ปุคคลัญญุตา หรือปุคคลปโรปรัญญุตา

วันที่ 29 กค. พ.ศ.2560

ปุคคลัญญุตา หรือปุคคลปโรปรัญญุตา
(ความเป็นผู้รู้จักบุคคล)

พุทธธรรม 2 , Dhamma , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , ปุคคลัญญุตา หรือปุคคลปโรปรัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักบุคคล) , ปุคคลัญญุตา หรือปุคคลปโรปรัญญุตา

      มารยาท และข้อพึงปฏิบัติในบริษัทหรือชุมชนทั้ง 4 กลุ่มที่กล่าวมาแล้วนั้น ถือว่าเป็นบทฝึกที่สำคัญ เพราะเป็นจุดตั้งต้นของการทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้แก่ผู้อื่น คือ ทำให้รู้จักธรรมเนียม และข้อพึงปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสมในแต่ละกลุ่มคนที่พระภิกษุต้องเข้าไปพบ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง พูดคุย สนทนา หรืออิริยาบถใดก็ตาม ย่อมทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นเกิดความพึงพอใจ เพราะถือว่าปฏิบัติได้ถูกต้องตามธรรมเนียม ทั้งเป็นการให้เกียรติต่อกัน จนเปิดใจรับฟังธรรมะคำแนะนำต่าง ๆ จากพระภิกษุได้มากกว่า ก่อเกิดเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่กันในการดำเนินชีวิต และต่อเป้าหมายอันสูงสุด คือการทำพระนิพพานให้แจ้ง

     ดังนั้น เมื่อพระภิกษุเป็นธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู กาลัญญู ปริสัญูแล้วจึงต้องฝึกในขั้นตอนที่ 7 คือ "ปุคคลปโรปรัญญู" หรือหลักการดูคนเป็นต่อไป ตามวิธีการที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ดังนี้

       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงวิธีการฝึกตนเองให้เป็นปุคคลปโรปรัญูบุคคล ไว้ดังนี้

     "ก็ภิกษุเป็นปุคคลปโรปรัญญูอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้รู้จักบุคคลโดยส่วน 2 คือ บุคคล 2 จำพวก ได้แก่

     1) พวกหนึ่งต้องการเห็นพระอริยะ พวกหนึ่งไม่ต้องการเห็นพระอริยะ บุคคลที่ไม่ต้องการเห็นพระอริยะ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ บุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะ พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ บุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะก็มี 2 จำพวก คือ

   2) พวกหนึ่งต้องการจะฟังสัทธรรม พวกหนึ่งไม่ต้องการฟังสัทธรรม บุคคลที่ไม่ต้องการฟังสัทธรรม พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ บุคคลที่ต้องการฟังสัทธรรม พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ บุคคลที่ต้องการฟังสัทธรรมก็มี 2 จำพวก คือ

      3) พวกหนึ่งตั้งใจฟังธรรม พวกหนึ่งไม่ตั้งใจฟังธรรม บุคคลที่ไม่ตั้งใจฟังธรรม พึงถูกติเตียน ด้วยเหตุนั้น ๆ บุคคลที่ตั้งใจฟังธรรม พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ บุคคลที่ตั้งใจฟังธรรมก็มี 2 จำพวก คือ

    4) พวกหนึ่งฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ พวกหนึ่งฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้บุคคลที่ ฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ บุคคลที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ บุคคลที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ก็มี 2 จำพวก คือ

    5) พวกหนึ่งพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พวกหนึ่งไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ บุคคลที่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ บุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ

      บุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ก็มี 2 จำพวก คือ

     6) พวกหนึ่งรู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พวกหนึ่งหารู้อรรถ รู้ธรรม แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ บุคคลที่หารู้อรรถรู้ธรรมปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ บุคคลที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พึงได้รับความสรรเสริญ ด้วยเหตุนั้น ๆ บุคคลที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็มี 2 จำพวก คือ

   7) พวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น พวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตนและปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่นบุคคลที่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ บุคคลที่ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ

      " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้รู้จักบุคคลโดยส่วน 2 ฉะนี้แล ภิกษุเป็นปุคคลปโรปรัญญูอย่างนี้แล."

     จากเนื้อความข้างต้นนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแยกประเภทคน แบ่งตามพฤติกรรมไว้ 7 ลักษณะ โดยค่อย ๆ แบ่งลักษณะคนออกไปทีละ 2 ส่วนตามลำดับ คือ

1. ต้องการเห็นพระ หรือไม่ต้องการเห็นพระ
2. ต้องการฟังธรรม หรือไม่ต้องการฟังธรรม
3. ตั้งใจฟังธรรม หรือไม่ตั้งใจฟังธรรม
4. ทรงจำธรรมไว้ หรือไม่ทรงจำธรรมไว้
5. พิจารณาธรรมที่ทรงจำไว้ หรือไม่พิจารณาธรรมที่ทรงจำไว้
6. ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมที่พิจารณาแล้ว หรือไม่ปฏิบัติ มควรแก่ธรรม
7. ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น หรือปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตนและผู้อื่นด้วย

      ลักษณะทั้ง 7 ประการนี้เอง เป็นเครื่องช่วยบอกพื้นฐานความรู้และสภาพใจของคนฟังแก่พระภิกษุผู้เข้าไปทำหน้าที่กัลยาณมิตร แนะนำธรรมะให้ กล่าวคือ

     (1) บรรดาบุคคลทั้งหลายนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ บุคคลผู้อยากเห็นพระ หรืออยากพบพระ กับบุคคลผู้ไม่อยากเห็นพระ ในบุคคลผู้อยากพบพระนั้น อย่างน้อยเขาย่อมพอมีความรู้พื้นฐานในพระพุทธศาสนามาบ้างว่า ชีวิตพระกับชีวิตฆราวาสนั้นแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นกิจวัตรประจำวัน การทำมาหาเลี้ยงชีพ ความสำเร็จในหน้าที่และการดำเนินชีวิต เป็นต้น ในใจจึงพอจะมีความศรัทธาอยากจะเข้ามาพบพระอยู่มากกว่าประเภทที่ไม่อยากเห็นพระ

