เรื่องต่างกายเเต่ใจเดียวกัน

วันที่ 21 กย. พ.ศ.2562

เรื่องต่างกายเเต่ใจเดียวกัน

                ชีวิตในวัยเด็กตั้งแต่อายุเดือนเศษจนถึงแปดขวบเศษ ข้าพเจ้าอาศัยอยู่กับบิดามารดาในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง ไกลจากตัวเมืองราชบุรี ไปทางทิศเหนือของลำน้ำแม่กลองประมาณสิบกว่ากิโลเมตรสำหรับระยะทางเพียงแค่นี้ในยุคปัจจุบันถือว่าเล็กน้อย ใช้เวลานั่งรถยนต์ประมาณไม่เกิน ๑๕ นาทีก็ไปถึง แต่ย้อนหลังไปประมาณ ๕๐ ปีครั้งกระโน้น ไม่มีถนนรถยนต์ ต้องเดินทางกันด้วยเท้า การไปตัวเมืองต้องใช้เวลาไปกลับไม่น้อยกว่า ๗-๘ ชั่วโมง
 

ชาวชนบทในสมัยนั้นไม่มีใครอดอยาก ทุกบ้านทำนามีข้าวกินเอง  ส่วนกับข้าวก็ใช้วิธีหากันอย่างง่ายๆ ผักหญ้าขึ้นอยู่เองตามธรรมชาติมีเหลือเฟือ เช่น ผักบุ้ง ตำลึง กระถิน มะระไทยลูกเล็กๆ (บางทีเรียก มะระตุ้งติ้ง เพราะลูกของมันมีขั้วเล็กยาวๆ เวลาลมพัด ลูกของมันก็โยนตัวห้อยตุ้งติ้งเด่นออกมาจากเถา) แพงพวย ผักแว่น ยังมี ดอกไม้ใบไม้อ่อนๆ อีกหลายชนิด เช่น ใบมะกรูดอ่อน มะขามอ่อนสะเดาอ่อน ดอกขจร ดอกข้าวสาร หน่อกระชายอ่อนๆ ฯลฯ ผักที่ต้องปลูกก็มีเพียง มะเขือ แตงกวา ถั่วฝักยาว ต้นหอม กระเทียม และไม้สวนครัวอย่างโหระพา กะเพรา ผักชี ข่า ตะไคร้ ฯeลฯe ซึ่งบางทีผักเหล่านี้ก็พากันขึ้นเองตามที่เมล็ดของมันกระเด็นไปตกอยู่ ถึงกับต้องถางทิ้งก็มี
 

สำหรับอาหารเนื้อสัตว์ ที่เป็นหลักก็คือ ปลา หอยและกุ้ง ซึ่งมีอยู่ชุกชุมมาก เครื่องมือสำหรับจับสัตว์เหล่านี้ก็มี เบ็ด แห ลอบ ตะครัด ชะนาง (ชะนางคือเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่งทำด้วยไม้ไผ่ เหลาเป็นตอกเส้นยาวๆสานให้เป็นตาห่างๆ ผืนใหญ่มากแล้วม้วนเป็นรูปกรวยใหญ่ขนาดครึ่งห้องเรือน เอาปลายลำไผ่มัดเป็นขา สองข้าง ใส่กิ่งไม้แขนงไม้ไว้ภายใน นำไปแช่น้ำตรงที่มีปลาชุกชุม ปลาก็จะว่ายเข้าไปอยู่ เมื่อลากชะนาง ขึ้นมาจากน้ำ ก็จะมีปลาติดขึ้นมาด้วยครั้งละมากๆ) หรือถ้าใครไม่มีเครื่องมือเลยจะใช้เพียงตัดยอดทางมะพร้าวถือติดมือลงไปที่ชายหาด ตอนค่ำๆ ย่องเงียบๆ ลงไปในน้ำตื้นๆ หวดทางมะพร้าวลงไปในน้ำ ก็จะถูกปลาเล็ก เช่น ปลาซิว ปลาสร้อยตายลอยขึ้นมาเป็นแพ (กลางคืนปลาชอบนอนริมตลิ่ง) เก็บเอามาทำกับข้าวได้ หรือมิฉะนั้นก็เอาตะแกรงวางลงไปใต้น้ำ ใช้รำข้าวโรยบนผิวน้ำเล็กน้อย ปลาเล็กๆ ก็จะมารุมกินกันแน่น ยกตะแกรงขึ้นครั้งหนึ่งๆ ก็พอทำกับข้าวได้ทั้งมื้อบางฤดูโดยเฉพาะฤดูหนาว ปลาแขยงชุกชุมมาก บางทีไม่สามารถลงอาบน้ำเพราะจะไปเหยียบถูกตัวมัน มันจะเอาเงี่ยงของมันแทงเท้าเราเจ็บปวด จึงต้องใช้ขันหรือกระป๋องตักขึ้นอาบบนสะพานท่าน้ำ
 

ข้าพเจ้าเล่าให้ฟังมานี้ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่า บ้านเมืองของเรา ในอดีตอุดมสมบูรณ์มาก มกับคำที่ว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" จริงๆ ในท้องนาเวลาฤดูน้ำหลาก มีปลาตัวใหญ่ๆ เข้าไปอยู่ในคันนา  ส่วนมากเป็นปลาช่อนและปลาเค้า  ครอบครัวของข้าพเจ้าก็เหมือนครอบครัวอื่นๆ แม้มิได้ทำนาเพราะพ่อแม่เป็นครู แต่เราก็ได้ข้าวจากค่าเช่านาของแม่ซึ่งอยู่อีกคนละท้องทุ่งส่วนเรื่องกับข้าวก็ใช้วิธีหากินแบบชาวบ้านทั่วไป

