ฝั่งแห่งใจหยุดนิ่ง

วันที่ 14 เมย. พ.ศ.2567

140467b01.jpg


ฝั่งแห่งใจหยุดนิ่ง
มาฆบูชา ๒๕๓๖
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)



                เราก็หลับตาของเราเบาๆ พอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับตาพอสบาย ๆ นะจ๊ะ ทุก ๆ คน แล้วก็ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี ปรับให้รู้สึกร่างกายของเราสบาย อย่าให้มีส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเราเกร็งหรือเครียด ทำตัวของเราให้สบาย ๆ นะจ๊ะ แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาดให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส จะได้เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับมหากุศล เพราะฉะนั้นตอนนี้ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจกันให้ดี อย่าพูดอย่าคุยกันนะจ๊ะ ให้ตั้งใจให้ดีทุก ๆ คน

 


                ความสบายเป็นหัวใจของการเข้าถึงธรรม ความสบายเป็นหัวใจของการเข้าถึงธรรม เราจะปฏิบัติเจริญภาวนาแบบวิธีไหนก็ตาม จะต้องอาศัยหลักของความสบายนี่เป็นหัวใจ ถ้าหากว่าไม่ปรับให้ร่างกายและจิตใจเบาสบายแล้ว ไม่ว่าเราจะปฏิบัติแบบวิธีไหนก็ตามก็จะไร้ผล จะเข้าไม่ถึงความสงบ เพราะฉะนั้นความสบายนี่เป็นเบื้องต้นที่สำคัญ อย่าดูเบานะจ๊ะทุก ๆ คน ตอนนี้อยู่ระหว่างการที่เราจะปรับให้กายและใจเบาสบายน่ะ สบายในระดับแห่งความพอดีของใจ พอดีสังเกตได้จากความพอใจของเรา ความพอใจคือเราสังเกตอย่างนี้นะจ๊ะ ว่าถ้าเราขยับตัว อย่างนี้ทำจิตใจให้เบิกบานแช่มชื่นอย่างนี้ รู้สึกว่าเราพอใจ ถูกใจเรา นั่นแหละคือความพอเหมาะพอดีหรือที่เราเรียกว่าถูกส่วน ก็ให้รักษาในระดับนี้เรื่อยไปเลย ให้ต่อเนื่องให้สม่ำเสมอ ไม่ช้าเราก็จะเข้าถึงฝั่งแห่งใจหยุดนิ่ง เราจะเข้าถึงฝั่งของใจหยุดใจนิ่ง ซึ่งเมื่อหยุดนิ่งถูกส่วนเข้าก็จะพบดวงปฐมมรรค เป็นดวงกลม ๆ ใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมวน่ะ จะใสสะอาดบริสุทธิ์ อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ปฐมมรรคนี่แหละเป็นต้นทางที่จะไปสู่อายตนนิพพาน

 


                เพราะฉะนั้นปฐมมรรคนี่สำคัญนะจ๊ะ ปฏิบัติธรรมะแล้วจะต้องให้ได้อย่างน้อยเข้าถึงปฐมมรรคคือดวงกลมใสบริสุทธิ์ดังกล่าวแล้ว จึงจะถูกต้องร่องรอยของพระพุทธศาสนา ปฐมมรรคนั้น จะต้องเกิดขึ้นที่เดียวคือที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ อยู่ที่กึ่งกลางกายของเราตรงนี้ที่เดียวเท่านั้น เมื่อเราหยุดได้ถูกส่วนเข้าในกลางดวงปฐมมรรค ปฐมมรรคก็จะขยายกว้างออกไป ขยายกว้างไปรอบทิศทีเดียว แล้วเราก็จะพบดวงธรรมต่าง ๆ ซ้อนกันอยู่ภายในนั้น ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ดวงธรรมที่ละเอียดซ้อนอยู่ในกลางดวงธรรมที่หยาบกว่า อย่างเช่นในกลางดวงปฐมมรรค เราจะเข้าถึงดวงศีล ลักษณะก็กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้วอย่างนี้แหละ ใสบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ในกลางดวงศีลเราก็จะเข้าถึงดวงสมาธิ ดวงธรรมชั้นถัดไปกลมรอบตัว ใสบริสุทธิ์สว่างยิ่งขึ้น ในกลางดวงสมาธิเราจะเข้าถึงดวงธรรมอีกดวงหนึ่งที่เรียกว่าดวงปัญญา กลมรอบตัวใสบริสุทธิ์ ในกลางดวงปัญญาก็จะเข้าถึงดวงธรรมอีกดวงหนึ่งกลมรอบตัวเหมือนกันเรียกว่าดวงวิมุตติ ในกลางดวงวิมุตติพอถูกส่วนเข้าก็จะเข้าถึงดวงธรรมอีกดวงหนึ่ง กลมรอบตัวเหมือนกัน ใสบริสุทธิ์ยิ่งกว่า เรียกว่าดวงวิมุตติญาณทัสสนะ 

