การดูแลวัดให้มีคุณสมบัติของสถานที่ที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม

วันที่ 03 มิย. พ.ศ.2560

การดูแลวัดให้มีคุณสมบัติของสถานที่ที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม
 

สูตรสำเร็จการสร้างบารมีเป็นทีม , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , สร้างบารมี , หลวงพ่อธัมมชโย , การดูแลวัดให้มีคุณสมบัติของสถานที่ที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม , ธรรมะ , เข้าถึงธรรม , บรรลุธรรม

     นอกจากการฝึกตนให้มีคุณสมบัติของผู้เข้าถึงธรรมแล้วสิ่งแวดล้อมในวัดมีอิทธิพลต่อการเข้าถึงธรรมอย่างยิ่ง

วัดที่ดีต้องมีบรรยากาศที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม คือ

    1) มีความสะอาด ความสว่าง ความสงบ เพื่อให้เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมและเป็นที่ตั้งศรัทธาของชาวพุทธ

      2) มีความสันโดษ เพื่อให้เหมาะแก่การประหยัดงบประมาณและสะดวกแก่การดูแลรักษา

      3) มีความสง่างาม เพื่อเป็นภาพลักษณ์ที่ดีงามของพระพุทธศาสนาในสายตาของชาวโลก

   และการที่วัดจะมีบรรยากาศที่เหมาะแก่การบรรลุธรรมได้นั้น ทุกคนต้องช่วยกันดูแลวัดให้มีความถึงพร้อมด้วยสัปปายะ 4 อันเป็นองค์ประกอบภายนอกที่สำคัญต่อการบรรลุธรรมเช่นกัน


1. สถานที่เป็นที่สบาย
   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า คุณลักษณะของสถานที่ที่เหมาะแก่การเข้าถึงธรรมนั้นต้องประกอบด้วย "ชัยภูมิดี" คือ

1) วัดนั้นอยู่ไม่ใกล้ ไม่ไกลจากแหล่งชุมชน

2) มีทางไปมาสะดวก

3) มีความสงบเงียบ กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนมีเสียงน้อย ไม่อึกทึก มีเหลือบยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานน้อย

      เพราะฉะนั้น วัดใดอยู่กลางเมือง จะหาความสงบได้ยาก วิธีแก้ไขก็คือ ต้องแบ่งพื้นที่มุมสงบให้ดี แต่ถ้าทำอย่างไรก็ไม่สงบ วิธีแก้ไขก็คือต้องไปสร้างวัดสาขาไว้เพื่อการหลีกออกเร้นโดยเฉพาะ ก็พอแก้ปัญหาได้


2. ปัจจัยสี่เป็นที่สบาย
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า "ปัจจัยสี่เป็นที่สบาย คือ ภิกษุในวัดนั้นมีจีวรบิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัชที่เกิดโดยไม่ฝืดเคือง"

      ในการฝึกคนนั้น อุปกรณ์สำคัญก็คือปัจจัย 4 แต่มีข้อควรระวังอยู่ 5 เรื่องใหญ่ คือ

  (1) มีปัจจัยสี่และอุปกรณ์การศึกษาที่พร้อมต่อการเลี้ยงดู และฝึกคนได้อย่างทั่วถึงมิฉะนั้นจะเกิดปัญหาลำเอียงเล่นพรรคเล่นพวก

     (2) ต้องมีคุณภาพเหมือนกันด้วย มิฉะนั้น จะเกิดการเปรียบเทียบ เป็นที่มาของความน้อยเนื้อต่ำใจ ทำให้มีคนชอบโม้ มีหัวขโมย มีการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นตามมา

     (3) ต้องมีระบบสังฆภัณฑ์ คือมีระบบเข้ากองกลาง และมีกฎเกณฑ์การเบิกไปใช้ตามความจำเป็น

     (4) ต้องฉันร่วมกันและฉันพร้อมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างฉัน

     (5) ต้องฝึกให้อยู่ร่วมกัน ทำงานเป็นทีมร่วมกัน อย่าฝึกให้อยู่กุฏิเดี่ยว ๆ

    ถ้าไม่ระวัง 5 เรื่องนี้ให้ดี คนในวัดจะมีนิสัยเอกเทศ ตัวใครตัวท่าน ทำงานเป็นทีมไม่เป็นและกุฏินั้นก็จะกลายเป็นที่สะสมของที่ไม่สมควรแก่ สมณบริโภค และก็กลายเป็นเจ้าพ่อคุมวัดก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนปัจจัย 4 รวมทั้งงบประมาณเพื่อประโยชน์ส่วนรวมชนิดกระทบกันไปทั้งวัด


