ยิ่งใหญ่ในรายละเอียด

วันที่ 25 สค. พ.ศ.2563

25-8-63-3-b.jpg

ยิ่งใหญ่ในรายละเอียด

ความยิ่งใหญ่ในทุกๆ เรื่อง
ล้วนมีส่วนสำคัญขององค์ประกอบเล็กๆ อยู่เสมอ
ระหว่างคนทำงานหยาบกับคนทำงานละเอียดก็มีความแตกต่างกัน
อย่างมหาศาล แต่ละคนมีสิทธิ มีคุณค่าในความเป็นคนเท่ากัน
แต่ในแง่การทำงานแล้ว ศักยภาพของแต่ละคนต่างกันมาก

ในประเทศจีนซึ่งเป็นดินแดนที่มีการสู้รบกันมายาวนานหลายพันปี
พวกเขาได้ข้อสรุปที่ตกผลึกว่า

“ทหารนับล้านนั้นหาง่าย แต่ยอดขุนพลเพียงคนเดียวนั้นหายาก”

 

คนต้นแบบ

               ถ้าพูดถึงคนที่มีความละเอียดจนสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และเปลี่ยนวิถีการทำงานการติดต่อสื่อสารของคนทั้งโลกได้ ก็คงหนีไม่พ้น สตีฟ พอล จอบส์ (Steve Paul Jobs) ที่เขาทำได้เพราะเขามีความละเอียดถี่ถ้วน สามารถมองเห็นสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น

 

               ตั้งแต่แอปเปิ้ลมี iPhone ซัมซุงก็ทำ Galaxy ออกมา ตามด้วยค่ายอื่นๆ อีกมากมาย ที่พยายามพัฒนารูปแบบของโทรศัพท์มือถือค่ายตนเองอย่างเต็มกำลัง ทำให้วิธีดำเนินชีวิตของคนทั้งโลกเปลี่ยนไปมาก ไม่เฉพาะ iPhone เท่านั้น แม้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล สตีฟ จอบส์ ก็เป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญ

 

               สมัยก่อนยุคที่อาตมภาพเรียนอยู่ที่คณะแพทย์จุฬา เมื่อปี พ.ศ. 2522 คอมพิวเตอร์ที่ใช้เป็นเครื่องใหญ่ ทั้งมหาวิทยาลัยมีคอมพิวเตอร์แค่เครื่องเดียวตั้งอยู่ที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ ต้องสร้างตึกให้เครื่องคอมฯ อยู่โดยเฉพาะตึกหนึ่งเลย ใครจะใช้ก็ต้องไปเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ก่อน แล้วค่อยไปนั่งอยู่หน้าจอ ลำบากมาก ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีเว็บไซต์ ไม่มีกูเกิล ไม่มีเฟซบุ๊ก ไม่มีโซเชียลมีเดียทั้งหลาย แต่
ตอนนี้หลังจากที่ สตีฟ จอบส์ ให้กำเนิดบริษัทแอปเปิ้ล ชีวิตคนเราก็เปลี่ยนไปมากมาย

 

                 สตีฟ จอบส์ เป็นคนที่ทำให้เกิดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล PC (Personal Computer) แล้วคอมพิวเตอร์ก็แพร่หลาย พัฒนาจนเกิดสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ต่างๆ มากมาย

 

                  จากคอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่ Mainframe Computer ราคาเครื่องละหลายร้อยล้านบาท กลายมาเป็นโน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต สมาร์ตโฟนสมัยนี้เราสามารถพกพาโทรศัพท์มือถือติดตัวไปได้ทุกแห่งเหมือนมีเครื่องคอมพิวเตอร์ติดตัว สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้มากมายในเครื่องมือสื่อสารเล็กๆ ที่พกติดตัวได้เครื่องนี้ จนคนจำนวนมากรู้สึกขาดไม่ได้

 

                   ถ้าขาดโทรศัพท์มือถือไปชีวิตเหมือนทำงานไม่ได้เลย จ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟ สั่งซื้อของออนไลน์ จองตั๋วรถไฟ เครื่องบิน ติดต่อกับเพื่อน ส่งไฟล์งานต่างๆ ทุกอย่างทำในโทรศัพท์มือถือทั้งหมด

 