 

เมื่อข้าพเจ้ายังเป็นเด็กเล็กมาก บิดาเป็นผู้หากับข้าวมาให้มารดาประกอบอาหาร ท่านก็ทำเหมือนๆ ผู้อื่น คือ ทอดแห วางเบ็ด ดักลอบ ลากชะนาง วางตะครัด ถ้าได้ปลามาก มารดาข้าพเจ้าก็จะทำเป็น ปลาย่าง ใส่โอ่งไว้ ทำปลาเค็มตากแห้ง ทำปลาข้าวหมาก (หมักด้วยข้าวสุก) ปลาแดก (หมักด้วยรำข้าว) ที่สำคัญขาดไม่ได้คือปลาตัวเล็กๆ โดยเฉพาะ ปลาสร้อย พ่อจะนำมาหมักด้วยเกลือมากๆ ทิ้งไว้เป็นปีให้กลายเป็นน้ำปลาดิบ เมื่อนำไปเคี่ยวด้วยไฟก็จะหอมกลายเป็นน้ำปลาอย่างดี
 

สำหรับกุ้ง พ่อจะใช้วิธีวางลอบที่ริมตลิ่ง ได้กุ้งก้ามกรามตัวใหญ่มาก บางตัวโตเท่าข้อมือของคนใหญ่ คืนหนึ่งๆ มีกุ้งติดลอบหลายสิบตัว ต้องใส่กระชังขังไว้กินหรือขาย (กระชังเป็นเครื่องมือขังสัตว์ แช่ไว้ในน้ำ
ได้หลายๆ วัน)ส่วนหอยชนิดต่างๆ โดยเฉพาะหอยทราย หอยกาบ ใช้วิธีงมที่พื้นทรายในน้ำและที่ริมตลิ่งตรงที่ไม่มีทราย มีแต่ดินเหนียว ก็จะมีหอยกาบอยู่กันมาก

 

ครั้นข้าพเจ้าเติบโตขึ้น พอเดินพอวิ่งได้เก่ง ในฐานะลูกคนโตคนแรก น้องๆ ยังไม่มีวี่แววว่าจะเกิดตามมา พ่อมักพาข้าพเจ้าไป "หากิน" ด้วย ถ้าทอดแหก็จะให้ข้าพเจ้าวิ่งถือกระป๋องใส่น้ำเล็กน้อยตาม ไปคอยใส่ปลาที่ติดแห ถ้าวางเบ็ดวางตะครัด (เป็นตาข่ายยาวๆ ขึงไว้ในน้ำ) ก็จะให้ลงเรือไปกับพ่อ ถ้าลากชะนางก็จะให้ถือขาชะนางคนละข้างกับพ่อแล้วช่วยดึงเครื่องมือนั้นขึ้นจากน้ำพร้อมกัน
 

ในเวลานั้นข้าพเจ้าคิดว่าเป็นสิ่งธรรมดาที่คนจะต้องทำอย่างนี้ และกุ้งหอยปูปลาเหล่านั้นก็เกิดมาเพื่อช่วยให้คนมีอาหารกิน มันเกิดของมันเองเหมือนต้นไม้ ลูกไม้และผักหญ้าอื่นๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง ข้าพเจ้าเอามีดทำครัวของแม่ไปหั่นใบไม้เล่นขายก๋วยเตี๋ยวกับเพื่อน มีดบาดนิ้วมือเป็นแผลยาว เลือดไหลหยด ข้าพเจ้ารีบวิ่งไปหาแม่ แม่นำเกลือละลายในน้ำฝนราดลงที่แผล
 

"อู้ย อู้ย อู้ย แม่หนูเจ็บ โอ๊ย น้ำเกลือมันเค็ม แต่ทำไมถูกแผลมันกลับแสบจังเลย แม่จ๋า"
ข้าพเจ้ารู้สึกแสบมากส่งเสียงร้องลั่น (บ้านนอกในชนบทห่างไกลตัวเมืองสมัยนั้นไม่มียาทาแผลใช้)
แม่ปลอบข้าพเจ้าว่า "อดทนหน่อยนะลูก ต้องใช้น้ำเกลือราดฆ่าเชื้อโรคน่ะ" แม่ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง แล้วฉีกเศษผ้าสะอาดพันไว้แน่น

 

ครั้นแล้วอยู่มาวันหนึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก หน้าบ้านของเราซึ่งเคยมีหาดทรายกว้างประมาณ ๒๐๐ เมตร ยาวเกือบ ๒ กิโลเมตร ถูกน้ำท่วมจมไป มีปลาเล็กบ้างใหญ่บ้างผุดกระโดดตัวลอยเป็นระยะๆ เต็มไปหมด  ชาวบ้านพากันนำเครื่องมือต่างๆ ออกจับปลา ครั้งนั้นพ่อข้าพเจ้าไปยืมยอ (เป็นตาข่ายถี่ๆ ถักด้วยด้ายเหนียวผืนโต ใช้ไม้เกี่ยวมุมทั้งสี่ ปล่อยลงไปในน้ำครู่ใหญ่ เมื่อยกขึ้นจะมีปลาติดขึ้นมา) มาจับปลา
 

