ชาวพุทธกับศาสนา

วันที่ 28 มิย. พ.ศ.2563

โลกถาม? ตะวันธรรมตอบ

ตอน ชาวพุทธกับศาสนา

 

" สิ่งที่ยากที่สุด ต้องแก้ด้วยวิธีการที่ง่ายที่สุด
สันติภาพภายนอก ต้องเริ่มจากสันติสุขภายใน
ของทุกคน ดังนั้น เราควรทำทั้ง 2 อย่าง
คือ ทั้งนั่งที่บ้านและมานั่งร่วมกัน "

 

คำถาม ข้อ 1.  คุณค่าชีวิตของชาวพุทธอยู่ที่อะไร ?

ตอบ =>  คุณค่าชีวิตของชาวพุทธอยู่ที่การเข้าถึงธรรม อีกทั้งต้องดับทุกข์ได้ และเข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้ เพราะคุณค่าชีวิตไม่ใช่การมีทรัพย์ มีครอบครัว มีลาภ มีเกียรติยศ แต่เพียงเท่านั้น ดูอย่างเจ้าชายสิทธัตถะท่านเป็นกษัตริย์ ซึ่งมีความพร้อมเรื่องนี้มากกว่าใครๆ แต่กลับสละสิ่งเหล่านี้ เพื่อแสวงหาหนทางแห่งการตรัสรู้ธรรม ดังนั้น ผู้มีสมบัติมากมายแต่ยังไม่เข้าถึงธรรม ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ผู้ที่เข้าถึงธรรมแล้ว จะเข้าถึงความพึงพอใจสูงสุด มากกว่าที่เคยพึงพอใจมาก่อน เพราะไม่ต้องการอะไรอีก ดังนั้นการเข้าถึงธรรมจึงได้ชื่อว่า เป็นการให้คุณค่ากับชีวิตของชาวพุทธอย่างแท้จริง

           

คำถาม ข้อ 2.  ชาวพุทธไปวัดเป็นประจำหรือไม่ ?

ตอบ => ชาวพุทธแท้ไปวัดเป็นประจำ แต่ถ้าเป็นชาวพุทธไม่สมบูรณ์ ก็ไม่ได้ไปเป็นประจำ

 

คำถาม ข้อ 3.  มีคำสอนใดที่ทำให้ชาวพุทธไปวัดเป็นประจำ ?

ตอบ => ในพระพุทธศาสนามีทั้งคำสั่งกับคำสอน

             คำสั่ง คือ สิ่งที่ต้องทำ

             คำสอน คือ สิ่งที่ควรทำ 


            การไปวัด เป็นคำสอน มีวัตถุประสงค์คือ ให้ไปบำเพ็ญบุญ ทำให้มีโอกาสเข้าใกล้บัณฑิต นักปราชญ์ และกัลยาณมิตร อีกทั้งยังเป็นการไปฟังธรรมเพื่อให้เกิดปัญญา และเมื่อนำมาปฏิบัติ ก็จะทำให้จิตใจสูงขึ้น จนกระทั่งสามารถดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง มีความสุขในปัจจุบัน ปิดอบายไปสวรรค์ ได้ด้วยตัวของตัวเอง

            การไปวัดของชาวพุทธจึงไม่ใช่ข้อบังคับแต่ศาสนาพุทธใช้การ “ปลูกจิตสำนึก” ให้ไปวัดด้วยความสมัครใจ เพื่อประโยชน์สุขของตัวผู้ไปนั่นเอง โดยศาสนาพุทธสอนให้ “ดูแลตัวเอง” ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ดังนั้น แม้ชาวพุทธอยู่ใน “ที่ลับ” ก็ตาม ก็จะละอายต่อการทำความชั่ว เพราะเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อีกทั้งจะมีวิบากกรรมนำไปสู่อบาย

 

 

คำถาม ข้อ 4.  การเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาที่มี “การรวมคนมากๆ” ทำไปเพื่ออะไร ? และการมานั่งสมาธิ
ร่วมกันมากๆ จะช่วยให้เข้าถึงธรรมภายในได้ “ง่ายขึ้น” หรือไม่ หรือจริงๆ แล้วการนั่งสมาธิที่บ้านตามลำพัง ก็เข้าถึงได้เหมือนกัน ?