                  ไม่ว่าเราอยากจะรู้เรื่องอะไรก็หาข้อมูลได้หมด เหมือนมีห้องสมุดเคลื่อนที่ เพราะสามารถเชื่อมเรากับแหล่งข้อมูลทั้งโลกได้ด้วยโทรศัพท์มือถือเครื่องเล็กๆ เครื่องเดียว ศักยภาพของโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันสูงกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมราคาหลายร้อยล้านบาทในอดีตเสียอีก ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะ สตีฟ จอบส์ เป็นคนละเอียด ทำให้เขามองเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น

 

                  ดังนั้น สตีฟ จอบส์ หนึ่งคน กับคนขยันทำงานแต่ไม่ละเอียดหนึ่งพันคนต่างกันมาก เพราะเขาคนเดียวสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตคนทั้งโลกได้ แต่คนทำงานทั่วไปแม้เป็นพันคนก็ทำไม่ได้

 

                   ช่วงเศรษฐกิจไม่ดีบางคนก็ตกงานเป็นเดือนๆ ปีๆ อย่าว่าแต่ในประเทศไทย แม้แต่ในต่างประเทศอย่างประเทศญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกามีคนตกงานกันมากกว่าประเทศไทยเสียอีก บางคนอายุ 40-50 ปี ทำงานมานานจนเป็นผู้จัดการแล้ว พอตกงานก็ต้องพยายามหางานในระดับเดิม จะไปเป็นลูกจ้างรายวันมันก็ไม่ได้ เพราะอาจจะรู้สึกว่าเสียศักดิ์ศรี รายได้ก็น้อยกว่าเดิมหลายเท่าตัว ต้องหางานที่คล้ายๆ กับตำแหน่งงานเดิม บางคนตกงานมา 2-3 ปี ยังหางานใหม่ทำไม่ได้เลยรู้สึกกดดันมาก

 

                   แต่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นคนที่มีนิสัยประหยัด แม้ตกงานแต่มีเงินเก็บจึงพออยู่ได้ กระนั้นก็ยังทุกข์มากไม่แพ้กัน กลางคืนนอนไม่หลับเพราะนั่งกินเงินเก่าไปเรื่อยๆ ในขณะที่ยังหางานใหม่ไม่ได้ ไปสมัครงาน 100 แห่ง ก็ถูกปฏิเสธหมด

 

                   แต่ถ้าเราเป็นคนละเอียด มีฝีมือ บริษัทต่างๆ จะมาแย่งตัวเราเข้าทำงาน เพราะเป็นประโยชน์กับบริษัทมาก อย่างบริษัทที่กำลังจะเจ๊ง ได้ตัวคนเก่งคนละเอียดมาคนเดียว ก็สามารถกอบกู้บริษัทให้ฟื้นขึ้นได้ เป็นต้น

 

                   ลี ไอเอคอคค่า (Lee lacocca) เคยเป็นผู้บริหารของบริษัทรถยนต์ ฟอร์ด (Ford) มาก่อน ต่อมาเกิดปัญหาเพราะเขาขัดแย้งกับทายาทเจ้าของบริษัทจนถูกปลดออกจากตำแหน่ง ในขณะที่เขาอายุประมาณ 46-47 ปี เท่านั้น

 

                  บริษัทไครสเลอร์ (Chrysler Corporation) ซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่งอยู่เป็นอันดับสามของบิ๊กทรี บริษัทรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ บริษัทกำลังจะล้มละลาย ลี ไอเอคอคค่า อาสาเข้ามาเป็นผู้บริหารของไครสเลอร์

 

                   จากนั้นไม่นานเขาก็พลิกชะตาบริษัทได้ จากที่กำลังดิ่งลงก็กลับฟื้นขึ้นมาในที่สุด ข้อมูลจากหนังสือของเขาที่ขายดีทั่วโลกบอกไว้ว่า ในไครสเลอร์มีรองประธานบริษัท 35 คน ดูแลงาน 35 ฝ่าย ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างคนต่างทำงานโดยไม่ได้สัมพันธ์กันเท่าที่ควร

 

                    ฝ่ายผลิตมีหน้าที่ผลิต ฝ่ายขายก็มีหน้าที่ขาย ฝ่ายผลิตอยากจะผลิตอะไรก็ผลิต ไม่ฟังฝ่ายขาย เพราะรองประธานแต่ละคนเหมือนมีอาณาจักรเป็นของตนเอง เวลารถที่ผลิตขายไม่หมดก็โทษว่าเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายขายที่ขายไม่ดีเอง ส่วนฝ่ายขายก็โทษฝ่ายผลิตว่าผลิตรถไม่ดี ต่างฝ่ายต่างโทษกันไปมา

