือ รู้จักดูแลความสะอาดของร่างกายและการใช้ปัจจัย 4

2.4) วินัยต่อความเป็นระเบียบ คือ รู้จักประมาณในการใช้ปัจจัย 4 รู้จักทำงานเป็นขั้นตอน และรู้จักเก็บรักษาปัจจัย 4 ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย

2.5) วินัยต่อการสร้างบุญ คือ รู้จักสร้างบุญอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันวิบากกรรมเก่าตามมาตัดรอนโอกาสในการสร้างบุญ

    คนที่ฝึกตนให้มีวินัยย่อมมีสุขภาพดี ไม่มีปมเขื่อง ไม่มีปมด้อย รับผิดชอบตนเองได้จึงไม่จำเป็นต้องโอ้อวดมีมารยา

3) ฝึกความรับผิดชอบต่อศีลธรรม
    คนที่จะมีความรับผิดชอบต่อศีลธรรม ต้องเป็นคนมีสัมมาทิฏฐิ 10 ประการ คือมีความเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริงว่า

1. ชีวิตอยู่ได้ด้วยการแบ่งปัน

2. อย่าปล่อยให้ใครตกทุกข์ได้ยากโดยไม่เหลียวแล

3. สังคมเจริญก้าวหน้าด้วยการยกย่องคนทำความดี

4. ห้ามดำเนินชีวิตด้วยความลำเอียง

5. ต้องใช้ปัญญาเจาะลึกหาเหตุผลแห่งความจริงในชีวิตปัจจุบันให้ชัดเจนและครบวงจร

6. ต้องใช้ปัญญาพิจารณาผลดีผลร้ายที่จะเกิดกับชีวิตในอนาคตได้ตรงตามความจริง

7. แม่ คือ ต้นแบบของความรู้ความสามารถความดีในชีวิต

8. พ่อ คือ ต้นแบบของความรู้ความสามารถความดีในชีวิต

9. ภพภูมิต่าง ๆ มีอยู่จริง พึงระแวงภัยที่ควรระแวง พึงแก้ไขป้องกันภัยที่ควรระวัง

10. พระอรหันต์ คือต้นแบบศีลธรรมที่สมบูรณ์ ต้องฝึกตนไปตามเส้นทางนี้ จึงจะนำพาชีวิตตนได้รอดปลอดภัยจากอันตรายในวัฏสงสาร

    คนที่มีสัมมาทิฏฐิ 10 ประการคือ คนที่มองออกว่า ชีวิตนี้ตกอยู่ภายใต้ "กฎแห่งกรรม"และหลักการดำเนินชีวิตที่หลุดพ้นจากกฎแห่งกรรมได้ ก็คือ

1. ต้องทุ่มชีวิตละเว้นความชั่ว
2. ต้องทุ่มชีวิตทำความดี
3. ต้องทุ่มชีวิตกลั่นใจให้ผ่องใส

   เพราะเหตุนี้ จึงต้องหาทางเอาชนะกฎแห่งกรรมด้วยการฝึกตนให้เป็นคนมีความรับผิดชอบต่อศีลธรรม ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้เป็นมาตรฐานคนดี 4 ประการนั่นคือ

3.1) คนดีต้องมีนิสัยรับผิดชอบต่อศีลธรรมของตนเองด้วยการไม่ทำบาปกรรม 4 ประการ ได้แก่ ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่เจ้าชู้ ไม่พูดปด

3.2) คนดีต้องมีนิสัยรับผิดชอบต่อศีลธรรมของสังคมด้วยการไม่ทำสิ่งใดด้วยความมีอคติ 4 ได้แก่ ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะโง่ ลำเอียงเพราะกลัว

3.3) คนดีต้องมีนิสัยรับผิดชอบต่อศีลธรรมของเศรษฐกิจด้วยการไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข 6 ได้แก่ ไม่ดื่มสุรา ไม่เที่ยวกลางคืน ไม่หมกมุ่นในสิ่งบันเทิงเริงรมย์ ไม่เล่นการพนันไม่คบคนชั่วเป็นมิตร ไม่เกียจคร้านการงาน

