ตอน การเกิด

วันที่ 26 มิย. พ.ศ.2563

โลกถาม? ตะวันธรรมตอบ

ตอน การเกิด

 

" เราเกิดมาเพื่อศึกษาเรื่องความจริงของชีวิต
โดยมีเป้าหมายเพื่อแสวงหาวิธีการ
ที่จะไม่ต้องกลับมาเกิดอีก
เพราะเกิดบ่อยๆ ก็ทุกข์บ่อยๆ "

 



คำถาม ข้อ1. ชาวพุทธถือว่า การมีลูกเป็นเพียงเรื่องของธรรมชาติ ที่ชาย-หญิงมาอยู่ร่วมกัน หรือมีความเชื่ออะไรที่นอกเหนือไปกว่านี้หรือไม่ ?

 

ตอบ => การที่เราจะมีลูกสักคนหนึ่ง ชาวพุทธมิได้ถือว่าเป็นเพียงเรื่องของธรรมชาติเท่านั้น แต่ที่เรายังต้องมาเกิดเป็นมนุษย์อยู่  ก็เพราะยังไม่หมดเชื้อแห่งการเกิด เราเกิดมาเพื่อศึกษาเรื่องความจริงของชีวิต โดยมีเป้าหมายเพื่อแสวงหาวิธีการที่จะไม่ต้องกลับมาเกิดอีก เพราะเกิดบ่อยๆ ก็ทุกข์บ่อยๆ  ซึ่งการมองอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นการมองโลกในแง่ร้าย หรือแง่ดี แต่เป็นการมองโลกไปตามความเป็นจริง

            เนื่องจากในความเป็นจริงพื้นฐานของชีวิต ก็คือ ความทุกข์ ทุกข์ตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นความทุกข์จากการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความไม่สมหวังต่างๆ ฯลฯ  การเกิดของมนุษย์มีกรรมเป็นตัวกำหนด ไม่ใช่ใครอื่นมากำหนดให้

            การเกิดของมนุษย์ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนหยาบและส่วนละเอียด
ส่วนหยาบ คือ พ่อแม่ประกอบธาตุธรรมหยาบโดยการมีเพศสัมพันธ์ แล้วพอดีกับที่ส่วนละเอียด คือ กายละเอียดเข้ามาปฏิสนธิ

 

คำถาม ข้อ 2. ชาวพุทธมีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเกิดหรือไม่ ? มีหรือไม่มี เพราะอะไร ?

 

ตอบ => ไม่มีพิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิดเพราะศาสนาพุทธไม่ได้ผูกขาดหรือบังคับว่าเกิดมาต้องนับถือศาสนาพุทธ แต่ให้สิทธิเสรีภาพในการศึกษาเพื่อเลือกนับถือศาสนาขึ้นอยู่กับว่าบางครอบครัวพ่อแม่อาจเกิดกุศลศรัทธาเลี้ยงพระ ทำบุญช่วงเกิด หรือขอให้พระตั้งชื่อให้ลูก เพื่อเป็นสิริมงคล

             ถึงแม้ศาสนาพุทธไม่มีพิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด แต่ก็มีหลักปฏิบัติ คือ ต้องเลี้ยงลูกให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการมาเกิดเป็นมนุษย์

 

คำถาม ข้อ 3. หากพ่อแม่ชาวพุทธรู้ว่าลูกที่เกิดมานั้น มาจากที่ไม่ดี เช่น เคยเกิดเป็นสัตว์ พ่อแม่จะยอมรับได้หรือไม่ และจะเลี้ยงดูลูกคนนั้นอย่างไร ส่วนใหญ่พ่อแม่ชาวพุทธจะคาดหวังว่าลูกของตนจะต้องมาจากที่ดีๆ เท่านั้นใช่หรือไม่ ?


ตอบ => ยอมรับได้ และยินดีต้อนรับ ไม่ว่าจะมาจากไหน เพราะเขามาเกิดเป็นลูกเราแล้ว แต่ก็ยังไม่เคยเห็นพ่อแม่คนไหนรู้เลยว่า ลูกตัวเองเคยเกิดเป็นอะไรมาก่อน  แต่ถึงแม้อาจจะมารู้ภายหลังว่า ลูกมาจากที่ไม่ดี ก็ไม่ได้รังเกียจ แต่จะสลดใจว่าลูกเคยดำเนินชีวิตด้วยความประมาทในชาติก่อนๆ ชีวิตจึงตกต่ำ แต่ก็ให้ลืมอดีตที่ผิดพลาดนั้นเสีย แล้วรีบเร่งสอนให้ลูกทำทาน  รักษาศีล เจริญภาวนา ทำตัวเองให้บริสุทธิ์  จะได้ไม่ย้อนกลับไปสู่ความตกต่ำอย่างเดิมอีก  พ่อแม่ชาวพุทธก็เหมือนพ่อแม่ทุกคนที่อยากได้ลูกมาจากที่ดีๆ

 

คำถาม ข้อ 4. คำสอนในพระพุทธศาสนาพูดถึง “การเลี้ยงดูบุตร” ไว้อย่างไร ?

