ที่พึ่งชีวิต (ตอนจบ)

วันที่ 03 พค. พ.ศ.2546

 


พระธรรมเทศนา เรื่อง "ที่พึ่งชีวิต"(ตอนจบ)
.....พระธรรมราชานุวัตร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แสดง ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันธรรมสวนะที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๙ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖


.....(ต่อจากตอนที่ ๒ ฉบับวันเสาร์ที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๖) แต่บุญเขตในเรื่องการทำบุญโดยเฉพาะพระสงฆ์นั้น หมายถึงท่านผู้ปฏิบัติดีตามปฏิปทาของพระอริยเจ้า อันชื่อว่าสุปฏิบัติ ปฏิบัติตรง อันชื่อว่า อุชุปฏิบัติ ปฏิบัติถูกต้อง อันชื่อว่า ญายปฏิบัติ และปฏิบัติชอบ อันชื่อว่า สามีจิปฏิบัติ ท่านผู้ปฏิบัติดังแสดงมาแล้วนั้น จัดว่าเป็นเนื้อนาบุญของชาวโลกอย่างแท้จริง เพราะทานที่บริจาคแล้วแก่ท่านเช่นนั้น ย่อมมีผลอันไพศาลแก่ผู้ทำบุญนั้นผลของบุญ เรียกว่า บุญวิบาก ก็ได้แก่ความสุข คือ ความอิ่มเอิบใจ ทั้งในภพนั้นและปรภพโลกเบื้องหน้า ดังจะนำเรื่อง ลาชเทพธิดา มาแสดงเป็นอุทาหรณ์ ดังนี้

 

.....สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย เมื่อครั้งที่เสด็จประทับอยู่ ณ มหาวิหารเชตวัน ทรงตรัสถึงนางลาชเทพธิดาว่า คราวที่พระมหากัสสปพุทธสาวกสำคัญ เข้าญานอยู่ในถ้ำปิปผลิคูหา ในวันคำรบ ๗ ออกจากญานสมาบัติแล้ว ปรากฏเห็นหญิงซึ่งรักษานาข้าวสาลีคนหนึ่ง เด็ดรวงข้าวสาลีทำข้าวตอก อยู่เป็นผู้มีศรัทธา จึงไปบิณฑบาตยืนอยู่ที่ใกล้นาข้าวสาลีนั้น กุลธิดาพอเห็นพระเถระเท่านั้น ก็มีจิตศรัทธาเลื่อมใสบังเกิดปีติความอิ่มเอิบใจ ตักบาตรด้วยข้าวตอกแล้วกราบไหว้ด้วยเบญจาคประดิษฐ์ ตั้งความปรารถนาขอเป็นผู้มีส่วนแห่งธรรมของพระเถระกัสสปนั้น

 

.....แล้วกุลธิดานั้นเดินทางกลับบ้านพลางนึกถึงการตักบาตรด้วยข้าวตอกนั้นด้วยความปีติยินดี ขณะที่นางเดินอยู่บนคันนาถูกงูพิษร้ายกัด นางล้มลงที่ตรงนี้นั่นเอง ขณะที่จิตที่เต็มด้วยความเลื่อมใส ทำกาลกิริยาถึงแก่กรรมแล้วไปเกิดในวิมานทองประมาณ ๓๐ โยชน์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่างเหมือนหลับแล้วตื่น นางเทพธิดานั้นนุ่งผ้าทิพย์ประมาณ ๑๒ ศอกผืนหนึ่ง ห่มผื่นหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง ห้อมล้อมด้วยเทพอัปสรประมาณพันองค์ ประตูวิมานประดับด้วยขันทองคำเต็มด้วยข้าวตอกทองคำห้อยเป็นระย้า ชื่อว่า

 

.....ลาชเทพธิดา แปลว่า เทพธิดาข้าวตอกลาชเทพธิดานั้น พิจารณาถึงบุพกรรมที่นำมาเกิดในวิมานนั้น เห็นว่าตนทำบุญ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงลงไปปัดกวาดกุฏิที่พักอยู่ของพระมหากัสสป ถูกพระมหากัสสปเถระเจ้าขับไล่มิให้ มาปฏิบัติเช่นนั้น นางเทพธิดานั้นเสียใจเหาะขึ้นบนอากาศพนมมือร้องไห้

 

.....พระพุทธองค์ทรงสดับเสียงนั้นแล้ว ทรงแผ่พระรัศมีดุจดั่ง ประทับอยู่ในที่เฉพาะ หน้าเทพธิดานั้นตรัสว่า "เทวธิดา การทำความสังวรระวัง เป็นหน้าที่ของพระมหากัสสปบุตรของเรา" แต่การกำหนดว่านี้เป็นประโยชน์ของเรา แล้วมุ่งกระทำแต่บุญย่อมเป็นภาระของผู้มีความต้องการบุญ เพราะการทำบุญเป็นเหตุให้เกิดความสุขทั้งในภพนี้และภพหน้า แล้วทรงแสดงธรรมดังที่ยกไว้เบื้องต้นว่า ปุญญเญเจ ปุริโส กยิรา กยิราเถนัง เป็นอาทิ แปลว่า ถ้าบุรุษพึงทำซึ่งบุญไซร้ พึงทำบุญนี้บ่อย ๆ พึงทำความพอใจในบุญนั้น เพราะว่าความสะสมบุญ ทำให้เกิดความสุข

 

.....บุญ จึงเป็นที่พึ่งของชีวิตทั้งในภพปัจจุบัน และยังติดตามไปยังปรภพเบื้องหน้า ดังพระพุทธวจนะว่า ปุญญานิ ปรโลกสมิง ปติฏฐา โหนติ ปาณินัง บุญทั้งหลาย ย่อมเป็นที่พีงของสัตว์มีชีวิตทั้งหลายทั้งในโลกนี้และโลกหน้า บัณฑิตผู้มีปัญญาทราบความดั่งนี้ พึงขวนขวายในการทำบุญบริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ไหว้พระ สะสมบุญไว้เนืองนิตย์เพื่อเป็นที่พึ่งของชีวิตด้วยประการฉะนี้

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001015567779541 Mins