3.4) คนดีต้องมีนิสัยรับผิดชอบทั้งต่อบุคคลแวดล้อมและสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติด้วยการทำหน้าที่ประจำทิศ 6

  คนที่ฝึกตนให้มีความรับผิดชอบต่อศีลธรรม ย่อมมองโลกและชีวิตตรงตามความเป็นจริงดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เป็นต้นแบบที่ดีงามให้แก่สังคม ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมได้เต็มที่ จึงไม่จำเป็นต้องโอ้อวด มีมารยา


4. การปรารภความเพียร
     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า คุณสมบัติข้อที่ 4 ของผู้บรรลุธรรมได้ง่าย คือ ต้องเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมที่เกิดมีความเข้มแข็ง มีความบากบั่น ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย

        กล่าวโดยย่อก็คือ การปรารภความเพียร หมายถึง การบำเพ็ญภาวนา

        ผู้ที่จะบำเพ็ญภาวนาได้ดี ต้องรู้จักบริหารเวลา

      เวลาเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุดของมนุษย์ เพราะช่วงเวลาที่มนุษย์แต่ละคนได้รับย่อมหมายถึงช่วงชีวิตของผู้นั้น นั่นคือ เวลาที่ผ่านไปแต่ละอนุวินาที ได้นำเอาชีวิต นำเอากำลังวังชาของผู้นั้นไปด้วยทุกขณะ แล้วยังหยิบยื่นความแก่ ความเจ็บ ความตายมาให้ในเวลาเดียวกันอีกด้วย แม้จะไม่มีผู้ใดปรารถนาก็ตาม

      ดังนั้น เวลาจึงถือได้ว่าเป็นทรัพยากรที่เนื่องด้วยชีวิต และมีอยู่อย่างจำกัด ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

      "วันคืนย่อมล่วงไป ชีวิตย่อมหมดไป อายุของสัตว์ย่อมสิ้นไป เหมือนน้ำในลำธารน้อย ๆ ที่กำลังเหือดแห้งใกล้หมดไปฉันนั้น"

     สำหรับชีวิตพระภิกษุนั้น การบริหารเวลาที่คุ้มค่าที่สุด คือการจัด รรเวลาให้กับกิจสำคัญของการฝึกตน 4 ประการเป็นอันดับแรก ได้แก่

1) การศึกษาค้นคว้าพระธรรมคำสอน
2) การสอบถามสนทนาธรรม
3) การปฏิบัติสมาธิภาวนาประจำวัน
4) การหลีกออกเร้น เพื่อปฏิบัติสมาธิภาวนา

    ที่จะมีความก้าวหน้าในการฝึกตนนั้น ต้องบริหารเวลาใน 4 เรื่องนี้ ร่วมกับปฏิบัติกิจวัตร 10 ให้ลงตัวอย่าง ม่ำเสมอ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ปรารภความเพียร และเป็นสุดยอดของการบำเพ็ญตนให้เป็นกัลยาณมิตรของตนเอง

     การบริหารเวลาที่ผิดพลาด ย่อมเป็นการปล่อยโอกาสที่จะได้ทำสิ่งสำคัญที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิต นั่นคือ การปราบกิเลสในตน ให้หลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนชาวโลกว่า เวลาชีวิตเป็นของมีน้อย ไม่ได้ยืนยาวเป็นเดือนเป็นปีอย่างที่ชาวโลกเข้าใจ แต่แท้จริงนั้น เวลาชีวิตนั้นแสนสั้นเพียงแค่ช่วงระยะลมหายใจเข้าออกเท่านั้น นั่นย่อมหมายถึงว่า ความตายได้รุกคืบเข้าหาชีวิตแต่ละคนอยู่ทุกขณะจิต การดำเนินชีวิตทุกอย่างในโลกนี้จึงแข่งกับระเบิดเวลา หรือนาฬิกาแห่งความตายของตนเอง

