สังขารุเปกขาญาณ

วันที่ 12 กพ. พ.ศ.2567

12-2-67-1-b.jpg

๑๑. สังขารุเปกขาญาณ
             

                 สังขารุเปกขาญาณ ญาณพิจารณาเห็นนามรูปโดยอาการวางเฉย มาจากคำว่า สังขาร รวมกับอุเปกขา และ ญาณ


สังขาร คือสภาพที่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ขันธ์ ๕ กล่าวอย่างย่อคือรูปกับนาม


อุเปกขา ความวางเฉย เป็นกลาง ๆ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ไม่กลัว ไม่เพลิดเพลิน


ญาณ หมายถึงปัญญารอบรู้ตามความเป็นจริง


                 ในญาณนี้กล่าวโดยสรุปคือ เมื่อพิจารณาเห็นทุกข์โทษภัยต่าง ๆ ของรูปนาม เกิดความเบื่อหน่ายเป็นอย่างยิ่งแล้ว แต่ไม่สามารถสละละทิ้งไปได้ จึงพิจารณาในไตรลักษณ์นั้นซ้ำอีก แล้ววางใจเฉยอยู่เหมือนสามีภรรยาที่หย่าขาดจากกันแล้วย่อมวางเฉยต่อกัน ไม่สนใจว่าอีกฝ่ายจะเป็นอย่างไร ทำอะไร ผู้ปฏิบัติถึงญาณนี้ย่อมวางเฉยในรูปนาม เพราะเกิดความเบื่อหน่าย เห็นความไม่เป็นแก่นสารสาระอันใดชัดแจ้ง จิตไม่มีการยึดเหนี่ยวผูกพันในสิ่งใด ไม่รับนิมิตต่าง ๆ มาเป็นอารมณ์ มองเห็นแต่ทุกข์ของรูป ทุกข์ของนาม เมื่อเห็นรูปนามดับซ้ำ ๆ กัน อยู่ เป็นของว่างเปล่า จิตย่อมสิ้นความสะดุ้งกลัว สิ้นความรักใคร่ในรูปนาม ตั้งอยู่ในอุเบกขา เฉยต่อรูปนาม ดับไป ๆ


                 เมื่อจิตตั้งอยู่ในสังขารุเปกขาญาณดังนี้ เหตุที่จะนำให้ไปเกิด ไปติดพันอยู่ในภพทั้ง ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐิติ ๗ สัตตาวาส ๙ ภูมิ ๓๑ นั้นไม่มีอีกแล้ว มีแต่จะเกลียดชัง เบื่อหน่ายแลดูเฉยอยู่เท่านั้น จิตไม่พัวพันในรูปโลก นามโลก อันเป็นโลกสันนิวาสอีกเลย เปรียบ
ประดุจใบบัวมีน้ำหยดลงไปก็ไม่มีที่จะติดค้างอยู่ได้


                  สังขารุเปกขาญาณ หากปฏิบัติเห็นแจ้งในพระนิพพานแล้ว จะมีอาการเหมือนสละสังขารน้อมเข้าหาพระนิพพาน ถ้าถึงมัคคจิตพ้นจากกิเลสได้เด็ดขาด สังขารุเปกขาญาณ นั้นชื่อว่าวุฏฐานคามินีวิปัสนา แต่ถ้ายังไม่แจ้ง ไม่ถึงพระนิพพาน ผู้ปฏิบัติย่อมเจริญอยู่ในอารมณ์ที่เห็นรูปนามดับไป ดับไป เฉยอยู่


                 การพิจารณาในญาณนี้ ให้กำหนดเอาว่ารูปนามเป็นของสูญด้วยอาการ ๒ อย่างก่อนแล้วกระจายออกเป็น ๔ เป็น ๖ เป็น ๘ เป็น ๑๐ เป็น ๑๒ และท้ายที่สุดถึง ๔๒ อัน เป็นการกระจายโดยนัยพิสดาร


                  พิจารณากำหนดรูปนามโดยเป็นของสูญเปล่า โดยนัย ๒ คือ
๑.สังขารธรรมนี้ว่างเปล่าจากการเป็นตัวตน

