กัมมัฏฐานและคำที่เกี่ยวข้อง

วันที่ 13 กค. พ.ศ.2558

 

กัมมัฏฐานและคำที่เกี่ยวข้อง

            ในเรื่องของการฝึกจิต นอกเหนือจากคำว่า กัมมัฏฐานที่นักศึกษาได้พบแล้ว นักศึกษามักจะได้ยินคำอีกหลายๆ คำ ที่หมายถึงเรื่องของการฝึกจิต เช่น สมาธิ การเจริญภาวนา เป็นต้น ดังนั้นนักศึกษาจะได้ ศึกษาเพิ่มเติมในคำเหล่านี้


สมาธิ

            คำว่า สมาธิ เป็นศัพท์สำคัญ ที่ถือว่าเป็นศัพท์ดั้งเดิมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ด้วย พระองค์เอง เพราะศัพท์นี้ปรากฏในธัมมจักกัปปวัตนสูตรอันเป็นปฐมเทศนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ คำว่า สัมมาสมาธิ เพื่อบ่งบอกถึงข้อปฏิบัติสายกลางเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน ในทางวิชาการ คำว่า สมาธิ มีความหมายถึงระดับของจิต และวิธีที่กำหนดขึ้นเพื่อก่อให้เกิดจิตระดับนั้นขึ้นมา8)

            ในบทสนทนาระหว่างนางธรรมทินนาภิกษุณีกับอุบาสก นามว่า วิสาขะ ซึ่งปรากฏในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย ได้มีการอธิบายว่า สมาธิมีความหมายถึงทั้งระดับของจิต และเป็นวิธีการฝึกจิตแบบหนึ่ง อุบาสกวิสาขะ ถามว่า พระแม่เจ้า ธรรมอะไรเป็นสมาธิ ธรรมเหล่าไรเป็นนิมิตแห่งสมาธิ ธรรมเหล่าไรเป็นปริกขารของสมาธิ สมาธิภาวนาอย่างไร

นางธรรมทินนาภิกษุณี ตอบว่า คุณวิสาขะ ความที่จิตเป็นสภาพมีอารมณ์อันเดียว อันนี้เป็นสมาธิ สติปัฏฐาน 4 เป็นนิมิตแห่งสมาธิ สัมมัปปธาน 4 เป็นปริกขารของสมาธิ ความเสพธรรมเหล่านั้นเนืองๆ การให้ธรรมเหล่านั้นเจริญ การทำให้ธรรมนั้นมากขึ้น อันนี้เป็นสมาธิภาวนา”9)

 

            จากบทสนทนานั้นพบว่า สมาธิ หมายถึง สภาวะของจิตระดับหนึ่ง ที่ตรงกับภาษาบาลีว่า จิตฺตสฺส เอกคฺคตา หมายถึง ความที่จิตมีธรรมชาติเป็นอารมณ์เดียว คำจำกัดความนี้เป็นคำจำกัดความ ที่พบได้ในพระสูตรต่างๆ ในวิสุทธิมรรค พระพุทธโฆษาจารย์ได้ให้คำจำกัดความเช่นเดียวกัน แต่ให้ความหมายของสมาธิมากยิ่งขึ้นว่า กุสลจิตฺเตกคฺคตา ซึ่งหมายถึง ความเป็นหนึ่งของจิตที่เป็นกุศล

            นอกจากนี้ สมาธิยังหมายถึง วิธีหรือระบบแห่งการฝึกสมาธิ ซึ่งจะนำไปสู่สภาพของจิตที่ สมดุลและสงบ วิธีการฝึกจิตนี้จึงเรียกว่า สมาธิ หรือ สมาธิภาวนา ดังที่นางธรรมทินนาได้ยกมากล่าวว่า วิธีถึงสมาธิ ก็คือภาวนานั่นเอง แต่เมื่อใช้คำว่าสมาธิในความหมายว่า วิธี จะต้องเข้าใจว่า หมายถึง ระบบ ซึ่งนำไปสู่สมาธิในขั้นต้น คือ ก่อนจะบรรลุวิปัสสนา10)

            ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า คำว่า สมาธิ หมายถึงสภาพของจิตซึ่งจะต้องผ่านการพัฒนาด้วยวิธี การฝึกที่มีระบบนั่นเอง