     (2) บรรดาผู้ที่อยากเห็นพระยังแบ่งออกได้ 2 ส่วน คือ อยากฟังธรรมะและไม่อยากฟังธรรมะ บุคคลที่อยากฟังธรรมะ อย่างน้อย ๆ เพราะมีความรู้มากขึ้นว่า ชีวิตพระในแต่ละวันนั้น ท่านศึกษาปฏิบัติตัวเองตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์ ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ใคร ๆ และรู้ว่าธรรมะที่ท่านจะแนะนำและเทศน์ อนนั้น จะก่อประโยชน์แก่การดำเนินชีวิตของตัวเอง เพราะเหตุนั้น จึงอยากจะเข้ามาฟังธรรม อยากจะเรียนรู้ส่วนบุคคลประเภทอยากเห็นพระ แต่ไม่อยากฟังธรรมะ เช่น อยากพบพระเพราะคิดว่าจะทำให้ตนประสบโชคลาภ มาพบพระเพราะเชื่อโชคลาง มาเพื่อผูกดวงสะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา เป็นต้น กลุ่มคนเหล่านี้ใจไม่สว่างเพียงพอมีความศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าน้อยไป จึงไม่พร้อมที่จะรับฟังธรรมะ

    (3) บรรดาผู้ที่อยากฟังธรรมะ ก็แบ่งได้อีก 2ส่วน คือ ตั้งใจฟังและไม่ตั้งใจฟัง เพราะรู้ว่าธรรมะนั้นมีคุณค่ายิ่งกับตนเอง จึงตั้งใจฟัง ไม่ปล่อยให้ใจเลื่อนลอยสนใจในเนื้อหาและถ้อยคำที่พระภิกษุแนะนำส่วนบุคคลผู้ไม่ตั้งใจฟังธรรม แม้อยากจะฟัง แต่ก็จะไม่ได้เนื้อหาสาระแต่อย่างใด เพราะไม่ใส่ใจ หรือบางครั้งขณะฟังก็นั่งหลับ นั่งคุยกัน เป็นต้น

    (4) บรรดาผู้ตั้งใจฟังธรรมะ ยังแบ่งได้อีก 2ส่วน คือ ตั้งใจจำและไม่ตั้งใจจำ ธรรมะที่ฟังจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งกับตัวเอง หากจำธรรมะนั้นได้ เช่นรู้ว่าอบายมุขเป็นต้นทางแห่งความเสื่อม เป็นเหตุแห่งการสูญเสียทรัพย์ แต่จำไม่ได้ว่า มีกี่อย่าง ประกอบด้วยอะไรบ้าง ธรรมะที่ตั้งใจฟังแต่ไม่ตั้งใจจำจึงไม่เกิดประโยชน์มากนัก จึงกล่าวได้ว่า บุคคลผู้ตั้งใจจำธรรมะจึงมีพื้นฐานความรู้มากกว่าผู้ไม่ตั้งใจจำธรรมะ

     (5) บรรดาผู้ตั้งใจจดจำธรรมะนั้น แบ่งออกได้อีก 2 ส่วน คือ นำมาพิจารณาและไม่นำมาพิจารณาใคร่ครวญ ธรรมะที่ทรงจำเมื่อได้นำมาใคร่ครวญ พิจารณาตรองหาเหตุผล ย่อมเกิดความเข้าใจและเห็นคุณค่าของธรรมะนั้น ๆ การใคร่ครวญธรรมะนี้จึงถือเป็นการพัฒนาความรู้และปัญญา ทำให้กลายเป็นผู้แตกฉาน และมีพื้นฐานความรู้มากขึ้นกว่าผู้ที่ทรงจำแต่ไม่นำมาพิจารณา

     (6) บรรดาผู้พิจารณาธรรมะ แบ่งออกได้อีก 2ส่วน คือ นำมาปฏิบัติและไม่นำมาปฏิบัติความรู้ทางธรรมะที่ได้นำมาใคร่ครวญแล้ว จะเกิดเป็นประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อนำมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันของตัวเองส่วนผลจากการปฏิบัติจะเกิดขึ้นมากหรือน้อยก็ขึ้นกับว่านำมาใช้ปฏิบัติมากหรือน้อยในชีวิตจริง แต่บุคคลผู้มีความรู้ธรรมะแล้วไม่นำมาปฏิบัติย่อมไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด ทั้งยังมีโอกาสก่อกรรมชั่วได้อีกด้วย กล่าวคือ นำความรู้ธรรมะที่ตนมีมาจ้องจับผิดผู้อื่น หรือมีใจไม่บริสุทธิ์ ใช้ความรู้ของตนเพื่อมุ่งทำลายผู้อื่น เป็นต้น

    (7) บรรดาผู้รู้ธรรมะแล้วนำมาปฏิบัตินั้น ก็แบ่งเป็นอีก 2ส่วน คือ ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตน และปฏิบัติเพื่อประโยชน์ทั้งของตนและผู้อื่น บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อตนแต่ไม่หวังประโยชน์เพื่อบุคคลอื่นก็คือ ผู้ที่เป็นกัลยาณมิตรให้แก่ตัวเอง จึงกลายเป็นคนดีเฉพาะตัว แต่ไม่ได้ช่วยให้คนอื่นเป็นคนดีตามตัวเองไปด้วยส่วนบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ทั้งตนและผู้อื่นคือ บุคคลผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตัวตามธรรมะนั้น และยังชักชวนให้ผู้อื่นตั้งอยู่ในธรรมะ ตั้งอยู่ในความดีงาม ดังเช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าอรหันตสาวกผู้ฝึกฝนตัวเอง จนเป็นผู้มีความบริสุทธิ์สะอาด ทั้งทางกาย วาจา และทางใจ ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนเองและผู้อื่น พื้นฐานใจของบุคคลประเภทนี้จึงประกอบด้วยความเมตตา ความปรารถนาดี มากกว่าบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อตนเองฝ่ายเดียว