    ยิ่งกว่านั้นสิ่งที่ต้องตระหนักให้มากก็คือ อัตภาพร่างกายที่เป็นมนุษย์นี้เท่านั้นที่เหมาะแก่การละเว้นความชั่ว ทำความดี กลั่นใจให้ผ่องใสเพราะไม่ว่าจะเป็นอัตภาพใด ๆ ที่ต่ำกว่า ได้แก่สัตว์นรก เปรต อสุรกายสัตว์เดรัจฉาน หรืออัตภาพใดๆ ที่สูงกว่า ได้แก่ เทวดา พรหม อรูปพรหม ก็ยังมีโอกาสทำความดีได้น้อยกว่าอัตภาพที่เป็นมนุษย์

    เพราะฉะนั้น ภารกิจสำคัญของนักสร้างบารมีก่อนที่จะไปทำอย่างอื่น ก็คือ ต้องแบ่งเวลานั่งสมาธิภาวนาการบำเพ็ญสมาธิภาวนามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกำจัดกิเลส เพราะจิตที่ฝึกดีแล้วย่อมหยุดนิ่งตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ ไม่หวั่นไหวไปตามอำนาจกิเลส ไม่ยึดติดยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่ใจเกาะติดอยู่ภายใน จึงเกิดปัญญาภายในจากอำนาจสมาธิ

   หากนักสร้างบารมีขาดการแบ่งเวลาฝึกสมาธิเสียแล้ว จิตย่อมขาดความสำรวมระมัดระวัง จิตย่อมซัดส่าย วุ่นวาย ฟุ้งซ่านแบบชาวโลก เมื่อมีสิ่งใดมากระทบจิต ก็จะส่งผลให้จิตปรุงแต่ง เกิดเป็นความยินดียินร้ายในอารมณ์นั้น กิเล อย่างต่ำอันมีโลภะ โทสะ โมหะ ก็จะเข้าครอบงำจิตใจ ทำให้กายและวาจาขาดความสำรวม มีโอกาสก่อบาปทางกาย วาจา และใจได้ง่าย แม้จะโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม แต่ย่อมส่งผลให้ศีลธรรมในตนตกต่ำลงไปอีก และทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาต่อผู้พบเห็นอีกด้วย

    นอกจากนี้ การหลีกออกเร้นเพื่อทำภาวนาอย่างต่อเนื่องก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น 7 วันบ้าง 1 เดือนบ้าง 1 พรรษาบ้าง หรือ 1 ปี หรือหลาย ๆ ปี เป็นต้น

   การทำสมาธิภาวนาอย่างต่อเนื่องเป็นหัวใจของการบรรลุธรรมเพราะการบรรลุธรรมนั้นจิตต้องหลุดพ้นจากพันธนาการภายนอก มาหยุดนิ่งตั้งมั่นอยู่ภายในกาย เมื่อหยุดนิ่งถูกส่วน จิตก็รวมดิ่งเข้าสู่ภายในไม่ถอนถอย จนจิตเกิดเป็นสมาธิขั้นสูงที่เรียกว่า "ปัญญา" และใช้ปัญญาพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม ทำให้ตรัสรู้ไปตามลำดับ

    การปฏิบัติธรรมตามกิจวัตรประจำวันนั้น เป็นการประคับประคองใจเพื่อไม่ให้ศีลธรรมในใจตกต่ำลงไปกว่าเดิม แต่ยังไม่เพียงพอจะทำให้ใจหลุดจากการยึดเกาะกับวัตถุภายนอกได้หมดจดสิ้นเชิง

      ในระหว่างวัน ใจย่อมเข้า ๆ ออก ๆ บางครั้งก็อยู่กับตัว บางครั้งก็เผลอไปคิดเรื่องนอกตัว ดังนั้น ถ้าจะให้ได้บรรลุคุณวิเศษใด ๆ แล้ว จำเป็นต้องหลีกออกเร้น ทุ่มเวลาตลอดทั้งวันในการฝึกจิตตนเองด้วยการเจริญสมาธิภาวนาอย่างต่อเนื่อง และนานมากพอที่จะทำให้จิตแล่นเข้าสู่ภายใน จนพบกับดวงสว่างที่เรียกว่า "ปฐมมรรค" อันเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ภายในและเป็นหนทางเบื้องต้นที่จะทำให้เข้าถึงธรรมะอันเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ภายในที่ละเอียด ประณีตลึกซึ้งยิ่งขึ้น เป็นการมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน ตามที่พระภิกษุปฏิญาณไว้ต่อหน้าพระอุปัชฌาย์ว่า