ภาวนา

            คำว่า ภาวนา เป็นคำที่บ่งถึงการปฏิบัติเพื่อฝึกจิตอย่างเดียวเท่านั้นในลักษณะที่กว้างขวาง คำนี้ครอบคลุมถึงระบบทั้งหมด เมื่อคำว่า ภาวนา ปรากฏในคัมภีร์ต่างๆ โดยปกติจะบ่งถึงการปฏิบัติ หรือ การปลูกฝังสมาธิ คำว่า ภาวนา มักใช้ร่วมกับคำซึ่งบ่งถึงอารมณ์ของกัมมัฏฐาน เช่น ฌานภาวนา สมาธิภาวนา เมตตาภาวนา เป็นต้น เพื่อแบ่งแยกสมาธิชนิดต่างๆ ออกไป และนิยมใช้คู่กับคำว่า จิต คือ จิตตภาวนา ซึ่งหมายถึง การอบรมจิต หรือการพัฒนาจิต

            ในระหว่างการฝึกสมาธิอันมีระบบนั้น จิตย่อมได้รับการฝึกจนกระทั่งอำนาจจิตทั้งหมดถูกนำเข้ามารวมกัน เมื่อสมาธิได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่และจิตก็บรรลุถึงความเป็นใหญ่ในตัวเอง ในสภาพเช่นนี้ จิตย่อมสามารถต้านทานกระแสแห่งความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ก็ตาม จิตย่อมสามารถทนต่อความเจ็บปวดปางตายและตั้งอยู่อย่างไม่หวั่นไหวไปตามสิ่งยั่วเย้าทางประสาทสัมผัส ดังนั้นการฝึกสมาธิจึงเรียกว่า จิตตภาวนา และเกี่ยวพันถึงการอบรมทางจิตและทางร่างกาย ระบบของการฝึกสมาธิทั้งหมด อธิบายไว้ในหนังสือคัมภีร์์วิสุทธิมรรคของพระพุทธโฆษาจารย์ โดยใช้คำว่าจิตตภาวนา 

            ในการเจริญภาวนา นอกจากมีการดำเนินไปของจิตแล้ว ยังมีการใช้คำกล่าวบางอย่างขณะ เจริญภาวนาแบบต่างๆ เช่น ใช้คำว่า ปฐวีในการเพ่งกสิณ ใช้คำว่า ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงมีความสุข ในการแผ่เมตตา เช่นนี้ก็เรียกว่า ภาวนา

            นอกจากนี้ คำว่า ภาวนา ยังเป็นการคิดในลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งเพื่ออบรมคุณธรรมบางอย่างให้มีในตน เช่น เมื่อเจริญเมตตาภาวนา บุคคลจะไม่คิดถึงเฉพาะมิตรภาพเท่านั้น แต่จะต้องทำให้ มิตรภาพเกิดขึ้นและเจริญมากยิ่งขึ้นในใจของเขาด้วย เพื่อจะได้ขจัดเสียซึ่งความคิดผูกพยาบาท ความคิดเกลียดชัง และความคิดอื่นๆ ที่จะมีต่อศัตรู และในที่สุดผู้ปฏิบัติก็จะมีความเป็นมิตรต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง ในความหมายนี้ภาวนาจึงเป็นคุณธรรมที่เหมาะสมยิ่ง11)

            โดยสรุป คำว่า ภาวนา หมายถึง การสะสมคุณธรรมทั้งหลายไว้ในตนเพื่อที่จะบรรลุนิพพาน ยิ่งกว่านั้น ภาวนายังเป็นคำแพร่หลายและใช้เสมอแทนคำว่าสมาธิ

 

------------------------------------------------------------------------

8) สมาธิในพระพุทธศาสนา, พระ ดร. พี วชิรญาณมหาเถระ, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, หน้า 25.
9) จูฬเวทัลลสูตร, มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, มก. เล่มที่ 19 ข้อ 508 หน้า 327.
10) สมาธิในพระพุทธศาสนา, พระ ดร. พี วชิรญาณมหาเถระ, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, หน้า 27.
11) สมาธิในพระพุทธศาสนา, พระ ดร. พี วชิรญาณมหาเถระ, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, หน้า 28.

 

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01303821404775 Mins