ข้าพเจ้าไปอยู่บนแพไม้ไผ่กับพ่อ ช่วยดึงหางเชือกยกยอให้พ้นจากน้ำ มีปลาติดยอขึ้นมาครั้งละมากๆ บางครั้งเป็นครึ่งๆ ถังใส่ข้าวสาร แต่เป็นปลาตัวเล็กที่เรียกว่าปลา ร้อย พอตักปลาออกจากยอใส่ไว้ในเรือลำเล็กที่จอดเทียบอยู่ข้างแพ เวลาปลาใกล้จะเต็มเรือพ่อชวนข้าพเจ้าพายกลับมายังริมตลิ่งหน้าบ้านปล่อยให้แม่ยกยอต่อไปตามลำพัง พ่อใช้กระบุงโกยปลาตัวเล็กๆ เหล่านั้นแบกไปเทในโอ่งใบใหญ่ๆ ที่วางเรียงกันเป็นแถว ข้าพเจ้าใช้กระป๋องเล็กๆ ช่วยพ่อตักไปบ้างตามกำลัง เมื่อพ่อเทปลาลงโอ่งหมดแต่ละกระบุงแล้ว พ่อจะใช้เกลือโรยทับลงไปบนตัวปลาทุกครั้ง เพื่อหมักไว้อีก ๑ ปี ก็จะกลายเป็นน้ำปลาอย่างดี

 

ขณะที่พ่อโรยเกลือแล้วเอามือหรือไม้สั้นๆ คนอยู่นั่นเอง ปลาก็จะกระโดดดิ้นกันจนสุดแรง เกล็ดของมันหลุดกระจาย ตามตัวถลอก เห็นเนื้อกับเลือดสีแดงไหลซึมออกมา ตัวไหนตายแล้วก็จะสงบนิ่งไป ตัวไหนไม่ตายจะยังดิ้นกระดุกกระดิกอยู่ ข้าพเจ้าเอามือจับขอบโอ่งมองดู  ใจก็นึกย้อนไปถึงความเจ็บแสบเมื่อแม่เอาน้ำเกลือราดนิ้วข้าพเจ้า ยิ่งมองดูปลาดิ้นก็เหมือนได้ยินเสียงมันร้องเหมือนที่ข้าพเจ้าร้องบอกแม่ว่าแสบ เมื่อแม่เอาน้ำเกลือราดแผลข้าพเจ้า
 

ยิ่งเห็นปลาดิ้น หัวใจน้อยๆ ของข้าพเจ้าก็ดิ้นตามไปด้วย แต่ไม่กล้าพูดแสดงความรู้สึกอะไรให้พ่อทราบ เกรงจะถูกดุ จึงขออนุญาตพ่อว่า
"พ่อกลับไปที่แพคนเดียวนะจ๊ะ หนูจะอยู่ที่บ้านเล่นกับเจ้าเลี้ยงมัน"
พ่อตอบว่า "ดีเหมือนกัน แดดเริ่มจะร้อนมากแล้ว ลูกตากแดดนานๆ เดี๋ยวไม่สบาย อย่าเล่นซนกันนักนะ" ท่านกำชับไว้ในตัว

 

ข้าพเจ้าเดินไปบ้านเจ้าเลี้ยงซึ่งเป็นเพื่อนเล่นก็จริงอยู่ แต่ไม่ได้เรียกหามัน กลับเดินขึ้นบ้าน คลานเข้าไปหาแม่ของเจ้าเลี้ยงซึ่งนั่งเคี้ยวหมากอยู่ตามลำพัง แม่เจ้าเลี้ยงทักขึ้นว่า
"นั่นใครน่ะ ไม่ใช่ฝีเท้าเจ้าเลี้ยงนี่ เจ้าเลี้ยงมันตีนหนักกว่านี้แยะหนูหวินรึไง"
"ใช่จ้ะป้า หนูเอง" ข้าพเจ้าตอบพร้อมทั้งรับคำ แม่เจ้าเลี้ยงตาบอดทั้งสองข้างไปไหนไม่ได้ จึงนั่งอยู่บนบ้านเพียงคนเดียว
"หนูจะมาชวนเจ้าเลี้ยงไปเล่นหรือลูก" ป้าตาบอดถามต่อ
"เปล่าจ้ะป้า หนูอยากจะมาถามป้าว่า ปลามันรู้จักเจ็บปวดเหมือนเราไหมจ๊ะป้า เวลาเราเอามีดปาดคอมันหรือเอาเกลือโรยบนตัวมันตอนที่มันยังไม่ตายน่ะป้า" ข้าพเจ้ากระซิบถาม
"มันก็เจ็บปวดเหมือนเราแหละหนู แต่เราถือว่ามันเป็นอาหารก็ต้องฆ่ามันกิน" ป้าตอบ


ข้าพเจ้าจะซักถามต่อไปอีก เจ้าเลี้ยงเพื่อนรักก็โผล่มาพอดี จึงชวนกันไปเล่น ขณะที่ช่วยกันเอาก้อนหินทุบเศษหม้อแตก ไหแตก ชามกระเบื้องแตก ให้เป็นชิ้นกลมๆ เล็กบ้างใหญ่บ้างตามขนาด เพื่อเอาไว้โยนลงไปในหลุม ใครมือแม่นโยนได้มากก็เป็นฝ่ายชนะ ก็จะได้เขกเข่า ฝ่ายแพ้บ้าง ขี่คอฝ่ายแพ้บ้าง การเล่นที่สนุกที่สุดของเด็กสมัยโน้นมีอย่างยอดเยี่ยมเพียงเท่านี้ ข้าพเจ้าทุบไปก็คิดไป


