หลักเกณฑ์ตัดสินกรรมดี-ชั่ว

วันที่ 19 มค. พ.ศ.2565

650119_B.jpg

หลักเกณฑ์ตัดสินกรรมดี-ชั่ว

          กรรม เป็นคำกลางๆ ยังไม่ได้หมายความว่า ดีหรือชั่ว ต่อเมื่อใดเราได้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หากเป็นการกระทำที่ดี เรียกว่า กุศลกรรมบ้าง สุจริตกรรมบ้าง บุญบ้าง ภาษาไทยเรียกรวมๆ ว่า ทำความดี หากเป็น การกระทำที่ไม่ดีก็เรียกว่า อกุศลกรรมบ้าง ทุจริตกรรมบ้าง บาปบ้าง ภาษาไทยเรียกรวมๆ ว่า ทำความชั่ว

          ท่านผู้รู้จริงได้เมตตาให้เกณฑ์ตัดสิน กรรมดีกรรมชั่ว ไว้ว่า

          ๑. กรรมดี คือ การกระทำใด เมื่อทำแล้ว ทำให้ผู้ที่ไม่ต้องเดือดร้อนใจภายหลัง อีกทั้งมีใจเบิกบาน เสวยผลของการกระทำอยู่ การกระทำนั้นย่อมเป็นการกระทำดี        

          ๒. กรรมชั่ว คือ การกระทำใด เมื่อกระทำแล้ว ทำให้ผู้ทำต้องเดือดร้อนใจภายหลัง อีกทั้งมีน้ำตานองหน้า เสวยผลของการกระทำอยู่ การกระทำนั้นย่อมเป็นการกระทำชั่ว

การให้ผลของกรรม
           กรรม คือ การกระทำ ทุกการกระทำเมื่อทำแล้ว ย่อมมีผลของการกระทำเกิดขึ้นมา เราเรียกผลของการกระทำนี้ว่า วิบาก มีอยู่ ๒ ชั้นด้วยกัน คือ

          ๑. ผลกรรมชั้นใน เป็นผลทางใจโดยตรง คือ ให้ผลในทางความรู้สึกนึกคิด ถ้าทำกรรมดีก็ให้ผลเป็นความรู้สึกนึกคิดที่ดี ที่เรียกว่า บุญ ถ้าทำกรรมชั่วก็ให้ผลเป็นความรู้สึกนึกคิดที่ชั่ว ที่เรียกว่า บาป ความรู้สึกนึกคิดไม่ว่าฝ่ายดี หรือฝ่ายชั่วก็จะเป็นวิบากตกค้างในใจ ในรูปความเคยต่อความรู้สึกนึกคิดทำนองนั้น ซึ่งเมื่อทำบ่อยเข้าๆ ก็สะสมจากเคยเป็นคุ้น เมื่อคุ้นบ่อยเข้าก็กลายเป็นชิน สุดท้ายก็กลายเป็นผลทางกายและใจที่ลึกลงไปอีกเป็นเหมือนพลังแม่เหล็กก้อนใหญ่ คือ เป็นนิสัย อนุสัย อุปนิสัย เป็นวาสนาของผู้นั้น

           ถ้าเคยคุ้นชินต่อความดีชนิดใดมาก ก็กลายเป็นนิสัยดีด้านนั้น ๆ เช่น บางคนก็มีนิสัยรักการตักบาตร รักการปล่อยสัตว์ รักการรักษาศีล รักการฟังเทศน์ รักการฝึกสติสัมปชัญญะ นิสัยเหล่านี้ ถ้าสะสมเข้มข้นต่อเนื่องยาวนานก็จะกลายเป็นผลทางใจที่ลึกที่สุด มีพลังมากที่สุดที่เรียกว่า บารมี ซึ่งเป็นผลของความดีที่มั่นคง ความชั่วใดๆ ไปตัดรอนให้สั่นคลอนไม่ได้ แต่มีอำนาจในการตัดรอนความชั่วได้เด็ดขาด

           แต่ถ้าเคยคุ้นชินต่อความชั่วชนิดใดก็กลายเป็นคนเลวชนิดนั้น ตั้งแต่นิสัยขี้ขโมย นิสัยเจ้าชู้ นิสัยขี้เหล้า นิสัย เหล่านี้จะสะสมเป็นพลังใจด้านลบที่เข้มข้นยิ่งขึ้น จนกลายเป็นสันดาน เป็นอนุสัย เป็นวาสนาที่ไม่ดีต่อไป