 

ตอบ => การรวมคนมากๆ เพื่อมานั่งสมาธิร่วมกัน เป็นความสมัครใจของชาวพุทธแต่ละคน ที่เห็นประโยชน์ของการทำสมาธิ และการทำความดีร่วมกัน จะทำให้เกิดกระแสแห่งความดี และความสุข ซึ่งการรวมคนอย่างนี้ มีมาตั้งแต่สมัย “พุทธกาล” แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่

 

            ภาพคนมาทำความดีร่วมกันมากๆจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ที่ได้พบเห็นเกิดความสนใจ ซึ่งจะนำไปสู่หัวข้อการสนทนาธรรม และนำให้เขาได้มานั่งสมาธิ ซึ่งจะนำพาเขาไปสู่ความสมหวังของชีวิต การมาทำความดีร่วมกันทำให้ภาพดีๆ เกิดขึ้น ซึ่งภาพอะไรจะดีที่สุดเท่ากับภาพคนทำความดีนั้นเป็นไม่มีภาพของคนที่มีจิตใจสงบ คือ ภาพแห่งสันติ และ นี่คือสันติภาพ ที่กำลังจะเกิดขึ้นบนโลกใบนี้
 

            เพราะโลกขาดแคลนภาพนี้มาเป็นเวลานาน เมื่อภาพอย่างนี้เกิดขึ้น ณ ที่ใด สันติภาพก็เกิดขึ้นที่นั่น ถ้าหากภาพนี้กระจายไปทุกๆ แห่งทั่วโลก ก็จะเกิดสันติภาพขึ้นทั่วโลกเช่นกัน 

 

             รากเหง้าปัญหาของโลก อยู่ที่ใจเป็นต้นเหตุ เมื่อเหตุเกิดตรงไหน ก็ต้องไปแก้ที่ตรงนั้น เมื่อปัญหาเริ่มที่ใจ ก็ต้องไปแก้ที่ใจ ซึ่งต้องแก้ด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด ลัด ตรง และเร็วที่สุด ก็คือ การทำสมาธิ สิ่งที่ยากที่สุด ต้องแก้ด้วยวิธีการที่ง่ายที่สุด สันติภาพภายนอกต้องเริ่มจากสันติสุขภายในของทุกคน

 

            ดังนั้น เราควรทำทั้ง 2 อย่าง คือ ทั้งนั่งที่บ้านและมานั่งร่วมกันด้วย เพื่อให้เกิดกระแสและพลังแห่งความดี เป็นพลังหมู่ขจัดมลทินของโลกใบนี้ให้เจือจางลงไป และที่สำคัญการนั่งร่วมกันจะมีผลดีสำหรับผู้ฝึกใหม่ ซึ่งหากนั่งคนเดียวที่บ้านจะแพ้ใจตัวเอง เช่น อาจเลิกก่อนเวลาอันควร ด้วยสาเหตุต่างๆ จึงจำเป็นต้องนั่งรวมกับผู้อื่น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้อยากนั่งสมาธิไปได้อย่างต่อเนื่อง

 

 

จาก หนังสือ "โลกถาม? ตะวันธรรมตอบ " 

บทสัมภาษณ์ : ของคุณครูไม่ใหญ่  โดยสตรีนักสื่อสารมวลชนชาวนอร์เวย์ (โมนิก้า เอยเอิ้น)

ฟังหนังสือเสียง ตอน ชาวพุทธกับศาสนา  https://youtu.be/qyC42u8ns-k

โหลดหนังสือ   http://kalyanamitra.org/book/index_dhammabook_detail.php?id=766

**บทความ แนะนำ/เกี่ยวข้อง

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012721498807271 Mins