 


                ทั้งหมด ๖ ดวงซ้อนกันอยู่ภายใน ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ๆ ๆ เข้าไปเลย ที่ละเอียดกว่าก็ซ้อนอยู่ที่ในหยาบกว่า พอสุดกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เราจะเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด ลักษณะเหมือนกับตัวของเราเอง ท่านชายก็เหมือนกับท่านชาย ท่านหญิงก็เหมือนกับท่านหญิง อยู่ในกลางนั้นน่ะ ใสบริสุทธิ์ทีเดียว นั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับเรา มันก็จะเข้ากันไปอย่างนี้แหละไปตามลำดับ จนกระทั่งเข้าไปพบกายในกายเข้าไปเรื่อย ๆ เลยโดยผ่านดวงธรรม ๖ ดวงดังกล่าวแล้ว แต่ว่าละเอียดยิ่งขึ้นไปตามลำดับ พอสุดดวงที่ ๖ ก็จะพบกายอีกกายหนึ่งเกิดขึ้นเรียกว่ากายทิพย์ สวยงามหนักยิ่งขึ้นมีเครื่องประดับคล้องติดกับตัวไม่ห้อยรุ่งริ่งเหมือนมนุษย์ทั้งหลายน่ะ นั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรานะ 

 


                ถ้าเข้ากลางกายทิพย์ต่อไปอีกก็จะผ่านดวงธรรม ๖ ดวงดังกล่าว ซ้อน ๆ กันอยู่ในที่สุดก็จะเข้าถึงกายรูปพรหม สวยงามหนักยิ่งขึ้น ในกลางกายรูปพรหมพอถูกส่วนก็จะเข้าถึงดวงธรรมต่าง ๆ ๖ ดวงที่ซ้อนกันอยู่ ในกลางดวงสุดท้ายดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เราจะเข้าถึงกายอรูปพรหม สวยงามหนักยิ่งขึ้นลักษณะใกล้เคียงกับกายธรรมไปทีเดียว กายอรูปพรหม พอเข้ากลางกายอรูปพรหมถูกส่วนเข้า เราก็จะเข้าถึงดวงธรรม ๖ ดวง ซ้อน ๆ กันอยู่ภายใน สุดกลางดวงสุดท้ายก็จะเข้าถึงกายธรรม กายธรรมเบื้องต้นเรียกว่ากายธรรมโคตรภู กายธรรมโคตรภูเป็นจุดกึ่งทางระหว่างปุถุชนกับพระอริยเจ้าน่ะ เข้าถึงกายธรรม ลักษณะกายธรรมนั้นสวยงามมาก งามกว่ากายต่าง ๆ ที่ผ่านมาแล้วทั้งหมด กายท่านใสเป็นแก้ว ใสยิ่งกว่าเพชร ใสเกินใส เกตุดอกบัวตูมงามไม่มีที่ติ นั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับเรา ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย กายท่านถึงตรง กายตรงทีเดียว นั่นกายธรรมโคตรภู

 