"เมื่อปลามันเจ็บเหมือนเรา เราก็ไม่น่าทำมันซี ถ้าใครเค้าเอามีดมาเชือดคอเรา หรือเอาไม้ท่อนใหญ่ๆ ทุบหัวเรา เอาเกลือโรยบนตัวเราเราก็ต้องเจ็บปวดมาก ต้องแสบตามเนื้อตามตัว แผลของเราเล็กนิดเดียว ยังแสบแทบตาย นี่ถูกน้ำเกลือทั้งตัว มันจะแสบกันขนาดไหนกันเนี่ย"
 

คิดแล้วน้ำตาก็ไหลหยดลงแหมะๆ เจ้าเลี้ยงเงยหน้าขึ้นมองพอดี มันทำท่าตกใจ ถามว่า "เป็นอะไร เศษกระเบื้องเข้าตารึไง"
ข้าพเจ้าพยักหน้าส่งเดชไปตามเรื่อง ไม่รู้จะบอกเพื่อนอย่างไรดี มันไม่เข้าใจความรู้สึกของเราเดี๋ยวก็จะนึกว่าเราขี้แยไม่เข้าเรื่องเสียงเพื่อนบอกว่า
"พอเถอะ อย่าทำเลย เดี๋ยวเราทุบให้เองนะ"

 

แต่เดิมเมื่อได้ปลามากๆ จะโดยวิธีใดก็ตาม ข้าพเจ้าเคยดีอกดีใจ  จากวันนั้นมาใจคอรู้สึกหงอยเหงาเศร้าสร้อยทุกครั้งที่เห็นพ่อขนปลามาบ้าน แล้ววันหนึ่งพ่อนำปลาช่อนตัวใหญ่ตัวหนึ่งกับปลากดตัวเขื่องที่
ทอดแหได้มาให้แม่ แม่บอกว่า

"เออ เดี๋ยวแม่จะแกงส้มปลาช่อนกับมะละกอแก่ๆ กินกันเย็นนี้ส่วนปลากดก็จะย่างไว้แกล้มผักน้ำพริกในวันรุ่งขึ้น ลูกทุบหัวปลาช่อนขอดเกล็ดไว้ให้แม่ทีส่วนปลากดก็เอาไม้แหลมๆ ที่แม่วางไว้หัวเตาไฟ เสียบเข้าไปในปากของมันทะลุหางเลยลูก เวลาปิ้งบนเตามันจะได้ดิ้นไม่ได้"
 

ข้าพเจ้าจับปลาสองตัวไปวางไว้บนเขียงใหญ่ นั่งมองมันอยู่นานใจคอเต้นไม่เป็นปกติ เสียงแม่ถามว่า
"ทำแล้วยังลูก"
ข้าพเจ้ากลั้นอกกลั้นใจถามแม่ออกไปว่า
"แม่ แม่ ถ้าหนูทุบหัวมัน เสียบตัวมันนี่ แล้วหนูบาปมั้ยแม่"
"มันก็ต้องบาปน่ะซี แต่ถ้าลูกไม่ทำ แม่ก็ต้องทำ แม่ก็บาปเหมือนกัน มันหนีไม่พ้นหรอกลูก" แม่ตอบด้วยน้ำเสียงราบเรียบเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา

 

คำว่า "ถ้าลูกไม่ทำ แม่ก็ต้องทำ"สะดุดลึกลงไปในจิตใจของข้าพเจ้า รำพึงคิดในใจว่า "ไม่ได้" เราจะปล่อยให้แม่บาปไม่ได้ ขอให้เราบาปเสียเองเถอะ "แม่จ๋า หนูจะทำแทนแม่เอง"
ความรักมารดาทำให้ข้าพเจ้าคิดตามประสาเด็กไปดังนั้น เงื้อไม้ ขึ้นจะทุบหัวปลา ราวกับปลามันจะรู้ว่าต้องตายแน่แล้ว มันดิ้นพรวดตกลงไปจากเขียง

 

ข้าพเจ้าเงื้อมือค้าง ใจเริ่มสั่น น้ำตาไหลทะลักออกมาพรั่งพรู  นึกถึงว่าถ้าตนเองเป็นปลา หนีไปไหนก็ไม่พ้น มีคนจ้องเงื้อไม้ท่อนใหญ่ตีหัว เพียงโป๊กเดียว หัวก็จะแตกออกหลายเสี่ยง 

 

อีกใจก็ท้วงว่า "ไม่ทำไม่ได้นะ ไม่ทำแม่ก็ต้องทำ แม่ก็ได้บาปเสียเอง เป็นลูกต้องช่วยแม่ซี เมื่อรักแม่ก็ต้องช่วยแม่ อย่าให้แม่ทำบาป" ความคิดหลังนี้มีอำนาจมาก

 