3. บุคคลให้เป็นที่สบาย
 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่าวัดที่จะมีความสมัครสมานสามัคคีนั้น ต้องประกอบด้วยบุคคลสองประเภท คือ พระเถระต้นแบบกับลูกศิษย์ที่รักการฝึกตนเองอย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพัน

     (1) พระเถระต้นแบบ คือ ภิกษุเถระทั้งหลายเป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ ทรงพระธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกาอยู่ในเสนาสนะนั้น

      พระเถระต้นแบบในที่นี้ โดยทั่วไปย่อมหมายถึง เจ้าอาวาส

       เจ้าอาวาสเป็นอย่างไร ลูกวัดก็เป็นอย่างนั้น

     ถ้าเจ้าอาวาสทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันทำภาวนา ลูกวัดก็ทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันทำภาวนาแต่ถ้าเจ้าอาวาสไม่ทุ่มชีวิตเป็นเดิมพัน ลูกวัดก็นอนเป็นเดิมพัน เจ้าอาวาสดูบอลเป็นเดิมพันลูกวัดก็ดูบอลเป็นเดิมพัน แถมดูมวยอีกต่างหาก

    พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านทุ่มทำภาวนาอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันแล้วก็เคี่ยวเข็ญลูกศิษย์รุ่นคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูงให้ทำภาวนาอย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันตามท่านมา

  เมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่ไม่อยู่แล้ว พอคุณยายอาจารย์ฯ พบหลวงพ่อธัมมชโยตั้งแต่ยังเป็นนิสิต ก็เคี่ยวเข็ญลูกศิษย์ให้ทำภาวนาอย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันตามมาอีก

   พอมาถึงคราวสร้างวัดพระธรรมกาย ทั้งคุณยายอาจารย์ฯ และหลวงพ่อธัมมชโยก็ทุ่มชีวิตเคี่ยวเข็ญทุกคนในหมู่คณะให้ทุ่มชีวิตเป็นเดิมพัน ทั้งทำภาวนาและสร้างวัดพระธรรมกายตามท่านมา

      ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ต้นแบบเป็นสิ่งสำคัญในการฝึกฝนอบรมตนเอง

    ต้นแบบของวัดพระธรรมกายอย่างน้อย 3 รุ่น คือ พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และหลวงพ่อธัมมชโย ล้วนแต่สร้างบุญบารมีอย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันทั้งสิ้น

     เพราะฉะนั้น การจะสร้างบุญตามติดมหาปูชนียาจารย์ จะต้องทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันสร้างบุญบารมีตามติดท่านไปให้ทันทุกฝีก้าว แล้วการบรรลุพระนิพพานก็จะ ว่างแจ้งขึ้นมาในใจเอง

   (2) ลูกศิษย์ที่รักการฝึกตน คือ ภิกษุนั้นเข้าไปหาภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ในเวลาที่สมควร แล้วสอบถามไต่ถามว่า พุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี่เป็นอย่างไร

เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้ มุ่งทบทวนไปที่การปฏิบัติวุิธรรม 4 ประการ
บันไดขั้นแรก คือ หาครูดีให้พบ
บันไดขั้นที่สอง คือ ฟังคำครูให้ชัด
บันไดขั้นที่สาม คือ ตรองคำครูให้ลึก
บันไดขั้นที่สี่ คือ ทำตามครูให้ครบ

     ต้นแบบแรกของการทำความดีอย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันในพระพุทธศาสนา ก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

     นับจากวันที่พระองค์ทรงออกบวช ก็ออกบวชอย่างชนิดทุ่มชีวิตเป็นเดิมพัน เป็นตายร้ายดีอย่างไร ไม่ขอย้อนกลับไปอยู่วังตามเดิม แม้ตายก็ไม่ยอมเปลี่ยนใจ