                กายธรรมนี่แหละเป็นหลักของพระพุทธศาสนา เป็นกายที่ทำให้เรารู้แจ้ง เห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวง เป็นกายที่มีแต่ความสุขล้วน ๆ ไม่มีความทุกข์เจือปนเลยแม้แต่นิดหนึ่ง ใครได้เข้าถึงกายธรรมจะซาบซึ้งถึงความสุขภายใน จะซาบซึ้งถึงความสุขที่แท้จริงว่ามันเป็นอย่างไรน่ะ เพราะฉะนั้นกายธรรมนี้เป็นกายที่สำคัญมาก เป็นที่พึ่งและที่ระลึกของพวกเราทั้งหลาย ของมนุษย์ทั้งหลาย ถ้ามนุษย์ทั้งหลายยังเข้าไม่ถึงกายธรรม จิตใจยังอ้างว้างยังว้าเหว่ ยังไม่ปลอดภัย ยังเหงา ยังเศร้าสร้อยได้ เพราะว่ายังเข้าไม่ถึงที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริง เมื่อเข้าถึงกายธรรมได้แล้ว ความทุกข์ ความหงอยเหงาความเศร้าต่าง ๆ ก็หมดไป เปลี่ยนแปลงไปเป็นความเบิกบาน สุขสดชื่นไม่มีที่สิ้นสุด ผู้ที่เข้าไปถึงแล้วก็จะค้นพบว่าเป็นความสุขที่พูดไม่ออกบอกไม่ถูกทีเดียว เป็นปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตนเมื่อเข้าถึงแล้ว ชาวพุทธจะต้องเข้าถึงตรงนี้ถึงจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริง ถ้ายังเข้าถึงธรรมกายไม่ได้ ก็ยังไม่เป็นชาวพุทธที่แท้จริง ยังเป็นอยู่แค่ภายนอกเท่านั้น ยังไม่เข้าถึงภายใน

 


                เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายที่ได้เดินทางไกลมาจากทั่วประเทศ ขอให้จำตรงนี้เอาไว้นะจ๊ะ ถ้าเรายังเข้าไม่ถึงกายธรรมแล้วละก็ เรายังไม่เป็นชาวพุทธ ๑๐๐% เพราะเรายังเข้าไม่ถึงสรณะภายในน่ะ เราได้แต่ขอถึง ที่เราสวดมนต์กันทุก ๆ วันว่าพุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริงเนี่ยเรายังไม่รู้จักเลย แล้วจะยึดเป็นที่พึ่งได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าถึงกายธรรมภายในตัวของเราแล้ว ได้ชื่อว่าเราได้เข้าถึงพุทธรัตนะ เข้าถึงที่พึ่ง

 


                พระพุทธเจ้าท่านได้เข้าถึงธรรมกายภายในมาก่อน ท่านพบที่พึ่งอันประเสริฐแล้ว จึงได้แนะนำสั่งสอนชาวโลกทั้งหลายให้เข้าถึงเช่นเดียวกับพระองค์ ก็แสดงว่ากายธรรมนั้น มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุก ๆ คนอยู่แล้ว เป็นแต่เพียงเราไม่ทราบว่ามีอยู่ เราไม่ทราบว่าอยู่ที่ตรงไหน เราไม่ทราบว่าจะเข้าถึงได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์ท่านเข้าถึงแล้ว จึงได้แนะวิธีการในการเข้าถึงนั้น จะต้องอาศัยหยุดอย่างเดียว หยุดใจที่ศูนย์กลางกายนะ ภายในตัว พอถูกส่วนก็เห็นไปตามลำดับ ดังกล่าวแล้ว แล้วในที่สุดก็จะเข้าถึงกายธรรม ถึงที่พึ่งถึงที่ระลึก เมื่อถึงกายธรรมแล้ว จะนั่งตรงไหนก็เป็นสุข นอนตรงไหนก็เป็นสุข ยืนตรงไหนก็เป็นสุข เดินตรงไหนก็เป็นสุข นั่งนอนยืนเดินเป็นสุขทุกทิวาราตรีทีเดียว

 