          ๒. ผลกรรมชั้นนอก เป็นผลทางรูปธรรม คือ ทำให้ผู้ทำกรรมนั้นได้รับสิ่งที่ดีและไม่ดี ที่ดี คือ ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่ไม่ดี คือ ได้รับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาว่าร้าย ทุกข์ทั้งกายและใจ

           การให้ผลของกรรมชั้นในนั้น ย่อมได้รับทันทีหลังจากทำกรรมนั้นสิ้นสุดลง คือ ทำดีก็ได้บุญทันที ทำชั่วก็ได้บาปทันที ทั้งบุญและบาปที่สะสมไว้ต่างก็รอจังหวะส่งผลต่อไปจนกว่าจะสิ้นแรงบุญบาปนั้นๆ สำหรับผลของกรรมชั้นนอกจะส่งผลเร็วหรือช้าประการใดก็ขึ้นกับองค์ประกอบที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนถึง ๔ ประการ คือ คติ อุปธิ กาล ปโยค ซึ่งต้องฝึกสติสัมปชัญญะให้มากจึงจะเข้าใจได้ชัด โดยเหตุที่กฎแห่งกรรมเป็นกฎธรรมชาติไม่มีการประกาศบังคับใช้ ชาวโลกส่วนใหญ่จึงไม่ทราบ แม้ทราบก็ไม่เชื่อ โอกาสที่คนทั้งโลกจะทำชั่วจึงมีมาก อุปมาว่า คนถลำไปทำความชั่วมีจำนวนมากเท่ากับขนโค ส่วนคนทำดีมีประมาณเท่าเขาโค ก็โคแต่ละตัวมีเพียงเขาสองข้าง ส่วนจำนวนเส้นขนนั้นนับไม่ไหว

          เพราะฉะนั้นโลกทั้งโลกจึงกลายเป็นโลกของความทุกข์ จะหวังความสุขใดๆ ย่อมมีน้อย แต่ถึงโอกาสเป็นสุขจะมีน้อย หากแต่ละคนต่างร่วมใจกันชักชวน เชื้อเชิญ ให้กำลังใจกันทำความดีพร้อมๆ กันไปทั่วทั้งโลก โลกของเราก็อาจเป็นสวรรค์บนดินได้

           โดยต่างคนต่างเริ่มจากการเข้าวัดฟังธรรม และค้นคว้าความรู้จากตำรับตำราทางศาสนาให้เข้าใจถูกเรื่องกฎแห่งกรรมที่ท่านผู้รู้จริงมอบเป็นมรดกโลกไว้ ตั้งใจฝึกเพิ่มพูนสติสัมปชัญญะด้วยตนเองเป็นนิจ ผ่านการเจริญสมาธิภาวนาในกิจวัตรประจำวันเป็นประจำจนกลายเป็นกรณียกิจ ให้มีสติสัมปชัญญะอย่างจริงจังตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป ย่อมสามารถพิชิตนานาวิกฤตทั้งโลกได้ไม่ยาก และมั่นใจได้ด้วยว่าพ่อแม่ผู้ปกครองผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตนดีงาม ด้วยความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เช่นนี้ย่อมสามารถเห็นช่องทางในการประกอบอาชีพในชีวิตประจำวันให้เจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง ยิ่งกว่าชาวโลกทั่วไปได้

******

การที่ผู้ปกครอง
ตั้งใจอบรมสั่งสอนลูกหลาน
ให้ทำความสะอาด จัดระเบียบอย่างถูกวิธี และทำทันที
เป็นการปลูกฝังให้ลูกหลานละชั่วขั้นต้น
ที่สำคัญคือ เป็นการฝึกให้ลูกหลานไม่มักง่าย
ซึ่งถือเป็นการทำความดีขั้นพื้นฐานของมนุษยชาติ

******

จากหนังสือ สติ สัมปชัญญะ รากฐานการศึกษาของมนุษยชาติ

เผด็จ ทตฺตชีโว

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00242919921875 Mins