การเจริญวิปัสสนาภาวนา

วันที่ 09 ตค. พ.ศ.2566

9-10-66-BL.jpg

การเจริญวิปัสสนาภาวนา

                   จุดประสงค์สูงสุดในการบำเพ็ญวิปัสสนาภาวนา ก็คือเพื่อให้เกิดปัญญานำตนให้พ้นจากกิเลสทั้งปวง คือการได้สำเร็จอริยมรรค อริยผล เป็นพระอรหันตขีณาสว พ้นจากการเวียนว่ายในวัฏฏทุกข์

                   โดยที่ผู้ปฏิบัติแต่ละคนได้สร้างสมบารมีในอดีตชาติไว้แตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อบรรลุคุณธรรมเบื้องสูงเป็นพระอรหันตบุคคล ย่อมมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ผู้ที่เคยสั่งสมอบรมบารมี โดยสร้างอุปนิสัยมาด้วยการบำเพ็ญเพียรหนักไปในเจริญสมาธิเป็นเบื้องต้นมาก่อน ในชาติสุดท้ายเมื่อเจริญวิปัสสนาจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ อาจมีคุณพิเศษเกิดขึ้น คือ
                                เป็นพระอรหันต์ สําเร็จพร้อมด้วย ปฏิสัมภิทา ๔ เรียกว่า ปฏิสัมภิทาปัตตะ
                                เป็นพระอรหันต์ สำเร็จพร้อมด้วยอภิญญา ๖ เรียกว่า ฉฬารภิญญา
                                เป็นพระอรหันต์ สำเร็จพร้อมด้วย วิชชา ๓ เรียกว่า เตวิชชา

                   สำหรับผู้ไม่ได้สร้างบารมีสั่งสมทางสมถกรรมฐานไว้มากพอ ในชาติสุดท้ายเมื่อจะสําเร็จเป็นพระอรหันต์ สำเร็จด้วยการบำเพ็ญสมาธิเพียงเล็กน้อย เพียงขณิกสมาธิ แล้วเจริญวิปัสสนาภาวนา กำหนดรู้ทันปัจจุบันทุกขณะ บรรลุวิปัสสนาญาณขั้นสูงขึ้น ๆ ตามลำดับจนเป็นพระอรหันต์ จะได้รับผลสำเร็จสิ้นจากอาสวกิเลสทั้งปวง แต่ไม่มีคุณสมบัติพิเศษใด ๆ เรียกว่า สุขวิปัสสกะ (แปลว่าพระอรหันต์ที่สำเร็จด้วยวิปัสสนาญาณสุขแห้งแล้ง) เรียกว่าเป็นการพ้นด้วย ปัญญาวิมุติ

                  ความรู้ชัดเจนแจ่มแจ้งที่ได้จากการเจริญวิปัสสนาภาวนา เรียกได้หลายชื่อ เช่น เรียกว่า ปัญญา เรียกว่า ญาณ เรียกว่า วิชชา เรียกว่า จักขุปัญญา (ดวงตาเห็นธรรม) เรียกว่า อาโลกะ ซึ่งแปลว่าแสงสว่าง เพราะเป็นความเห็นแจ่มแจ้งในโลกธาตุ ทั้งเป็นหนทางไปสู่พระนิพพานดับทุกข์ได้จริง

                   วิปัสสนาญาณ เป็นหนทางที่ประกอบด้วย มรรคมีองค์ ๘ วิสุทธิ ๗ และโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เมื่อกล่าวโดยย่อ วิปัสสนาญาณ ก็คือ การปฏิบัติใน สิกขา ๓ (สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา)
                   กล่าวโดยปานกลาง คือ วิสุทธิ ๗
                   กล่าวโดยพิสดาร คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗

                   คำอธิบายทีกล่าวต่อไปในที่นี้เป็นเพียงภาคปริยัติ อันเปรียบเสมือนแผนที่การเดินทางไปสู่สถานที่ที่ต้องการเท่านั้น ไม่สามารถสำเร็จเป็นประโยชน์อันใด ถ้าไม่มีผู้เดินทาง (หมายถึงผู้ลงมือปฏิบัติ) เพราะการลงมือเดินทางจริง ๆ เท่านั้น ที่จะทำให้บรรลุถึงจุดหมายปลายทาง
                   หรือจะเปรียบเทียบได้อีกนัยหนึ่งว่า การศึกษาภาคปริยัติ เสมือนให้เรียนรู้ด้วยภาพวาด ภาพถ่าย มิใช่ของจริง เช่นให้เห็นภาพยานพาหนะว่านี่เป็น ม้า เป็นรถยนต์ รถไฟเรือบิน ฯลฯ ครั้นถึงคราวต้องเดินทางจริงๆ จำต้องแสวงหายานพาหนะจริงมาใช้ตามที่เคยรู้จักจากในภาพมาเทียบเคียง ส่วนภาพยานพาหนะในภาพกลับใช้ประโยชน์จริงในการเดินทางมิได้เลย ดังนี้เป็นต้น

                   ก่อนที่จะกล่าวถึงการเจริญภาวนาเพื่อให้เกิดวิปัสสนาญาณ ผู้ปฏิบัติต้องเข้าใจการทํางานของจิตใจในเรื่องนี้ดังนี้
                   ในการปฏิบัติ ให้กำหนด รูปธรรม นามธรรม เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาภาวนา
                   ผู้ทำกรรมฐาน คือ สติ กับปัญญา
                   สถานที่กระท่า คือ ตรงที่อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกกระทบกัน
                                        คือ ในขณะที่รูปนามเกิด เป็นปัจจุบันกาล
                   ที่ต้องปฏิบัติดังนี้ เพื่อพิสูจน์ว่า รูป นาม มีลักษณะ ๓ อย่าง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จริง ทำให้หลุดพ้นด้วยวิโมกข์ ๓* ถึงพระนิพพานธาตุอันเป็นธาตุดับทุกข์ได้จริง

                   วิปัสสนาญาณที่สามารถปฏิบัติเพื่อนำมาพิสูจน์ความเป็นจริง มี ๓ วิธีการคือ อย่างย่อปานกลาง และอย่างพิสดาร
                   โดยย่อ คือ ข้อปฏิบัติในสิกขา ๓ (ไตรสิกขา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา)