 

ตอบ =>   1. ให้เว้นจากการทำความชั่ว โดยการให้รักษาศีล 5 เว้นจากอบายมุข เป็นต้น

                2. สอนให้ตั้งอยู่ในความดี โดยการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น

                3. ส่งเสริมการศึกษา

                4. แนะนำวิธีหาคู่ครองที่สมควรให้ในกาลเวลาที่เหมาะสม

                5. มอบทรัพย์ให้ในเวลาอันควรที่ลูกจะสามารถใช้ทรัพย์นั้นให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

 

คำถาม ข้อ 5. การมีลูกชายหรือลูกสาวของชาวพุทธนั้น มีความแตกต่างกันทางด้านจิตวิญญาณ สำหรับ
พ่อแม่หรือไม่ ?

 

ตอบ => ไม่แตกต่างทางจิตวิญญาณ อีกทั้งชะตาชีวิตของพ่อแม่ชาวพุทธ ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศของลูก แต่ขึ้นกับการกระทำของตนเอง  ส่วนชีวิตของพ่อแม่ในปัจจุบันจะได้รับความสุขจากลูกได้ ก็ต่อเมื่อลูกเป็นคนมีความรู้ดี ความสามารถดีและความประพฤติดี รวมถึงประสบความสำเร็จในชีวิตตามที่พ่อแม่ได้อบรมสั่งสอนไว้

             ชีวิตของพ่อแม่หลังจากละโลกแล้วจะได้รับความสุขจากลูกได้ ก็ต่อเมื่อลูกทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปถึงพ่อแม่ได้

 

คำถาม ข้อ 6. ในฐานะที่เป็นพระภิกษุ หลวงพ่อคิดอย่างไร เกี่ยวกับชีวิตครอบครัว ? การมีครอบครัว การมี
บุตร การเลี้ยงดูบุตร เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาจิตวิญญาณหรือไม่ ?

ตอบ => ชีวิตครอบครัว คือ ชีวิตที่มีขอบเขตจำกัด เหมือนการเปรียบเทียบระหว่าง ปลาที่ว่ายอยู่ในอ่างกับปลาที่ว่ายอยู่ในทะเล ซึ่งอยู่ในน้ำเหมือนกัน แต่ปลาในอ่างว่ายได้ไม่กว้างเท่าปลาในทะเล  นกในกรงกับนกนอกกรง บินได้เหมือนกัน แต่นกในกรงย่อมบินได้จำกัดกว่านกนอกกรง ซึ่งบินได้อย่างอิสระ จะบินไปจนสุดขอบฟ้าก็ได้

             การมีครอบครัวทำให้เกิดพันธนาการของชีวิต ทำให้มีปัญหา มีพันธะผูกพันตามมาอีกมากมาย ดังนั้น หากต้องการจะบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์ จำเป็นต้องเป็นพระเท่านั้น

             ดูตัวอย่าง คือ พระพุทธเจ้า สมัยเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านเลือกที่จะออกจากวัง ทั้งๆ ที่มเหสีก็สวย ลูกก็น่ารัก พรั่งพร้อมไปด้วยสิ่งบำเรอชีวิตให้สะดวกสบายมากกว่าคนทั่วไป แต่ท่านกลับตัดสินใจออกบวช
เพราะชีวิตครอบครัวที่แวดล้อมด้วยสิ่งสวยงาม เปรียบเสมือนทำให้ท่านเป็นเพียงแค่นกในกรงทองเท่านั้นเอง ไม่มีเวลาว่างสำหรับการแสวงหาหนทางในการตรัสรู้ธรรม

             แต่หากเลือกที่จะมีครอบครัวแล้วต้องมาเลี้ยงดูบุตร ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาจิตวิญญาณ สามารถบรรลุธรรมได้เหมือนกัน แต่ทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่อาจไปถึงระดับสูงสุดได้

 

จาก หนังสือ "โลกถาม? ตะวันธรรมตอบ " 

บทสัมภาษณ์ : ของคุณครูไม่ใหญ่  โดยสตรีนักสื่อสารมวลชนชาวนอร์เวย์ (โมนิก้า เอยเอิ้น)

ฟังหนังสือเสียง ตอน การเกิด  https://youtu.be/W2KDOrZJLFw?list=PL_Y8WOS3pL98oo156HBdYlRRcLAxB4Dlk

โหลดหนังสือ   http://kalyanamitra.org/book/index_dhammabook_detail.php?id=766

**บทความ แนะนำ/เกี่ยวข้อง

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0076906005541484 Mins