      เมื่อถึงคราวที่แสวงหาธรรมะ ก็แสวงหาธรรมะอย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพัน แม้ต้องทรมานตนจนสังขารพังพินาศเกินกว่าใครๆ จะทนไหวก็ยินยอม เพราะหวังจะได้พบกับธรรมะแต่ผลสุดท้ายพอรู้ว่ามาผิดทาง พระองค์ก็ไม่ทรงย่อท้อเลย รีบฟื้นฟูร่างกาย จะได้มีกำลังไปแสวงหาธรรมะด้วยวิธีอื่นต่อไป

      เมื่อถึงวันที่ตรัสรู้ธรรม ก็ตรัสรู้ธรรมด้วยการทำภาวนาอย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพัน นั่นคือพอพระองค์ประทับนั่งลงไปที่โคนไม้ศรีมหาโพธิ์ ก็ตั้งจิตอธิษฐานทันทีว่า "แม้เลือดเนื้อจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่เอ็นหนังหุ้มกระดูกก็ตามที หากวันนี้ไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ จะไม่ขอลุกขึ้นจากที่นี้" พอทุ่มชีวิตลงไปอย่างนี้ ในที่สุด พระองค์ก็ตรัสรู้ธรรมในคืนวิสาขบูชานั้นเอง

    เมื่อถึงคราวที่พระองค์ทรงประกาศธรรม ก็ประกาศอย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพัน แม้ตายก็ไม่ยอมเลิกนำแสงสว่างแห่งธรรมไปมอบให้ชาวโลก เขาเอาช้างมาไล่ฆ่า เอาธนูมาไล่ยิง กลิ้งหินมาไล่ทับส่งคนมาตามว่า ใส่ร้ายไม่เลิกรา พระองค์ก็ไม่ทรงเลิกประกาศธรรม มีแต่เดินหน้าชี้ทางพ้นทุกข์อย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันให้แก่ชาวโลกต่อไป

  และเมื่อถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิตก็เป็นวินาทีสุดท้ายที่ทุ่มชีวิตเป็นเดิมพัน นั่นคือ เมื่อวันที่พระองค์จะปรินิพพาน คือพระสังขารสิ้นเรี่ยวแรงจะออกตระเวนทำงานเผยแผ่ไปทั่วทุกแว่นแคว้นแล้ว อีกไม่กี่อึดใจจะทรงสิ้นลมแล้ว พระองค์ก็ยังทรงทุ่มชีวิตเป็นเดิมพัน ด้วยการสรุปคำสอนทั้งหมดให้ว่า

     "ภิกษุทั้งหลายสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วย 'ความไม่ประมาท' เถิด"

      นี่คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรา

     เมื่อพระบรมครูเป็นต้นแบบการทำความดีเอาชีวิตเป็นเดิมพันอย่างนี้ หน้าที่ของลูกศิษย์ก็คือ ฟังคำครูให้ชัด ตรองคำครูให้ลึก ทำตามครูให้ครบ และจะครบได้ก็ต่อเมื่อต้องทุ่มชีวิตเป็นเดิมพัน จึงเป็นลูกที่แท้จริงของพระพุทธองค์

     ดังนั้น วัดใดก็ตามที่มีพระเถระต้นแบบ และลูกศิษย์ที่ทุ่มชีวิตเป็นเดิมพัน วัดนั้นย่อมมีบุคคลเป็นที่สบาย


4. ธรรมะเป็นที่สบาย
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่าธรรมะจะเป็นที่สบายได้ก็ต่อเมื่อวัดนั้นมี "การฝึกอบรมคน" เกิดขึ้น นั่นคือ

   "ภิกษุผู้เถระเหล่านั้นย่อมเปิดเผยธรรมะข้อที่ยังไม่เปิดเผย ทำข้อที่ยากให้เข้าใจและบรรเทาความสงสัยในธรรมะที่น่าสงสัยหลายประการแก่ภิกษุผู้ไต่ถามนั้น"

  นั่นก็หมายความว่า ถ้าความรู้ของพระอาจารย์ในวัดนั้น ท่านเจาะลึกการฝึกตนได้มากลูกศิษย์ก็พลอยได้ปัญญามากตามพระอาจารย์ไปด้วย นี่คือความสำคัญของการหาครูดีให้พบถ้าไม่พบ ไม่มีทางเอาดีได้