                   ๑. สีลสิกขา ปฏิบัติในศีล คือเว้นจากความชั่ว ที่เกี่ยวกับ กาย วาจา โดยเอาสติกำหนดให้รู้ทันทุกขณะที่ รูป-นาม ทำการ ยืน เดิน นั่ง นอน คู้เหยียด เคลื่อนไหวในการงานทุกอย่าง นับตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน นับเป็น สัมมากัมมันโต ท่าการงานชอบ โดยเอาสติกำหนดให้รู้ทันทุกขณะ ที่รูป - นาม พูด นับเป็นสัมมาวาจา พูดชอบโดยเอาสติกำหนดรู้ทันทุกขณะ เป็นปัจจุบันของรูป - นาม ขณะพูด ทำงาน เห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สึกในสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง นับเป็น สัมมาอาชีโว เป็นอยู่ชอบ
                   การที่เอาสติรู้เท่าทันปัจจุบันของ รูป-นาม ทุกขณะที่แสดงแล้วนี้ จัดเป็น สีลสิกขา เป็นศีลในมรรค ๘ คือการเว้นจาก โมหะ (ตัวเผลอ) เว้นจากโลภะ (ตัวอยาก) เว้นจากโทสะ (ตัวโกรธ) จัดว่าเป็นศีลในวิปัสสนา ทำให้เว้นจากมูลแห่งความชั่วทั้งปวงเสียได้ เมื่อความชั่วทางกาย วาจาไม่เกิด ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ อันเป็นตัวจิตตสิกขาต่อไป

                   ๒. จิตตสิกขา ปฏิบัติในสมาธิให้จิตสงบบริสุทธิ์
                   เมื่อเพียรเอาสติกำหนดให้รู้ทัน รูป-นาม ที่เป็นปัจจุบันบ่อย ๆ เมื่อเผลอก็เพียร ตั้งสติใหม่อีกบ่อย ๆ ดังนี้ นับเป็น สัมมาวายาโม เพียรชอบ
                   การให้สติรู้ทันปัจจุบันของรูป-นามเสมอ ๆ ทุกขณะนั้น นับเป็นสัมมาสติ ระลึกชอบ
                   เมื่ออาศัยความเพียร มีสติระลึกรู้ทันรูป-นาม ทุกขณะ มีสัมปชัญญะรู้ทันทุกอิริยาบถ ย่อมเป็นปัจจัยให้มีสมาธิเกิดทุก ๆ ขณะเป็นขณิกะสมาธิ นับเป็น สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ
                   เมื่อปฏิบัติในจิตตสิกขาอยู่ดังนี้ ราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นสิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมองไม่มีโอกาสเข้าไปทำให้จิตมีมลทินเลย จิตใจจึงสะอาดบริสุทธิ์ เข้าถึงสมาธิในอัฏฐิงคิกมัคคเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาสิกขาต่อไป

                   ๓. ปัญญาสิกขา ปฏิบัติให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น เห็นแจ้งชัดในรูปธรรม นามธรรมอันมีลักษณะ ๓ ประการ เป็นของติดประจำอยู่กับทุกสิ่งทุกอย่าง (ลักษณะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา )
                   วิธีปฏิบัติ คือ เอาสติกำหนดรู้ให้ทันปัจจุบันของรูป-นามมากเข้า จนไม่เผลอเลย เป็นสมาธิเต็มที่มีกำลังกล้า ย่อมละบัญญัติลงเสียได้ คือ
                   ขณะเห็นก็รู้เพียงเห็นสีเท่านั้น   ไม่เลยไปถึงบัญญัติว่าเห็นเป็นคน สัตว์ สิ่งของอันใด ฯลฯ
                   ขณะได้ยินก็รู้เพียงได้ยินเสียง   ไม่เลยไปถึงบัญญัติว่า เป็นเสียงเพลง เสียงพูด ฯลฯ
                   ขณะรู้กลิ่นก็เพียงรู้กลิ่น            ไม่เลยไปถึงสมมติบัญญัติว่า กลิ่นอะไร หอม หรือเหม็น ฯลฯ
                   ขณะรู้รส ก็รู้เพียงรส                 ไม่เลยไปถึงสมมติบัญญัติ
                   ขณะรู้สึกสัมผัส ก็รู้เพียง เย็นร้อน อ่อน แข็ง มากระทบให้รู้สึกเท่านั้น ไม่เลยไป
                   ขณะนึกคิด ยืน เดิน นั่ง นอน ตู้ เหยียด เคลื่อนไหว ก็รู้เพียงการเคลื่อนไหวกับการรู้สึกนึกคิดเท่านั้น ไม่เลยไปถึงบัญญัติอย่างอื่น
                   ดังนี้ทำให้มีปัญญารู้เห็นรูป-นามเกิดดับในทวารทั้ง ๖ นับเป็น สัมมาทิฏฐิ มีปัญญา เห็นชอบ
                   ลักษณะ ๓ อย่างที่ปรากฏชัดอยู่ประจำในรูป-นาม ที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลาเหล่านั้น คือ
                           - อนิจจัง คือลักษณะที่ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ (ไม่เที่ยง) ต้องดับไป
                           - ทุกขัง คือลักษณะทนอยู่ไม่ได้ (ทนได้ยาก) ต้องดับไป
                           - อนัตตา คือลักษณะที่ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ (ไม่ใช่ตน) ต้องดับไป
                   เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดเห็นอาการทั้ง ๓ ของรูป - นามปรากฏอยู่ดังนั้น ย่อมประหาณอนุสัยที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานให้เบาบางน้อยลงจนหมดสิ้น เมื่อนั้นจึงได้ชื่อว่า วิโมกข์ หลุดพ้น มี ๓ คือ

                        ๑. ผู้ที่สร้างสมบารมีมีศีลเป็นอุปนิสัยมาในปางก่อน ย่อมหลุดพ้นด้วยการมีปัญญาพิจารณาเห็นรูป-นามมีลักษณะอนิจจัง ตั้งอยู่ไม่ได้ เป็นอนิมิตตวิโมกข์ ไม่มีสังขารนิมิตเป็นของเที่ยง ดับอย่างไม่มีเครื่องหมาย
                       ๒. ผู้ปฏิบัติที่มีสมาธิเป็นปุพพาธิการมา ย่อมหลุดพ้นด้วยการพิจารณาเห็นรูปนามมีลักษณะ ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ จึงพ้นด้วยอัปณิหิตวิโมกข์ ปราศจากราคะ โทสะ โมหะประหาณตัณหาที่ยินดีในสุขได้เด็ดขาด
                        ๓. ผู้ปฏิบัติที่มีนิสัยเป็นผู้สร้างสมปัญญาบารมีไว้แต่ปางก่อน ย่อมหลุดพ้นด้วยการพิจารณาเห็นรูป-นามมีลักษณะอนัตตา นับเป็นสุญญตวิโมกข์ ว่างเปล่าจากรูป-นาม
                        ที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นการบำเพ็ญวิปัสสนาญาณชนิดโดยย่อ
                        ต่อไปเป็นชนิดปานกลาง คือ