    หลักการดูคนเป็น ย่อมเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่พระภิกษุในการแนะนำธรรมะ กล่าวคือจะได้ทราบว่าควรแนะนำธรรมะเท่าที่บุคคลนั้นจะเข้าใจ และที่เขาสามารถจะรองรับความรู้ คำแนะนำนั้นได้อย่างเหมาะสม และยังช่วยจัดลำดับความสำคัญตามประเภทของคนได้ คือ บุคคลใดที่มีความพร้อมในการฟังธรรมะ รองรับธรรมะได้มาก พระภิกษุก็จะมุ่งความสำคัญไปยังบุุคคลนั้นก่อน โดยหวังประโยชน์ที่บุคคลนั้นจะได้รับเป็นสำคัญส่วนบุคคลที่มีความพร้อมน้อยกว่า ก็จะแสดงธรรมให้ความสำคัญลดหลั่นกันลงมาไปตามความเหมาะสม

     นอกจากจะดูคนเป็นโดยสามารถแยกแยะบุคคลออกได้ 7 ลักษณะโดยส่วน 2 ดังกล่าวมาแล้ว ยังมีสิ่งที่จะต้องคำนึงถึงเพิ่มอีกด้วย ได้แก่ ต้องรู้จักเลือกหัวข้อธรรมให้เหมาะสมกับผู้ฟัง ต้องรู้จักวิธีการและเทคนิคในการแสดงธรรมเพื่อให้เกิดประสิทธิผลอย่างสูงสุดต่อผู้ฟังและ ต้องรู้จักประเมินผลการแสดงธรรมในแต่ละครั้งด้วย ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


รู้จักเลือกหัวข้อธรรมะ
   หลักการเลือกธรรมะที่จะนำไปใช้ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรด้วยการแสดงธรรมนั้นพระภิกษุจะต้องมีความเข้าใจเรื่องเป้าหมายของการแสดงธรรมเสียก่อนว่า การแสดงธรรมมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ดังนั้นเมื่อต้องแสดงธรรม จึงต้องตั้งหวังให้เกิดประโยชน์กับผู้ฟังทั้ง 3 ระดับ คือ

    ระดับสูง คือ ให้ผู้ฟังหลุดพ้นจากอำนาจกิเล บรรลุธรรม

    ระดับกลาง คือ ให้ผู้ฟังได้รับความสุขในโลกนี้ คือในภพชาติปัจจุบัน และในโลกหน้าคือชีวิตในปรโลก

    ระดับต่ำ คือ ให้ผู้ฟังมีอุปนิสัยที่เป็นอุปการะแก่การฟังธรรมติดตัวไปในภพเบื้องหน้าเนื่องจากความไม่พร้อมของผู้ฟังที่จะรองรับธรรมะ

    หลักในการเลือกธรรมะนั้นแบ่งไปตามลักษณะของผู้ฟัง ว่ามีลักษณะอย่างไร ดังจะยกตัวอย่างการสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ 3 แนวทาง ดังนี้

1. เลือกธรรมะตามจริตอัธยาศัยของผู้ฟัง
      จริตอัธยาศัย คือ นิสัยปกติพื้นฐานอันมีอยู่ในแต่ละบุคคล แบ่งออกได้ 6 ประเภท คือ

1. ราคจริต จะมีลักษณะรักสวยรักงาม
2. โทสจริต จะมีลักษณะหงุดหงิด รีบร้อน
3. โมหจริต จะมีลักษณะเขลา งมงาย
4. สัทธาจริต จะมีลักษณะเชื่อง่าย
5. พุทธิจริต จะมีลักษณะชอบใช้ความคิด ตรึกตรอง
6. วิตกจริต จะมีลักษณะมักกังวล ฟุ้งซ่าน

   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเลือกธรรมะที่เหมาะสมกับจริตอัธยาศัยของผู้ฟัง จะกล่าวสอนในสิ่งที่เป็นประโยชน์ไปตามจริตอัธยาศัย ดังนี้

        "พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสบอกอสุภกถาแก่บุคคลผู้เป็นราคจริต

        ย่อมตรัสบอกเมตตาภาวนาแก่บุคคลผู้เป็นโทสจริต

       ย่อมทรงแนะนำบุคคลผู้เป็นโมหจริตให้ดำรงอยู่ในการเรียน ในการไต่ถาม ในการฟังธรรมตามกาล ในการสนทนาธรรมตามกาล ในการอยู่ร่วมกับครู

        ย่อมตรัสบอกอานาปาน ติแก่บุคคลผู้เป็นวิตกจริต

     ย่อมตรัสบอกพระสูตรอันเป็นนิมิตดี ความตรัสรู้ดีแห่งพระพุทธเจ้า ความเป็นธรรมดีแห่งพระธรรม ความปฏิบัติดีแห่งพระสงฆ์ และศีลทั้งหลายของตน อันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสแก่บุคคลผูเป็นสัทธาจริต

       ย่อมตรัสบอกธรรมอันเป็นนิมิตแห่งวิปัสสนา ซึ่งมีอาการไม่เที่ยง มีอาการเป็นทุกข์ มีอาการเป็นอนัตตา แก่บุคคลผู้เป็นญาณจริต (พุทธิจริต)"


2. เลือกธรรมะตามภูมิหลังเดิมของผู้ฟัง
      หมายความว่า ผู้ฟังมีความคุ้นเคยกับสิ่งใด พระพุทธองค์ก็จะทรงแนะนำ เทศนาสั่งสอนในสิ่งนั้น เนื่องจากผู้ฟังสามารถจะตรองตามธรรมะได้ทัน เกิดความเข้าใจได้ง่าย ดังตัวอย่างที่พระองค์ทรงโปรดเหล่าชฎิลสามพี่น้องผู้คุ้นเคยกับการบูชาไฟ ณ ตำบลคยาสีสะ ริมฝังแม่น้ำคยา ด้วยการตรัสอาทิตตปริยายสูตร อันกล่าวถึงสิ่งของร้อนเช่นกับไฟว่า

    "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน คืออะไร คือ จักษุ รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผั เป็นของร้อน แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็เป็นของร้อน