     ที่สำคัญก็คือ การฝึกคนของวัดพระธรรมกายนั้น ต้องเข้าใจให้ตรงกันว่า เป้าหมายของวัดพระธรรมกาย คือ การฝึกให้เขามุ่งไปทำพระนิพพานให้แจ้ง ถ้าไม่มุ่งไปทำพระนิพพานให้แจ้งไปด้วยกันไม่ได้

     เพราะฉะนั้น ธรรมะจะเป็นที่สบายได้ ก็ต้องเน้นไปที่การฝึกคนให้ดี ถ้ายังฝึกคนได้ไม่ดี ก็อย่าคิดไปทำเรื่องอื่น

    การฝึกคนให้ได้ดีนั้นต้องเน้นไปที่การสร้างคุณสมบัติ 5 ประการของผู้บรรลุธรรมได้ง่ายให้แก่ มาชิกของวัด โดยมีมรรคมีองค์ 8 เป็นหลักปฏิบัติ และมีเป้าหมายอยู่ที่พระนิพพานนั่นคือ

1) ต้องส่งเสริมให้แต่ละคนสามารถเพิ่มพูนศรัทธาของตนเองให้เต็มที่

2) ต้องสอนวิธีดูแลสุขภาพให้เขาอย่างดี

3) ต้องแก้นิสัยโอ้อวดและมีมารยา และเพาะนิสัยทำความดีอย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันให้แก่เขา

4) ต้องลงไปเคี่ยวเข็ญให้ปรารภความเพียร คือ นั่งสมาธิเป็นประจำ และหลีกออกเร้นทำภาวนาในระยะยาว

5) ต้องนั่งสมาธิและค้นคว้าพระไตรปิฎกทั้งบาลีและคำแปล คือ "เอาหลังอิงต้นโพธิ์"เพื่อนำความรู้มาตรวจสอบตนเองทั้งในภาคปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จะได้ไม่พลาด ไม่ผิดไปจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้น เมื่อทุกคนในวัดตั้งใจฝึกตนเองให้มีคุณสมบัติ 5 ประการ เพื่อมุ่งไปทำพระนิพพานให้แจ้งด้วยกันแล้ว การช่วยกันในเรื่องภารกิจส่วนรวมก็จะไปได้ดี

     พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำท่านให้ข้อคิดการฝึกคนไว้ว่า "ในวัดนั้นมีคนสองประเภท

     พวกหนึ่งคือผู้ที่สอนตนเองได้

     อีกพวกหนึ่งคือผู้ที่เกเรสอนตนเองไม่ได้"

    คนที่สอนตนเองได้ เขาจะเอาพระวินัยควบคุมตนเอง ไม่ต้องไปตามควบคุมเขาทุกฝีก้าว เพียงสนับสนุนให้เขาทำงานได้เต็มที่ เดี๋ยวเขาก็ผลักดันงานเผยแผ่ของวัดให้ก้าวหน้าไปได้เอง เพราะเป้าหมายของเขา คือมุ่งสร้างบุญบารมีไปพระนิพพาน

    ส่วนพวกที่สอนตนเองไม่ได้ ต้องเอามาดูแลเอง ในจำนวนคนร้อยคน อาจจะมีคนเกเรอย่างมาก 510 คนส่วนอีกเก้าสิบกว่าคน ก็ปล่อยให้เขาทำงานไป งานของเราก็คือเคี่ยวเข็ญอบรม 510 คนนี้ให้หายเกเร ถ้าอย่างนี้หมู่คณะก็จะเบาแรง เพราะพวกพันธุ์เขี้ยวพันธุ์งาเราเอามาดูแลเอง

    แต่ถ้าผู้บริหารที่ใดมีความอ่อนแอ มีความลำเอียง ไม่กล้าไปแตะต้องพวกพันธุ์เขี้ยวพันธุ์งา แต่กลับไปข่ม ไปเจ้ากี้เจ้าการกับอีกเก้าสิบกว่าคนที่ดีอยู่แล้วนี้ เดี๋ยววัดนั้นได้พัง คนดี ๆ จะอึดอัดขัดข้องออกไปหมด แล้วการงานด้านต่าง ๆ ของวัดนั้นจะล้มเหลว เหลือแต่ตัวแ บ ๆ ไว้เผาวัด เผาพระพุทธศา นาเต็มไปหมด