 

                  พอ ลี ไอเอคอคค่า เข้าไปเป็นผู้บริหาร เขาเชิญรองประธานบริษัทออกไป 33 คน เหลือแค่รองประธาน 2 คน แล้วปรับระบบการบริหารงานใหม่หมดสอดรับกับความต้องการของลูกค้า ผ่านไปเพียง 2-3 ปี เท่านั้นบริษัทก็ฟื้นตัวขึ้นมาอย่างเกรียงไกร จึงทำให้ ลี ไอเอคอคค่า โด่งดังไปทั่วโลก

 

                  เห็นไหมว่า เพียงคนเดียวที่เก่งจริงก็สามารถพลิกชะตาองค์กรใหญ่ๆ ได้ทั้งองค์กร องค์กรใดไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือประเทศชาติหากได้ผู้นำเก่งๆ มาคนเดียว ก็สามารถพลิกชะตาองค์กรนั้นได้

 

                 เติ้ง เสี่ยวผิง ชายชราตัวเล็กๆ เพียงคนเดียว สามารถพลิกชะตาชีวิตชาวจีนพันกว่าล้านคน แล้วยังพลิกโลกทั้งใบไปด้วย

 

                  พอประเทศจีนเติบโตขึ้นก็ส่งผลไปยังทุกๆ ด้านของโลก ทั้งทางเศรษฐกิจ การทหาร การเมือง สังคม และเทคโนโลยี ดุลอำนาจของโลกเปลี่ยนไปหมดด้วยคนตัวเล็กๆ เพียงคนเดียวที่มีชื่อว่า เติ้ง เสี่ยวผิง ดังนั้น คนที่ละเอียดและเก่งไม่ว่าในวงการใดล้วนมีคุณค่ามาก และสามารถส่งผลต่อโลกอย่างมหาศาล

 

                เติ้ง เสี่ยวผิง อยู่ในฐานะผู้ปกครอง รวมถึงบุคคลที่ได้ยกตัวอย่างมาล้วนแล้วแต่เป็นผู้บริหารทั้งสิ้น แต่ถ้าเราพูดถึงคนชนชั้นใช้แรงงานแบกหามล่ะ เขาจำเป็นต้องใช้ความละเอียดในการทำงานหรือไม่

 

               ยกตัวอย่าง การทำงานของจับกังขนข้าวสารลงเรือ ถ้าเขาทำอย่างใส่ใจรายละเอียด และรู้จักคิด ความคิดเขาอาจจะเปลี่ยนเขาให้กลายเป็นเศรษฐีใหญ่ในวันข้างหน้าได้ไม่ยาก ซึ่งเคยมีคนทำสำเร็จมาแล้ว มหาเศรษฐีหลายคนร่ำรวยมาได้จากการสังเกตเห็นรายละเอียดบางอย่างนี้เอง

 

                สตีฟ จอบส์ เองก็เคยเป็นเด็กหนุ่มนุ่งกางเกงก้นปะ โดดเรียนจนเรียนหนังสือไม่จบมหาวิทยาลัย แล้วกลายมาเป็นเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิ้ลได้ในอายุเพียง 20 เศษ ๆ ก็เพราะเขาเป็นคนละเอียดนั่นเอง

 

                เขาพิจารณาอย่างละเอียดจนเห็นภาพว่า ต่อไปคอมพิวเตอร์จะเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องมีติดตัว ซึ่งในขณะนั้นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลกในด้านคอมพิวเตอร์อย่าง ไอบีเอ็ม (IBM) ยังคิดไม่ถึง

 

               ผู้บริหารไอบีเอ็มกลับคิดว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นเรื่องไร้สาระ คอมพิวเตอร์มีไว้ใช้งานกับเรื่องที่ซับซ้อน เรื่องที่ยากๆ ดังนั้นมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมีเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวก็เพียงพอแล้ว

 

                ในเมืองหนึ่งมีคอมพิวเตอร์สัก 2-3 เครื่อง ก็เพียงพอแล้ว หากบริษัทขายเครื่องในราคาแพง บริษัทย่อมได้กำไรมากอยู่แล้ว เขามองไม่เห็นเหตุผล ว่าทุกคนจะต้องมีคอมพิวเตอร์ติดตัวไว้ทำไมให้ยุ่งยาก

 