ข้าพเจ้ายกมือไหว้ปลาทั้งสองตัว แล้วพูดพึมพำว่า
"ปลาจ๋า ชั้นไม่อยากฆ่าเจ้าเลยนะ คราวนี้จำเป็นจริงๆ เลยขอโทษเถอะนะ"
ร้องไห้สะอึกสะอื้นไปด้วย หลับตาปี๋ หวดไม้ลงไปบนหัวปลาช่อน ตามกำลังเด็ก เมื่อลืมตาขึ้น ปลาช่อนหัวแตกเลือดออกมาเต็ม ตัวของมันสั่นระริกตั้งแต่หัวถึงหาง ข้าพเจ้าเบือนหน้าหนีทั้งน้ำตาเต็มหน้า ก็ต้อง
เอาไม้แหลมเสียบเข้าไปในปากปลากดอีกตัวหนึ่ง มันร้อง อ่อด อ่อด อ่อด ตัวก็สั่นริกๆ ตั้งแต่คอถึงหางอีกเหมือนกัน

 

วันนั้นข้าพเจ้ากินข้าวกับยำปูเค็มแทนแกงปลา รู้สึกกินมันไม่ลงทั้งสองตัว คิดแต่ว่า
"เจ้าประคู้น ตั้งแต่วันนี้ต่อไป ขอให้มีอะไรก็ได้ที่มีฤทธิ์มีเดชช่วยหนูด้วย อย่าให้หนูต้องฆ่าปลาอีกเลย ฆ่าอะไรๆ ก็อย่าให้ฆ่า แม่หรือใครๆ ก็อย่าใช้ให้ฆ่าสักอย่างเดียว"

 

นึกในใจซ้ำๆ ซากๆ โดยไม่รู้ว่านั่นคือการตั้งอธิษฐานจิต และด้วยแรงอธิษฐานในครั้งนั้น คงจะเชื่อมโยงกับแรงอธิษฐานในอดีตชาติ  มีพลานุภาพตามให้ผลข้าพเจ้าทัน นับแต่วันนั้นมาก็ไม่มีโอกาสทำบาป
เช่นนี้อีกเลย

 

เมื่อพ้นเหตุการณ์วันนั้นมาไม่นานนัก ข้าพเจ้ารู้สึกหมดความอดทนต่อการกระทำของพ่อ พ่อเลิกยกยอกลางน้ำแล้ว ก็ยังมาดักลอบที่ริมตลิ่งอีกถึง ๗-๘ ลอบ คืนหนึ่งๆ แต่ละลอบปลาติดไม่ต่ำกว่าครึ่งๆ ลอบ ทุกเช้าตรู่พ่อจะปลุกข้าพเจ้าว่า
 

"ตื่นเถอะลูก ไปช่วยพ่อกู้ลอบ"
ข้าพเจ้าก็จะงัวเงียวิ่งตามพ่อไปริมตลิ่งพร้อมด้วยกระป๋อง กระบุงสำหรับใส่ปลา พ่อมิได้ใช้ข้าพเจ้าทำอะไร นอกจากนั่งดูการทำงานของพ่อ  เวลาพ่อเทปลาออกจากลอบ ท่าทางของพ่อดีอกดีใจยิ้มย่องผ่องใส

 

"วันนี้ได้มากจริงๆ เดี๋ยวเราช่วยกันเลือกปลาหมูกับปลารากกล้วยและปลาซิวออกจากปลาสร้อยนะลูก เอาปลาหมูไปให้แม่ต้มยำ เนื้อของมันอร่อยเหมือนกินเนื้อหมู ปลารากกล้วยกับปลาซิวก็นำไปให้แม่แช่น้ำปลาตากแดดเดียว ทอดกรอบๆ อร่อยนัก" พ่อพูดกับข้าพเจ้า พร้อมกับทำปากจิ๊บจั๊บ คงจะนึกอร่อยตามที่พูด

 

ข้าพเจ้าฟังอย่างเหงาหงอย พร้อมกับมองปลาที่ดิ้นอยู่ในกระบุง
"โธ่เอ๋ย เดี๋ยวพวกเจ้าก็จะไปลงโอ่งโดนโรยเกลืออีกแล้ว น่าสงสารจริงๆ"
ชีวิตประจำวันซ้ำซากอย่างนี้ ข้าพเจ้าจึงคิดแก้ปัญหาตามประสาเด็กๆ ไม่อยากให้พ่อฆ่าปลา แต่ขืนออกปากห้ามท่าน ข้าพเจ้าคงถูกดุและพ่อคงไม่ยอม
"ทำไงดี ทำไงดี เราต้องแอบขโมยปลาของพ่อเททิ้ง!" ใจคิดแก้ปัญหาให้ตนเองตามประสาเด็ก ความไม่อยากให้พ่อฆ่าปลา และตัวเองก็ไม่ต้องร่วมมือกับพ่อด้วย

 

ข้าพเจ้าจึงนอนหลับๆ ตื่นๆ ในคืนวันลงมือทำงาน พอเสียงไก่ขัน แสดงว่าใกล้รุ่ง จึงค่อยๆ ย่องออกจากที่นอน เปิดประตูบ้านให้เบาที่สุด  อากาศเช้ามืดต้นฤดูหนาวเย็นยะเยือกจับใจ เอามือกอดอกเดินห่อตัวไปจนถึงชายฝั่ง ในฤดูปลาชุกอย่างนี้ น้ำในแม่น้ำขึ้นสูงจนท่วมหาดทรายทั้งหมด

"อู๊ยหนาวจังเลย หนาวเหลือเกิน..."
ข้าพเจ้านั่งอยู่ริมตลิ่ง ตัวสั่นงันงก ท้องฟ้ายังมัวสลัว มองไปในท้องน้ำดูมืดทะมึน เป็นความมืดที่กว้างขวางออกไปไม่มีขอบเขต