     ร้อนเพราะอะไร เรากล่าวว่าร้อนเพราะไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ร้อนเพราะชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส"

   ในทางปฏิบัติ การเลือกธรรมะตามภูมิหลังเดิมของผู้ฟังนั้นสามารถรู้ได้หลายวิธี เช่น จากอาชีพที่ทำ จากภูมิลำเนาที่อาศัย จากระดับการศึกษา จากอายุของผู้ฟัง รวมถึงสอบถามจากผู้นิมนต์ ผู้คุ้นเคยกับคนฟัง เป็นต้น ดังนั้นก่อนที่จะแสดงธรรม พระภิกษุจึงควรรู้จักภูมิหลังของผู้ฟังก่อน เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการแนะนำธรรมะได้อย่างเหมาะสมแก่ผู้ฟัง


3. เลือกธรรมะตามระดับสติปัญญา
    ในผู้ฟังคนเดียวกัน เมื่อมีสติปัญญาความรู้เพิ่มขึ้นไปตามอายุและวัย หัวข้อธรรมะที่จะแสดงก็จะต้องปรับเปลี่ยนไปตามระดับสติปัญญาด้วย แม้ว่าจริตอัธยาศัยหรือภูมิหลังเดิมของบุคคลนั้นจะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปก็ตาม ดังตัวอย่างโอวาทที่พระพุทธองค์พร่ำสอนแก่พระราหุลเช่นเมื่อครั้งท่านยังเป็นสามเณรราหุล มีอายุเพียง 7 พรรษา แม้บวชแล้วก็ตาม แต่ด้วยธรรมชาติวัยเด็กย่อมเล่นซุกซน คะนองมือ คะนองปาก พระพุทธองค์จึงตรัสอนให้รู้จักระมัดระวังคำพูด ไม่ให้พูดเท็จ

  เมื่อสามเณรราหุลอยู่ในวัยหนุ่มสิ่งที่น่าระวังคือกามราคะ ขณะบิณฑบาตในยามเช้าตามพระพุทธองค์ไป พระองค์ก็ตรัสสอนให้ท่านรู้จักสำรวมระมัดระวังใจของตนสอนให้มองทุกสิ่งไปตามสภาพความเป็นจริง และเมื่อพระราหุลมีสติปัญญามากเพียงพอแล้ว จึงตรัสสอนธรรมะที่มีความละเอียดลึกซึ้งขึ้นไปอีก ทรง อนให้เกิดความเบื่อหน่ายในขันธ์ทั้งห้าประการอย่างเป็นเหตุเป็นผลไปตามลำดับ จนกระทั่งจิตของพระราหุลหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายด้านใคร่ต่อการศึกษา


วิธีการแสดงธรรม
       ผู้จะแสดงธรรมนั้น ควรมีความเข้าใจพื้นฐานที่ตรงกัน 2 ประการ คือ

      1. การแสดงธรรมไม่ใช่ของง่าย เพราะต้องอาศัยความพร้อมอย่างมากของผู้สอน ทั้งสภาพใจ ทั้งความรู้ที่ต้องถ่ายทอดไปตามลำดับ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้แก่พระอานนท์ว่า

     "ดูก่อนอานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นไม่ใช่ทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่นพึงตั้งธรรม 5 ประการไว้ภายใน แล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ธรรม 5 ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุพึงตั้งใจว่า

1. จักแสดงธรรมไปโดยลำดับ
2. จักแสดงอ้างเหตุผล
3. จักแสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู
4. จักเป็นผู้ไม่เพ่งอามิสแสดงธรรม
5. จักไม่แสดงให้กระทบตนและผู้อื่น"

      2. ต้องไม่ดูเบาในการแสดงธรรม ไม่ว่าผู้ฟังจะเป็นใครก็ตาม การเตรียมความพร้อมในการแสดงธรรมทั้งเนื้อหา ทั้งตัวพระภิกษุผู้แสดงธรรมเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าผู้ฟังนั้นจะเป็นผู้มีความรู้ มีระดับสติปัญญาสูง หรือเป็นเด็ก เป็นนักเรียนวัยเยาว์ก็ตาม พระภิกษุก็จะแสดงธรรมด้วยความเคารพ คือ ไม่ให้เนื้อหาธรรมะผิดพลาด เตรียมความพร้อมอย่างตั้งใจ ไม่ประพฤติตัวเข้าทำนองว่าสอนกลุ่มคนมีความรู้ มีฐานะ ต้องเตรียมตัวมาก ขณะที่สอนกลุ่มคนด้อยความรู้ คนอ่อนวัย ไม่ต้องเตรียมตัวแต่อย่างใด เป็นต้น

    วิธีการแสดงธรรมนั้นมีหลากหลายวิธี แต่จะขอยกลักษณะการแสดงธรรมพอให้เห็นเป็นแนวทางแต่เพียงสังเขป 7 ประการ ดังนี้

1. แนะนำจากที่เข้าใจง่าย ไปหาที่เข้าใจยาก

2. แนะนำด้วยเนื้อหาที่มีความลุ่มลึกไปตามลำดับ ไม่สลับเนื้อหา หรือกระโดดข้ามไปมา

3. แนะนำให้เห็นด้วยสิ่งที่เป็นจริง หากสิ่งที่สอนนั้นสามารถแสดงให้เห็นด้วยของจริงก็จะนำมาแสดงให้เห็นทันที หมายถึง เรื่องใดมีประสบการณ์ตรงที่ได้ไปพบ หรือเคยกระทำมาก่อน ก็จะอธิบายจนเข้าใจ

4. แนะนำตรงตามเนื้อหา ไม่ออกนอกประเด็น หากเรื่องที่พูดนั้นไม่เกี่ยวข้อง ก็จะไม่กล่าวถึง

5. แนะนำอย่างมีเหตุผล คือ เนื้อหามีความสมเหตุสมผล ผู้ฟังสามารถใคร่ครวญและตรองตามได้