๒. ว่างเปล่าจากการเป็น ของตน โดยนัย ๔ คือ

       ๑.ตัวตนนี้มิได้มีอยู่ในที่หนึ่งที่ใด หรือในเวลาใด
       ๒. ตัวตนที่เราสำคัญผิดอยู่นี้ที่ควรจะให้ใครอื่นมาเป็นธุระกังวลด้วยนั้น

              ความจริงแล้วไม่มี (ไม่ได้เกี่ยวข้องกับใคร)
๓. ตัวตนของผู้อื่น ก็ไม่มีที่ใดในกาลใด
๔. ตัวตนของผู้อื่นที่จะมาเป็นกังวลแก่เรา ความจริงนั้นไม่มีโดยนัย ๖ คือ
(๑.) จักขุปสาท ไม่ใช่ตัวตน
(๒.) ไม่ใช่ของตน
(๓.) มีสภาวะไม่เที่ยง
(๔.) ไม่ยั่งยืนมั่นคง
(๕.) ไม่ใช่ของจริง
(๖) มีแต่ความปรวนแปร

 
             ประสาทอื่น ๆ เช่น โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท และหทยวัตถุก็ทำนองเดียวกัน โดยนัยนี้ยังพิจารณาถึง อารมณ์ทั้ง ๖ วิญญาณ ๖ สัมผัส ๖ ตราบถึง ชรา มรณะ ก็เป็นเช่นเดียวกัน โดยนัย ๘ คือ


๑. รูปนี้ไม่มีแก่นสารเพราะไม่เที่ยง
๒. ไม่มีแก่นสารเพราะไม่ยั่งยืน
๓. ไม่มีแก่นสารเพราะไม่มีความสุข
๔. เพราะไม่เป็นตัวของตัว
๕. เป็นของสูญ ปราศจาก สภาวะ เที่ยง
๖. ปราศจาก สภาวะ ยั่งยืน
๗. ปราศจากกิริยาที่ถือว่าเที่ยง
๔. มีความแปรปรวนไปในเบื้องหน้า

                ในขันธ์อื่น ๆ อีก ๔ ที่เหลือคือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ก็ทำนองเดียวกัน โดยนัย ๘ นี้เปรียบขันธ์ ๕ ได้ว่าเป็นเหมือนไม้ละหุ่ง ไม้มะเดื่อ ไม้สนุ่น ไม้ทองกวาว ฟองน้ำ พยับแดด ต้นกล้า หรือเหมือนถ้อยคำโกหกมารยาอันไม่มีแก่นสาร โดยนัย ๑๐ คือ พิจารณารูปโดยเป็นของ


๑. ว่างเปล่าจากแก่นสาร
๒. ไม่เป็นตัวเป็นตน
๓. ไม่อยู่ในอำนาจ
๔. ไม่มีผู้บังคับได้
๕. มีอายุน้อยและลามก

๖. ไม่ทําตามปรารถนา
๗. ไม่เชื่อถ้อยฟังค่า
๘. ไม่อยู่ในสภาวะดีงามตามต้องการ
๙. รูปตนและผู้อื่นเป็นเช่นเดียวกัน
๑๐. ปราศจากเหตุผล คือเหตุผลไม่ตรงกัน


โดยนัยหรืออาการ ๑๒ มี
๑. รูปนี้ไม่มีสัตว์บุคคล
๒. ไม่ใช่ชีวิต
๓. ไม่ใช่คน
๔. ไม่ใช่มาณพ
๕. ไม่ใช่หญิง
๖. ไม่ใช่ชาย
๗. ไม่ใช่ตน
๘. ไม่ใช่ของตน
๙. มิใช่เรา
๑๐. มิใช่ของเรา
๑๑. ไม่ใช่ของผู้อื่น
๑๒. ไม่ใช่ของผู้ใดผู้หนึ่ง


อาการ ๑๒ นี้พิจารณาไปถึงเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ฯลฯ