                        บำเพ็ญวิสุทธิมี ๗ ประการ (อธิบายธรรม ๖ หมวด ข้อ ๑.๑ วิสุทธิ ๗)
                        ๑. สีลวิสุทธิ์                ความบริสุทธิ์แห่งศีล
                        ๒. จิตตวิสุทธิ              ความบริสุทธิ์แห่งจิต
                        ๓. ทิฏฐิวิสุทธิ              ความบริสุทธิ์แห่งความเห็น
                        ๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ์    ความบริสุทธิ์ของญาณที่ข้ามพ้นจากความสงสัย
                        ๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ในการเห็นแจ้งของญาณว่า เป็นมัคคปฏิปทาและไม่ใช่มัคคปฏิปทา
                        ๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ในการเห็นแจ้งของญาณอันเป็นเครื่องดำเนินไปสู่มัคคปฏิปทา
                        ๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ในการเห็นแจ้งแทงตลอดของญาณ

                       การปฏิบัติในข้อต้นสองข้อ คือ สีลวิสุทธิ์ และจิตตวิสุทธิ์ เป็นพื้นฐานเบื้องต้นต้องกระทำก่อนข้ออื่น ๆ ผู้ใดไม่สามารถปฏิบัติในสองข้อต้นนี้ได้ จะปฏิบัติข้ออื่น ๆ ต่อ ๆ ไปไม่ได้รับผลสาเร็จแต่ประการใดเลยเป็นอันขาด
                      เมื่อสีลวิสุทธิสมบูรณ์ดี จิตตวิสุทธิย่อมทำให้เกิดได้ง่าย ต่อจากนั้นวิสุทธิอีก ๔ ย่อมเกิดตาม เมื่อวิสุทธิทั้ง ๔ เกิดได้แล้ว วิสุทธิข้อสุดท้ายอันสำคัญยิ่ง เป็นปัญญาที่จะชำระใจให้พ้นจากกิเลสทั้งปวงย่อมเกิดได้
                        คำว่า สุทธิ แปลว่า บริสุทธิ์ คำว่า วิ แปลว่า พิเศษ
                        วิสุทธิ์ จึงแปลว่า ความบริสุทธิ์จากกิเลสเป็นพิเศษ

                        ๑. สีลวิสุทธิ์ หมายเอาความบริสุทธิ์ของศีล ๔ อย่าง คือ
                        ปาฏิโมกข์สังวรศีล   ศีลที่สำรวมในพระปาติโมกข์ (สำรวมในศีลที่ตนสมาทานรักษา)
                        อินทรียสังวรสีล       ศีลที่สำรวมในอินทรีย์ ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
                        อาชีวปาริสุทธิศีล     ศีลที่มีอาชีพบริสุทธิ์ เลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะตามแต่เพศของตน (ฆราวาส หรือนักบวช)
                        ปัจจยสันนิสสิตะสีล ศีลที่อาศัยปัจจัย ๔
                        การปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์หมดจด กระทำได้ ๔ ประการ เรียกว่า จตุปาริสุทธิศีล มี
                                - เทสนาสุทธิ บริสุทธิ์ด้วยการแสดง เช่นถ้าเป็นบรรพชิตต้องกระทำตามธรรมวินัย ถ้าล่วงอาบัติ ต้องกระทำให้บริสุทธิ์ตามข้อกำหนดที่วางไว้ในพระธรรมวินัย ถ้าเป็นฆราวาสก็สมาทานรักษาศีลใหม่
                                    - สังวรสุทธิ์ บริสุทธิ์ด้วยการสำรวมอินทรีย์ ถ้าเผลอไป ก็ตั้งใจสำรวมต่อไปใหม่
                          - เอฏฐิสุทธิ์ การมีอาชีวะบริสุทธิ์ ถ้าเป็นบรรพชิตต้องหาเลี้ยงชีพโดยชอบด้วยพระวินัย ถ้าเป็นฆราวาสก็ต้องเว้นจากมิจฉาชีพต่าง ๆ ให้เป็นสัมมาอาชีวะ
                             - ปัจจเวกขณสุทธิ์ บริสุทธิ์ด้วยการพิจารณา เช่นพิจารณาปัจจัย ๔ ที่ใช้เหมือนที่พระภิกษุพิจารณา
                        เมื่อตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์ทั้ง ๔ ประการแล้วจึงเอาสติระลึกรู้ทันปัจจุบันของรูปนามในทุกขณะเพื่อเป็นปัจจัยให้ก้าวขึ้นสู่จิตตวิสุทธิโดยสะดวกต่อไป

                        ๒. จิตตวิสุทธิ คือความบริสุทธิ์หมดจดของจิต ได้แก่การชำระจิตใจให้ปราศจากมลทินเครื่องเศร้าหมองคือนิวรณ์ให้สงบลงได้ มี ๒ อย่างคือ
                             - สมถยานิกสมาธิ ได้แก่จิตที่เข้าถึง อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ
                             - วิปัสสนายานิกสมาธิ ได้แก่ขณิกสมาธิ
                        สมาธิทั้ง ๓ ชนิด ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เรียกว่าเป็นจิตตวิสุทธิ เพราะมีความบริสุทธิ์เป็นพิเศษ ปราศจากมลทินคือนิวรณ์ อาจสามารถทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรม อันเป็นทิฏฐิวิสุทธิ์ ความเห็นอันบริสุทธิ์สืบต่อไปโดยสะดวก

                        ๓. ทิฏฐิวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์หมดจดของทิฏฐิ คือมีความเห็นชอบ ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เป็นสัมมาทิฏฐิ มีปัญญาเกิดขึ้นรู้จักลักษณะของรูปนาม รู้หน้าที่ รู้จักผล รู้จักเหตุใกล้ของรูปนาม ยกตัวอย่างมีความเห็นถูกต้องในเรื่องจิตซึ่งเป็นนามดังนี้ว่า
                               ลักษณะของจิต คือการรู้อารมณ์
                               รส (หน้าที่) ของจิต คือการที่จิตทำหน้าที่เป็นประธาน คือไปทำการงานก่อนสิ่งอื่น
                               ผล คือการที่จิตชนิดหนึ่งดับอีกชนิดหนึ่งเกิดต่อ เรียกว่าเป็นผล คือปัจจุปัฏฐาน
                               ปทัฏฐานของจิต คือมีเจตสิกและหทัยวัตถุรูป เป็นเหตุใกล้
                        ในกรณีรูปนามอื่น ๆ ก็สามารถรู้ถูกต้องได้ในทำนองเดียวกัน เมื่อความรู้ชนิดนี้เกิดขึ้นแล้วย่อมประหาณทิฏฐิที่ถือว่า รูปและนาม เป็นตัวตน (อัตตะ) ทำให้สามารถก้าวไปสู่วิสุทธิขั้นต่อไป คือ