                เพราะฉะนั้นกายธรรมนี้สำคัญนะจ๊ะ มาประชุมกันบำเพ็ญมหากุศลในวันนี้ จำอะไรไม่ได้ก็ขอให้จำสักอย่างหนึ่ง ว่าในกลางกายของเรานี้มีกายธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริง สิ่งอื่นที่นอกจากกายธรรมแล้วไม่ใช่ที่พึ่งอย่างแท้จริง แค่พึ่งกันชั่วคราว ยังไม่ใช่ของแท้จริง เพราะฉะนั้นจะต้องเข้าถึงที่พึ่งตรงนี้ให้ได้ อีกประการหนึ่งถ้าใครได้เข้าถึงกายธรรม เห็นกายธรรมใสแจ่มกระจ่างอยู่กลางกายน่ะ เกตุดอกบัวตูมใสเป็นแก้ว งามไม่มีที่ติอย่างเล็กก็เล็กกว่าตัวเราหน่อยหนึ่ง และก็โตใหญ่เท่าตัวของเรา ใหญ่กว่าตัวของเรา ใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งโตเท่ากับสภาธรรมกาย ใหญ่กว่าสภาธรรมกาย โตเท่ากับวัดพระธรรมกาย ใหญ่กว่าวัดพระธรรมกายนะโตใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งโตเท่ากับภูเขาน่ะ หรือขยายใหญ่กระทั่งสุดขอบฟ้า 

 


                ถ้าขยายธรรมกายได้อย่างนี้ บุญกุศลที่จะเกิดขึ้น จากการถวายผ้าบังสุกุลจีวรในคราวนี้ จะเป็นมหากุศลอย่างยิ่งที่ไม่มีอะไรมาเปรียบปาน เป็นอสงไขยอัปมาณัง คือจะนับจะประมาณมิได้  เป็นบุญอันยิ่งใหญ่ที่ได้เขียนเป็นภาษาจีนติดเอาไว้นั้นน่ะซึ่งแปลได้ความว่า บุญเต็มท้องฟ้าน่ะ สมบัติเต็มแผ่นดิน นั่นเป็นคำอุปมาอุปไมยน่ะ ก็หมายความว่าเราจะได้มหากุศลที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่มีอะไรมาเปรียบปาน เพราะฉะนั้นก่อนที่ท่านทั้งหลายจะได้ประกอบพิธีบุญอันยิ่งใหญ่ ขอให้ตั้งใจทำใจให้หยุด ทำใจให้นิ่ง ทำใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้

 


                การทำบุญด้วยพระธรรมกายนั้นเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครเสมอเหมือน กว่าที่เราจะได้มามีโอกาสบำเพ็ญบุญในวันนี้น่ะ ไม่ใช่เป็นของง่าย เป็นของที่ยากทีเดียว เพราะฉะนั้นจะต้องตักตวงบุญของเราให้เต็มที่ โดยเฉพาะท่านประธานรองทั้งหลาย และท่านประธานกอง จะต้องพยายามทำใจให้หยุดให้นิ่งให้ดี ท่านที่เข้าถึงดวงธรรมใส ๆ ก็หยุดเข้าไปในกลางดวงธรรมใส ๆ นั้นน่ะ ท่านที่เข้าถึงกายภายใน จะเป็นกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม หรือกายอรูปพรหมก็ตาม ก็เอาใจหยุดไปตามกายต่าง ๆ ที่เราเข้าถึง ท่านที่ถึงกายธรรมเอาใจหยุดไปที่กลางกายธรรม แล้วพยายามปล่อยใจเข้าไปสู่กายธรรมในกายธรรมเข้าไปเรื่อย ๆ เห็นกายธรรมเข้าไปตามลำดับ 

 