พิจารณาโดยความว่างเปล่าด้วยอาการ ๔๒ คือพิจารณาโดยเห็นเป็นของ
๑. ไม่เที่ยง
๒. เป็นทุกข์
๓. เป็นโรค

๔. เป็นดังหัวฝี

๕. เป็นลูกศร

๖. คับแคบ
๗. อาพาธ
๘. เป็นอื่น
๙. แตกสลาย
๑๐. จัญไร
๑๑. อุบาทว์
๑๒. เป็นภัย

๑๓. เป็นอุปสรรค
๑๔. หวั่นไหว
๑๕. ผุพังย่อยยับ

๑๖. ไม่ยั่งยืน
๑๗. ไม่มีเครื่องต้านทาน
๑๘. ไม่มีที่เร้น

๑๙. ไม่มีที่พึ่ง
๒๐. ไม่มีที่พำนัก
๒๑. นิดหน่อย

๒๒. ว่างเปล่า
๒๓. มีความสุขน้อย
๒๔. เป็นอนัตตา
๒๕. ไม่น่าชื่นใจ
๒๖. เป็นโทษ
๒๗. แปรปรวน
๒๘. ไม่มีแก่นสาร
๒๙. รากเง่าของความคับแค้น
๓๐. เป็นผู้ฆ่า
๓๑. เสื่อม
๓๒. อารมณ์ของอาสวะ
๓๓. ถูกปรุงแต่ง
๓๔. เป็นเหยื่อของมาร
๓๕. มีความเกิดเป็นธรรมดา
๓๖. มีความแก่เป็นธรรมดา
๓๗. มีความเจ็บเป็นธรรมดา

๓๘. มีความตายเป็นธรรมดา
๓๙. ที่ตั้งของเศร้าโศก
๔๐. เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด
๔๑. เสื่อมเพราะตั้งอยู่ไม่ได้
๔๒. ปราศจากที่พึ่ง


              การพิจารณาขันธ์อื่น ๆ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน พระพุทธดำรัสตรัสสอน พระโมฆราช1


สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ           โมฆราช สทา สโต
อตฺตานุทิฏฐิ โอหจฺจ                 เอวํ มจฺจุตตโร สิยา
เอวํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ                   มจฺจุราชา น ปสฺสติ ฯ

              ดูกรโมฆราช เธอจงมีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญว่างเปล่า จงถอนอัตตานุทิฏฐิ คือความตามเห็นว่า เป็นตัวตนเสียให้ได้ ด้วยอาการอย่างนี้ จึงข้ามพ้นความตาย พระยามัจจุราชย่อมไม่แลเห็นบุคคลผู้พิจารณาเห็นโลกโดยอาการอย่างนี้


              เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นอยู่ดังได้กล่าวแล้ว ผลของสังขารุเปกขาญาณจะเกิดขึ้น ถ้ายังไม่เห็นนิพพาน ก็จะ


๑. ละความกลัว ละความยินดี มีใจวางเฉยอยู่กับรูปนาม


๒. ไม่ยึดมั่นถือมั่นในรูปนาม


๓. จิตไม่หวนกลับ วกเวียนไปในภพทั้ง ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐิติ ๗ สัตตาวาส ๙ อีกไม่มีอาลัยใยดีในภพชาติอีก เหมือนน้ำบนใบบัว เหมือนขนปีกไก่ เส้นเอ็นใส่ในไฟย่อมม้วนตัว ไม่กลับคืน


๔. มีสติตั้งมั่นปราศจากความโลภ โกรธ หลง


๕. ไม่ผูกพัน เกาะเกี่ยวในรูป เสียง กลิ่น รส ฯลฯ


๖. ไม่รับบัญญัติเป็นอารมณ์ ไม่เข้าใจผิด ปราศจากสัญญาวิปัลลาส


๗. ไม่สั่งสมทุกข์ไว้


๘. จิตแล่นไปสู่สันติบท คือพระนิพพาน ถ้ายังไปไม่ได้ ก็จำต้องกลับมายึดการพิจารณารูปนามเป็นอารมณ์ต่อไป เหมือนกาที่พ่อค้าเรือสำเภาปล่อยให้บินขึ้นไปดูทิศทางของฝั่ง ถ้ากาบินขึ้นมองเห็นฝั่งอยู่ทางใดก็จะบินตรงไปไม่กลับมาที่เรืออีก แต่ถ้ามองไม่เห็นก็จะบินกลับมาเกาะที่เรือ วนเวียนอยู่ดังนี้