                         ๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์หมดจดด้วยการก้าวพ้นจากความสงสัย คือ ปัญญาที่สามารถรู้เหตุเกิดของนามของรูป คือรู้ว่า
                              - ปัจจัยให้เกิดจิต (นาม) ได้แก่ อวิชชา ตัณหา กรรม เจตสิก กัมมชรูป
                              - ปัจจัยให้เกิดเจตสิก ได้แก่ อวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ
                              - ปัจจัยให้เกิดรูป ได้แก่ อวิชชา ตัณหา กรรม และอาหาร (กพฬิงการาหาร)
                         เมื่อรู้ได้ดังนี้ จะเห็นว่าขันธ์ ๕ อันเป็นรูปนาม ไม่ใช่เป็นอัตตา มีการเกิดดับอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต รูปนามก็จะเกิดดับอยู่ดังนี้ ไม่มีเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ทำให้ความสงสัยต่าง ๆ อันตรธานไป เช่น สงสัยว่า
                              ๔.๑-๔.๓ คุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มีจริงหรือไม่
                              ๔.๔ ข้อปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญา ที่วางไว้ถูกจริงหรือ ปฏิบัติแล้วได้รับผลหรือไม่
                              ๔.๕-๔.๗ ขันธ์ ๕ ที่เป็นอดีต ที่เป็นอนาคต และที่เป็นทั้งอดีตและอนาคตของสัตว์ในปัจจุบันมีหรือ
                              ๔.๘ ปฏิจจสมุปบาทธรรม เรื่องบุญ-บาป เรื่องการสืบต่อภพใหม่ ฯลฯ มีจริงหรือ

                        หรือ ความสงสัยในขันธ์ ๕ ที่เป็นส่วนอดีต ๕ ส่วนอนาคต ๕ และส่วนปัจจุบัน ๖ คือ ขันธ์ ๕ ส่วนที่เป็นอดีต ๕ มี ๑. เราเคยเกิดมาแล้วในอดีตกาลจริงหรือ ๒. หรือว่าไม่เคยเกิดมาแล้วจริง ๓. ถ้าเคยเกิด เกิดเป็นชนชั้นไหนชาติใด ๔. มีรูปร่างสัณฐานเป็นอย่างไร ๕. เคยเกิดเป็นอะไรมาแล้วบ้าง
                        ส่วนที่เป็นอนาคต ๕ มี ๑. เราจะเกิดในกาลภายหน้าหรือ ๒. หรือว่าจะไม่ต้องเกิดในภายหน้าอีก ๓. ถ้าจะเกิดจะเป็นชนชั้นใดชาติอะไร ๔. จะมีรูปร่างสัณฐานอย่างไร ๕. จะเกิดเป็นอะไรต่อไป

                             ส่วนที่เป็นปัจจุบัน 5 มี ๑. นี่เป็นเราหรือ ๒. หรือว่าไม่ใช่เรา ๓. เราเป็นชาติอะไรหนอ ๔. มีรูปร่างสัณฐานอย่างไร ๕. สัตว์คือตัวเรานี้มาจากไหนกันหนอ 5. สัตว์คือตัวเรานี้จะไปเกิดที่ไหนหนอ

                        เมื่อสิ้นความสงสัยในเรื่องปัจจัยของรูปนาม สิ้นสงสัยในเรื่องอดีต อนาคต เพราะได้รู้ทันในปัจจุบัน จึงเป็นกังขาวิตรณวิสุทธิ์ เป็นเหตุให้จิตก้าวขึ้นสู่ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิสืบต่อไป

                        ๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์หมดจดในการรู้ว่าทางหรือมิใช่ทาง มัคคะ แปลว่า ทาง อมัคคะ แปลว่า ไม่ใช่ทาง ญาณ แปลว่าความรู้ ทัสสนะ แปลว่า ความเห็น เมื่อรวมกันเป็น มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ์ จึงแปลว่า ความเห็นแจ้งของญาณว่า
เป็นมัคคปฏิปทา และมิใช่มัคคปฏิปทา กล่าวโดยง่ายคือญาณที่รู้ว่าทางนิพพานหรือมิใช่ทางนิพพาน
                        ปัญญาที่ไตร่ตรองในลักษณะทั้ง ๓ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ของรูปนาม และปัญญาที่เห็นความเกิดขึ้นและความดับไปของรูปนาม (ในระยะต้น ๆ) ในระหว่างนี้เป็นขอบเขตของมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ์ เพราะเป็นปัญญาที่สามารถชำระใจให้พ้นจากคาหะ (ความยืด) ทั้ง ๓ คือยึดมั่นด้วย ตัณหา มานะทิฏฐิ ในอุปกิเลส ๑๐ อย่าง อันเป็นหนทางที่ผิดเสียได้ เมื่อปัญญาเห็นความเกิดดับของรูปนามเกิดขึ้น แม้จะเป็นเพียงเกิดในระยะต้น ๆ แต่ถ้าเกิดติดต่อกันอย่างไม่ขาดสายโดยสะดวกสบายแล้ว แม้จะมีอุปกิเลสอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นรบกวนขัดขวางอยู่ก็ตาม จิตใจจะไม่เข้าไปเกาะเกี่ยวยุ่งอยู่กับอุปกิเลสนั้น ๆ แต่อย่างใด จิตใจจะพิจารณาเห็นอยู่แต่ความเกิดดับของรูป-นาม ต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ในเวลาอย่างนี้นั่นเอง เรียกว่าจิตเข้าถึง มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

                        อย่างไรก็ดีในขณะที่วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น วิปัสสนูปกิเลสย่อมเกิดขึ้นตามมา เมื่อวิปัสนูปกิเลสเกิด ผู้ปฏิบัติต้องรู้ว่า นี่ไม่ใช่มัยคะ แต่เป็นอมัคคะเป็นเรื่องของกิเลสในวิปัสสนาญาณเท่านั้น ไม่ใช่หนทาง ต้องปฏิบัติให้พ้นจากวิปัสสนูปกิเลส จึงจะเป็นปฏิปทาหนทางไปพระนิพพาน เรียกว่า มัคคะ เป็นปัญญาที่สามารถรู้ทางและมิใช่ทาง ทำลายความเข้าใจผิด ทำความเห็นให้ตรงทาง เป็นปัญญาที่พิจารณาเห็นรูปนามมีลักษณะ อนิจจัง ทุกขังอนัตตา เกิดดับอยู่ทุกขณะ เต็มไปด้วยภัยและโทษ น่าเบื่อหน่าย อยากจะหนีให้พ้น พยายามหาหนทางหนี แต่เมื่อยังหนีไปไม่ได้ ก็ต้องทนดูเฉยอยู่ ลักษณะดังนี้เองเรียกว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ์ เป็นเหตุให้จิตก้าวขึ้นสู่ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิสืบต่อไป