                ในกลางกายธรรมองค์ที่หนึ่งก็เห็นกายธรรมองค์ที่ ๒ ผุดเกิดขึ้นมา ทีละองค์ผุดขึ้นมาเรื่อยเลย หนึ่งองค์ สององค์ สามองค์ ผุดขึ้นมาตามลำดับ โตใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ เข้าไปในกลางกายธรรมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ห้าองค์ สิบองค์ ร้อยองค์ พันองค์ หมื่นองค์ แสนองค์ ผุดเข้าไปเรื่อย ๆ เลย ปล่อยเข้าไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งกายธรรมผุดขึ้นมา นับไม่ทันทีเดียว และกายธรรมขยายไปให้สุดฟ้าครอบนั่นน่ะ ขยายให้กว้างขวางใหญ่โต ต้องปล่อยเข้าไปให้ได้อย่างนี้นะจ๊ะ บุญกุศลอันยิ่งใหญ่จะได้บังเกิดขึ้นแก่พวกเรา ถ้าทำได้อย่างนี้คือเข้าถึงกายธรรมที่โตสุดฟ้าครอบ เกิดขึ้นมานับไม่ถ้วน บุญนี้ไม่ต้องนับกันแล้วนะ นับกันไม่ไหว แม้ตายแล้วในวันนี้อานิสงส์ก็จะได้ติดไปนับภพนับชาติไม่ถ้วนกระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน จะสมบูรณ์ไปด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติคุณสมบัติอันยิ่งใหญ่ ทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มรรคผลนิพพาน เพียบพร้อมบริบูรณ์ทุกอย่าง ไม่ขาดตกบกพร่องเลย 

 


                เพราะฉะนั้นต้องทำกันให้ได้ทุก ๆ คนนะจ๊ะ ต้องทำกันให้ได้ทุก ๆ คนนะจ๊ะ อย่าพูดอย่าคุยกัน อย่าลืมตานะ ตั้งใจกันให้ดี หยุดเข้าไปในกลางนั้นเลย หยุดให้ถูกส่วนอย่างสบาย ๆ อย่าเพ่งอย่าจ้อง อย่าลุ้น อย่าเร่ง ให้วางใจสบาย ๆ งานทางใจจะต้องไม่มีการบังคับใจอย่างเด็ดขาด ต้องปล่อยอย่างสบาย ๆ ทำใจให้โล่ง โปร่ง เบาสบาย ทำตามนะจ๊ะ โล่ง โปร่ง เบา สบาย ใจหยุดนิ่งอย่างสบาย ๆ ที่ศูนย์กลางกายในกลางกายของเรานะจ๊ะ แต่อย่ากังวลกับศูนย์กลางกายมากเกินไปนะ บางท่านกังวลมากก็ไปเพ่งไปจ้อง ตรงไหนที่เรานึกคิดแล้วสบายตรงนั้นคือ ศูนย์กลางกาย ตรงไหนที่เรานึกคิดแล้วเรารู้สึกสบายตรงนั้นคือศูนย์กลางกาย จำตรงนี้ไว้นะ ฝึกให้ได้เดี๋ยวนี้นะจ๊ะทุก ๆ คน ฝึกให้ได้ ให้ใจหยุด ใจนิ่ง ใจใส ใจสบายน่ะ ใจหยุด ใจนิ่ง ใจใส ใจสบาย ใครเข้าถึงธรรมกายได้ก็ปล่อยใจเข้าสู่กลางของกลางของพระธรรมกายภายใน ที่ใสบริสุทธิ์ เกตุดอกบัวตูมใสบริสุทธิ์ งามไม่มีที่ติปล่อยเข้าไปเรื่อย ๆ นะ หยุดนิ่งเข้าไป วิธีปล่อยก็คือทำใจให้หยุดนิ่ง หยุดนิ่งเฉย ๆ อย่างสบาย ๆ และต่อเนื่อง นั่นคือการปล่อยใจเข้าไปสู่ภายใน 

 