๙. ญาณนี้ยิ่งปฏิบัตินาน จะยิ่งละเอียดสุขุม เหมือนการร่อนแป้งหลาย ๆ ครั้ง เหมือนการชี้ฝ้ายที่หีบแล้วด้วยไน (เครื่องมือกรอฝ้าย)


                 เมื่อจิตของผู้ปฏิบัติตั้งมั่นอยู่ด้วยอนุปัสสนาทั้ง ๓ ย่อมเป็นปัจจัยให้ได้เป็นพระอริยบุคคลโดยถึงความเป็นวิโมกขมุข ๓


                วิโมกข์ แปลว่า ความหลุดพ้น วิโมกขมุข แปลว่า หนทางแห่งความหลุดพ้นโดยวิเศษ หมายความเอาโดยง่ายคือ อนุปัสสนา ๓


วิโมกข์ มี ๓ ชนิด อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ และสุญญตวิโมกข์2



- ถ้าพิจารณาเห็นอนิจจัง มีศรัทธามาก มีอนิมิตตวิโมกข์ เป็นอธิบดี จิตออกจากธุวนิมิตไปสู่อนิมิต


- ถ้าพิจารณาเห็นทุกขัง มีปัสสัทธิมาก มีอัปปณิหิตวิโมกข์ เป็นอธิบดี จิตออกจากปวัตตะไปอัปปวัตตะ


- ถ้าพิจารณาเห็นอนัตตา มีปัญญามาก มีสุญญตวิโมกข์เป็นอธิบดี จิตออกจากทั้งสองอย่าง


พระอริยบุคคล ๘ ชนิด แยกเป็น ๗ จำพวกตามคุณวิเศษในการปฏิบัติ พระอริยบุคคล ๘ แบ่งออกเป็น ฝ่ายมรรค ๔ ฝ่ายผล ๔


                   มรรค ๔ มีโสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค


                   ผล ๔ มี โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตตผล


แยกเป็น ๗ จำพวกตามคุณวิเศษในวิธีการปฏิบัติ


๑. สัทธานุสารี ได้แก่พระอริยบุคคล มีสัทธินทรีย์ยิ่ง สำเร็จด้วยอาการมากด้วยศรัทธา แต่หมายเอาขณะที่ถึงมรรค สำเร็จด้วยการพิจารณารูปนามเป็นอนิจจัง ได้แก่ โสดาปัตติมรรค


๒. สัทธาธิมุต ได้แก่พระอริยบุคคล ผู้สำเร็จด้วยอาการมากด้วยศรัทธา แต่เป็นขณะที่ถึง ผล (โสดาปัตติผล)


๓. กายสักขี ได้แก่ พระอริยบุคคล พิจารณารูปนามด้วยการเป็นทุกขัง มากด้วยความสงบ ได้แก่ โสดาปัตติผล จนถึงอรหัตตมรรคได้สมาธินทรีย์ เพราะทำสมถกรรมฐานได้ปฐมฌานก่อนแล้วจึงเจริญวิปัสสนา จนสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล


๔. อุภโตภาควิมุต ได้แก่พระอริยบุคคลผู้แต่เดิมเจริญสมถกรรมฐานมาก่อน จนได้ถึงอรูปฌาน แล้วจึงมาปฏิบัติวิปัสสนา เรียกว่าหลุดพ้นทั้ง ๒ ฝ่าย คือทั้งสมถะและวิปัสสนา (พระอรหันต์)


๕. ธัมมานุสารี ได้แก่พระอริยบุคคล ผู้พิจารณารูปนามเป็นอนัตตา เป็นผู้มากด้วยปัญญาได้ปัญญินทรีย์ เป็นธัมมานุสารีในขณะแห่งโสดาปัตติมรรค (โสดาปัตติมรรค)