                         วิปัสสนูปกิเลส มี ๑๐ ประการดังนี้
                         ๑. โอภาส     แสงสว่าง
                         ๒. ปีติ          ความอิ่มเอิบใจมี ๕ อย่าง
                                   ขุททกาสปีติ      ปีติเล็กน้อย ขนลุก น้ำตาไหล
                                   ขณิกาปีติ           ปีติชั่วขณะ
                                   โอกกันติกาปิติ    ปีติเป็นพัก ๆ เหมือนเป็นระลอกคลื่น
                                   อุเพงคาปีติ         ปีติโลดโผน เช่นตัวลอยได้
                                   ผรณาปีติ            ปีติอิ่มเอิบ รู้สึกเย็นแผ่ซ่านไปทั่ว
                         ๓. ปัสสัทธิ    อาการสงบเงียบ
                         ๔. อธิโมกข์   น้อมใจเชื่อ
                         ๕. ปัคคหะ     ความพยายาม
                         ๖. สุข            ความสบาย
                         ๗. ญาณ        ปัญญา
                         ๘. อุปัฏฐาน    สติ
                         ๙. อุเบกขา     ความวางเฉย
                       ๑๐. นิกันติ        ความยินดีพอใจ
                        ตั้งแต่ ข้อ ๑-๙ แม้จะเป็นกุศล แต่เป็นที่ตั้งให้เกิด ตัณหา มานะทิฏฐิ ส่วนข้อ๑๐ ตัณหาเป็นตัววิปัสสนูปกิเลสโดยตรง
                      ผู้มีความเพียรแก่กล้า จึงจะมีวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้น จะเกิดอยู่ในระหว่างเมื่อลงมือปฏิบัติถึงขั้นอุทยัพพยญาณอย่างอ่อน ที่เรียกว่าตรุณอุทยัพพยญาณ (ญาณที่เห็นการเกิดขึ้นและดับไปของรูป-นาม) ผู้มีความเพียรอ่อน ผู้ปฏิบัติผิดจากทางวิปัสสนา จะไม่มีวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้น สำหรับพระอริยบุคคลก็ไม่เกิด (เพราะเคยเกิดมาแล้ว)

                        ๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์หมดจดในการเห็นแจ้งของญาณอันเป็นปฏิปทา หนทางไปสู่พระนิพพาแน่นอน
                        ปฏิปทา แปลว่า ปฏิบัติ ญาณ แปลว่า ความรู้ ทัสสนะแปลว่า ความเห็น วิสุทธิแปลว่าความบริสุทธิ์ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ์ แปลว่าความบริสุทธิ์ในการเห็นแจ้งของญาณ เป็นเครื่องดำเนินไปสู่มัคคปฏิปทาโดยส่วนเดียว
                         คือเมื่อผู้ปฏิบัติใช้มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ์ เป็นปัจจัยอาศัยให้ตนพ้นจากวีปัสสนูปกิเลสต่าง ๆ มาได้แล้ว ก็เพ่งความเกิดดับของรูป-นาม ตามนัยไตรลักษณ์ต่อไปอีก เห็นรูป-นามดับไป ๆ เป็นภัย เป็นโทษ น่าเบื่อหน่าย ใคร่จะหนีจากรูป-นาม หาหนทางหนี จนพบและแน่ใจในอริยสัจจธรรม มีจิตน้อมไปสู่พระนิพพาน (อุปมาเหมือนคนที่วิ่งหนีภัย เมื่อหนีขึ้นต้นไม้ก็ปืนไปจนสุดยอด เมื่อหนีไปจนหนทางที่แม่น้ำก็จะกระโดดน้ำเหมือนเชือกที่ตึงเต็มที่คล้ายจะขาด โดยผ่านญาณต่าง ๆ ในวิปัสสนาญาณตั้งแต่อุทยัพพยญาณจนถึงโคตรภูญาณ รวม ๔ ญาณ มีความรู้ความเห็นว่าจะพ้นจากความทุกข์ ได้แน่นอนหนทางนี้เรียกว่า ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ

                        ญาณ ๙ อย่างที่อยู่ในวิปัสสนาญาณและสงเคราะห์เข้าในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิมีดังนี้
                        ๑. พลวอุทยัพพยญาณ (ญาณกำหนดรู้ความเกิดดับของรูปนาม)
                        ๒. ภังคญาณ (ความแตกสลายของรูปนาม)
                        ๓. ภยญาณ (รู้รูป-นาม เป็นภัยที่น่ากลัว)
                        ๔. อาทีนวญาณ (รู้โทษของรูป-นาม)
                        ๕. นิพพิทาญาณ (รู้ความเบื่อหน่ายในรูป-นาม)
                        ๖. มุญจิตุกัมยตาญาณ (ปรารถนาใคร่หลุดพ้นจากรูป-นาม)
                        ๗. ปฏิสังขารุเปกขาญาณ (ญาณที่พิจารณาทบทวนในรูป นาม ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาอีกครั้งหนึ่ง)
                        ๘. สังขารุเปกขาญาณ (ญาณที่วางเฉยในรูป-นาม)
                        ๙. อนุโลมญาณ ญาณที่เห็นสอดคล้องกับวิปัสนาญาณข้างต้น
                        วิปัสสนาญาณทั้ง ๔ นี้ เรียกอีกนัยหนึ่งว่า สัจจานุโลมิกญาณ นับเป็นปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิได้ เพราะเป็นญาณที่ใช้ชำระใจให้พ้นจากความจำผิดทั้ง ๓ มี นิจจสัญญา (ความจำว่าเที่ยงแท้แน่นอน) สุขสัญญา (ความจำว่าเป็นสุข) และอัตตสัญญา (ความจำว่าเป็นตัวเป็นตน) เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตขึ้นสู่ญาณทัสสนวิสุทธิต่อไป

                        ๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์หมดจดแห่งความรู้ความเห็น คือ
                        ๑.จตุสัจจ์ ชานาติ ญาณ แปลว่า รู้อริยสัจ ๔ ได้ ฉะนั้นเรียกว่า ญาณ
                        ๒. ปจฺจกฺขโต ปสฺสติ ทาสน์ แปลว่า เห็นพระนิพพานโดยประจักษ์ ฉะนั้นจึงเรียกว่า ทัสสนะ
                        ๓. กิเลสมลโต วิสุข ตีติ วิสุทธิ์ แปลว่า ความบริสุทธิ์จากกิเลสซึ่งเป็นมลทินฉะนั้นเรียกว่า วิสุทธิ
                        เมื่อได้อาศัยกำลังจากปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิเป็นปัจจัย วิปัสสนาญาณย่อมแก่กล้าขึ้น ทำให้เกิดวิถีจิตที่เรียกว่า มัคควิถีเกิด มัคควิถีที่เป็นอัปปนาวิถีนี้เมื่อเกิดแล้วไม่มีการรั้งรอเวลา วิถีจิตจะเกิดผ่านตามลำดับทันที โดยจิตครั้งแรกอยู่ในภวังคะ เมื่อมัคควิถีเกิดจะเปลี่ยนจากภวังค์เป็น