               ด้วยวิสัยทัศน์ที่แตกต่างนี้เอง 10 ปีต่อมา เด็กหนุ่มนั่งกางเกงก้นปะอย่าง สตีฟ จอบส์ กลับเดินหน้ากลายเป็นเศรษฐีที่มีชื่อเสียง คนทั้งโลกต่างรู้จักเขา ทั้งที่เขาเรียนไม่จบมหาวิทยาลัย และมีวุฒิแค่มัธยมปลายเท่านั้น ในขณะที่ไอบีเอ็มบริษัทยักษ์ใหญ่กลับเจ๊งไม่เป็นท่า พอเศรษฐกิจทรุด ฐานะการเงินทรุด ไอบีเอ็มต้องรีบเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ฟื้นฟูกิจการทันที

 

                ด้วยวิสัยทัศน์ที่แตกต่างในรายละเอียดนี้เอง ที่ทำให้เด็กตัวเล็กๆ ก้าวมาเป็นยักษ์ใหญ่ได้ในที่สุด เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็ต้องใส่ใจรายละเอียด ชีวิตเราจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

 

               อย่าไปคิดว่าทำงานใช้แรงงาน เราก็ต้องทำอยู่อย่างนี้ ในประเทศเยอรมนีช่างก่อผนังอิฐต้องใช้เวลาเรียนถึง 3 ปี จบมาทำงานได้เงินเดือนมากพอๆ กับวิศวกรเลยทีเดียว เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการก่ออิฐ สามารถก่อได้อย่างละเอียดประณีต รู้ทุกแง่ทุกมุม จะก่ออิฐเป็นรูปทรงแบบไหน จะเข้ามุมอย่างไรให้สวยงามซึ่งมีรายละเอียดนับพันแบบให้ศึกษา

 

               จงจำไว้ว่าทุกเรื่องมีรายละเอียดหมด ถ้าเราไม่ทำอะไรแบบหยาบๆ ไม่ทำเพียงผ่านๆ แต่ตั้งใจทำอย่างละเอียดประณีตให้ดีที่สุด เราก็จะพบว่างานนั้นๆ มีอะไรที่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นมากมายเต็มไปหมด

 

               ยกตัวอย่าง หากเรานำหนังชนิดเดียวกันมาเย็บกระเป๋าด้วยฝีมือช่างที่หยาบ ขายได้ใบละ 500 บาท เเต่สำหรับช่างที่ทำงานละเอียดจนกระทั่งเป็นที่ยอมรับในคุณภาพของงาน สั่งสมผลงานจนกลายเป็นแบรนด์ที่รู้จัก เช่น กระเป๋า Hermes ขายได้ใบละ 5 แสน ต่างกันเป็น 100 เท่า เพราะความละเอียดที่แตกต่างกัน

 

                ต่อให้วัตถุดิบเหมือนกันแต่เมื่อทำด้วยความละเอียดต่างกัน คุณค่าย่อมต่างกันลิบลับ ทั้งที่เป็นของใช้ประโยชน์คล้ายๆ กันก็ตาม ผู้ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกมาจากพื้นฐานความละเอียดรอบคอบนั่นเอง

 

หลัก 2 ข้อ ของผู้ฝึกตนให้ละเอียดรอบคอบ

“ทำทุกอย่างด้วยความใส่ใจ”

              อย่าทำเพราะถูกบังคับ คิดแค่ว่าถ้าไม่ทำจะไม่ได้เงินค่าจ้าง ทำพอให้ได้ค่าจ้างไปวันๆ ถ้าคิดอย่างนี้ก็ยากที่จะได้งานดีๆ แต่ขอให้ทำงานเหมือนกับว่าเราเป็นเจ้าของงานนั้น คือทำอย่างใส่ใจในรายละเอียด

 

              ลูกจ้างที่คิดยาวๆ เขามักจะทำงานแบบใส่ใจรายละเอียด เสมือนตนเองเป็นเจ้าของบริษัท เมื่อเถ้าแก่เห็นแววก็จะเกิดความไว้ใจ มีโอกาสได้เลื่อนขั้นจากแรงงานธรรมดาๆ มาเป็นหัวหน้างาน จากหัวหน้างานขยับมาเป็นหลงจู๊ สุดท้ายอนาคตหนีไม่พ้นได้เป็นเถ้าแก่ เพราะเขาทำงานด้วยหัวใจของเถ้าแก่ ทำด้วยความใส่ใจ ทำอย่างเจ้าของงานที่มองเห็นรายละเอียดและพยายามปรับปรุงทุกอย่างให้ดีขึ้น ทักษะเหล่านี้จะติดตัวไปตลอด แล้วพัฒนาจนเป็นเถ้าแก่ได้ในที่สุด