                พอถูกส่วนแล้วเดี๋ยวมันจะเคลื่อนเข้าไปข้างใน เราจะมีความรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมนี้จะขยาย เราจะไม่สนใจเกี่ยวกับร่างกายของเรา จะไม่สนใจสิ่งรอบข้าง แต่เราจะมีความรู้สึกว่าบรรยากาศมันขยายไปรอบตัว คล้าย ๆ กับเรานั่งอยู่ในกลางอวกาศโล่ง ๆ ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีสิ่งของใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นที่โล่งโปร่ง เบาสบายน่ะ ทำให้ดีนะจ๊ะ ให้ใจหยุดใจนิ่ง ใจใสใจสบายเนี่ย ให้สบายที่สุดเลยเนี่ย ไม่สนใจเรื่องดิน อากาศฟ้าน่ะ จะร้อนอบอ้าวแค่ไหนไม่สนใจทั้งสิ้น ที่นั่งจะไม่นุ่มนวลก็ไม่สนใจ เอาใจมาสนอยู่ที่ศูนย์กลางกายที่เดียว หยุดนิ่งเฉยสบายเนี่ย ลองปรับให้ได้นะจ๊ะ ลองทำตามนะ หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง เฉยในเฉย ใจสบายน่ะ ลองอยู่ในอารมณ์นี้ให้นานที่สุดสิจ๊ะ หยุดนิ่งเฉย ส่วนท่านที่มาใหม่น่ะยังนึกอะไรไม่ออกก็ให้ทำใจนิ่ง ๆ ว่าง ๆ ให้โล่งโปร่งเบาสบายเนี่ย เรายังไม่เห็นอะไรก็ไม่เป็นไร  

 


                การเข้าถึงธรรมกายต้องค่อยเป็นค่อยไป จะไปฮวบฮาบรีบร้อนน่ะมันไม่ได้ เพราะวิธีการในทางธรรมปฏิบัตินี้ มันสวนทางกับทางโลก มันกลับตาลปัตรกันทีเดียว ทางโลกจะไปถึงที่หมายให้รวดเร็วต้องปรูดปราดคล่องแคล่วว่องไว แต่ในทางธรรมนั้นจะถึงให้เร็วต้องหยุด นิ่งเฉย สบาย พอถูกส่วนเดี๋ยวดวงธรรมเกิดขึ้นมาเองเลย เป็นดวงกลมใสรอบตัว ใสเกินใส ใสบริสุทธิ์ ถ้าเป็นองค์พระองค์พระก็ใสบริสุทธิ์ ถ้าหยุดต่อไปก็เดี๋ยวก็จะเห็นองค์พระซ้อนองค์พระ องค์พระซ้อนองค์พระ ซ้อนกันไปเรื่อยๆ เลย ยิ่งซ้อนเท่าไรความสุขก็ยิ่งเพิ่มพูนทับทวีมีปริมาณเพิ่มขึ้นไปไม่มีที่สิ้นสุด นี่เป็นสิ่งที่แปลกทีเดียว ต่อจากนี้ไปก็ทำใจให้หยุดนิ่งกัน ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะจ๊ะ

 


                ต่อจากนี้ขอเรียนเชิญทุกท่านนั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันทุก ๆ คนนะจ๊ะ ให้นั่งขัดสมาธิหรือจะนั่งในท่าที่สบายก็ได้ สำหรับท่านที่นั่งขัดสมาธิก็ให้เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ พอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับนะจ๊ะ แล้วก็ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก เราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย ต่อจากนั้นก็ทำให้จิตใจเบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาดให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส โดยระลึกนึกถึงบุญกุศลที่เราได้ทำกันมาตั้งแต่เช้า โดยตอนเช้าเราได้มาร่วมประกอบพิธีตักบาตร ให้กำลังแก่พระภิกษุสงฆ์สามเณร ท่านได้เอากำลังมื้อนี้ มาทำความดี แล้วตอนสายเราก็ร่วมประกอบพิธีบูชาข้าวพระ ตอนภาคบ่ายได้ประกอบพิธีถวายผ้าบังสุกุลจีวร และได้ทำพิธีปล่อยปลาให้ชีวิตเป็นทาน เราก็นึกถึงผลบุญที่เราทำมาแต่เช้าทั้งหมดนะจ๊ะ นึกด้วยจิตใจที่เบิกบานที่แช่มชื่น ที่สะอาดที่บริสุทธิ์ที่ผ่องใส เมื่อจิตใจของเราเต็มเปี่ยมไปด้วยบุญกุศลแล้ว เราจะได้ทำใจของเราให้หยุดให้นิ่ง ให้บริสุทธิ์ เพื่อจะได้ให้จิตใจของเราเหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญกุศล ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการจุดมาฆะประทีปเป็นพุทธบูชาในตอนนี้นะจ๊ะ