๖. ทิฏฐิปัตตะ ได้แก่พระอริยบุคคล ใส่ใจในอนัตตา มีปัญญินทรีย์มาก (โสดาปัตติผล - อรหัตตมรรค)


๗. ปัญญาวิมุต ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา ได้แก่พระอริยบุคคลผู้เจริญวิปัสสนาล้วนจนเป็นพระอรหันต์


วิปัสสนาญาณ ๓ คือ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ โดยใจความแล้วเหมือนเป็นอย่างเดียวกัน คือ


- เมื่อเกิดปัญญาพิจารณาความเป็นไปต่าง ๆ เช่น เห็นความเกิดดับของรูปนามความไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เห็นกรรมที่ทำให้รูปนามเกิดอีก เห็นคติ เห็นการเกิดขึ้น ของขันธ์ เห็นวิบาก เห็นความชรา เห็นความเจ็บไข้ ความเศร้าโศก ปริเทวะ อุปายาสะเห็นทุกข์ ภัยเป็นเยื่อล่อของมาร ฯลฯ เมื่อเห็นดังนี้แล้วเกิดความอยากหลุดพ้นจากรูปนามเป็น มุญจิตุกัมยตาญาณ


- แล้วตั้งใจดูความเกิดขึ้น ต่อไปของรูปนาม ตั้งใจพิจารณาดูรูปนามนั้นเป็น ปฎิสังขาญาณ



- ความวางเฉยต่อรูปนาม วางเฉยต่อความเกิดดับของรูปนามเป็น สังขารุเปกขาญาณ


สรุปรวม เรียกว่า ตอนต้น  อยากสละ ละความผูกพัน พอใจ กำหนัด ยินดีในรูปนาม เป็น มุญจิตุกัมยตาญาณ


ในตอนกลาง พิจารณาหาอุบายเพื่อปล่อยวางบ่อย ๆ จัด เป็นปฏิสังขาญาณ


ในตอนสุดท้าย สละความอาลัยใยดีสิ้นแล้ว วางเฉยอยู่ เป็นสังขารุเปกขาญาณ


                  สังขารุเปกขาญาณนี้จะเรียกชื่อว่า สิกขาปัตตะวิปัสสนาก็ได้ เพราะเป็นยอดแห่งวิปัสสนาทั้งปวง หรือจะเรียกว่า วุฏฐานคามินีวิปัสสนาก็ได้ เพราะเป็นญาณที่สืบต่อกันกับมรรคเป็นญาณที่ออกจากนิมิต คือออกจากวัตถุที่เป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่น ได้แก่ขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นอารมณ์ของวิปัสสนานั่นเอง และออกจากความเป็นไปต่าง ๆ ที่เกิดมาจากมิจฉาทิฏฐิ ภายในขันธสันดานของตน และออกจากกองกิเลสที่เป็นไปตามมิจฉาทิฏฐินั้น


                 วุฏฐานคามินีวิปัสสนาที่จะสืบต่อกับอริยมรรคของแต่ละคน แตกต่างกันคือบางคนพิจารณาสังขารภายใน เวลาญาณจะเกิดต่อกับอริยมรรค ก็ยังพิจารณาสังขารภายใน คงเดิมบางคนพิจารณาสังขารภายใน แต่เมื่อจะสืบต่อเข้ากับอริยมรรค กลับพิจารณาสังขารภายนอก

 

                 บางคนพิจารณาสังขารภายนอกเวลาสืบต่อกับอริยมรรค คงพิจารณาสังขารภายนอกตามเดิม แต่บางคนเปลี่ยนเป็นพิจารณาสังขารภายใน


                บางคนพิจารณารูปธรรม เมื่อเวลาสืบต่อกับอริยมรรคคงพิจารณารูปธรรมต่อไปตามเดิม แต่บางคนเปลี่ยนเป็นพิจารณาอรูปธรรม


                บางคนพิจารณาอรูปธรรม เมื่อเวลาสืบต่อกับอริยมรรคก็คงพิจารณาอรูปธรรมต่อไปตามเดิม แต่บางคนเปลี่ยนเป็นพิจารณารูปธรรม