    วัดพระธรรมกายยึดหลักบริหารคนด้วยการส่งเสริมคนที่ อนตนเองได้ และแก้ไขคนที่สอนตนเองไม่ได้ งานต่าง ๆ ในวัดจึงไม่เป็นคอขวด เพราะเปิดโอกาสให้ทำงานได้เต็มที่ คือใครมีความคิดดี ๆ หรือโครงการดี ๆ ก็มานำเสนอกันในที่ประชุม พอที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันทั้งด้านที่เป็นประโยชน์ และด้านที่ควรระวังแล้ว ก็แบ่งงานกันตรงนั้นทันที โดยมีเงื่อนไขว่า ทุกคนที่ทำงานส่วนรวมของวัด ต้องมีเป้าหมายมุ่งไปทำพระนิพพานให้แจ้งเหมือนกัน

     การบริหารคนด้วยวิธีนี้ งานในวัดทั้ง 2 ประเภท จึงไม่เป็นคอขวด คือทั้งวัดช่วยกันทำคนละไม้คนละมือ ไม่ปล่อยให้ใครตายเดี่ยว

   ประเภทแรก คือ งานประจำที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ ก็เดินหน้าไปตามเป้าหมายมีปัญหาอะไรก็สามารถตัดสินใจแก้ไขไปได้ งานจึงเดินไปได้โดยไม่เป็นคอขวด เพราะมุ่งการไปพระนิพพานเป็นเป้าหมายหลัก

      ประเภทที่สอง คือ งานเฉพาะกิจที่ต้องระดมความชำนาญจากหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยกัน ซึ่งตรงนี้ก็ใช้วิธีแต่งตั้งกรรมการเฉพาะโครงการนั้นขึ้นมา ใครมีความรู้ความสามารถด้านใด ก็เชิญมาร่วมประชุมปรึกษาหารือกัน แล้วก็วางระบบแบ่งงานกันไปงานของวัดก็ขยายตัวไปได้ โดยไม่เป็นคอขวด โดยตั้งเป้าหมายไปที่การสร้างบุญบารมีไปพระนิพพานอีกเช่นเดิม

     ในทางตรงกันข้าม ถ้าการทำงานของคนส่วนมากในวัดนั้น ยังไม่มุ่งไปพระนิพพานด้วยกัน ยิ่งทำงาน งานจะยิ่งเป็นคอขวด ปัญหากระทบกระทั่งอื่น ๆ อีกสารพัดจากการทำงานไม่เป็นทีม ก็จะผุดขึ้นในวัดนั้นทันที ความศรัทธาที่มีอยู่แล้วก็จะหมดไป คนที่ยังไม่ศรัทธาก็เสื่อมศรัทธาหนักลงไปกว่าเดิม

     เพราะฉะนั้น การบริหารคนด้วยการมุ่งพระนิพพานไว้เป็นเป้าหมายหลัก และฝึกตนตามพระธรรมวินัยเป็นตัวควบคุม จึงส่งผลให้งานต่าง ๆ ของวัดเปิดกว้างเป็นปากโอ่ง ไม่เป็นคอขวด การฝึกฝนอบรมตนเองแต่ละคนก็ลงตัว งานภารกิจของหมู่คณะก็ลงตัว ทุกคนมีเวลาปฏิบัติธรรมควบคู่ไปกับการรับผิดชอบภารกิจงานของวัด

    ผลสุดท้าย ทุกคนในวัดก็มีธรรมะเป็นที่สบายอยู่ในตัว และคนดี ๆ ก็อยากจะเข้ามาบวชอยากจะเข้ามาช่วยงานวัด ทีมงานเผยแผ่พระพุทธศาlนาก็จะเพิ่มขึ้นอีกมากมาย งานย่อมขยายไปทั่วโลก

     จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ี่คือความรู้พื้นฐานของการสร้างทีมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาประการที่ 5 คือ การที่ทุกคนในวัดจะสามารถเข้าถึงธรรมไปด้วยกันนั้น ทุกคนมีภารกิจ 2 ประการ คือ ต้องตั้งใจปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ด้วยคุณสมบัติของผู้เข้าถึงธรรมได้ง่าย 5 ประการ และต้องช่วยกันดูแลวัดให้เป็นสถานที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม 5 ประการ นั่นเอง

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 002 สูตรสำเร็จการสร้างบารมีเป็นทีม
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.029836066563924 Mins