 

             ยกตัวอย่าง ตรวจพิสูจน์อักษรงาน 1 หน้า บางคนว่าตรวจดีแล้ว แต่พอตรวจเสร็จเอาคนที่ละเอียดจริงๆ มาดูก็ยังพบคำที่สะกดผิดหลงตาอยู่

 

             อีกหลายจุด เพราะหลุดรอดจากตาเขา ทั้งที่เขาตั้งใจตรวจแล้วแต่มองไม่เห็น แต่สำหรับคนที่มีความละเอียดจริงๆ กลับมองเห็นคำผิดที่ตกหล่นไปได้ เพราะฉะนั้น เราต้องทำงานให้ละเอียดจนเคยชินเป็นนิสัย จนกระทั่งมองปราดเดียวตรงไหน ถูกตรงไหนผิดเห็นหมดเลย

 

              ไม่เฉพาะเรื่องงานพิสูจน์อักษร แม้เรื่องอื่นก็เช่นเดียวกัน มองปุ๊บก็ให้เห็นจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ซึ่งจะมองเห็นได้ ก็ต่อเมื่อเราเป็นคนใส่ใจรายละเอียด คือทำอย่างเป็นเจ้าของงาน เหล่านี้เป็นต้นทุนเบื้องต้น

 

“ทำแบบสุดฝีมือ..ทำให้ดีที่สุด”

         

              ถ้าฝีมือเรามี 100 แต่เราใช้แค่ 80 ทำเพียงผ่านๆ อีกหน่อยฝีมือเราก็จะค่อยๆ ลดลงจนเหลือ 80 ในที่สุด แต่ใครที่มีฝีมือ 100 แต่พยายามทำให้ได้ 120 คือพยายามทำแบบสุดใจ ทำจริงจนแทบจะเกินความสามารถของตนเองผ่านไปไม่นานฝีมือเขาจะขยับดีขึ้นเรื่อยๆ จาก 100 เป็น 110 แล้วเป็น 120 ในที่สุด

 

              เคยสงสัยหรือไม่ว่าคนญี่ปุ่นพัฒนาประเทศได้อย่างไร ทั้งที่เพิ่งเปิดประเทศตามหลังชาติตะวันตก ในรัชสมัยจักรพรรดิเมจิ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย แล้วทำไมถึงพรวดพราดก้าวทันต่างชาติได้อย่างไม่น่าเชื่อ ก็เพราะเขาทำทุกอย่างให้ดีที่สุด คือทำทุกอย่างอย่างใส่ใจนั่นเอง

 

              อาตมภาพไปประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2533  เข้าพักในหอพักนานาชาติที่เพิ่งเปิดใหม่ได้หนึ่งปีมองเห็นพนักงานญี่ปุ่นกำลังปลูกต้นไม้ ก่ออิฐและวางแนวปูน เพื่อจะใส่ดินปลูกไม้ประดับ ได้ยินคนงานเขาคุยกันว่าตรงนี้น่าจะทำอย่างนั้น อย่างนี้ เขาถกรายละเอียดงานกันเพื่อจะทำงานให้ออกมาดีที่สุด ขนาดคนสวนเขาก็ทำอย่างนี้ ใส่ใจในรายละเอียดและทำงานอย่างเต็มที่มากๆ

 

              ตอนเราสร้างวัดไทยที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อราวปี พ.ศ. 2542 ข้างวัดเขากำลังก่อสร้างอาคารเป็นตึกสูง 5 ชั้น พื้นที่ชั้นหนึ่งประมาณ 150 ตารางเมตร ไปดูเขาสร้างเห็นมีคนงานอยู่สิบกว่าคน แต่ละคนทำงานเหมือนมดเลย ไม่มีหยุดคุยกัน นั่งกินกาแฟ หรือสูบบุหรี่ เขาทำงานกันเหมือนมด วิ่งบ้าง เดินบ้าง

 