6. แนะนำอย่างพอดีกับความเข้าใจของผู้ฟัง ไม่มากเกินความจำเป็นจนจดจำไม่ไหวและไม่น้อยเกินไปจนไม่พอเหมาะแก่ความรู้ของผู้ฟัง

7. แนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง มุ่งหวังประโยชน์ที่ผู้ฟังจะได้รับเป็นสำคัญหากสิ่งใดเห็นว่ายังไม่เป็นประโยชน์นัก ก็จะยังไม่กล่าว อน

     นอกจากนี้ ถ้อยคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวสอนแก่ผู้ฟัง ไม่ว่าผู้ฟังนั้นจะเป็นกษัตริย์พราหมณ์ คฤหบดีสมณะ หรือชนชั้นใดก็ตาม ล้วนมีคุณลักษณะเหมือนกันอย่างน่าอัศจรรย์กล่าวคือ มีลีลาในการแสดงธรรมครบถ้วนทั้ง 4 ประการ คือ

1. แจ่มแจ้ง (สันทัสสนะ) หมายถึง ทำให้ผู้ฟังเข้าใจเนื้อหาธรรมะที่กล่าว อนได้อย่างแจ่มแจ้ง

2. จูงใจ (สมาทปนะ) หมายถึง ทำให้ผู้ฟังยอมรับธรรมะและเกิดแรงบันดาลใจอยากนำธรรมะที่ได้ฟังไปปฏิบัติตาม

3. หาญกล้า (สมุตเตชนา) หมายถึง ทำให้ผู้ฟังเกิดกำลังใจ เกิดความบากบั่น พร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรคในการนำธรรมะที่ได้ฟังไปปฏิบัติ เพราะรู้ว่าธรรมะที่ทำนั้น จะเป็นประโยชน์เป็นความสุข ความเจริญแก่ตัวเอง จึงพร้อมหาญกล้าฝ่าฟันอุปสรรค

4. ร่าเริง (สัมปหังสนา) หมายถึง ทำให้จิตใจผู้ฟังเกิดความแช่มชื่น ร่าเริง แจ่มใสเบิกบานใจ ไม่เบื่อหน่าย

    จะเห็นได้ว่า นอกจากเนื้อหาธรรมะที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังแล้ว การรู้จักใช้ลีลาเพื่อการแสดงธรรมก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะจะทำให้คนฟังอยากที่จะนำธรรมะที่ได้ฟังไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตน แม้อาจจะไม่มั่นใจ แต่ก็มีกำลังใจ จนเกิดความอาจหาญ กล้าที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ พระภิกษุจึงควรยึดถือไว้เป็นแนวทางหนึ่งในการแสดงธรรม


เทคนิคการแสดงธรรม
      มีเทคนิคอยู่ 3 ประการ ที่จะขอนำเสนอเป็นแนวทาง ดังนี้

1. รู้จักมีเรื่องประกอบเป็นตัวอย่าง
    การมีเรื่องตัวอย่างประกอบจะช่วยให้ผู้ฟังจดจำง่าย เข้าใจได้ง่าย และเกิดความเพลิดเพลินในการฟัง ไม่เบื่อหน่ายสามารถติดตามเนื้อหาสาระที่พระภิกษุแนะนำ แสดงธรรมได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน

     แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงมีเรื่องตัวอย่างประกอบเช่นกัน ซึ่งบางครั้งเป็นเรื่องของพระองค์เองในขณะที่บำเพ็ญบารมีเป็นพระบรมโพธิสัตว์อยู่ บางครั้งก็เป็นเรื่องในสมัยพุทธกาลของพระองค์กับเหล่าสาวกบ้าง


2. รู้จักใช้การอุปมาอุปไมย หรือการเปรียบเทียบ
เมื่อต้องอธิบายในสิ่งที่เข้าใจได้ยาก การอุปมาเปรียบเทียบก็ช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้วิธีนี้เช่นกัน ดังตัวอย่างที่พระมาลุงกยบุตรทูลถามปัญหาเรื่องของโลกกับพระองค์ เช่น โลกนี้เที่ยงหรือโลกนี้ไม่เที่ยง โลกนี้มีที่สุดหรือโลกนี้ไม่มีที่สุด เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่มีประโยชน์ต่อการทำอาสวกิเลสให้หมดไป พระพุทธองค์ไม่ทรงตอบโดยตรง แต่ทรงใช้วิธีอุปมา ดังปรากฏใน จูฬมาลุงกยโอวาทสูตร ว่า

    "ดูก่อนมาลุงกยบุตร เปรียบเหมือนบุรุษต้องศรอันอาบยาพิษที่ฉาบทาไว้หนา มิตรอมาตย์ ญาติ นิทของบุรุษนั้นพึงไปหานายแพทย์ผู้ชำนาญในการผ่าตัดมาผ่า บุรุษต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักบุรุษผู้ยิงเรานั้นว่า เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทร...เพียงใดเราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น

    บุรุษต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักธนูที่ใช้ยิงเรานั้นว่าเป็นชนิดมีแล่งหรือเกาทัณฑ์...สายที่ยิงเรานั้นเป็นสายทำด้วยปอผิว ไม้ไผ่ เอ็น ป่าน หรือเยื่อไม้ ลูกธนูที่ยิงเรานั้นทำด้วยไม้ ที่เกิดเองหรือไม้ปลูก หางเกาทัณฑ์ที่ยิงเรานั้น เขาเสียบด้วยขนปีกนกแร้ง นกตะกรุมเหยี่ยว นกยูง... เกาทัณฑ์นั้นเขาพันด้วยเอ็นวัว ควาย ค่าง หรือลิง...ลูกธนูที่ยิงเรานั้น เป็นชนิดอะไรเพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น

      ดูก่อนมาลุงกยบุตร บุรุษนั้งพึงรู้ข้อนั้นไม่ได้เลย โดยที่แท้บุรุษนั้นพึงทำกาละ (ตาย) ไปฉันใด

    ดูก่อนมาลุงกยบุตร บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิ 10 นั้น ฯลฯ แก่เราเพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้าเพียงนั้น ข้อนั้นตถาคตไม่พยากรณ์เลย โดยที่แท้บุคคลนั้นพึงทำกาละไปฉันนั้น"