 


                ถ้าหากทุกท่านยังจำได้ ว่าตอนภาคบ่ายหลวงพ่อได้แนะนำให้ทุก ๆ ท่าน ทำใจให้หยุด ให้นิ่ง ให้ใสสะอาดบริสุทธิ์อย่างแผ่วเบาละเอียดอ่อน ไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ สำหรับท่านที่มาใหม่บางท่านที่ยังไม่รู้จักฐานที่ ๗ นั้นก็ให้สมมติว่าหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น เส้นหนึ่งให้ขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งให้ขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย ให้เส้นด้ายทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้แหละ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นที่ที่เราจะต้องเอาใจของเรามาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้เนี่ย ตลอดเวลาเพราะว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ เป็นทางไปสู่อายตนนิพพาน เส้นทางสายกลางสายนี้เริ่มต้นจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นั้น เมื่อเราเอาใจของเราหยุดให้ถูกส่วน เราจะเข้าถึงปฐมมรรคซึ่งมีลักษณะเป็นดวงใสบริสุทธิ์คล้ายกับเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน                           

 


                 ปฐมมรรคนี้คือต้นทางที่จะไปสู่อายตนนิพพาน พอเราเอาใจของเราหยุดนิ่งให้ถูกส่วนที่กลางปฐมมรรคนี้ ในไม่ช้าเราก็จะเข้าถึงดวงธรรมต่างๆ ตั้งแต่ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ และก็ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ทั้ง ๖ ดวงนี้เป็นทางผ่านของใจ เมื่อใจเราผ่านดวงธรรมทั้ง ๖ ดวงนี้ ใจเราจะถูกกลั่นให้สะอาดให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น เมื่อบริสุทธิ์ถึงที่สุดก็จะ เข้าถึงกายภายใน กายภายในซึ่งมีซ้อน ๆ กันอยู่ กายที่ละเอียดกว่าก็ซ้อนอยู่ในกลางกายที่หยาบกว่าเป็นชั้นๆ เข้าไป พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่ากายในกาย ให้ตามเห็นเข้าไปเรื่อย ๆ จากกายหยาบที่สุดให้เข้าไปถึงกายที่ละเอียดที่สุด กายที่ละเอียดที่สุดนั้นจะเป็นที่พึ่งและที่ระลึก เมื่อยามที่เรามีทุกข์เราก็จะพ้นทุกข์ได้ เมื่อเรามีความสุขเราก็จะมีความสุขเพิ่มพูนขึ้นไป กายหยาบที่สุดก็ได้แก่กายมนุษย์หยาบ กายถัดไปก็คือกายมนุษย์ละเอียด กายถัดลงไปในนั้นอีกคือกายทิพย์ กายถัดลงไปในกลางกายทิพย์ก็คือกายรูปพรหม กายถัดในกลางกายรูปพรหมก็คือกายอรูปพรหม กายที่ถัดจากกายอรูปพรหมก็คือกายธรรม กายธรรมในกายธรรมน่ะ กายธรรมสุดท้ายคือกายธรรมที่ เราจะต้องไปให้ถึงให้ได้ เป็นเป้าหมายของเรา เป็นกายที่ละเอียดที่สุด ลักษณะคล้าย ๆ กับพระพุทธรูป แต่ว่างามกว่า งามไม่มีที่เปรียบ มีลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ เกตุดอกบัวตูมใสเป็นแก้ว งามไม่มีที่ติ นั่งขัดสมาธิหันหน้าออกมาทางเดียวกับตัวของเรา กายธรรมที่เล็กที่สุดนั้นเล็กกว่าตัวของเรา และก็ค่อย ๆ โตขึ้นไปตามลำดับ โตใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ ๕ วา ๑๐ วา ๑๕ วา ๒๐ วา หรือยิ่งกว่านั้นขึ้นไปเรื่อย ๆ โตใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ

 