 

การนั่งอยู่ตามลำพังในความมืด เงียบและหนาวเย็นสำหรับเด็กอายุเพียง ๗-๘ ขวบอย่างนั้น น่าจะเป็นความหวาดหวั่นพรั่นพรึง แต่ความรู้สึกของข้าพเจ้าในเวลานั้นยังจำได้จนกระทั่งบัดนี้ว่า มีแต่ความกลัวเกรงอยู่เพียงเรื่องเดียว คือเกรงพ่อจะตื่นมาพบการกระทำของตนเอง
 

พอเสียงไก่ขันกระชั้นหนักขึ้น แสดงว่าใกล้สว่างเต็มที ข้าพเจ้าจึงค่อยๆ ย่ำโคลนเดินลุยลงไปในน้ำ ผิวน้ำนั้นช่างเย็นเฉียบราวน้ำแช่ด้วยน้ำแข็ง แต่น้ำข้างใต้ค่อนข้างอุ่น เมื่อเดินลุยลงไปถึงตัวลอบที่พ่อผูกไว้กับหลักด้วยตอกไม้ไผ่ แก้ตอกอันบนได้ แต่ตอกอันล่างอยู่ติดพื้นดิน เคยเห็นพ่อก้มตัวลงไปแก้ แต่พอข้าพเจ้าจะทำเองก็ทำไม่ได้ เพราะข้าพเจ้าตัวเล็กกว่าพ่อมาก จึงต้องตัดสินใจดำน้ำลงไปจนมิดหัว ดำน้ำครั้งแรกๆ ก็อึดใจ
ไว้ได้ไม่นาน ต้องโผล่ขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า เวลาโผล่มองออกไปในท้องน้ำครั้งใดสายตาที่เริ่มชินต่อความมืด มองเห็นน้ำเวิ้งว้างไหลเชี่ยวเป็นเกลียว บางแห่งก็หมุนคว้างเป็นหลุมลึกๆ น่าสะพรึงกลัว

 

ซึ่งปกติแล้วข้าพเจ้าและเพื่อนจะกลัวสายน้ำในฤดูนี้มาก เพราะเคยพัดเด็กบ้าง คนใหญ่บ้าง ตายไปหลายราย
แต่น่าแปลก เวลาที่ข้าพเจ้ากำลังทำการขโมยปลาของพ่อ กลับไม่มีความหวาดกลัวอะไรๆ อยู่เลย มีความรู้สึกมั่นใจว่า ตนเองกำลังกระทำสิ่งที่ถูกต้อง ทำเรื่องที่สมควรทำ เป็นความดี จึงมีความกล้าหาญเต็มเปี่ยม
ในหัวใจ ลืมกลัวแม้กระทั่งคำเล่าลือเรื่องจระเข้ ว่ามีคนเห็นขึ้นที่โน่นที่นี่ก็ลืมไปหมด

 

เมื่อมุดลงไปชำนาญเข้าก็สามารถแก้ตอกอันล่างสุดได้ ข้าพเจ้ายกลอบขึ้นเอียงเทปลาในน้ำนั้นเอง เพราะหากจะลาก ยกขึ้นบนบกแล้ว รู้สึกว่าลอบแต่ละลูกจะหนักจนยกไม่ไหว เนื่องจากมีปลาติดอยู่ในลอบมากเหลือเกิน การเทปลาออกทางหัวลอบซึ่งมีรูกว้างอยู่เหนือน้ำ โดยให้ตัวลอบอยู่ใต้น้ำ เราเพียงเอียงหัวลอบให้ต่ำลงใต้ผิวน้ำปลาก็จะแย่งกันว่ายออกพรั่งพรู  ในความมืดลางๆ นั้น ข้าพเจ้าเห็นว่ามันว่ายออกเป็นทางยาว
เป็นสาย บ้างก็กระโดดตัวลอยพ้นน้ำ เสียงดังจ๋อมแจ๋มๆ

 

ข้าพเจ้าพูดกับมันเบาๆ ว่า
"ปลาเอ๋ย เจ้าดีใจหรือ รอดตายแล้วนะ หนีไปเร็วๆ ไปให้ไกลลิบเลยเชียว อย่ากลับมาแถวนี้อีกนะ เอ้า ตัวใหญ่ ตัวเล็ก ตัวน้อยออกไปให้หมดเล้ย" เวลาปลาออกพ้นลอบไปแล้วมันว่ายแฉลบไปมาเหมือนมันดีใจ 

 

ส่วนข้าพเจ้าก็ดีใจกับปลาที่เห็นมันได้อิสรภาพ หัวใจของตนเองก็เหมือนพองฟู เบิกบาน ลืมความหนาวเย็น ตลอดจนลืมกลัวพ่อไปชั่วขณะ  เมื่อปลาออกไปมากเข้า น้ำหนักลอบก็เบาลง จนข้าพเจ้าสามารถคว่ำลง เทจนหมดทุกตัวไม่มีเหลือแม้แต่ตัวเดียว ทำอย่างนี้ลอบแล้วลอบเล่าจนหมดทั้ง ๗-๘ ใบ แล้วดำน้ำผูกลอบไว้ตามเดิม พยายามทำให้เรียบร้อย เพื่อมิให้พ่อผิดสังเกต แล้วปีนขึ้นบนตลิ่งคราวนี้หนาวน้อยกว่าตอนลงน้ำใหม่ๆ เพราะได้ออกกำลังบ้างแล้ว