3. รู้จักใช้อุปกรณ์ในการสอน
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้อุปกรณ์เป็นสื่อในการสอนธรรมะโดยทรงอาศัยสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัว หาได้ตามธรรมชาติมาใช้ ดังขณะที่พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นกองไฟกองใหญ่จึงใช้กองไฟนั้นเป็นอุปกรณ์สอนเหล่าพระภิกษุให้ระมัดระวังในศีล ตั้งมั่นในการบำเพ็ญสมณธรรมว่า

    "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นกองไฟกองใหญ่โน้นที่กำลังลุกโชติช่วงอยู่หรือไม่...เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การเข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอดกองไฟใหญ่โน้นที่กำลังลุกโชติช่วงอยู่ กับการเข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอดพระราชธิดา บุตรสาวพราหมณ์ หรือบุตรสาวคฤหบดี ผู้มีฝ่ามือฝ่าเท้าอ่อนนุ่ม อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน"

    เมื่อพระภิกษุตอบว่า กอดพระราชธิดา บุตรสาวพราหมณ์ดีกว่า พระองค์จึงทรงสอนว่าไปกอดกองไฟดีกว่า เพราะกอดกองไฟอย่างมากก็แค่ตายแต่ไม่ตกนรกส่วนพระภิกษุที่ทุศีล ไปกอดหญิงสาว ตายไปก็ต้องทนทุกข์ทรมานในนรก เป็นต้น

    อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก จึงมีการนำสื่อมาประยุกต์ใช้ในการแสดงธรรม ด้วยการจัดทำสื่อการสอนมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดี เพราะทำให้การแสดงธรรมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

   ตัวอย่างการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ทำสื่อการแสดงธรรม เช่น การใช้เครื่องฉายแผ่นใส(Overhead) การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำสื่อการสอนต่าง ๆ ประกอบการแสดงธรรมการเผยแผ่ธรรมะผ่านทางซีดี การกระจายเสียงธรรมะผ่านทางวิทยุชุมชน หรือแม้กระทั่งการถ่ายทอดภาพผ่านทางสัญญาณดาวเทียม เป็นต้น

    สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปกรณ์การสอนที่สำคัญอย่างหนึ่ง เพราะทำให้การเผยแผ่ธรรมะเป็นไปอย่างกว้างขวาง เข้าถึงผู้ฟังได้ง่ายและทั่วถึง พระภิกษุจึงควรให้ความ นใจและฝึกหัดใช้สื่อเพื่อการแสดงธรรม รวมทั้งเลือกใช้สื่อการสอนที่เหมาะสมกับตนเอง ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการแสดงธรรม


การประเมินผลการแสดงธรรม
    ภายหลังจากการแสดงธรรม พระภิกษุต้องไม่ลืมที่จะประเมินผลการแสดงธรรมของตนทั้งนี้เพื่อจะได้ตรวจสอบถึงข้อดีและข้อบกพร่องที่มี เพื่อจะได้แก้ไขปรับปรุงตัวเองได้ทัน อันจะเป็นการเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการแสดงธรรมของตนให้ดียิ่งขึ้นไปด้วย โดยทำการประเมินทั้งตนเอง และประเมินผู้ฟัง ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

1. ประเมินตนเอง
    แม้พระภิกษุจะสามารถแสดงธรรมได้อย่างวิจิตร เป็นที่ถูกอกถูกใจเหล่าผู้ฟังสามารถแนะนำธรรมะสอนธรรมะได้มากมายเพียงใดก็ตามสิ่งสำคัญที่พระภิกษุไม่ควรละเลย คือ การรู้จักสอนและแก้ไขตนเองควบคู่ไปด้วยสำหรับการประเมินตนเองนั้น อาจอาศัยจาก 3 แนวทางคือ

     1) อาศัยการประเมินจากหลัก องค์แห่งธรรมกถึก ใช้เพื่อตรวจสอบใจตนเอง ตรวจสอบเนื้อหาธรรมะที่ตนแสดง ทั้งก่อนและหลังการแสดงธรรม หากเห็นข้อใดที่ตนเองยังบกพร่องก็ต้องนำมาปรับปรุงแก้ไข และระมัดระวังต่อไป โดยประเมินได้จากธรรมทั้ง 5 ประการ ได้แก่

1. จักแสดงธรรมไปโดยลำดับ
2. จักแสดงอย่างมีเหตุผล
3. จักแสดงธรรม เพราะอาศัยความเมตตาเอ็นดู มิได้มุ่งร้ายหรือมีวัตถุประสงค์อื่น
4. จักแสดงธรรม มิได้หวังในอามิส
5. จักไม่แสดงธรรมกระทบตนเอง และผู้อื่นให้เดือดร้อน

    2) อาศัยการประเมินจากหลักการแสดงธรรมที่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ เพื่อให้รู้จักลักษณะการแสดงธรรมของตนเองว่า บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เพียงใด หากบกพร่องก็จะได้สำรวมระวังและแก้ไขตนเองให้ทำได้อย่างถูกต้องโดยอาศัยหลักที่พระพุทธองค์ทรงให้ไว้ดังนี้ คือ

    เมื่อแสดงธรรมแล้ว หากใจของพระภิกษุรูปนั้นคิดว่า ธรรมะที่ตนแสดงนั้นเป็นธรรมะของตนเอง เป็นคำพูดของตน อยากให้คนที่ได้ฟังธรรมมาเคารพเลื่อมใสตน ชื่อว่า การแสดงธรรมไม่บริสุทธิ์

    แต่หากคิดว่า ธรรมะนี้เป็นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อแสดงธรรมก็มีความปรารถนาในใจว่า อยากให้ผู้ฟังได้ปฏิบัติตามอย่างที่พระพุทธองค์ตรัสแนะนำ จนเกิดผลดีกับคนฟังเอง ชื่อว่า การแสดงธรรมบริสุทธิ์

