หันหน้ายอมรับความจริงเพื่อแก้ไขปัญหา

วันที่ 21 กพ. พ.ศ.2563

หันหน้ายอมรับความจริงเพื่อแก้ไขปัญหา

 

                   จากปัญหาในเรื่องการลดจำนวนลงของศาสนทายาท คือพระภิกษุสงฆ์และสามเณร รวมถึงความห่างเหินในเรื่องการประพฤติปฏิบัติธรรมของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชน อาจเป็นสิ่งที่สร้างความสลดใจให้แก่เรา แต่หากเรากล้าที่จะมองสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง

 

                    และมองย้อนกลับไปถึงสาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนี้เพื่อที่เราจะได้แก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง เฉกเช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มองเห็นความทุกข์ในชีวิต แล้วสาวกลับไปถึงเหตุแห่งทุกข์ และเมื่อต้นตอแห่งปัญหาได้ถูกแก้ไขไป พระองค์จึงไม่ต้องกลับมาอยู่ในวงจรแห่งความทุกข์เช่นนี้อีก

 

                  อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของพระพุทธศาสนาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ อาจกล่าวได้ว่ามีสาเหตุมาจาก

                  ๑) การเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมจากสังคมเกษตรกรรมมาสู่สังคมอุตสาหกรรม

 

                  ๒) ข้อวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ที่ปรากฏต่อสายตาสาธารณชน

 

                  ๓) ทัศนคติในการมองพระสงฆ์ของพุทธศาสนิกชน ซึ่งมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่ สำหรับสาเหตุในข้อที่ ๑

 

                   เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถแก้ไขได้เพราะเป็นปัจจัยภายนอก เป็นกลไกทางสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและโลก แต่สาเหตุในข้อที่ ๒ และ ๓ เป็นสิ่งที่เราสามารถแก้ไขได้ เพราะเป็นปัจจัยภายในของวัด พระสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนซึ่งเราสามารถแก้ไขได้ด้วย สังฆคารวตา คือ ความเคารพในพระสงฆ์ดังจะกล่าวรายละเอียดในลำดับต่อไป

 

พระสงฆ์คือใคร

                   ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานพระพุทธองค์มิได้ทรงแต่งตั้งพุทธสาวกรูปใดเป็นศาสดาแทนพระองค์แต่ได้ตรัสพุทธพจน์นี้ใน มหาปรินิพพานสูตร แก่พระอานนท์ว่า

                         

             “ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย หลังจากเราล่วงลับไป ก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย”

 

                      พระธรรมวินัย จะสามารถทำหน้าที่เป็นศาสดาของศาสนิกได้ก็ต่อเมื่อมีบุคคลศึกษาศาสนธรรม หรือที่เรียกว่า ปริยัติสัทธรรม จนเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้อง แล้วลงมือปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง จนเกิดผลเป็นปฏิเวธสัทธรรม ระดับของปฏิเวธสัทธรรมยิ่งอยู่ในระดับสูงเพียงใดความเข้าใจศาสนธรรมก็จะละเอียดลึกซึ้งเพียงนั้น

 

                      บุคคลที่จะมีความตั้งใจจริงและมีเวลาพอที่จะศึกษาปริยัติสัทธรรมและปฏิบัติสัทธรรม
จนเกิด ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงขั้นนำ มาถ่ายทอดอบรมสั่งสอนผู้อื่นให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง จึงตกเป็นหน้าที่หลักของพระสงฆ์ทุกรูป ดังนั้นแม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมิได้ทรงแต่งตั้งพระภิกษุหรือ
พระภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่งเป็นศาสดาแทนพระพุทธองค์ แต่พระสงฆ์ทุกรูปล้วนอยู่ในฐานะผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา

เชิงอรรถ อ้างอิง

                                                                                                        ๑ ที.ม. ๑๐/๒๑๖/๑๖๔ (แปล.มจร)

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 3
                                             โดยคุณครูไม่เล็ก

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.041825385888418 Mins