                                       ภวังคจลนะ ภวังค์ไหวเป็นปัจจัยให้เกิด
                                         ภวังคุปัจเฉทะ ตัดกระแสภวังค์แล้วดับลง ทำให้เกิด
                                         มโนทวาราวัชชนะ ทำหน้าที่วิปัสสนาพิจารณาไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ ดับลงแล้วทําให้เกิด
                                         บริกรรม ทำหน้าที่มีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ ดับลงแล้ว ทำให้เกิด
                                         อุปจาระ ได้ไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ แล้วดับลงส่งให้เกิด
                                         อนุโลมญาณ ญาณที่เห็นสอดคล้องกับวิปัสสนาญาณตอนต้น ๆ เรียกว่า
                                         วุฏฐานคามินีวิปัสสนาญาณ เป็นยอดของวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อจิตของญาณลำดับนี้ดับลง ส่งหน้าที่ให้แก่
                                         โคตรภู เป็นญาณที่ทำกิจโอนโคตรปุถุชน มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ไหลไปสู่
                                         อริยมัคค์ อริยผล เมื่อโคตรภูดับลงแล้ว ส่งให้
                                         อริยมัคค์ ๑ ครั้ง รู้เห็นพระนิพพาน ดับตัณหาเป็นที่สุดแห่งทุกข์ มี
                                         มัคคสัจประชุม พร้อมกันทั้ง ๔ ประการ แล้วดับลงส่งให้เกิด
                                         อริยผล เกิดตามมา ๒-๓ ครั้ง มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ แล้วดับลงสู่
                                  ภวังคจิต เมื่อลงสู่ภวังคจิตแล้ว วิถีจิตอีกชนิดหนึ่งก็เกิดขึ้นพิจารณามรรค ผล นิพพาน และทำการละกิเลสที่เหลือ เรียกชื่อวิถีจิตนี้ว่า ปัจจเวกขณะวิถี อันจะสำเร็จผลเป็น ปัจจเวกขณญาณ ญาณที่ ๑๖ ในขณะจิตอยู่ในมัคคญาณ ผลญาณ และปัจจเวก ขณ ญาณ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ เห็นแจ้งรู้จริงในพระนิพพาน ความบริสุทธิ์ของจิตใจในลำดับนี้ เรียกว่าเข้าสู่ญาณทัสสนะวิสุทธิพ้นจากปุถุชน การเห็นอนิจจังของรูป-นามเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน เป็น อนิมิตตวิโมกข์ (พ้นด้วยการดับไม่มีนิมิต) ผู้เห็นทุกขัง เรียกว่าพ้นด้วย อัปปณิหิตวิโมกข์ พ้นด้วยการเห็นอนัตตาเรียกว่า สุญญตวิโมกข์ ได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา


โพธิปักขิยธรรม ๓๗

                วิปัสสนาญาณที่ได้จากการปฏิบัติโดยพิสดาร
                โพธิปักขิยธรรม คือ ธรรมที่เป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ ๓๗ ประการ อันจะประชุมรวมกันพร้อม เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดสมบูรณ์ในผู้ปฏิบัติ มี สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรค ๘ รวม ๓๗


สติปัฏฐาน ๔ (ที่ตั้งของสติ)

                ๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการมีสติตั้งไว้ในกาย พิจารณาอยู่เนือง ๆ ให้เห็นความเป็นอสุภะ ประหาณสุภสัญญา (ความเห็นว่าสวยงาม) อันเป็นสัญญาวิปลาส (เห็นผิดจากความเป็นจริง) โดยเอาสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกก็ดี รู้ทันในอิริยาบถใหญ่คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ดี รู้ทันในอริยาบถย่อยคือ คู่ เหยียด เคลื่อนไหวก็ดี กำหนดรู้ในธาตุและ อวัยวะน้อยใหญ่ภายในภายนอกก็ดี กำหนดในกายตามนัยของสติปัฏฐานดังนี้แล้ว ก็จะรู้ได้ว่าร่างกายนี้ ไม่สวย ไม่งาม ไม่น่าดู ไม่น่ารัก ไม่น่าชม เป็นอสุภะแท้ ๆ ดังนี้เป็นต้น แล้วยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาพิจารณาให้เห็นพระไตรลักษณ์ของรูป-นาม เห็นความเกิดดับโดยชัดเจน ได้วิปัสสนาญาณ

                ๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีสติตั้งไว้ในเวทนา พิจารณาให้รู้กันอยู่เนือง ๆ ในเวทนานั้น สุขก็รู้ทัน ทุกข์ก็รู้ทัน อุเบกขาก็รู้ทัน เพื่อประหาณวิปลาสในการเสวยสุข ทุกข์ อุเบกขา ที่เห็นผิดไปว่า มีความสุข ความสบาย น่าชอบ น่าอยากได้เป็นต้น ตัณหาที่ประกอบในเวทนาทั้งหมดเรียกว่า สุขวิปลาส เมื่อตั้งสติพิจารณารู้ทันก็จะเห็นตามความเป็นจริงว่า การเสวยเวทนาทั้งหมดไม่ใช่ความสุข ล้วนแล้วแต่ทุกข์ทนไม่ได้ทั้งสิ้น ครั้นขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ก็จะเห็นแจ้งชัดในนามเวทนานี้ว่า เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้วิปัสสนาญาณ

                ๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติพิจารณาจิตอยู่เนือง ๆ ให้รู้ทันทุกขณะว่าจิตมีราคะ จิตมีโทสะ หรือจิตมีมานะเป็นต้นพิจารณาจนรู้ชัดว่า จิตนี้ย่อมเกิดแล้วดับสูญหายไปทุกขณะ เหมือนสายฟ้าแลบไม่คงที่เที่ยงแท้ ถอนนิจจสัญญาออกเสีย ประหาณนิจจวิปลาส ที่เห็นผิดไปว่าจิตเป็นของเที่ยง ไม่ดับ ให้เห็นโดยถ่องแท้ว่า จิตเป็นอนิจจังไม่เที่ยง ต้องเกิดดับรับอารมณ์ต่าง ๆ อยู่ทุก ๆ ขณะ เมื่อเกิดปัญญาเห็นแจ้งในพระไตรลักษณ์ย่อมได้วิปัสสนาญาณ

                ๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติพิจารณาในธรรมอยู่เนือง ๆ ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสักแต่ว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ให้สติกำหนดพิจารณารู้ทันจนเกิดปัญญาเห็นอนัตตาธรรม การเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็เพื่อประหาณอัตตสัญญาความเห็นผิดว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์บุคคลเป็นเราเป็นเขา มีสติรู้ทันในนิวรณธรรมก็ดีในอุปทานขันธ์ก็ดี โดยอาศัยสัมมัปปธาน เพียรพิจารณาจนเกิดปัญญา มีโพชฌงค์ ๗ เข้าประกอบ รู้ในอริยสัจทั้ง ๔ เห็นทุกสิ่งเป็นแต่รูปธรรมกับนามธรรม มีการเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทั้งสิ้น เป็นอนัตตาแท้ บังคับบัญชาไม่ได้เลย เห็นแจ้งในไตรลักษณ์ ได้วิปัสสนาญาณ
                 สติปัฏฐาน ๔ ปฏิบัติได้เหมาะสมกับผู้ที่มีตัณหาจริต และทิฏฐิจริต ดังนี้คือ
                          - กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมาะแก่ผู้มีตัณหาจริตอย่างหยาบ เพ่งรูปธรรมเป็นกรรมฐาน
                          - เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมาะแก่ตัณหาจริตอย่างละเอียด เพ่งนามธรรมเป็นกรรมฐาน
                          - จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมาะแก่ผู้มีทิฏฐิจริตอย่างหยาบ เพ่งนามในธรรมเป็นกรรมฐาน
                          - ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมาะแก่ผู้มีทิฏฐิจริตอย่างละเอียด เพ่งรูปธรรม นามธรรมเป็นกรรมฐาน

 

สัมมัปปธาน ๔ (วายาโม ความเพียร)

                 ๑. สังวรปธาน           เพียรระวังมิให้อกุศลใหม่เกิดขึ้น
                 ๒. ปหานปธาน         เพียรละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
                 ๓. ภาวนาปธาน        เพียรเพื่อให้กุศลเจริญขึ้น
                 ๔. อนุรักขนาปธาน   เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วมิให้เสื่อม
                 สัมมัปปธานก็คือ วิริยะ เพียรตั้งสติรู้ทันต่อปัจจุบันของรูปนามทุกขณะ เมื่อรู้ทันขณะใด ก็ชื่อว่าได้ปิดกั้นมิให้อกุศลคือ ราคะ โทสะ โมหะ ไหลเข้ามาตามทวารทั้ง ๖ ส่วนอนุสัยที่นอนเนื่องอยู่ในภวังคสันดาน ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อมีสติอันเป็นจอมของกุศลเกิดขึ้น ทำให้กุศลกรรมเหล่าอื่นเกิดตามมาด้วย ได้ชื่อว่ากุศลธรรมเจริญขึ้น การมีความเพียรตั้งสติให้รู้ทันในปัจจุบันธรรมบ่อย ๆ นี้เอง เป็นการรักษากุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วให้ทรงอยู่ อาศัยความเพียรนี้เป็นปทัฏฐานให้เกิดวิปัสสนาปัญญาขึ้น รู้แจ้งชัดในรูปธรรม นามธรรม เกิด ๆ ดับ ๆ อยู่ มีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ได้วิปัสสนาญาณมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าเห็นอนิจจังก็พ้นจากโลกีย์ด้วยอนิมิตตวิโมกข์ ถ้าเห็นทุก
ขังก็พ้นจากโลกีย์ด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ ถ้าเห็นอนัตตาก็พ้นจากโลกีย์ด้วยสุญญตวิโมกข์ เพราะอาศัยสัมมัปปธานทั้ง ๔


อิทธิบาท ๔

               ธรรมที่เป็นเหตุของความสำเร็จ (ของโลกุตตระ) ได้แก่
               ๑. ฉันทะ ความพอใจในทางโลกุตตระ ได้แก่ฉันทะเจตสิก
               ๒. วิริยะ ความเพียรในทางโลกุตตระ ได้แก่วิริยะเจตสิก
               ๓. จิตตะ ความเอาใจใส่ในทางโลกุตตระ ได้แก่ปัญญาเจตสิก
               ๔. วิมังสา ความใคร่ครวญรู้แจ้งในทางโลกุตตระ ได้แก่ ปัญญาเจตสิกฃ

               การมีฉันทะพอใจในการปฏิบัติไปสู่พระนิพพาน คือ พอใจในการมีสติ รู้ทันปัจจุบันธรรมของรูป-นาม เพียรตั้งสติอยู่เสมอ เอาใจจดจ่ออยู่กับรูปนามในทุกขณะ จนเกิดปัญญาวิมังสาเห็นพระไตรลักษณ์ของรูปนาม จนได้วิปัสสนาญาณ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์พ้นจากโลกีย์ด้วยวิโมกข์ ๓ อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะอาศัยอิทธิบาทนี้เป็นมูล

 

อินทรีย์ ๔

                       คือธรรมที่เป็นใหญ่ปกครองกุศลธรรมทั้งปวง
                ๑. สัทธินทรีย์ ความเป็นใหญ่ในความเชื่อ ความเลื่อมใสต่อสิ่งที่ควรเชื่อควรเลื่อมใส ได้แก่ ศรัทธาเจตสิก เป็นอินทรีย์ปกครอง เป็นใหญ่ในความเชื่อ ความเลื่อมใส ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวต่อทางไปสู่โลกุตตระ ได้แก่การเชื่อต่อวิปัสสนากรรมฐาน

              ๒. วิริยินทรีย์ ความเป็นใหญ่ในความเพียร ได้แก่วิริยเจตสิก เพียรด้วยวิปัสสนาทำความเพียรอย่างเป็นใหญ่ เป็นจอมแกล้วกล้า เพื่อให้บรรลุโลกุตตรธรรม

               ๓. สตินทรีย์ ความเป็นใหญ่ในการระลึกได้ ได้แก่สติเจตสิก รู้ทันปัจจุบันของรูปนามเพื่อให้เกิดญาณอันเป็นมรรคาไปสู่โลกุตตรธรรม

               ๔. สมาธินทรีย์ ความเป็นใหญ่ในการทำหน้าที่ให้รู้แต่อารมณ์เดียว ได้แก่เอกัคคตาเจตสิก ปกครองความเป็นใหญ่ในสมาธิ ไม่เผลอจากปัจจุบันธรรมอันจะเป็นปัจจัยให้ถึงโลกุตตระ