     3) อาศัยการประเมินจากผู้ฟัง มี 2 ลักษณะ คือ

       3.1) เป็นลายลักษณ์อักษร ผ่านทางแบบสอบถามที่กล่าวถึงผู้แสดงธรรม เช่น ถามถึงท่าทาง การวางตัวขณะแสดงธรรมว่าเป็นอย่างไรสาระหรือธรรมะที่นำมาแสดงนั้นสามารถอธิบายจนผู้ฟังเข้าใจได้หรือไม่ ใช้เวลานานเกินไปหรือไม่ เป็นต้น ทำให้ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนสามารถนำมาประเมินเพื่อปรับปรุงให้มีความสามารถแสดงธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพดีขึ้น

    3.2) ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ผ่านทางการได้ยินได้ฟัง ทั้งการติในสิ่งที่ไม่เหมาะสมทั้งการชมในสิ่งที่เหมาะสม แบบปากต่อปาก เช่น พระรูปนั้นเทศน์ดี ไม่เคยได้ฟังธรรมะแบบนี้มาก่อน หรือรูปโน้นกิริยาดูไม่เรียบร้อย นั่งสั่นขา เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อปรับปรุงตนเองได้เช่นกัน แต่หากไม่ได้จดจำ หรือไม่มีเวลาทบทวน หรือไม่ได้ประเมินตนเองบ่อยนัก ก็อาจใช้ประโยชน์ได้น้อย เนื่องจากไม่ได้เก็บข้อมูลไว้เป็นเอกสาร อีกทั้งมีโอกาสที่ผลการประเมินนั้นอาจไม่ตรงกับสิ่งที่อยากทราบ เช่น คนฟังติชมแต่เรื่องวิธีการแสดงธรรม แต่ไม่ได้กล่าวถึงเนื้อหาสาระของธรรมะที่แสดงให้ฟัง ผู้แสดงธรรมจึงอาจได้รับผลการประเมินเพียงบางด้านเท่านั้น


2. ประเมินผู้ฟัง
      พระภิกษุมีความจำเป็นต้องรู้จักประเมินผู้ฟัง เพื่อวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ

     1) เพื่อวัดความเข้าใจของผู้ฟัง ในธรรมะที่ตนแสดงไป ว่ารู้ เข้าใจหรือไม่เพียงใด หากยังเข้าใจไม่ครบถ้วน หรือมีข้อสงสัย ก็จะได้อธิบายจนเกิดความเข้าใจ ซึ่งอาจประเมินผู้ฟังได้
จากวิธีนี้ คือ

1.1) จากการสนทนา การตั้งคำถาม การฟังคำตอบจากผู้ฟัง
1.2)สังเกตจากกิริยา ท่าทาง ความสนใจของผู้ฟัง
1.3) ใช้แบบสอบถาม ใช้แบบทดสอบความเข้าใจ เป็นต้น

      2) เพื่อพัฒนาผู้ฟัง จากปุคคลปโรปรัญูที่แบ่งประเภทผู้ฟังไว้ 7 ประเภท นอกจากจะใช้ประโยชน์ในการดูคนเป็นแล้ว ยังจะเป็นข้อมูลมาพันาผู้ฟังให้มีความรู้และคุณธรรมในใจมากขึ้นไปตามลำดับ เช่น เมื่อรู้ว่า ผู้ฟังเป็นประเภทไม่อยากเห็นพระ (1) นอกจากจะแสดงธรรมให้เหมาะสมกับผู้ฟังแล้ว ต้องคิดพัฒนาผู้ฟังด้วย คือ พัฒนาจากประเภทไม่อยากเห็นพระ (1) ให้กลายเป็นอยากเห็นพระ (2) จากอยากเห็นพระ (2) ต้องพัฒนาจนทำให้เป็นประเภทอยากฟังธรรม (3) พันาผู้ฟังในรูปแบบนี้ไปจนถึงที่สุด คือ เป็นผู้ฟังประเภทที่ปฏิบัติธรรม เพื่อประโยชน์ของตนและผู้อื่น (7)

       สรุปว่า การจะเป็นปุคคลปโรปรัญญูบุคคล (ความเป็นผู้รู้จักบุคคล) ได้นั้น ต้องประกอบด้วย

       1. ดูคนเป็น

      2. สามารถนำธรรมะไปสั่งสอนได้เหมาะสมตามประเภทของคนๆ นั้น ได้เมื่อพระภิกษุฝึกได้อย่างนี้แล้ว พระพุทธองค์จึงจะทรงรับรองว่า

"ภิกษุเป็นธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู กาลัญญู ปริสัญญู ปุคคลปโรปรัญญู
ด้วยประการฉะนี้"


การฝึกให้เป็นปุคคลปโรปรัญูสำหรับฆราวาส
 นอกจากพระภิกษุจะสามารถฝึกฝนตนเอง จนมีคุณสมบัติเป็นปุคคลปโรปรัญญู มีความสามารถเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ผู้อื่นได้อย่างดีแล้ว ฆราวาสผู้ครองเรือนก็สามารถฝึกฝนตนเองให้เป็นอย่างพระภิกษุได้เช่นกัน ด้วยการประยุกต์จากวิธีการที่พระภิกษุใช้ โดยปรับรูปแบบการเลือกธรรมะ การแนะนำธรรมะให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแก่ฐานะของตนเอง ซึ่งพอจะยกตัวอย่างให้เป็นแนวทางได้ เช่น

    1. การเลือกธรรมะในการพูดคุย สนทนา ควรเป็นธรรมะพื้นฐานในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะไม่ยากจนเกินไป คนฟังพอจะเข้าใจตามได้ง่าย เช่น

        1.1 เรื่องการทำทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา

        1.2 เรื่องของกฎแห่งกรรม ความเชื่อมั่นว่า ทำดีต้องได้รับผลดี ทำชั่วต้องได้รับผลชั่ว เป็นต้น

      2. วิธีการแนะนำธรรมะ
        2.1 อยู่ในรูปแบบของการแนะนำ ถ่ายทอดประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความรู้ต่อกันในบุคคลระดับเดียวกัน หรือที่สูงกว่า