 

ข้าพเจ้าย่องเข้าบ้านไปผลัดผ้าแอบเข้านอนเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เมื่อพ่อเรียกให้ไปช่วยพ่อกู้ลอบ ข้าพเจ้าก็จะทำอาการงัวเงียตามไปอย่างเช่นเคย  ข้าพเจ้ารู้สึกใจเสียเหมือนกันเมื่อเห็นรอยผิดหวังปรากฏบนใบหน้าพ่อเมื่อท่านกู้ลอบไม่ได้ปลา ท่านบ่นว่า
"คืนนี้ทำไมไม่มีปลาติดลอบเลยนะลูก ลูกดูซีในแม่น้ำก็มีปลา โดดจ๋อมแจ๋มเต็มไปหมด ประหลาดจริง ทำไมไม่เข้าลอบเราแม้แต่ใบเดียว"

 

ข้าพเจ้านั่งเงียบทำเป็นสัปหงกอยู่ริมตลิ่ง ทำอยู่อย่างนี้ได้ราว ๓ วัน คิดว่าเมื่อพ่อเข้าใจว่าดักปลาไม่ติด
จะได้เลิกดัก แต่เรื่องไม่เป็นตามที่คิด ได้ยินเสียงพ่อพูดกับแม่ว่า


"อย่าเพิ่งโทษเค้าเลยพี่ ลองไปดูที่บ้านมันก่อน มันไม่ได้ดักลอบ มันมีปลากินหรือเปล่า ถ้ามีค่อยสงสัยมันเถอะ" แม่ห้ามปรามพร้อมกับพูดให้เหตุผล
"เรื่องอะไรมันจะเอาปลาไว้บ้านมัน ป่านนี้มันเอาไปขายให้เจ๊กฉ่างทำน้ำปลาไปหมดแล้ว"
พ่อพูด แม่ก็ยังแย้งอีกว่า
"พี่ก็ไปถามเจ๊กฉ่างเค้าดูซีว่า มันเอาไปขายรึเปล่า"
"เรื่องอย่างนี้มันต้องไหวทัน มันฝากพี่น้องคนอื่นๆ ของมันที่ดักปลาเหมือนเราขายก็ได้ แล้วพวกมันก็ต้องเข้ากันอยู่แล้วไม่มีทางที่เราจะจับได้หรอก" พ่อว่า
"นี่พี่ว่าต้องมีคนมาขโมยปลาของเราแน่ๆ เลย พี่ไปถามบ้านอื่นๆ หมดทุกบ้านแล้ว เขาบอกว่าลอบของเขามีปลาติดเต็ม มันจะไม่ติดลอบของเราได้อย่างไร แม่น้ำเดียวกัน แล้วตรงที่เราดักนี่เป็นทำเลที่ดีที่สุด นี่พี่สงสัยนะว่า ไอ้หัวขโมย (ออกชื่อ) มันต้องมาขโมยปลาของเราแน่ๆ"
"แล้วพี่จะทำยังไง" เสียงแม่ถาม
"จะทำยังไง คืนนี้จะเรียกมันออกมา พูดผิดหูนักจะยิงมันด้วยลูกซองซะเลย"

พ่อตอบด้วยเสียงฉุนเฉียวตามนิสัยเจ้าโทสะ 

 

หัวใจของข้าพเจ้าเต้นตูมตามด้วยความตกใจ นึกในใจว่า
"แย่แล้ว เราทำเรื่องร้ายแรงที่สุด ถึงจะต้องให้พ่อฆ่าคนเชียวหรือนี่ จะทำยังไงดี"
นั่งเงียบอยู่พักใหญ่ ก็คิดไปตามประสาเด็กว่า "เอายังงี้ซี ไปสารภาพผิดว่า เราเป็นคนทำเอง"
อีกใจหนึ่งก็เถียงว่า
"ไม่ได้ๆ โดนตีตายแน่เลย ไม่กลัวเจ็บก้นรึไง" อีกใจก็ว่า
"เจ็บก็ต้องทนเอา ยังไงๆ พ่อก็ไม่ตีถึงตายหรอก เพราะพ่อรักเรา มีลูกอยู่คนเดียวตีตายได้ยังไง"

 

แต่ถ้าไม่บอกซี
"เดี๋ยวไปยิงกันตายยิ่งแย่ใหญ่ บาปก็บาป ดีไม่ดีติดคุกอีก เพราะเราเป็นคนผิดทีเดียว"
ในใจเถียงกันไปเถียงกันมา ที่สุดจึงลงเอยยอมสารภาพผิด คิดในใจว่าถึงอย่างไรต้องถูกเฆี่ยนก้นแน่ๆ

 

ข้าพเจ้าจึงนุ่งผ้าถุงเสีย ๒-๓ ชั้น เดินร้องไห้เข้าไปหาพ่อ ไม่ใช่ร้องเพราะโศกเศร้าเสียใจ แต่ร้องเพราะคิดว่าวันนี้ถูกตีแน่ ร้องเพราะกลัวไม้เรียว
"อ้าวเป็นอะไรลูก ทะเลาะกะเพื่อนหรือยังไง"


