กัมมัฏฐานคืออะไร

วันที่ 11 กค. พ.ศ.2558

 

กัมมัฏฐานคืออะไร

            คำว่า กัมมัฏฐาน เป็นคำที่ติดปากชาวพุทธมานานแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ชอบเข้าวัดฟังธรรมและศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับการฝึกจิต หลายๆ ท่านเมื่อพูดถึงคำนี้ อาจจะนึกถึงภาพของพระธุดงค์ ที่เคร่งครัดในการปฏิบัติ มีปกติเดินทางไปตามที่ต่างๆ เพื่อแสวงหาที่สงบ และปฏิบัติธรรม บางท่านก็จะนึกถึงภาพของผู้คนที่กำลังหลับตา ในท่านั่งขัดสมาธิ แล้วท่องบ่นคำภาวนาซ้ำๆ หรืออีกหลายๆ อย่างที่จะนึกจินตนาการ แต่ส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่ากัมมัฏฐานเป็นเรื่องของการฝึกสมาธิ เพื่อให้นักศึกษาทราบและเข้าใจใน ความหมายของคำนี้ได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้นจึงจะได้อธิบายขยายความต่อไป


 ความหมายของกัมมัฏฐาน

            คำว่า กัมมัฏฐาน เมื่อแปลโดยรากศัพท์แล้ว หมายถึง ที่ตั้งแห่งการงาน1) หรือที่ตั้งแห่งการกระทำ

คำว่า กัมมัฏฐาน ในพระไตรปิฎก ใช้เป็นคำกลางๆ ที่หมายถึงทั้งสถานที่ประกอบการงาน หรือแหล่งแห่งการงาน หรือธุรกิจของผู้ครองเรือนก็ได้ หรือหมายถึงวิธีการเจริญสมาธิก็ได้ ดังที่ปรากฏข้อความในสุภสูตร ที่สุภมาณพได้ทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่องผลของฐานะแห่งการงานหรือ การปฏิบัติกิจในหน้าที่ระหว่างของคฤหัสถ์ที่มีการตระเตรียมมากมีกิจที่ต้องทำมาก กับบรรพชิตที่มีการ ตระเตรียมน้อย มีกิจที่ต้องทำน้อย ว่าอย่างไหนจะมีผลมากกว่ากัน พระพุทธองค์จึงตรัสตอบว่า

 

“    เสยฺยถาปิ มาณว กสิเยว กมฺมฏฺŸานํ มหตฺถํ มหากิจฺจํ มหาธิกรณํ มหาสมารมฺภํ สมฺปชฺชมานํ มหปฺผลํ โหติ เอวเมว โข มาณว ฆราวาสกมฺมฏฺŸานํ มหตฺถํ มหากิจฺจํ มหาธิกรณํ มหาสมารมฺภํ สมฺปชฺชมานํ”2)

 

“    ดูก่อนมาณพ เปรียบเหมือนฐานะคือกสิกรรม ที่มีความต้องการมาก มีกิจมาก มีอธิกรณ์มาก มีความเริ่มมาก เมื่อวิบัติ ย่อมมีผลน้อยฉันใด ฐานะแห่งการงานของฆราวาสก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่มีความต้องการมาก มีกิจมาก มีอธิกรณ์มาก มีการเริ่มมาก เมื่อวิบัติ ย่อมมีผลน้อย ฐานะคือ กสิกรรมนั่นแล ที่มีความต้องการมาก มีกิจมาก มีอธิกรณ์มาก มีการเริ่มมาก เมื่อเป็นสมบัติ ย่อมมีผลมาก ฉันใด ฐานะแห่งการงานของฆราวาสก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่มีความต้องการมาก มีกิจมาก มีอธิกรณ์มาก มีการเริ่มมาก เมื่อเป็นสมบัติ ย่อมมีผลมาก การงานคือการค้าขาย ที่มีความต้องการน้อย มีกิจน้อย มีอธิกรณ์น้อย มีการเริ่มน้อย เมื่อวิบัติ ย่อมมีผลน้อย ฉันใด ฐานะแห่งการงานฝ่ายบรรพชาก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่มีความต้องการน้อย มีกิจน้อย มีอธิกรณ์น้อย มีการเริ่มน้อย เมื่อวิบัติ ย่อมมีผลน้อย ฐานะแห่งการงานคือการค้าขายนั่นแล ที่มีความต้องการน้อย มีกิจน้อย มีอธิกรณ์น้อย มีการเริ่มน้อย เมื่อเป็นสมบัติ ย่อมมีผลมาก ฉันใด ฐานะแห่งการงานฝ่ายบรรพชาก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่มีความต้องการน้อย มีกิจน้อย มีอธิกรณ์น้อย มีการเริ่มน้อย เมื่อเป็นสมบัติ ย่อมมีผลมาก”3)
 

            คำว่า กัมมัฏฐาน ในพระสูตรนี้ จึงหมายถึงการดำเนินงานในหน้าที่หรือการประกอบอาชีพ ของคฤหัสถ์และบรรพชิต คำนี้ในฝ่ายคฤหัสถ์สามารถใช้ในความหมายของการประกอบอาชีพทั่วไปได้ ถ้าใช้กับฝ่ายบรรพชิตมีความหมายกว้างครอบคลุมถึงกิจวัตรทุกประเภทที่บรรพชิตควรปฏิบัติ ตลอดถึง การบำเพ็ญเพียรทางจิตเพื่อละกิเลสด้วย


 ความหมายของกัมมัฏฐานในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

            สำหรับความหมายของคำว่า กัมมัฏฐาน ที่มีความหมายแคบลงและเราคุ้นเคยกันว่า หมายถึง การอบรมจิต หรือเป็นการเจริญสมาธินั้น เป็นคำรุ่นหลังที่พระอรรถกถาจารย์ชาวพุทธใช้กัน โดยเฉพาะพระพุทธโฆษาจารย์หรือพระพุทธโฆสะ ผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่อธิบายเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา เป็นคัมภีร์ที่ได้รับการยกย่องว่าสรุปสาระสำคัญของคำสอนในพระพุทธศาสนาไว้ ได้ใช้คำว่า กัมมัฏฐานนี้ในวิสุทธิมรรคว่า หมายถึง อารมณ์กัมมัฏฐาน 40 อย่าง เพื่อการบรรลุสมาธิ4)

            พระอนุรุทธเถระผู้รจนาคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ย่อเนื้อความในอภิธรรมทั้ง 7 คัมภีร์ไว้ ใช้คำว่ากัมมัฏฐานนี้ เพื่ออธิบายถึงอารมณ์และวิธีเจริญสมาธิและวิปัสสนา5)

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ อธิบายความหมายของคำว่า กัมมัฏฐาน ไว้ว่า ที่ตั้งของการกระทำ หมายถึง อารมณ์ของการอบรมจิตเพื่อให้ใจสงบหรือเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้ง การกระทำอันเป็นที่ตั้ง (ของความสุขพิเศษ) หมายถึง การเจริญภาวนา

 

ส่วนในคัมภีร์อภิธัมมัตถภาวินี อธิบายความหมายของคำว่า กัมมัฏฐานไว้ 2 ประการ ได้แก่

1.กัมมัฏฐาน คือ อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของการกระทำ เพราะเป็นที่ดำเนินไปแห่งการเจริญภาวนา ทั้งสองอย่าง

2.กัมมัฏฐาน คือ ลำดับภาวนาอันเป็นเหตุใกล้ของการกระทำ เพราะเป็นเหตุใกล้ของการบำเพ็ญเพียรยิ่งๆ ขึ้นไป6)

 

(1) กัมมัฏฐานหมายถึงอารมณ์

ดังได้กล่าวแล้วว่า กัมมัฏฐานมีความหมายได้ 2 อย่างคือ อารมณ์และวิธีเจริญสมาธิ สำหรับ คำว่า กัมมัฏฐานที่หมายถึงอารมณ์นี้ โดยปกติจะบ่งถึงวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งใจหรือความคิดไปจดจ่ออยู่ โดยใช้อารมณ์นั้นเป็นสิ่งสนับสนุนหรือเป็นกัมมัฏฐาน ในทางจิตวิทยาคำนี้จะบ่งถึงวัตถุที่เกี่ยวเนื่อง กับความรู้สึก และความคิดที่เป็นนามธรรม ซึ่งเมื่อมีการสัมผัสกันแล้ว ย่อมก่อให้เกิดกระบวนการแห่ง การรู้แจ้งขึ้น เมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้ว คำนี้หมายถึงสิ่งภายนอกอันใดอันหนึ่ง ซึ่งปรากฏขึ้นทางประสาท ทั้ง 5 ของมนุษย์ และหมายถึงความประทับใจ ซึ่งเกิดจากประสาทสัมผัสกับสิ่งภายนอกนั้น ซึ่งความหมาย หลังนี้ ให้ความสนับสนุนแก่จิตและทำให้จิตยึดเหนี่ยวแนวคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามหลักคำสอนใน คัมภีร์อภิธรรม จิตจะไม่เกิดกระบวนการรับรู้ จนกว่าจะได้รับการกระตุ้นจากวัตถุภายนอกที่มากระทบ ประสาททั้ง 5 วัตถุภายนอกเหล่านี้เรียกว่า อารมณ์ เป็นวัตถุที่สนับสนุน ยึดเหนี่ยวจิต ดังนั้นอารมณ์จึงบ่งถึงวัตถุภายนอกซึ่งตารับรู้และภาพแทนสิ่งเหล่านั้น หรือความประทับใจต่อสิ่งเหล่านั้นซึ่งเกิดขึ้น ในจิต และกระตุ้นใหกระบวนการคิดทำงาน7)

หากจะสรุปให้ง่าย อารมณ์ก็คือวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์ให้เกิดสมาธิหรือวัตถุที่ใช้ฝึกจิต มีกสิณ 10 อสุภะ 10 อนุสติ 10 เป็นต้น

 

(2) กัมมัฏฐานหมายถึงวิธีการเจริญสมาธิ

กัมมัฏฐานที่หมายถึงวิธีการเจริญสมาธิ คือ วิธีการปฏิบัติเพื่อให้การภาวนาดำเนินไปอย่าง ถูกต้องจนกว่าจะสำเร็จ โดยเพ่งเล็งถึงการเลือกสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกที่อำนวยให้เกิด ความสำเร็จงานทางใจเป็นสำคัญ สิ่งแวดล้อมนั้นได้แก่ อาจารย์ สถานที่ บทภาวนา ความพร้อมของจิตใจ และการอุทิศเวลาให้กับการฝึกใจ

 

------------------------------------------------------------------------

1) ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542, (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์), 2546 หน้า 16.
2) สุภสูตร, มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์, บาลี สยามรัฐ เล่ม 13 ข้อ 713 หน้า 652.
3) สุภสูตร, มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์, มก. เล่ม 21 ข้อ 713 หน้า 430.
4) , 5) สมาธิในพระพุทธศาสนา, พระ ดร. พี วชิรญาณมหาเถระ, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, หน้า 34.
6) อภิธัมมัตถสังคหะ และปรมัตถทีปนี, พระคันธสาราภิวงศ์ แปล, สำนักพิมพ์ตาลกุด, 2546 หน้า 760.
7) สมาธิในพระพุทธศาสนา, พระ ดร. พี วชิรญาณมหาเถระ, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, หน้า 35.

 

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.011020867029826 Mins