                 บางคนพิจารณาทั้งรูปธรรมอรูปธรรมพร้อมกันอยู่ เมื่อจะสืบต่อกับอริยมรรคก็พิจารณาเบญจขันธ์ ไปพร้อมกันทีเดียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไป สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา พิจารณาดังนี้แล้วจึงเกิดมรรค


                บางคนพิจารณาทางอนิจจัง ออกทางอนิจจัง


                 พิจารณาทางอนิจจัง ออกทางทุกขัง


                พิจารณาทางอนิจจัง ออกทางอนัตตา


                พิจารณาทางอนิจจัง ต่อมาพิจารณาทางทุกขัง เวลามรรคจะเกิดพิจารณาทางอนัตตา


                พิจารณาทางทุกขัง ออกทางทุกขัง คือแรกพิจารณาเห็นทุกขัง ต่อมาเห็นอนิจจัง ต่อมาเห็นอนัตตา แต่พอมรรคจะเกิดกลับปรากฏชัดทางทุกขัง ในทำนองเดียวกัน


                 พิจารณาทางทุกขัง ที่สุดออกทางอนิจจัง หรือ ออกทางอนัตตา


                พิจารณาทางอนัตตา ที่สุดออกทางอนัตตา หรือ ทุกขัง หรือ อนิจจัง


สรุปลำดับขั้นตอนต่าง ๆ ของญาณมีดังนี้


๑. การยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเรา ว่าของเรา ได้แก่การที่ยังมิได้ลงมือปฏิบัติวิปัสสนา


๒. การเจริญวิปัสสนา รู้ขันธ์ ๕ ว่ามีแต่รูปกับนาม เกิดมาเพราะเหตุและปัจจัย มีลักษณะเป็นไตรลักษณ์มีแต่ความเกิดดับ และมีแต่ความดับไปอย่างเดียว ได้แก่ปฏิบัติได้นามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ อุทยัพพยญาณ และภังคญาณ


๓. การเห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว เห็นโทษ และรู้สึกเบื่อหน่าย ได้แก่ ภยญาณ อาทีนวญาณ และนิพพิทาญาณ


๔. การอยากพ้นไปจากความเป็นไปของรูปนาม การหาหนทางหนีออกไป แล้วหนีไปตามทางนั้น ได้แก่ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ และสังขารุเปกขาญาณ


๕. การแลเห็นทางที่แน่ใจว่าหนีพ้นได้แน่นอน เป็นที่ปลอดภัย เรียก อนุโลมญาณ


๖. การออกได้พ้นจากความเป็นไปของรูปนามแล้ว เป็นโคตรภูญาณ แต่ยังไม่ปลอดภัยนัก


๗. การออกให้พ้นไปให้ไกล เป็นมรรคญาณ


๘. การอยู่ในความปลอดภัยที่แท้จริง เป็นผลญาณ


๙. การอยู่ในที่ปลอดภัย หันกลับมองย้อนดูทางที่หนีออกมาได้ เป็นปัจจเวกขณญาณ มีข้อความอุปมาการปฏิบัตินี้ไว้อย่าง เช่น


- เรื่องค้างคาวจับอยู่ที่ต้นมะซาง ซึ่งมี ๕ กิ่ง ไม่พบผลไม้อะไร จึงบินไปที่ถึงยอด แหงนดูบนอากาศ แล้วจึงบินไปยังต้นที่มีผลต้นอื่น


- เรื่องจับงูเห่าที่อยู่ในน้ำ โดยจับถูกที่ต้นคอ เข้าใจว่าหรือเป็นปลา เมื่อยกพ้นน้ำเห็นดอกจันทร์ที่หัวงู รู้ว่าเป็นงู จึงหวาดกลัว คิดหาทางเหวี่ยงทิ้ง เกรงจะถูกกัดเสียก่อน จึงต้องเหวี่ยงไปมาเพื่อให้อ่อนกำลัง แล้วจึงทิ้งเสียได้ หนีขึ้นจากน้ำไป ปลอดภัย แล้วย้อนมองดูทางที่ทิ้งงู