                 ๕. ปัญญินทรีย์ ความเป็นใหญ่ในความรู้แจ้งเห็นจริงในไตรลักษณ์ของรูปนามจนได้วิปัสสนาญาณถึงโลกุตตรธรรม มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ได้แก่ปัญญาเจตสิก


พละ ๕

                 พละ คือกำลังธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล เพื่อนำไปสู่โลกุตตรธรรม มี ๕ อย่างเช่นเดียวกับอินทรีย์ ได้แก่
                     ๑. สัทธาพละ
                     ๒. วิริยพละ
                     ๓. สติพละ
                     ๔. สมาธิพละ
                     ๕. ปัญญาพละ


โพชฌงค์ ๗

                โพชฌงค์ มาจากคำว่า โพธิ (แปลว่า การตรัสรู้) รวมกับคำว่า องค์
                โพชฌงค์ จึงแปลว่า องค์แห่งการตรัสรู้ ได้แก่เจตสิก ๒ ชนิดอันเป็นองค์ของอริยปัญญา คือ
                ๑. สติสัมโพชฌงค์ ได้แก่สติเจตสิก ประกอบเป็นองค์แห่งความตรัสรู้ โดยรู้ในรูปธรรม นามธรรม และโลกุตตรอารมณ์ ในทุกขณะของความเป็นไปของจิตที่เป็นกุศล

                ๒. ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ ได้แก่ปัญญาเจตสิก เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ รู้จักรูปธรรม นามธรรมโดยพระไตรลักษณ์ ประกอบด้วยมัคคญาณ ผลญาณ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์

                ๓. วีริยะสัมโพชฌงค์ ได้แก่วิริยะเจตสิก เป็นองค์ความเพียร เพื่อให้รู้ในรูปธรรมนามธรรม เกิดดับเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ผ่านญาณต่าง ๆ จนถึงมัคคญาณ ผลญาณ

             ๔. ปีติสัมโพชฌงค์ ได้แก่ปีติเจตสิก เป็นองค์ประกอบกับความรู้รูปธรรมนามธรรม และประกอบกับมัคคจิต ผลจิต มีความอิ่มใจ พอใจเป็นลักษณะ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์

               ๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ได้แก่ปัสสัทธิเจตสิก ความสงบเป็นองค์ประกอบกับความรู้ในวิปัสสนาและโลกุตตรปัญญา ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์

                ๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ ได้แก่เอกัคคตาเจตสิก ประกอบกับองค์ความรู้ รูปนามโดยไตรลักษณ์ และประกอบกับมัคคจิต ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์อันเดียว เป็นสมาธิ

                ๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ได้แก่ตัวตระมัชฌัตตาเจตสิก ความเป็นกลาง หรือความทำให้สภาวธรรมทำหน้าที่ของตน ๆ โดยสม่ำเสมอ ประกอบด้วยองค์ความรู้รูปนาม แล้วเฉยต่อสหชาตธรรมที่เกิดพร้อมกับวิปัสสนา มีญาณความรู้เป็นต้น จนได้วิปัสสนาญาณครบ มีนิพพานเป็นอารมณ์ มีอุเบกขาความวางเฉยประกอบกับโลกุตตรจิต


มรรค ๘

                มรรค คือ หนทางไปสู่พระนิพพาน ได้แก่เจตสิกธรรม ๘ ชนิด รวมเรียกว่าอัฏฐิงคิกมัคค มัคคสมังคี ความประชุมพร้อมกันของมรรค ๘ นี้ ย่อมมีในโลกุตตรจิต เกิดขึ้นขณะได้นิพพานเป็นอารมณ์
                ๑. สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ ได้แก่ปัญญาเจตสิก เกิดวิปัสสนาญาณเห็นรูปนามเกิดดับอยู่เสมอ ทั้งเห็นพระนิพพานพร้อมด้วยมัคคจิตได้ด้วย

                ๒. สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ ได้แก่วิตกเจตสิก ยกรูปนามขึ้นสู่พระไตรลักษณ์อันใดอันหนึ่งให้ทันพร้อมกับที่รูปนามดับไป ว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง หรืออนัตตา

                 ๓. สัมมาวาจา พูดชอบ ได้แก่วีรติเจตสิก จะพูดหรือไม่พูดก็ตาม มีการเว้นพูดผิดอยู่เสมอ มีสติอยู่ทุกขณะ

                ๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ ได้แก่วีรติเจตสิก เว้นการทำชั่ว จะทำอะไรหรือไม่ทำก็ตาม เว้นการกระทำที่ผิดอยู่เสมอ มีสติรู้ทันปัจจุบัน

                ๕. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือเป็นอยู่โดยชอบ ได้แก่วิรตีเจตสิก ที่เว้นจากการพูดผิดก็ดี เว้นจากการทำงานผิดก็ดี มีการดำรงชีพเช่นในเรื่อง การบริโภคอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ด้วยการมีสติอยู่เสมอ เรียกว่าเป็นอยู่ชอบ

                 ๖. สัมมาวายาโม เพียรชอบ ได้แก่วิริยะเจตสิก คือเพียรตั้งสติรู้ทันปัจจุบันของนามรูปบ่อย ๆ นั่นเอง

                 ๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ ได้แก่สติเจตสิก ที่รู้ทันปัจจุบันของรูปนามทุกขณะ

               ๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ ได้แก่เอกัคคตาเจตสิก ที่มีสติรู้ทันปัจจุบันของรูปนาม ไม่เผลอและประกอบกับอริยมัคคจิตได้ด้วย คือมั่นอยู่ในนิพพานเป็นอารมณ์อย่างเดียว พ้นด้วยวิโมกข์ ๓ อันใดอันหนึ่ง

             รวมทั้งสิ้นเป็นโพธิปักขิยธรรมจำนวน ๓๗ ซึ่งจะเกิดได้โดยครบถ้วนบริบูรณ์แต่เฉพาะในโลกุตตรจิตเท่านั้น ยกเว้นวิตกเจตสิกกับปีติเจตสิกมีบางครั้งไม่ได้เกิดในโลกุตตระสำหรับผู้ปฏิบัติวิสุทธิ์ ๕ ที่ยังเป็นโลกีย์อยู่นั้น โพธิปักขิยธรรมเกิดได้บ้างตามสมควรแก่ฐานะ บางอย่างก็ไม่เกิด

 

 

 

 

เชิงอรรถ

*  สุญญตวิโมกข์ พ้นด้วยเห็นอนัตตา อมิตตวิโมกข์ พ้นด้วยเห็นอนิจจา อัปปณิหิตวิโมกข์ พ้นด้วยเห็นทุกข์ตา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0090608676274618 Mins