"สัพพะทุกขะนิสสรณะ นิพพานะสัจฉิกะระณัตถายะ
ข้าพเจ้าขอบวชเพื่อสลัดออกจากกองทุกข์ทั้งปวง และทำพระนิพพานให้แจ้ง"

    นี่คือความสำคัญของการบริหารเวลาปรารภความเพียรที่ต้องแบ่งเวลาให้กับการหลีกออกเร้นทำสมาธิในระยะยาวด้วย แม้หากชาตินี้ไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็จะเป็นอุปนิสัยแห่งมรรคผลนิพพาน ติดตัวไปภพชาติเบื้องหน้า

     เพราะฉะนั้นอย่าประมาทในชีวิต ให้ความสำคัญกับการบริหารเวลา และอย่าดูถูกเวลาแม้เพียงเล็กน้อยว่าจะไม่ให้ผลอะไร เพราะเวลาแม้เพียงชั่วครู่ หากตั้งอยู่ในความไม่ประมาทแม้เพียงครู่เดียว ก็ยังได้รับผลเป็นอัศจรรย์

      ดังที่พระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง จำพรรษาในวัดป่ากับเพื่อนภิกษุจำนวน 30 รูป วันหนึ่งถูกเสือคาบไปเพื่อจะกิน ภิกษุอื่นถือไม้เท้าและคบเพลิงตามไปหมายจะให้เสือปล่อย แต่เสือหนีไปทางเขาขาดที่พระภิกษุทั้งหลายตามมาไม่ได้ ภิกษุนั้นจึงนอนอยู่ในปากเสือ ข่มเวทนาเจ็บปวด แล้วเจริญวิปั นาอย่างอุทิศชีวิต ตอนที่เสือกินถึงข้อเท้าได้เป็นพระโสดาบัน กินไปถึงหัวเข่าได้เป็นพระสกทาคามี กินไปถึงท้องได้เป็นพระอนาคามี เมื่อเสือกินไปยังไม่ถึงหัวใจ ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาอยู่ในปากเสือนั่นเอง

      ก่อนปรินิพพาน ท่านได้เปล่งอุทานว่า

     "เรามีศีล ถึงพร้อมด้วยวัตร มีปัญญา มีใจมั่นคงดีแล้ว อาศัยความไม่ประมาทครู่หนึ่ง ทั้งมีใจไม่คิดร้ายต่อเสือ ขณะถูกเสือกินถึงกระดูกและเอ็นก็ตาม เราจักทำกิเลให้สิ้นไป จักสัมผั วิมุตติ"

 และนี่คือความสำคัญของการปรารภความเพียรด้วยความไม่ประมาทและมั่นคงในศีลแม้เพียงครู่เดียว ก็สามารถทำให้พระภิกษุนั้นบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้


5. การเพิ่มพูนปัญญาให้ตนเอง
    คุณสมบัติข้อที่ 5 ของผู้บรรลุธรรมได้ง่าย คือ หมั่นเพิ่มพูนปัญญาให้ตนเองพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางมาตรฐานการมีปัญญาไว้ชัดเจนว่า เป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดดับอันเป็นอริยะ

      ปัญญามี 3 ประเภท

1. สุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง
2. จินตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการคิด
3. ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการทำภาวนา

     เพราะฉะนั้น ปัญญาที่ใช้เป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดดับอันเป็นอริยะนั้นเป็นได้อย่างเดียว คือ ภาวนามยปัญญา ไม่ใช่ปัญญาจากการท่องจำ ไม่ใช่ปัญญาจากการตีความ