- เหมือนเรือนถูกไฟไหม้ เจ้าของบ้านกำลังนอนหลับ รู้สึกตัวตื่น ต้องรีบหาทางหนี ออกไปได้ยืนอยู่ภายนอก หันกลับมามองดูเรือนของตน


- เหมือนโคหนีออกจากคอก ตอนกลางคืน เจ้าของตื่นขึ้นไปเที่ยวตามพบโคของหลวงเข้าใจผิด คิดว่าของตนเอากลับมาบ้าน รุ่งเช้ารู้ว่าผิดตัว เกรงอาญา ต้องรีบนำไปปล่อยแล้วตนเองหนีเสียให้พ้น พ้นอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว หันกลับมาดูทางที่เดินหนีมา


- เหมือนบุรุษอยู่ร่วมกับนางยักษิณีที่แปลงตัวมา วันหนึ่งจับได้ว่านางเป็นยักษ์ ชายนั้นจึงหวาดกลัว หาหนทางหลบหนี แล้วจึงพยายามหนี แล้วหนีไปโดยรวดเร็ว จนอยู่ในที่ปลอดภัย


- เหมือนหญิงรักลูกนั่งอยู่บนบ้าน ได้ยินเสียงเด็กร้องที่กลางถนน เข้าใจว่าลูกของตน จึงวิ่งไปอุ้มขึ้นมา เมื่อรู้ว่าผิดตัว เกรงจะถูกกล่าวหาว่าเป็นขโมย จึงรีบวางเด็ก หันมองทางโน้น ทางนี้ เกรงคนเห็น แล้ววิ่งหนีขึ้นบ้าน นั่งอยู่ที่ปลอดภัย
 

- เหมือนผู้มีความหิวครอบงำ


- ผู้มีความกระหายครอบงำ


- ผู้มีความหนาวถูกต้องตัว


- ผู้มีความร้อนถูกต้องตัว


- ผู้มีความมืดครอบคลุม


- ผู้ถูกยาพิษซาบซ่านไปในตัว


สังขารุเปกขาญาณ มีลักษณะดีงามพิเศษอีก ๒ ประการสำคัญ ดังนี้คือ


๑. ทำใจของผู้ปฏิบัติให้เชื่อมั่นแรงกล้า ตั้งใจแน่วแน่ในการปฏิบัติ ตรงดิ่งต่อจุดเดียวคือ พระนิพพาน มีความมั่นคงแน่นอน ไม่ท้อถอย ท้อแท้


๒. มีความวิเศษของธรรมที่ทำเป็นกำลังให้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ปรากฏขึ้นในญาณนี้ คือ


๒.๑ ความวิเศษของโพชฌงค์ ๗ ประการ โพชฌงค์ทั้ง ๗ จะมาประชุมเกิดร่วมกันเป็นธรรมสมังคี ให้ผู้ปฏิบัติบรรลุ มรรค ผล นิพพาน


๒.๒ ความวิเศษขององค์มรรค หมายถึงองค์มรรคทั้ง ๔ จะต้องมารวมกำลังเป็นมัคคสมังคี เพื่อเข้ามาทำงานประหาณกิเลสพร้อมกัน ตั้งแต่ญาณนี้เป็นต้นไป


๒.๓ ความวิเศษขององค์ฌาน ในที่นี้หมายเอาญาณ คือปัญญาที่มีกำลังแก่กล้าจวนจะได้บรรลุมรรคอยู่แล้ว ไม่ใช่ฌานที่เพ่งรูปนามเป็นอารมณ์ ที่เรียกว่า ลักขณูปนิชฌานหรือฌานที่เกิดจากการเพ่งอารมณ์ในสมถกรรมฐาน ๔๐