                กายธรรมนี้แหละเป็นสรณะเป็นที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริงของเรา การที่เราเกิดกันมาแต่ละภพแต่ละชาตินั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เข้าถึงกายที่แท้จริงของเรา ซึ่งเป็นกายที่ไม่มีวันที่จะแตกดับได้ ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายเป็นอมตะ กายนั้นก็คือกายธรรมนั่นเอง ทั้งก้อนกายประกอบไปด้วยธรรมล้วน ๆ เป็นกายที่สะอาดที่บริสุทธิ์ กายธรรมนั้นการที่เราจะเข้าถึงได้จะต้องหยุดใจที่ศูนย์กลางกายอย่างสบาย ๆ หยุดเข้าไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ นะจ๊ะ ถ้าหากเราไม่ดูเบาเราจะได้ยินถ้อยคำที่หลวงพ่อพูดบ่อย ๆ คือคำว่า สบาย ๆ หยุดนิ่งอย่างสบาย ๆ นี่คือหนทางลัดที่สุด ที่เราจะเข้าถึงธรรมกายได้ และทุกคนก็สามารถเข้าถึงได้ถ้าพยายาม ถ้าเอาจริงเอาจัง รักตัวเองอยากจะให้ตัวเองเข้าถึงความสุขที่แท้จริง แล้วเริ่มลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ด้วยวิธีการที่ถูกต้องดังกล่าวแล้ว จะต้องเข้าถึงทุก ๆ คน ถ้าหากเรายังเข้าไม่ถึงกายธรรม ชีวิตของเราก็จะลุ่ม ๆ ดอน ๆ จะเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ทุกข์มากหรือทุกข์น้อย เราจะไม่ได้พบความสุขที่แท้จริงเลย เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลาย นับแต่วันนี้เป็นต้นไป เราจะตั้งใจมั่นว่าเราจะปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปให้ตั้งใจมั่นอย่างนี้กันทุก ๆ คนนะจ๊ะ

 


                ก่อนที่เราจะได้ประกอบพิธีจุดมาฆประทีปขอให้ทุกท่านทำใจของเราให้หยุดให้นิ่ง ให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ไปที่ศูนย์กลางกาย ให้หยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ท่านที่ถนัดในการวางใจให้หยุดนิ่งเฉย ๆ ก็ทำด้วยวิธีการอย่างนี้นะจ๊ะ บางท่านที่ถนัดในการนึกถึงบริกรรมนิมิตคือนึกถึงดวงแก้วก็ดีหรือพระแก้วใส ๆ ก็ดีเนี่ย ถ้าเราถนัดอย่างนี้ก็ให้ทำอย่างนี้นะ อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ อย่างนี้ก็ได้ จนกว่าใจจะหยุดจะนิ่งนะจ๊ะ ถ้าหากว่าความฟุ้งเกิดขึ้นก็ให้ประกอบบริกรรมภาวนาสัมมาอะระหังควบคู่กันไป จนกว่าใจจะไม่อยากจะภาวนา แต่อย่าทิ้งหลักการนะจ๊ะ คือการทำใจให้หยุดให้นิ่งให้เฉย ๆ สบาย ๆ นั่งอย่างมีความสุข ประสบการณ์ค่อยเป็นค่อยไป ค่อย ๆ สั่งสมประสบการณ์ภายใน ค่อย ๆ สั่งสมความสงบ ค่อย ๆ สั่งสมการหยุดการนิ่ง ถ้าหากเราใช้วิธีการอย่างนี้คือค่อยเป็นค่อยไปน่ะ ไม่ฮวบฮาบไม่ปรูดปราดแบบทางโลก ทำใจของเราให้ว่าง่ายไม่ดื้อคล้าย ๆ กับเด็กอนุบาลให้ใจอินโนเซนต์ ไม่ช้าเราจะสมปรารถนาอย่างที่เรานึกไม่ถึงเลย เพราะฉะนั้นอย่าลืมนะจ๊ะ หยุดนิ่งเฉย ๆ สบาย ๆ น่ะ ให้ใจโล่ง โปร่ง เบา สบาย ๆ อย่างต่อเนื่องกัน เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วต่อจากนี้ไปต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะจ๊ะ 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014015992482503 Mins