      ภาวนามยปัญญานั้น เกิดจากการบำเพ็ญภาวนาจนกระทั่ง "ใจหยุดนิ่ง" เป็น "สัมมาสมาธิ" ไปตามลำดับ ๆ ๆ ๆส่งผลให้ "เห็นธรรม" ที่ซ่อนอยู่ในตัวมนุษย์ไปตามลำดับ ๆ ๆ จึงเกิดเป็น "ภาวนามยปัญญา" ที่ลุ่มลึกไปตามลำดับ ๆ ๆ ๆ

    เพราะฉะนั้น ใจยิ่งเป็น "สัมมาสมาธิ" มากเท่าไร "ภาวนามยปัญญา" ที่เกิดขึ้นย่อมมีความบริสุทธิ์บริบูรณ์มากเท่านั้น ผลสุดท้าย ย่อมเป็นผู้รู้แจ้งแทงตลอดในวิชชา 3 วิชชา 8 มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์มากขึ้นไปตามลำดับ ๆ ๆ

    ตรงนี้เองที่เป็นที่มาของธรรมะ 84,000 พระธรรมขันธ์ ซึ่งประชุมรวมกันในมรรคมีองค์ 8 ที่มีเป้าหมาย คือ พระนิพพาน โดยสามารถเขียนเป็นรูปภาพสรุปภาพรวมพระธรรมคำสอนได้ดังนี้

สูตรสำเร็จการสร้างบารมีเป็นทีม , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , สร้างบารมี , หลวงพ่อธัมมชโย , การฝึกตนให้มีคุณสมบัติของผู้บรรลุธรรมได้ง่าย , ธรรมะ , เข้าถึงธรรม , บรรลุธรรม

    และเพราะธรรมะ 84,000 พระธรรมขันธ์ มีความเชื่อมโยงกับมรรคมีองค์ 8 ที่มีเป้าหมายคือพระนิพพาน ในลักษณะนี้เอง จึงทำให้คำว่า "ธรรมะ" ถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับดังที่เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้

   ระดับที่ 1 ธรรมะ คือ ธรรมชาติบริสุทธิ์ในตัวมนุษย์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยการบำเพ็ญเพียรภาวนาตามหลักมรรคมีองค์ 8 อย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันจนกระทั่งหมดทุกข์ หมดกิเลสหมดความไม่รู้อย่างถาวรส่งผลให้หลุดพ้นจากการกักขังจองจำเหนี่ยวรั้งปิดบังจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารได้อย่างถาวร

     ระดับที่ 2 ธรรมะ คือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มุ่งสอนประชาชนให้ทุ่มเทกับการขจัดทุกข์ ขจัดกิเลสขจัดความไม่รู้ในตนให้หมดสิ้นตามพระองค์ไป

     ระดับที่ 3 ธรรมะ คือ นิสัยดีที่เกิดจากการปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ด้วยการละเว้นความชั่ว ทำความดี กลั่นใจให้ผ่องใสอย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

      นั่นก็หมายความว่า การที่ตัวของเราจะเข้าถึงธรรมได้หรือไม่นั้น

      การที่บุคลากรในพระพุทธศาสนาจะมีคุณภาพมากน้อยเพียงไรนั้น

      การที่อายุพระพุทธศาสนาจะยืนยาวได้มากน้อยเพียงไรนั้นก็ตาม

      ล้วนขึ้นอยู่กับการฝึกฝนอบรมตนเองให้มีคุณสมบัติทั้ง 5 ประการของผู้เข้าถึงธรรมได้ง่ายทั้งสิ้น

     เริ่มตั้งแต่ตนเองต้องมีศรัทธามั่นคง มีสุขภาพดี มีนิสัยดี มีการปรารภความเพียรดีและมีปัญญาตรัสรู้ โดยมีมรรคมีองค์ 8 เป็นหลักปฏิบัติ และมีผลลัพธ์คือการทำพระนิพพานให้แจ้งเป็นเป้าหมายสูงสุดนั่นเอง

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 002 สูตรสำเร็จการสร้างบารมีเป็นทีม
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0017573674519857 Mins