        2.2 อยู่ในรูปแบบการสอน การบอกให้ทำตาม พร้อมอธิบายเหตุผล ข้อดี ข้อเสีย ในบุคคลระดับต่ำกว่า

      2.3 อยู่ในรูปแบบของการเป็นวิทยากรบรรยายความรู้ หรือการหาโอกาสเป็นครูสอนธรรมะให้กับบุคคลในระดับต่าง ๆ เป็นต้น


ตัวอย่างการนำความรู้เรื่องปุคคลปโรปรัญญูไปใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันสำหรับบุคคลทั่วไป

     ให้ดูคนโดยละเอียด เช่น ชวนคนมาวัด มาทำอะไร มาเที่ยวหรือฟังธรรม ฟังธรรมแล้วหลับหรือตั้งใจ ตั้งใจแล้วจำได้หรือไม่ได้ จำได้แล้วฟังงั้น ๆ หรือใคร่ครวญ ใคร่ครวญแล้วปฏิบัติหรือไม่ ปฏิบัติแล้วทำเฉพาะตัวหรือแนะนำผู้อื่นต่อ ดูคนให้ดูโดยละเอียดอย่าดูแต่ผิวเผินให้ดูเข้าไปถึงใจและรู้จักแยกแยะ เพราะไม่มีใครในโลกที่ดีหรือเลวร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คนในปัจจุบันมักสุดโต่ง ดูใครแล้วมักจะบอกว่าดีหรือเลวเลย ที่จริงแล้วต้องรู้จักแยกแยะว่าดีเท่าไร เสียเท่าไร คบได้แค่ไหน จะใช้ได้อย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ซึ่งถ้าแยกออกก็จะคบได้ถูกคน วางตัวได้ และใช้งานถูก นัยที่สำคัญของการรู้จักบุคคลที่สำคัญที่สุดคือเลือกอาจารย์ให้เป็น ดูพระเจ้า
อชาติศัตรูเป็นตัวอย่างที่ไปเลือกเอาพระเทวทัตมาเป็นอาจารย์ ทำให้ต้องทำปิตุฆาต คือฆ่าบิดาของตนเอง การเลือกครูบาอาจารย์ให้เลือกคนที่มีคุณธรรมสูงสุด แล้วให้เอาใจไปผูก ผู้นั้นไว้ไม่ใช่มาวัดไปเจออาสาสมัครที่นิสัยไม่ดีก็เลยไม่มาวัดอีกเลย ถ้าเราเอาใจไปผูกผู้ที่มีคุณธรรมสูงอย่างไรก็ไม่หลุดไปจากวัด ไปจากการสร้างความดี ไปจากการสร้างบารมี

    ให้การรู้จักประเภทบุคคลแต่ละคนว่าฉลาดหรือโง่ เป็นคนพาลหรือเป็นบัณฑิต มีความสามารถหรือไม่ มีคุณธรรมหรือไม่ แล้วเลือกคบหาให้เป็นคุณประโยชน์ เลือกใช้ให้เหมาะสมกับกิจการ หรือเพื่อที่จะปฏิบัติกับเขาได้อย่างเหมาะสม และที่สำคัญก็คือ จะสนทนากับเขาอย่างรู้เรื่องและราบรื่น รู้จักวิเคราะห์คนได้ถูกต้องตามหลักจริต อัธยาศัย นิสัยหรือธาตุของผู้ร่วมสนทนา คือความสำเร็จก้าวแรก และเป็นก้าวสำคัญในการทำหน้าที่กัลยาณมิตร จะได้รู้จักว่า บุคคลไหนควรคบไม่ควรคบ ควรแนะนำธรรมะหมวดใดจึงจะตรงจริตอัธยาศัย เหมือนหมอที่จ่ายยาถูกโรคย่อมทำให้คนไข้หายป่วยได้อย่างรวดเร็ว

  ให้รู้จักบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะคนที่มาร่วมการงานด้วยกันและคนที่เราไปให้บริการตามความแตกต่างเฉพาะตัว เพื่อปฏิบัติต่อเขาได้ถูกต้องเหมาะสมและได้ผล ตลอดจนสามารถบริการให้ความช่วยเหลือได้ตรงตามความต้องการ รู้ว่าจะใช้วิธีสัมพันธ์โดยพูดจาแนะนำติชมหรือจะให้เขายอมรับได้อย่างไร โดยเฉพาะในการใช้คน ต้องรู้ว่าคนไหนเป็นอย่างไร มีความถนัดอัธยาศัย ความสามารถอย่างไร เพื่อใช้คนให้เหมาะกับงาน นอกจากนั้นก็รู้ประโยชน์ที่เขา

    พึงได้ เพราะว่าในการทำงานนั้นไม่ใช่ว่าจะเอาเขามาเป็นเพียงเครื่องมือทำงานได้ แต่จะต้องให้คนที่ทำงานทุกคนได้ประโยชน์ ได้พัฒนาตัวเอง ผู้นำควรรู้ว่า เขาควรจะได้ประโยชน์อะไรเพื่อความเจริญงอกงามแห่งชีวิตที่แท้จริงของเขาด้วย

   ต้องอ่านคนให้ออก โดยรู้จักบุคคลแต่ละคนว่ามีลักษณะนิสัยเป็นอย่างไร มีความสามารถในด้านใด มีคุณภาพเป็นอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร ใครควรคบหรือไม่ควรคบอย่างไร เป็นต้น เมื่อรู้จักลักษณะนิสัยของบุคคลนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไรแล้ว ก็สามารถที่จะปฏิบัติต่อเขาได้อย่างถูกต้อง ชีวิตหน้าที่การงานก็จะเจริญก้าวหน้าและประสบผลสำเร็จ และต้องเป็นผู้รู้จักการไม่คบค้าสุงสิงกับคนที่สังคมรังเกียจ ต้องเข้าใจเลือกคน เช่น เลือกผู้แทน เลือกกรรมการจนกระทั่งเลือกเพื่อน เลือกคู่ครอง เป็นต้น

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 008 พุทธธรรม 2
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.018980566660563 Mins