              คนงานอ่านแบบได้หมดทุกคน ถ้าอยู่เมืองไทยความสามารถก็เป็นระดับโฟร์แมน คือทุกคน คุมงานได้สบายๆ เพราะอ่านแบบเป็นกันหมด ทุกคนจึงรู้งานว่า ต้องทำอะไร ทำอย่างไร และรู้หน้าที่ว่าตนเองต้องทำอะไร เขาสร้างตึกสูง 5 ชั้น ใช้คนงานแค่สิบกว่าคน สร้างไม่กี่เดือนก็เสร็จ แล้วไม่ใช่สร้างอาคารธรรมดาๆ แต่ทำแบบยากด้วย คือทั้งพื้น ผนัง บันได ระเบียง ใช้ตีแบบแล้วเทปูนหล่อ ไม่ใช่แบบก่ออิฐฉาบปูน

 

              เห็นเขาทำงานแล้วแต่ละคนล้วนมีฝีมือ เพราะเขาทำแบบใส่ใจและลงรายละเอียดทุกขั้นตอน เสร็จออกมาผลงานดีมีคุณภาพจึงเข้าใจว่าเพราะอย่างนี้นี่เองเศรษฐกิจและเทคโนโลยีต่างๆ ในประเทศเขาจึงพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

 

             ที่น่าทึ่งอีกอย่างหนึ่งคือในประเทศญี่ปุ่นไม่ว่าเขาจะผลิตอะไรออกมา ก็จะมีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ถ้าที่ประเทศไทยซื้อกระดาษ A4 จากหลายๆ โรงงานมาสัก 10 ยี่ห้อ นำมาเรียงกันจะพบว่ากระดาษของแต่ละโรงงานมีมาตรฐานการผลิตที่แตกต่างกัน กระดาษ A4 เหมือนกัน แต่ความกว้างความยาวไม่เท่ากัน สั้นบ้าง ยาวบ้าง ต่างกันเล็กน้อย

 

             แต่เชื่อไหมว่าในญี่ปุ่นเขากำหนดมาตรฐานว่า กระดาษ A4  ต้องมีความกว้างความยาวเท่ากันทุกโรงงาน ถ้าเราไปซื้อกระดาษ A4 ในประเทศญี่ปุ่น หยิบกระดาษมาจากโรงงาน 10 แห่ง แห่งละ 1 แผ่น นำมาวางเรียงกัน จะพบว่าขนาดเท่ากันเป๊ะเหมือนมาจากกระดาษรีมเดียวกันเลย

 

              ลองคิดดูว่าถ้ามีสินค้า 2 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า โทรศัพท์มือถือ สินค้าทุกอย่างที่เราจะซื้อ ถ้าเทียบกันแล้วคุณภาพต่างกัน 20% ถึงจะใช้ได้เหมือนกัน แต่ว่าดีต่างกัน 20% ทุกคนก็เลือกซื้อสินค้าตัวที่ดีกว่า

 

              คนเกือบทั้งหมดก็จะแห่ไปซื้อสินค้าชิ้นที่ดีกว่า ถึงผลที่ได้จะเป็นเพียงคุณภาพที่ต่างกันแค่ 10-20% ก็ทำให้ยอดขายดีกว่ามากนั่นเพียงเพราะความละเอียดกว่านั่นเอง

 

             ดังนั้น ความละเอียดในคุณภาพที่ดีกว่ากัน 10% ไม่ใช่ส่งผลแค่ 10% แต่ส่งผลต่างกันเป็นร้อยเท่าพันเท่าเลยทีเดียว ความละเอียดจะชนะเสมอไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคล บริษัท หรือประเทศก็ตาม ละเอียดกว่า ดีกว่า ย่อมชนะและยิ่งใหญ่กว่าเสมอ

 

              คนที่ทำงานด้วยใจที่ละเอียดจะเป็นที่ต้องการของเจ้านาย หรือเป็นที่ต้องการของบริษัทต่างๆ ดังนั้น ในวันนี้เราต้องมาฝึกการทำงานให้ละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไป

 

             การฝึกตนให้มีความละเอียดในการทำงาน มีสองข้อหลักๆ คือ “คิดว่างานนั้นเป็นงานของเราเอง” และ “ต้องทำงานให้เต็มฝีมือ”  เพราะยิ่งฝึก ก็ยิ่งเก่ง ยิ่งมีความเชี่ยวชาญในสายงานนั้นๆ ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธมีความโชคดีคือการฝึกความละเอียดในการทำงานซึ่งสามารถฝึกได้จากความละเอียดของใจที่เกิดจากสมาธินั่นเอง

 

จากหนังสือ PERFECTIONIST สไตล์พุทธะ

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.058245448271434 Mins