พ่อถามขมวดคิ้วอย่างสงสัย เพราะเป็นเรื่องน่าสงสัยมาก  โดยปกติแล้วมีแต่ข้าพเจ้าจะรังแกเพื่อน เพราะถือว่าเป็นลูกโทนด้วย เป็นลูกครูประจำหมู่บ้านด้วย เมื่อเห็นตรงข้ามดังนี้ พ่อจึงแปลกใจ
"ไม่ใช่จ๊ะ หนูทำความผิด"

พูดแค่นี้ก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น ร้องล่วงหน้าไว้ก่อน ใจก็กลัวด้วยและต้องการให้พ่อสงสารเสียก่อนรู้เรื่องความผิดด้วย พ่อเห็นลูกร้องแล้ว จะได้โกรธน้อยลง  จากนั้นข้าพเจ้าก็สารภาพผิดว่าตนเองเป็นคนทำ พ่อเบิ่งตาโต
ฟังเหมือนไม่เชื่อหูตัวเอง ข้าพเจ้ามองไม่เห็นสีหน้าโกรธเคือง เห็นแต่สีหน้าประหลาดใจ จึงค่อยคลายความกลัวไม้เรียวลง พูดกับพ่อว่า


"หนูไม่อยากให้พ่อทำบาปนี่ ปลามันก็ไม่อยากตายเหมือนกัน  หนูก็ไม่อยากตาย แต่หนูไม่รู้จะห้ามพ่ออย่างไร หนูกลัวพ่อดุ หนูจึงใช้วิธีขโมยปลาของพ่อเททิ้ง"
พูดย้ำไปร้องไห้ไป พร้อมกับยืนตรงกอดอกเหมือนนักเรียนที่กำลังถูกครูตี หันก้นไปทางบิดา
"พ่อตีก้นหนูเถอะ หนูยอมรับผิดจ้ะ"

 

บอกพ่อด้วย ชักมือออกจากอกเช็ดน้ำตาด้วยสะอื้นฮักๆ นึกถึงว่า เดี๋ยวไม้เรียวคงหวดลงมา มันต้องทั้งเจ็บแปล๊บ แปล๊บ เข้าไปถึงใจ  ก้นมันจะแตกมั้ยเนี่ย ถ้าพ่อตีแรงมากมันก็จะแตก ถ้าไปเปิดก้นให้แม่ทายา
แม่จะตีซ้ำเอาอีกรึเปล่านะ ร้องไปคิดไป  คอยอยู่ครู่ใหญ่ ไม้เรียวไม่หวดลงมาสักที จึงหันหน้ากลับไปมอง
เห็นพ่อนั่งนิ่งๆ จ้องมองออกไปเบื้องหน้าไม่กะพริบตาเหมือนครุ่นคิดอะไรอยู่ 

 

ข้าพเจ้าคิดขึ้นใหม่ในใจขณะนั้นว่า
"เราสารภาพแล้วเนี่ย พ่อรู้แล้วยังไม่ตีเราเดี๋ยวนี้ กำลังคิดอะไรเฉยอยู่ เดี๋ยวเลิกคิดก็นึกได้คงหันมาตีเราแน่ นั่งนิ่งๆ ยังงี้ดีแล้ว"
แล้วข้าพเจ้าก็ค่อยๆ ถอยหลังออกมาทีละน้อยๆ จนพ้นออกมายืนแอบดูพ่ออยู่หลังกองจากมุงหลังคา ซึ่งพ่อซื้อมากองไว้เตรียมเปลี่ยนหลังคาใหม่


ข้าพเจ้าเห็นพ่อนั่งนิ่งอยู่พักใหญ่ แล้วจึงขยับตัวหยิบยาเส้นขึ้นมามวนใบจากสูบพ่นควัน เหม่อมองไปเบื้องหน้าจนยาหมดมวน พ่อจึงลุกขึ้นไปที่ท่าน้ำ พ่อลุยลงไปที่ตรงบริเวณดักลอบ รื้อเสาหลัก รื้อเฝือก แก้มัดลอบทั้ง ๗ ใบ พ่อเหวี่ยงของเหล่านั้นทั้งหมดไปจนสุดแรง ให้มันไปตกลงตรงกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก พัดพาลอยลิ่วๆ ค่อยๆ จมน้ำไปทีละอย่าง สองอย่างจนหมด ข้าพเจ้าแอบติดตามไปดูตลอดเวลาโดยที่พ่อไม่เห็น
ต่อจากนั้นข้าพเจ้าทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น รีบขึ้นบ้านไปช่วยแม่ทำกับข้าว ประจบประแจงพูดคุยกับแม่ด้วยเรื่องอื่นๆ ไม่ยอมเล่าความผิดของตนเองให้แม่รู้   

 

ข้าพเจ้าได้ห้ามการฆ่าปลาของพ่อได้นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา  ต่อจากนั้นเมื่อพ่อต้องการปลาเพื่อทำน้ำปลา ก็จะใช้วิธีซื้อปลาที่ตายแล้วจากชาวบ้าน และพ่อคงจะบอกเรื่องนี้กับแม่ด้วย เพราะปรากฏว่าในเวลา
ต่อมา แม่ไม่เคยใช้ข้าพเจ้าทุบหัวปลาหรือฆ่าปลาอีกเลย

 

จากหนังสือ จากความทรงจำเล่ม2

อุบาสิกาถวิล วัติรางกูล

* ชื่อเรื่องเดิม ปล่อยปลา

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014835317929586 Mins