๒.๔ ความวิเศษแห่งข้อปฏิบัติ ได้แก่ปฏิปทาทั้ง ๔ คือ
ทุกฺขาปฏิปทา   ทนุธาภิญญา   ปฏิบัติลำบาก   ได้ผลช้า
ทุกฺขาปฏิปทา   ขิปฺปาภิญญา    ปฏิบัติลำบาก   ได้ผลเร็ว
สุขาปฏิปทา   ทนฺธาภิญญา   ปฏิบัติสะดวก   ได้ผลช้า
สุขาปฏิปทา   ขิปฺปาภิญญา ปฏิบัติสะดวก ได้ผลเร็ว


การได้ผลช้า เพราะในเวลาปฏิบัติ อุปกิเลส ๑๐ รบกวนมาก


๒.๕ ความวิเศษแห่งวิโมกข์ ๓3  ผู้ปฏิบัติวิปัสสนา ไม่ว่าจะเป็นแบบเจริญวิปัสสนาล้วน ๆ หรือแบบที่เคยปฏิบัติสมถกรรมฐานมาจนได้ฌาน แต่ไม่ทำฌานให้เป็นบาทของวิปัสสนาหรือผู้ที่ทำปฐมฌานให้เป็นบาทของวิปัสสนา พิจารณารูปนามอื่น นอกจากองค์ฌานที่เป็นบาทผู้ปฏิบัติทั้ง ๓ ประเภทนี้เมื่อปฏิบัติจนมรรคเกิดขึ้นนั้น ย่อมประกอบด้วยองค์ของปฐมฌานทั้งนั้น และรวมลงในมรรคทั้งหมด รวมทั้งโพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ และองค์ฌาน ๕ ก็มีอยู่ในมรรคทั้งหมดนี้ด้วย


                การเจริญวิปัสสนาในเบื้องต้น ผู้ปฏิบัติบางคนมีจิตประกอบด้วยโสมนัส บางคนประกอบด้วยอุเบกขา ไม่เหมือนกัน แต่เมื่อปฏิบัติถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว เวลาจะออกพ้นจากกิเลสในโลกิยะ คือจะออกจากโคตรปุถุชน จิตย่อมประกอบไปด้วยโสมนัสบ้าง อุเบกขาบ้าง ยกเว้นผู้ปฏิบัติที่ทำฌาน ๕ (ปัญจมฌาน) เป็นบาทแล้วเจริญวิปัสสนา พวกนี้จิตประกอบด้วยอุเบกขาอย่างเดียวเท่านั้น


การหลุดพ้น (วิมุตติ ) และการละ (ปหาน) ความจริงมีความหมายเหมือนกัน ต่างกันแต่เพียงถ้อยคำ วิมุตติมีอยู่ ๕ อย่าง
๑. ตทังควิมุตติ     หลุดพ้นชั่วคราวได้แก่ ศีล
๒. วิกขัมภนวิมุตติ     หลุดพ้นด้วยการข่มเอาไว้ ไม่ให้เกิดได้แก่สมาธิ
๓. สมุจเฉทวิมุตติ     หลุดพ้นได้เด็ดขาด ได้แก่มรรค
๔. ปฏิปัสสัมภนวิมุตติ     หลุดพ้นโดยสงบ ได้แก่ผล
๕. นิสสรณวิมุตติ      หลุดพ้นออกไป ได้แก่นิพพาน

ปหาน (การละ) มีอยู่ ๕ อย่างเหมือนกัน
๑. ตทังคปหาน      ละชั่วคราว ได้แก่ ศีล
๒. วิกขัมภนปหาน     ละด้วยการข่มไว้ ได้แก่สมาธิ (ฌาน)
๓. สมุจเฉทปหาน     ละโดยเด็ดขาด ได้แก่มรรค (อริยมรรค)
๔. ปฏิปัสสัมภนปหาน     ละได้โดยสงบ ได้แก่ ผล
๕. นิสสรณปหาน     ละโดยการออกไป ได้แก่นิพพาน


 

 

1พระไตรปิฎก เล่ม ๓๐ จูฬนิทเทส ข้อ ๕๐๔

2อนิมิตตแปลว่า ไม่มีเครื่องหมาย อัปปณิหิต แปลว่า ไม่มีที่ตั้ง สุญญต แปลว่า ว่างเปล่า

3 อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ สุญญตวิโมกข์

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.014124615987142 Mins